พลับพลึงธารแห่งคลองนาคา ความงดงามท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง

รายงานโดยsiamensis.org กลุ่มอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม 

 

ภาพดอกพลับพลึงธารที่สวยงามกับป่าสองฟากคลองที่สมบูรณ์ถูกนำมาแปะบนกระดานข่าวของเว็บไซด์ siamensis.org ตามด้วยภาพตลิ่งที่ถูกน้ำกัดเซาะอย่างหนัก ต้นลองกอง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ถูกน้ำเซาะจนล้มลงมาในแม่น้ำ เป็นภาพที่ขัดแย้งกันอย่างมากและเป็นภาพที่กำลังเกิดขึ้นที่คลองนาคา จังหวัดระนอง คลองที่มีประชากรของพืชชนิดหนึ่งที่เป็นพืชถิ่นเดียวของประเทศไทย ไม่พบทีไหนอีกแล้วในโลก 

 

พืชในสกุลพลับพลึงหรือสกุล Crinumมีอยู่ด้วยกันทั่วโลกประมาณ 100 ชนิด พืชในสกุลนี้เป็นพืชหัว จัดเป็นพืชโบราณที่ในปัจจุบันมีการกระจายพันธุ์ทั้งในโลกเก่าและโลกใหม่ คือทั้งในทวีปอเมริกา แอฟริกา เอเชีย และ ออสเตรเลีย ด้วยการกระจายพันธุ์ที่กว้าง พืชชนิดนี้มีถิ่นอาศัยหลากหลายตั้งแต่ในพื้นที่กึ่งทะเลทรายไปจนถึงชนิดที่ปรับตัวอาศัยอยู่ในน้ำได้อย่างถาวร ทั่วโลกมีพลับพลึงที่อาศัยอยู่ในน้ำอยู่ 4 ชนิดเท่านั้น 2 ชนิดอยู่ในทวีปแอฟริกา 1 ชนิดอยู่ในอเมริกาใต้ ส่วนอีกชนิดนั้นสามารถพบได้ในประเทศไทยในเขตจังหวัดพังงาและระนองเท่านั้นจึงจัดเป็นพืชเฉพาะถิ่นของบ้านเรา

 

ไม่มีใครทราบว่าอะไรทำให้พลับพลึงชนิดหนึ่งตัดสินใจลงไปอาศัยอยู่ในน้ำแถวๆด้านใต้คอคอดกระอย่างทุกวันนี้ แต่ที่จังหวัดระนองพืชชนิดนี้ถูกเรียกโดยชาวบ้านในท้องที่ว่าหญ้าช้อง แปลได้ประมาณว่าหญ้าที่พลิ้วไหวไปกับกระแสน้ำ ชื่อทางการของมันถูกเรียกว่าพลับพลึงธาร และมีอีกชื่อที่ถูกเรียกโดยวงการนักเลี้ยงปลาว่า หอมน้ำ เนื่องจากเป็นพืชที่มีลักษณะของหัวเป็นสีขาวคล้ายต้นหอม และในทางวิทยาศาสตร์ชื่อของพืชชนิดนี้คือ Crinum thaianum ซึ่งสกุล Crinumนั้นเป็นภาษาละตินแปลว่าดอกลิลลี่สีขาว ซึงเป็นสีหลักของดอกไม้ในสกุลนี้ส่วนชื่อวิทยาศาสตร์ thaianum นั้นแปลว่า “ของประเทศไทย”และก็เป็นเช่นนั้นจริงๆจากการสำรวจในปัจจุบันพบว่าหอมน้ำมีประชากรมากที่สุดในเขต คลองนาคาและคลองสาขา ในอำเภอกะเปอร์ และอำเภอสุขสำราญจังหวัดระนอง และคลองบางสายในจังหวัดพังงาเท่านั้น ไม่พบที่อื่นใดในโลกยกเว้นที่นี่ “ประเทศไทย” 

นายวิมลตรี แก้วนาง พนักงานพิทักษ์ป่า ฝ่ายส่งเสริมและเผยแพร่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองนาคา เล่าว่าในอดีตพลับพลึงธารที่คลองนาคาถูกชาวบ้านเก็บไปขายเป็นจำนวนมาก โดยมีฟาร์มจากในกรุงเทพและภูเก็ตมารับซื้อหัวละประมาณ 50 สตางค์ เพื่อนำไปขายเป็นต้นไม้น้ำประดับในตู้ปลาส่งขายไปทั่วโลก จนทำให้ประชากรของพลับพลึงธารลดลงมาก แต่ในปัจจุบันชาวบ้านในท้องที่ได้ให้ความสำคัญกับพืชชนิดนี้กันมากและตระหนักว่านี่คือสมบัติของพวกเขาที่มีอยู่เพียงแห่งเดียวในโลก จึงได้ร่วมกันก่อตั้ง “ชมรมเพลินไพรศรีนาคา”ขึ้น เพื่อร่วมกันอนุรักษ์พลับพลึงธารไว้ โดยในปัจจุบันได้จัดให้มีการล่องแก่งชมพลับพลึงธาร เพื่อนำรายได้มาจัดกิจกรรมต่างๆในการอนุรักษ์ต้นไม้ชนิดนี้ไว้ เช่นในหน้าฝนที่น้ำพัดแรงเด็กๆในชุมชนจะคอยเก็บหัวพลับพลึงธารที่ถูกพัดหลุดออกมาปักชำไว้ในบ่อรอให้น้ำลดลงก็จะนำกลับไปปลูกหรือนำกลับมารอให้นักท่องเที่ยวได้ร่วมปลูกเพื่อเป็นการสร้างจิตสำนึกที่ดีให้กับผู้มาเยือน 

 

ถึงแม้ว่าปัจจุบันชาวบ้านที่คลองนาคาจะร่วมกันอนุรักษ์โดยไม่เก็บพลับพลึงธารไปขายแล้ว แต่ปัญหาใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิมกำลังคุกคามสภาวะความเป็นอยู่ของพลับพลึงธารเป็นอย่างมาก กลุ่มsiamensis.org ได้ร่วมล่องแพกับชาวบ้านและเจ้าหน้าที่เขตฯ เพื่อดูความจริงที่กำลังเกิดขึ้น ชาวบ้านเล่าให้เราฟังว่า มีการลักลอบขุดหินในลำคลองนาคาไปขาย บางครั้งก็ทำโดยอ้างว่าเป็นการขุดลอกคลอง พวกเขาบอกว่าการลอกคลองทำให้สภาพท้องน้ำเปลี่ยนไป เกิดน้ำกัดเซาะตลิ่งรุนแรงทำความเสียหายให้กับพื้นที่เกษตรสองฝั่งคลอง ทางน้ำที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้พลับพลึงธารที่เคยพบขึ้นอยู่ตลอดฝั่งลำน้ำค่อยๆหายไป บ้างก็ถูกน้ำพัดหลุดลอยไป บ้างก็ถูกตะกอนดินทรายทับถมจนไม่อาจงอกขึ้นมาได้อีก

จากการล่องแพสำรวจ เราสังเกตว่าจุดที่พบต้นพลับพลึงธารขึ้นหนาแน่น เป็นจุดที่สองฝั่งคลองมีสภาพป่าสมบูรณ์มาก ซึ่งต่อมาการยืนยันจากภาพถ่ายทางดาวเทียมก็แสดงให้เห็นอย่างนั้น ส่วนสภาพคลองด้านใต้หลังจากที่มีการขุดลอกนั้นพบว่าทางน้ำเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว ชาวบ้านชี้ให้เราดูทางน้ำเดิมเมื่อ ๒ ปีก่อนซึ่งในปัจจุบันกลับตื้นเขินในขณะที่ทางน้ำในปัจจุบันอ้อมโค้งเข้าไปกัดเซาะตลิ่งทำให้พื้นที่เกษตรของชาวบ้านเสียหาย โดยมีภาพของต้นยางพารา  ปาล์มน้ำมัน ผลไม้ต่างๆ รวมไปถึงไผ่กอใหญ่ ถูกน้ำกัดเซาะหักโค่นลงมาตลอดลำน้ำ นอกจากนั้นเรายังพบกองหินกรวดที่ถูกขุดมากองไว้ริมตลิ่ง และยังมีรอยรถขุดขนาดใหญ่ในพื้นลำธารด้วย 

ตามธรรมชาติทางน้ำมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นช้าๆ มีตัวอย่างให้เห็นเด่นชัด เช่น ที่แม่ลา จังหวัดสิงห์บุรี และ บึงโขงหลงจังหวัดหนองคาย แต่การเปลี่ยนทางไหลของคลองนาคา การกัดเซาะตลิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับคลองนาคานั้น ออกจะรวดเร็วผิดธรรมชาติไปมาก เราเชื่อว่าสาเหตุหลักมีอยู่ด้วยกัน ๓ เหตุ คือ ๑. การขุดลอกคลองซึ่งทำให้สภาพท้องน้ำเปลี่ยนไป  ๒. การทำการเกษตรที่ถ่างป่าดั้งเดิมจนติดทางน้ำทำให้ตลิ่งสองฝั่งขาดพืชที่จะยึดตลิ่งเอาไว้ ๓. การตัดไม้ทำลายป่าทางต้นน้ำและสองฝั่งคลองทำให้น้ำในหน้าฝนขาดต้นไม้มาดูดซึมไว้ทำให้น้ำไหลลงลำคลองเร็วและมีปริมาณมากกว่าในอดีต ซึ่งทั้งสามเหตุนี้ถ้าหากไม่ได้รับการแก้ไข การอนุรักษ์พลับพลึงธารไว้คู่กับคลองนาคาอาจจะไม่ใช่งานง่ายสำหรับชาวบ้านหรือใครก็ตามที่เกี่ยวข้อง

 

“ทำไมต้องอนุรักษ์ไว้ครับ พลับพลึงธารนี่มันมีประโยชน์อะไร?”ผมถามพี่วิมลตรี ซึ่งปกติเป็นคนที่สนุกสนานเฮฮาอยู่ตลอดเวลา แต่คราวนี้พี่วิมลตรีตอบผมด้วยน้ำเสียงที่เป็นจริงเป็นจัง “เรามักจะมองแต่ประโยชน์ทางตรงของมัน จริงๆก็คือชาวบ้านไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไรโดยตรงจากพลับพลึงธาร แต่การที่มีมันอยู่ มันก็เป็นที่หลบอาศัยของปลา ส่วนต่างๆที่เน่าเปื่อยก็เป็นอาหารของสัตว์น้ำเล็กๆที่จะมาเป็นอาหารของปลา รากของพลับพลึงธารยังช่วยยึดหน้าดินและตลิ่งเอาไว้ ใบของมันทำให้น้ำไหลช้าลง และในปัจจุบันความสวยงามของมันก็ยังดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาล่องแพ มาเที่ยวที่นี่ และข้อสำคัญที่สุดนี่คือความภูมิใจของชาวบ้านในท้องที่ว่าพวกเขามีในสิ่งที่ใครๆในโลกก็ไม่มี” 

 

ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ ระหว่างการล่องแพ ไกด์หนุ่มของเราพูดถึงพลับพลึงธาร “ของเขา”ด้วยความภูมิใจ และเราก็พบว่าคลองนาคามีปลาอยู่มากมาย โดยเฉพาะในบริเวณที่มีพลับพลึงธาร เราพบชาวบ้านกลุ่มหนึ่งที่ออกมาหาปลามีปลาสร้อยนกเขาตัวใหญ่ๆอยู่เต็มกระชัง เรายังพบอีกด้วยว่าทั้งปลาและแมลงขนาดเล็กได้อาศัยพลับพลึงธารเป็นที่หลบภัยกันอย่างหนาแน่น และที่ขาดไม่ได้เลยคือความงดงามของพลับพลึงธารที่ในวันนี้ยังหลงเหลือให้ผู้มาเยือนอย่างพวกเราได้ชื่นชม

 

แต่จะอีกนานสักแค่ไหนนั้น คำตอบคงอยู่ที่พวกเราทุกคนในฐานะคนไทย ที่จะอนุรักษ์พืชถิ่นเดียวของประเทศชนิดนี้ไว้  

Comments

ความคิดเห็น

ความเห็นที่ 1

สวยมากค่ะ เคยมีการทดลองปลูกในลำน้ำสายอื่นบ้างไม๊คะ ถ้าชาวบ้านเคยเก็บหัวมาพักอนุบาลไว้ได้ อาจจะสามารถขึ้นในน้ำสายอื่นได้

 

ปกติแล้วพลับพลึงธารจะออกดอกช่วงไหนคะ
 

ความเห็นที่ 2

     พลับพลึงธาร ต้องการน้ำที่ไหลตลอดเวลาและสะอาด   ถ้าน้ำนิ่งหรือสกปรกจะไม่สามารถเจริญงอกงามได้  ในท้องถิ่นอื่นก็สามารถปลูกได้ ในอดีตมีทั่วภาคใต้ แต่ปัจจุบันแหล่งน้ำที่เหมาะสมถูกทำลายไปมากจึงแทบไม่เหลือพลับพลึงธารในที่อื่นๆ อีกเลย  ภาคใต้เรียกพืชชนิดนี้ว่า "หญ้าช้อง" นำมาชุบแป้งและกุ้งแล้วทอดในลักษณะคล้ายเทมปุระของญี่ปุ่น รสชาติอร่อยมาก เรียกอาหารชนิดนี้ว่า "เบือทอด" เดี๋ยวนี้กลายเป็นอาหารที่หาทานยากและเป็นจุดขายของร้านอาหารหลายร้านในภูเก็ตไปแล้ว

ความเห็นที่ 3

ผมว่าทุกส่วนหยุดทั้งกิจกรรม หยุดทำลาย ปล่อยให้คลองแห่งนี้สงบ ได้ฟื้นฟูตามธรรมชาติของมัน

ความเห็นที่ 4

เคยอ่านในบทความของหนังสือปลา Aqua  เดินชมร้านปลาต่างประเทศ มีอยู่ในตู้ด้วย พืชเฉพาะถิ่น โดนรุกรานหนักแล้วตอนนี้ 

ความเห็นที่ 5

พืชและสัตว์ เฉพาะถิ่นโดนรุกรานหนักขึ้น