Evolutionary Stable Strategy

เคยเห็นลิงหาเห็บหาเหาให้กันไหมครับ?  ตัวนี้หาให้อีกตัวแล้วก็มีอีกตัวหาให้อีกตัว เสร็จแล้วมันก็ผลัดกันวนๆหาให้กัน ทำอย่างนี้ทุกตัวในฝูงก็จะไม่มีเห็บมีเหาเหมือนกัน เพราะต่างตัวต่างช่วยกันผลัดกันหา ทีนี้ลองนึกภาพ ถ้ามีลิงหัวหมอตัวหนึ่ง เกิดเอาเปรียบเพื่อน นั่งให้เพื่อนหาเสร็จแล้วแทนที่จะหาให้เพื่อนบ้าง ก็หนีไปหาอะไรกินเสียอย่างนั้น ลิงที่ “โกง” ตัวนี้ได้เปรียบเพื่อนฝูงชัดเจนมาก เพราะกินแรงเพื่อนอย่างเดียว ถ้าไม่มีลิงตัวไหนจับได้ปล่อยให้เป็นแบบนี้ ลิงตัวนี้มีแนวโน้มสูงมากที่จะประสพความสำเร็จกว่าเพื่อนๆ ตามสังคมลิงคงไม่ใช่ได้ตำแหน่งหรือเงินทอง แต่อาจจะมีลูกที่แข็งแรงและโตเร็วกว่าตัวอื่นๆ เพราะแม่มีเวลาหาอาหารมากกว่าเพื่อน เพราะโกงแรงงานเพื่อน

ทีนี้สมมุติว่าแม่ลิงขี้โกงมีลูกสามตัว ก็สอนให้ลูกลิงขี้โกงด้วย คือไปนั่งให้เพื่อนหาเห็บเสร็จแล้วไม่หาคืนให้เพื่อน พากันไปหากินเที่ยวเล่นหาผัวหาเมียไปเรื่อย ปรากฏว่าครอบครัวนี้ประสพความสำเร็จสืบต่อกันหลายชั่วลิง เพิ่มจำนวนประชากรลิงโกงขึ้นเรื่อยๆ ถามว่าความซวยจะตกแก่ใคร?  ถ้าหากมีประชากรลิงขี้โกงเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ลิงนิสัยดีที่โดนเอาเปรียบจะมีเห็บเหาเต็มตัวและมีเวลาหากินน้อยกว่าประชากรลิงโกง ลิงนิสัยดีในฝูงก็จะมีจำนวนน้อยลงไปเรื่อยๆ และเมื่อถึงจุดหนึ่ง ลิงดีก็จะมีจำนวนน้อยเกินไปที่จะมาคอยนั่งหาเห็บหาเหาให้ลิงโกงเปล่าๆปรี้ๆ ผลก็คือลิงโกงก็จะมีเห็บเหา และไม่มีใครให้เอาเปรียบอีก เมื่อถึงจุดนั้น ประชากรลิงฝูงนี้ก็จะมีปัญหาเห็บหมัดและเหารุนแรงจนอาจจะล่มสลายไปก็เป็นได้

นี่คือสิ่งที่ถูกเรียกว่า กลยุทธทางวิวัฒนาการที่ไม่เสถียร (Evolutionary Unstable Strategy) คือการโกงจะทำให้ผู้ที่ถูกเอาเปรียบอ่อนด้อยลงเรื่อยๆ และเมื่อถึงจุดๆหนึ่งก็จะไม่เหลือใครให้โกงและเอาเปรียบ ในที่สุดแล้วทุกคนจะเป็นผู้แพ้ในกลยุทธเช่นนี้ แต่ในทางกลับกันถ้าลิงทั้งฝูงทุกตัวร่วมมือร่วมใจกัน ช่วยเหลือกันไม่โกงกัน เอ็งหาเห็บให้ข้า ข้าหาเหาให้เอ็ง ลิงทั้งฝูงก็จะอยู่ร่วมกันได้อย่างปรกติสุขตราบนานเท่านาน แบบนี้เรียกว่าเป็น Evolutionary Stable Strategy (ESS) หรือกลยุทธทางวิวัฒนาการที่เสถียร กล่าวคือถ้าหากมีการใช้กลยุทธเช่นนี้ในสังคมแล้วจะทำให้สังคมนั้นๆ ดำรงค์ต่อไปได้อย่างยั่งยืน ในกรณีนี้คือการร่วมมือกันต่างตอบแทนกันไม่โกงกันของสัตว์สังคมอย่างลิงอย่างคน จะทำให้สังคมก้าวไปข้างหน้าได้

จะเห็นว่าการโกง แม้แต่เรื่องเล็กๆน้อยๆ ถ้าหากมีการยอมรับและปล่อยให้สะสมไปเรื่อยๆ ก็จะก่อให้เกิดเรื่องใหญ่ได้ ที่เขียนเรื่องนี้เพราะมีเพื่อนส่งคำถามนี้มาถาม

"ถ้ามีรัฐบาลอยู่ 2 ประเภท โดยทั้งสองประเภทมีงบประมาณเท่ากันคือ 100 บาท ประเภทที่ 1 โกงไป 80 บาท แต่ทำงานเป็น ใช้เงิน 20 บาทบริหารประเทศ ทำให้ประชาชนได้รับความสุขความเจริญ สร้างความมั่นคงให้ชาติได้เป็น 100 บาทเท่าเดิม ส่วนประเภทที่ 2 เป็นคนดี สะอาด แต่ทำงานไม่เป็น ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ใช้เงิน 100 บาท แต่สร้างประโยชน์ให้ประชาชน...ได้แค่ 5 บาท เป็นคุณจะเลือกแบบไหน?”

เลือกยากไหม?  แต่ถ้าเอาตาม ESS ยังไงก็ต้องเลือกประเภทที่ 2 เพราะการที่มีคนดีมาเป็นผู้บริหาร ถึงแม้ว่าคนนี้อาจจะด้อยความสามารถ แต่ในทางวิวัฒนาการแล้ว ในที่สุดสังคมนั้นๆก็จะต้องหาคนที่ดีและเก่งมาปกครองบ้านเมืองได้ และจะไม่ล่มสลายไปเสียก่อนเนื่องจากมีตัวอย่างผู้นำที่เป็นคนดี สังคมโดยรวมก็จะเป็นคนดี ไม่เห็นการโกงเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ในสังคม ต่างกับถ้าหากเลือกประเภทที่หนึ่ง คือปล่อยให้มีการโกงเกิดขึ้นในสังคม โดยอ้างว่าโกงไปแล้วทำงานเป็น เอาไปคนเดียว 80 ให้คืนมา 20 แต่ก็ทำคืนอีก 4 เท่าขึ้นมาเป็น 100 ได้ ในระยะสั้น ทางเลือกนี้อาจจะดีกว่าทางเลือกที่สอง แต่ถ้าหากมองให้ไกลไปกว่านั้น คนที่โกง มีหรือที่จะโกงอยู่เท่านั้น? สังคมที่ส่งเสริมคนโกง มีหรือที่จะไปได้ไกล? ลองนึกในทางกลับกัน สังคมที่ส่งเสริมให้คนที่คิดดีได้ปกครองบ้านเมืองถึงแม้จะตำน้ำพริกละลายแม่น้ำไป แต่น้ำพริกนั้นก็ยังตกแก่ส่วนรวมทั้งหมด ถามว่าสังคมที่มีแต่คนดีในที่สุดแล้วจะเป็นไปไม่ได้เชียวหรือที่จะหาคนเก่งมาปกครองบ้านเมืองและลองนึกดูเมื่อถึงวันนั้นคนที่ทำงานเก่งก็จะสามารถทำเงิน 100 มาเป็น 400 ได้ เชียวนะ

Homo sapiens ไม่ได้มีวิวัฒนาการเจริญก้าวหน้ามาได้จนถึงทุกวันนี้ จากการสนับสนุนและยอมรับคนโกงในสังคม ผมเชื่อเช่นนั้น

ปล.

รายละเอียดความเป็นมาของ ESS http://wikipedia.orgอ่านต่อที่ wikipedia.org แล้วกันนะครับ

http://en.wikipedia.org/wiki/Evolutionarily_stable_strategy

หรือถ้าใครอยากลงลึกละเอียดขึ้นแนะนำหนังสือเรื่อง Selfish Gene ของ Richard Dawkins อ่านแล้วการมองโลกของคุณจะเปลี่ยนไป

 

Comments

ความคิดเห็น

ความเห็นที่ 1

เห็นด้วยครับ มองอะไรอย่ามองง่ายๆ ต้องมองให้ไกล ขอบคุณสำหรับบทความดีๆครับพี่

ความเห็นที่ 2

เยี่ยม

ความเห็นที่ 3

 

เห็นด้วยอย่างมากครับ และไม่เคยรู้เลยว่าเรื่องแบบนี้มีทฤษฎีเป็นเรื่องเป็นราวอยู่ด้วย น่าสนใจศึกษาจริงๆ

ความเห็นที่ 4

เยี่ยมครับ...อ่านแล้วนึกถึงบทความของ อ.แทนไท เลย

แม้บางที่อาจมีจุดสิ้นสุดที่ความล่มสลาย แต่บางครั้งวิวัฒนาการ ยังมีโอกาสตลบกลับได้ครับ

http://www.onopen.com/2007/02/1997

ความเห็นที่ 5

การกระทำอย่างนี้ เป็นพฤติกรรมทางสังคมของสัตว์ โดยเฉพาะลิง ค่าง ชิมแฟนชี

เป็นกิจกรรมที่จะทำร่วมกัน และทำให้กันและกัน หากว่าลิงตัวไหน ไม่ได้ทำอย่างนี้

ในสวนสัตว์ เราจะต้องดูลิงตัวนั้นเป็นพิเศษ เพราะอาจจะถูกขับออกจากฝูง หรือไม่สบาย

นั่นหมายถึงการเป็น โรคที่ร้ายแรง

ความเห็นที่ 6

ตอนนี้เหมือนมี2แบบ

1.โกง80ให้20 บริหารเก่ง

2.โกง80ให้5 บริหารห่วย แต่สร้างภาพเก่งว่าเป็นคนดี

สังคมไทยตอนนี้มันเพี้ยนมันบ้า โดยไม่เข้าทฤษฎีไหนได้  ขนาด ปตท.ยังถือหุ้นโดยรัฐกว่า70% มูลค่าเกือบล้านล้านจากรัฐวิสาหกิจแค่หมื่นล้าน  จากติดหนี้มหาศาลกลายมาเป็นทำเงินเข้ารัฐเป็นแสนล้าน  มันก็บ้าจะเอาคืน

นักวิชาการหลายคนก็บ้าตาม นักเศรษฐศาสตร์นั่งขำ(เคยเห็นคนสายเศรษฐศาสตร์จริงๆออกมาทวงปตท.มั้ย มีแต่คนสายอื่น) ขำในความเพื้ยนความบ้าของสังคม

 

ตอนนี้ลิงตัวนึงมันโกง โดยสังคมมองว่าไม่โกง รู้ได้ไง.....ก็ลิงคุมกฏพวกมันทั้งนั้น แถมช่วยตะโกนบอกด้วยว่าไม่โกง

 

 

ความเห็นที่ 7

ชอบความเห็นคุณจริงมะ นะผมว่า ลิงที่โกง โกงเก่ง โกงไม่เก่ง ถ้าคิดจะโกงแล้วไม่ต่างกันนะครับ

คือเลวทั้งคู่(จิตใจมันเลว)  แล้วจริงๆ ตาม จขกทว่า มี 100 บาท เอาลงทำ 5 บาท ไม่ได้เพราะตำน้ำพริกละลายแม่น้ำครับ  เป็นเพราะโกงไม่เก่งมากกว่า  ถ้าถามรัฐบาลสองชุดนี้ผมว่า มันเลวพอกันครับไม่ต่าง  แต่คนนึงเป็นพวกจ่าฝูงเป็นผู้คุมกฏ โกงได้ไม่ผิด โกงแล้ว โฆษณาชวนเชื่อ ลูกฝูงว่าไม่ได้โกง ลูกฝูงยอมรับ ตกลง มันอยู่นอกกฏ ESS ครับ เป็นคนละเรื่องกัน

ไม่เชื่อลองดูทรัพย์สินของแต่ละคนที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลไทยสองสมัยนี้ดูซิครับ มีไม่ต่างกันมากเท่าไหร่  ดูไปถึงตัวจ่าฝูงเลยนะครับ

ความเห็นที่ 7.1

เวลาตรวจสอบทรัพย์สิน เค้าไม่ได้ดู Total ที่มีอยู่หลังรับตำแหน่งเท่านั้น > แต่เค้าดูผลต่างระหว่างก่อนรับตำแหน่งกับหลังรับตำแหน่งว่ะ? เข้าจัยมั้ย?cheeky

ความเห็นที่ 8

2.โกง80ให้5 บริหารห่วย แต่สร้างภาพเก่งว่าเป็นคนดี
................................................................

อย่างน้อยตอนนี้ก็เจอพวกชอบ"สร้างภาพ"เข้าแล้วล่ะวุ้ย  ชงเองกินเอง ฮาฮาฮา

ความเห็นที่ 9

ข้า้น้อยมี e-book หนังสือ the Selfish Gene ที่พูดถึงในบทความ มีไผสนใจฤๅไม่

ความเห็นที่ 9.1

สนใจจ้า รบกวนส่งอีเมล์ให้ด้วยได้มั๊ยคะ? ขอบคุณล่วงหน้าค่ะ

ประภา

ความเห็นที่ 10

ESS คือวิธีหรือกลยุทธ์ที่ทำให้ได้ fitness สูงที่สุดใน environmental context ณ time & space นั้นๆ (คือไม่มีวิธีหรือกลยุทธ์อื่นๆที่ทำให้มี fitness สูงกว่า) หากมีการเปลี่ยนแปลงใดๆจนเกิดวิธีอื่นที่เหมาะสมกว่า ESS ก็สามารถเปลี่ยนไปได้

รบกวนคุณนณณ์ทบทวนทฤษฎีด้วยครับ  evolution ไม่มี stable และไม่มี direction นะครับ ความ stable ของรูปแบบใดๆจะมีแค่ชั่วคราวเท่านั้นและเป็น dynamic ภายในเสมอตามแรง evolutionary force ที่เกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

 ส่วนการเปรียบเทียบของท่านในเรื่องการเมือง ท่านนำ currency สองอย่างซึ่งไม่เกี่ยวข้องกันมาเทียบกัน จึงไม่สามารถสรุปได้นะครับ ถ้าท่านต้องการเทียบ ต้องใช้ currency เดียวกันครับ จะเอาเรื่องเงินกับศีลธรรมมาปนกันไม่ได้ ท่านจะสามารถเทียบได้ต่อเมื่อท่านเชื่อมโยงสอง currency นี้เข้าด้วยกันได้ตามหลักเหตุปัจจัยเท่านั้น

 ขออภัยที่เห็นต่าง หากผิดพลาดก็ขออภัย

ความเห็นที่ 11

ขอบคุณสำหรับความคิดเห็น และยินดีต้อนรับสู่ siamensis.org ครับ

พฤติกรรมของสิ่งมีชีวิตย่อมเปลี่ยนไปตามสิ่งแวดล้อม เมื่อพฤติกรรมเปลี่ยนกลยุทธก็ต้องเปลี่ยน จุดที่จะลงตัวของพฤติกรรมก็จะต้องเปลี่ยนไปเป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้วครับ แต่ความหมายของคำว่า stable ในเนื้อหานี้ไม่ได้หมายความว่าพฤติกรรมหรือกลยุทธจะต้องหยุดนิ่งไม่เปลี่ยนแปลง แต่ความหมายของ stable หมายรวมกว้างกว่าถึงสถานภาพโดยรวมของสังคมของสิ่งมีชีวิตนั้นๆว่าจะไม่มีการ พังหรือล่มสลายลงครับ

บทความนี้เป็นการเปรียบเทียบให้เห็นถึงพฤติกรรมการโกง ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการโกงทางด้านการหาเห็บเหา หรือโกงทางด้านการเงิน สิ่งที่เหมือนกันคือการ "โกง" ในบทความนี้ผมพยายามหยิบยกทฤษฏีทางชีววิทยาที่ได้รับการยอมรับมายกตัวอย่างด้วยพฤติกรรมง่ายๆของลิง เพื่อนำมาเปรียบเทียบกับพฤติกรรมของมนุษย์ อาจจะไม่ตรงเสียทีเดียว แต่คิดว่าสามารถเปรียบเทียบและนำ มาประยุกต์ใช้ได้เช่นเดียวกันครับ

ความเห็นที่ 12

มันต้องมีมาตรการขับลิงขี้โกงออกจากฝูงให้ได้ เพราะเห็บมันแค่กินเลือดให้เจ็บๆคัน แต่ลิงขี้โกงมันทำให้สังคมล่มสลายได้
 

ความเห็นที่ 13

มีคนยกบทความนี้ไปถามผมที่ http://jusci.net/node/2329

ผมเห็นว่าบทความนี้มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนทางวิชาการมาก จึงอธิบายไว้ในคอมเม้นท์ที่ Jusci
http://jusci.net/node/2329#comment-9081
และ
http://jusci.net/node/2329#comment-10877

ความเห็นที่ 14

เพิ่งมาเห็นคคห.ที่ 13 ผมไปอ่านดูแล้วก็ไม่เห็นว่าสิ่งที่คุณเขียนจะแตกต่างอะไรกับที่ผมเขียนเลยครับ ผมอาจจะไม่สามารถอธิบาย ESS ให้ละเอียดได้ในบทความด้านบนเนื่องจาก
1. ในตอนแรกมันถูกเขียนขึ้นมาเพื่อเป็นบทบรรณาธิการนิตยสารซึ่งไม่สามารถเขียนให้ยาวได้
2. คนไทยไม่ชอบอ่านอะไรยาวๆจนเกินไปนัก ผมเลยไม่ได้อธิบายรายละเอียดอะไรมากนัก
แต่ผมมั่นใจว่าหลักการของ ESS ที่อธิบายในบทความดังกล่าวไม่ได้มีความ "คลาดเคลื่อนทางวิชาการมาก" แต่ประการใด

หรือผมอาจจะ "งี่เง่า" จริงๆก็ได้เลยไม่สามารถอ่านคคห.ของคุณให้แตกต่างจากสิ่งที่ผมเข้าใจได้ ฮ่า ฮ่า