“สางเถาวัลย์”หรือ “สางป่า”? หยุดไตร่ตรองก่อนเดินหน้าต่อ

เรื่อง: อาจารย์วิรงค์ จันทร  
ภาพ: นณณ์ ผาณิตวงศ์


ผมได้อ่านข่าวจากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐในช่วงเดือนที่ผ่านมาเกี่ยวกับโครงการสางเถาวัลย์เพื่อฟื้นฟูป่าป้องกันไม่ให้ “ป่าแก่งกระจานล่ม”โดยส.ว. ท่านหนึ่ง หลังจากนั้นก็ได้ลองติดตามข่าวสารจากแหล่งอื่นๆ เพิ่มเติม สำหรับผมเปรียบเหมือนได้ฟังข่าวดีและข่าวที่น่าตกใจในเวลาเดียวกัน (ยังไม่ถึงกับเป็นข่าวร้ายสำหรับผม แค่เกือบ)  ข่าวที่ผมว่าเป็นเรื่องที่ดีและน่ายินดี คือประเทศเรายังมีนักการเมืองที่ใส่ใจ และห่วงใยเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทุ่มเททำงานเพื่อผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนการดูแลทรัพยากรธรรมชาติ  นอกจากนี้ยังมีความช่างสังเกตที่มองเห็นการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติของผืนป่าแก่งกระจาน แต่สำหรับข่าวที่น่าตกใจในคราวเดียวกันคือ การกำหนดนโยบายการจัดการทรัพยากรธรรมชาติเราแทบจะไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของข้อมูลการวิจัยโดยเฉพาะการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่ผ่านการอภิปรายในแวดวงวิทยาศาสตร์จนเป็นที่ยอมรับกัน (เช่น ปัญหาเรื่องโลกร้อน)  หรือแม้กระทั่งจากจารีตประเพณีดั้งเดิมของคนที่อยู่ในพื้นที่(ป่า) เป็นเวลานานหลายชั่วอายุคน  

ในฐานะที่ผมเป็นนักวิทยาศาสตร์คนหนึ่งที่พอมีประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับด้านนี้อยู่บ้างจึงรู้สึกอยากจะแสดงความคิดเห็นเผื่อจะพอมีประโยชน์กับการดูแลผืนป่าที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ รวมทั้งผืนป่าที่อื่นๆ ที่มีโครงการนำร่องในเรื่องการสางเถาวัลย์  ก่อนอื่นผมต้องขอออกตัวก่อนว่าผมไม่เคยได้ไปป่าแก่งกระจานมาก่อนเลย ดังนั้นอาจจะมีผิดพลาดบางประการก็ต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ และเถาวัลย์ที่ผมจะพูดถึงต่อไปนี้เป็นเถาวัลย์ที่มีเปลือกไม้แข็ง (bark) หรือบางครั้งภาษาอังกฤษจะใช้คำว่า “woody climber”

การที่ท่านส.ว.สังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อมดังกล่าวดังที่ได้กล่าวมาแล้ว นับเป็นคุณสมบัติที่ดีที่นักการเมืองคนอื่นน่าเอาเป็นแบบอย่าง ทว่าการสังเกตดังกล่าวยังเป็นแค่สมมุติฐาน ตราบใดที่เรายังไม่มีข้อมูลที่ได้จากการวิจัยอันปราศจากความลำเอียงเพื่อพิสูจน์สมมุติฐานดังกล่าว การด่วนสรุปและกำหนดนโยบายเป็นเรื่องที่อันตรายอย่างยิ่งเพราะ ป่าที่สมบูรณ์ (คาดว่าจะเหลือไม่ถึง 5%ของพื้นที่ประเทศ) กลายเป็นทรัพยากรที่หายากและมีค่ามากสำหรับประเทศเราไปแล้ว (รวมทั้งของโลกด้วย) การจะดำเนินการใดๆ ที่เกี่ยวข้องจึงสมควรยิ่งที่ต้องมีความระมัดระวังและรอบคอบ  จากการที่ผมได้ทำหรืออ่านงานวิจัย หรือสมมุติฐานด้านอื่นอันแตกต่างจากแนวคิดของการสางเถาวัลย์  ซึ่งผมคิดว่าควรจะต้องนำมาเล่าเพื่อที่จะให้ใช้เป็นแนวทางในการพิจารณาทบทวนหรือปรับปรุงการออกนโยบายสางเถาวัลย์ดังกล่าว ซึ่งควรที่จะอาศัยข้อมูลที่ได้จากการศึกษาที่เป็นระยะเวลายาวนาน  เพราะการเปลื่ยนแปลงทางนิเวศวิทยาโดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านป่าไม้ใช้เวลาที่นานมาก เราจึงพอที่จะมองเห็นหรืออธิบายอะไรได้บ้าง  การวิจัยแค่หนึ่งหรือสองปีคงให้คำตอบได้ยาก

ด้วยแนวคิดนี้จึงอยากจะยกตัวอย่างการติดตามศึกษาระยะยาวโดยเริ่มต้นจากสถาบันสมิทโซเนียน (Smithsonianinstitution) ซึ่งเป็นองค์กรพิพิธภัณฑ์ของประเทศสหรัฐอเมริกาได้จัดตั้งแปลงศึกษาป่าเขตร้อนในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก ด้วยวิธีการที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน  มีการเริ่มต้นที่ป่าบนเกาะ บาโร โคโลราโด (Barro Colorado Island)ประเทศปานามา  แปลงบนเกาะนี้ได้ถูกศึกษาเป็นระยะเวลาร่วมเกือบสี่สิบปีแล้ว นักนิเวศวิทยาทำการวัดข้อมูลทุกๆ ห้าปี  การศึกษาป่าลักษณะนี้ส่วนใหญ่จะเน้นที่กลุ่มต้นไม้ แต่ในบางแห่ง เช่น ที่เกาะนี้มีการศึกษาเถาวัลย์ด้วย เช่นเดียวกับการศึกษาระยะยาวที่ป่าเขตร้อนในประเทศปานามา ในประเทศไทยเราได้มีการเข้าจัดตั้งแปลงศึกษาลักษณะเดียวกันและมีอยู่หลายแห่ง รวมทั้งแปลงมอสิงโตที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เป็นการดำเนินงานภายใต้หน่วยวิจัยนิเวศวิทยาของศูนย์พันธุวิศวกรรมแห่งชาติ (BIOTEC)  ที่นี่ได้มีการศึกษามาเป็นเวลามากกว่าสิบปีแล้ว ซึ่งผมจะกล่าวถึงความเชื่อมโยงของข้อมูลที่ได้กับเรื่องการสางเถาวัลย์นี้ในภายหลัง

จากข้อมูลที่เกาะบาโร โคโลราโดแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มของปริมาณเถาวัลย์เพิ่มขึ้นและส่งผลเพิ่มขึ้น  (Phillips et. al.2002, Wright 2004, Ingwall et. al.2010) ทีมผู้วิจัยดังกล่าวพยายามวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงกับปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มมากขึ้น ที่เรียกว่า ปุ๋ยจากคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2 fertilizer)  แต่ทั้งนี้การเพิ่มมวลชีวภาพของเถาวัลย์อาจจะเป็นไปตามวัฏจักรธรรมชาติ (ผู้เขียน)?ในบางครั้งเถาวัลย์ก็ไม่ได้ชนะต้นไม้ทุกครั้งไปเพราะมีข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่าเถาวัลย์ที่ขึ้นบนต้นไม้แข่งขันแพ้ต้นไม้ที่มันเลื้อยขึ้นอยู่ได้ (Ingwall et. al.2010) ทั้งนี้ข้อสรุปที่ชัดเจนคือ เถาวัลย์มีความสำคัญต่อปริมาณคาร์บอนในป่าประมาณ 1-2% (www.ctfs.si.edu) จากข้อมูลนี้ทำให้เราพอจะมองเห็นภาพได้ว่า ถ้าเราสางออกไปเท่ากับเราปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกซ้ำเติมทำให้โลกร้อนขึ้นถึงแม้จะเป็นปริมาณสัดส่วนที่ไม่มากก็ตาม

อย่างไรก็ตามมีงานวิจัยล่าสุดเมื่อเดือนกันยายนปีนี้  2553  นี้ที่เก็บข้อมูลจากแปลงศึกษาพืนที่ป่าในประเทศปานามาในสถานที่เดียวกัน  ทีมนักวิจัยดังกล่าวค้นพบความแตกต่างของการเจริญเติบโตของต้นไม้ในช่องว่างในป่า (forest gap) ในที่มีการสางเถาวัลย์และไม่มีเถาวัลย์ ย้ำนะครับว่าเป็นการศึกษาเฉพาะในช่องว่างในป่า บางคนอาจจะสงสัยว่าช่องว่างในป่าคืออะไร  คำตอบก็ตามชื่อว่า เป็นช่องว่างที่มักจะเกิดในป่าที่สมบูรณ์เนื่องจากมีไม้ล้ม การเกิดช่องว่างดังกล่าวถือเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศป่าที่สมบูรณ์ซึ่งการล้มจะทำให้กล้าไม้ต่างๆ โตขึ้นมาทดแทนได้ เป็นที่ยอมรับในวงกว้างจากนักนิเวศวิทยาว่าการเกิดช่องว่างในป่าเป็นกลไกสำคัญอย่างหนึ่งของการที่ความหลากหลายทางชีวภาพในป่าเขตร้อนคงอยู่ได้  การทดลองสางเถาวัลย์ดังกล่าวใช้เวลาศึกษาทั้งหมด 8-9 ปี แต่ความแตกต่างดังกล่าวนี้ไม่ได้หมายความว่าต้นไม้ในป่าไม่สามารถฟื้นตัวเลย เถาวัลย์จะไม่ส่งผลต่อการฟื้นตัวของกลุ่มไม้เบิกนำ (pioneer species) แต่จะส่งผลต่อกลุ่มไม้ทนร่ม(shade-tolerant tree species)กล่าวโดยสรุปคือ ถึงแม้เถาวัลย์จะมีผลแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ทำให้ป่าฟื้นตัว แต่ป่าที่ฟื้นตัวอาจจะมีองค์ประกอบของชนิดพันธุ์ที่เปลี่ยนไป ที่ทางนักวิจัยกลุ่มดังกล่าวแสดงความกังวลคือเถาวัลย์จะทำให้มีไม้เบิกนำมีปริมาณเพิ่มขึ้นในป่าสมบูรณ์ และชนิดพันธุ์ไม้ทนร่มมีจำนวนลดลง 

ถึงกระนั้นผมคิดว่าการศึกษาดังกล่าวยังต้องมีการพูดคุยอภิปรายถึงความเป็นไปได้ของแนวคิด สมมุติฐานดังกล่าวอีกมาก ผมมีตัวอย่างน่าสนใจบางประเด็นที่สมมุติฐานดังกล่าวไม่น่าจะอธิบายได้ ตัวอย่างเช่นจากข้อมูลการวิจัยส่วนตัวผมเองประมาณปี 2548ที่ได้ทำในแปลงมอสิงโต อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งเป็นแปลงที่ใช้การศึกษาระบบเดี่ยวกับสมิทโซเนียนบนพื้นที่ประมาณ 188 ไร่ ผมได้ทำการสำรวจพื้นที่ทั้งหมดตรวจสอบว่า มีการเกิดช่องว่างในป่าขึ้นมากน้อยแค่ไหนทั้งที่พึ่งเกิดและเกิดมาก่อนแล้ว สิ่งที่พบคือ ช่องว่างในป่าที่มีเถาวัลย์มีประมาณ 30 แห่งจากช่องว่างที่เกิดขึ้นทั้งหมด 122 แห่ง หรือคิดเป็นประมาณ (25%) ดังนั้นผลกระทบของเถาวัลย์ดังกล่าว (ที่มีต่อพืชทนร่ม) น่าจะมีประมาณหนึ่งในสี่ของพื้นที่ และผมคิดว่าอาจจะเป็นเรื่องดีต่อความหลากหลายทางชีวภาพของต้นไม้ในป่าด้วย เพราะเปิดโอกาสให้ไม้เบิกนำโตในป่าสมบูรณ์ได้  สิ่งนี้มีข้อมูลสนับสนุนจากการศึกษาต้นมะกอกป่าชนิดหนึ่ง(สีเสียดเทศ, Choersopondias axillaris) ซิ่งเป็นไม้เบิกนำในแปลงมอสิงโตพบว่าต้นกล้าไม่สามารถเติบโตขึ้นทดแทนต้นใหญ่ได้ทำให้ประชากรมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ จนอาจจะหายไปจากแปลง สาเหตุหลักอาจจะเนื่องจากขนาดของช่องว่างที่เกิดขึ้นไม่ใหญ่พอ (Chanthorn& Brockelman2008) การมีเถาวัลย์ในป่าอาจจะช่วยต้นมะกอกชนิดนี้ลดการแก่งแย่งกับพืชชนิดทนร่มซึ่งเป็นไม้เด่นในป่าสมบูรณ์แห่งนี้ได้ นอกจากนี้เถาวัลย์ที่ยึดโยงต้นไม้ในป่าเมื่อมีต้นไม้ล้มจากที่สังเกตเถาวัลย์จะดึงเอาต้นอื่นล้มมาด้วยทำให้ช่องว่างมีขนาดใหญ่ขึ้น อันน่าจะเป็นผลดีต่อความหลากหลายทางชีวภาพเพราะมีแสงส่องลงมาที่พื้นมากขึ้น ช่องที่ใหญ่ขึ้นก็จะช่วยให้พืชเบิกนำโตร่วมกับพืชทนร่มได้ และพืชทนร่มที่อยู่ใกล้เคียงกับช่องว่างก็จะมีแสงส่องมาเพียงพอให้เจริญได้ ที่สำคัญเมื่อเกิดช่องว่างใหม่ๆ จะมีเถาวัลย์ปกคลุมแน่นมาก (เพราะผมได้ไปตัดเพื่อวัดต้นไม้ในบางแห่งจนสงสัยว่าต้นไม้มันจะเจริญได้อย่างไร) แต่สองถึงสามปีเถาวัลย์ก็ค่อยๆหายไปกลายเป็นกล้าไม้ขึ้นมาแทน
 
ทั้งนี้การวิจัยเกี่ยวเถาวัลย์ที่ได้กล่าวมาบางส่วนนั้นทำในป่าเขตร้อนที่ทวีปอเมริกาใต้ ซึ่งอยู่คนละซีกโลกกับทางประเทศไทย และเท่าที่ตรวจสอบดูงานยังไม่พบงานวิจัยเกี่ยวกับผลของเถาวัลย์ต่อระบบนิเวศป่าที่วิจัยในป่าเขตร้อนแถบทวีปเอเชีย  จึงยากที่จะสรุปว่าในแถบบ้านเราผลกระทบจะมีแนวโน้มดังกล่าวหรือไม่  เนื่องจากมีแบบจำลองทำนายว่าผลจากโลกร้อนส่งผลต่อการสะสมคาร์บอนในป่าเขตร้อนทวีปเอเชียและอเมริกาใต้มีความแตกต่างกัน (Gumpenbergeret. al. 2010)   อีกทั้งยังไม่มีนักวิทยาศาสตร์คนไหนในโลกที่ออกมาเสนอให้สางเถาวัลย์  เพราะงานวิจัยที่แสดงถึงผลของเถาวัลย์ต่อการฟื้นตัวของป่าก็มีแค่เพียงชิ้นเดียว และเรื่องนี้ยังมีประเด็นอีกหลายอย่างที่ยังไม่ชัดเจนซึ่งต้องใช้เวลาพิสูจน์ บางท่านจะคิดว่ารอไม่ได้ แต่การเปลี่ยนแปลงในป่ามันไม่ได้รวดเร็วมากขนาดนั้นครับ  อีกทั้งประเด็นการศึกษาส่วนใหญ่ก็เป็นเพียงมิติเดียวที่มองเรื่องพืช (ต้นไม้) แต่แทบจะไม่มีงานวิจัยที่บอกเราว่าสัตว์ที่อยู่ในป่ารวมถึงสิ่งมีชีวิตอื่นดำรงชีวิตสัมพันธ์กับเถาวัลย์มากน้อยแค่ไหน 

เท็จจริงแล้วปัญหาเรื่องเถาวัลย์เราอาจจะต้องย้อนกลับมาสู่คำถามพื้นฐานว่าวัตถุประสงค์ของการที่เราอยากให้มีป่าสมบูรณ์เพื่ออะไร ? และผมคิดว่าคำตอบที่ทุกคนทั่วโลกให้การยอมรับกันก็คือ การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ (เพื่อให้ได้รับการบริการที่ครบถ้วนจากระบบนิเวศป่า) และป่าที่สมบูรณ์มีหน้าตาเป็นอย่างไร?  คำตอบคงไม่ได้ง่ายๆ เพียงแค่เป็นป่าที่มีต้นไม้ที่สูงใหญ่เป็นจำนวนมาก  เพราะไม่เช่นนั้นแล้วสวนป่าเช่น สวนสักก็จะถูกจัดเป็นป่าสมบูรณ์เทียบเท่ากับป่าที่เขาใหญ่  ผมขออธิบายสั้นๆ ว่านิยามป่าสมบูรณ์ต้องเป็นป่าที่มีความซับซ้อนเชิงนิเวศ (ecological complexity)หรือเรียกแบบบ้านๆ ว่า “รก (ชัฏ)”   อันเกิดจากการมีสิ่งมีชีวิตหลากหลายชนิดมาอยู่ร่วมกันตามกระบวนการวิวัฒนาการที่ให้มันเป็น นอกเหนือไปจากความสูงใหญ่ของต้นไม้ดังที่กล่าวมา ความรกรุงรังดังกล่าวจะมีมากบ้างน้อยมากไม่ได้เหมือนกันทุกพื้นที่ในป่าแม้ว่าจะอยู่ในเป็นผืนเดียวกัน เพราะการเกิดช่องว่างจากไม้ล้มในป่าเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดลักษณะดังกล่าว  และถ้าเรายึดนิยามตามนี้เถาวัลย์ก็ทำให้เกิดความ “รก”  ขึ้น หรืออีกนัยหนึ่งเถาวัลย์ก็เป็นตัวที่บ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของป่า เฉกเช่นเดียวกับ นกเงือกหรือเสือโคร่ง ในบางครั้งคนไทยเราอาจจะเคยชินกับความสวยงามของป่าในสวนสาธารณะในเมืองหรือป่าในต่างประเทศที่มีไม้ต้นใหญ่ดูเป็นระเบียบพื้นล่างดูโล่ง เข้าไปนั่งพักผ่อนได้ หรือผมคาดเดาว่าคนส่วนใหญ่ถ้าให้เลือกป่าที่อยากไปเที่ยว ส่วนใหญ่คงจะเป็นป่าที่มีลักษณะเป็นป่าสนเช่นบนยอดภูกระดึง ที่มีต้นสนใหญ่เรียงรายดูสวยงาม และพื้นมีหญ้าแซมด้วยมีดอกไม้สวยๆ ในปลายฤดูฝน มากกว่าที่จะเดินในป่าเขาใหญ่ที่รกชัฏ เต็มไปด้วยหนามหวายและเถาวัลย์ แต่ป่าที่ไม่รกดังกล่าวย่อมไม่ใช่ป่าเขตร้อนที่สมบูรณ์ไม่ว่าจะเป็นที่ใดในโลกแน่ 

มีหลักฐานจากงานวิจัยของที่แปลงมอสิงโต ศึกษาด้วยวิธีการเดียวกับสมิทโซเนียน  ข้อมูลเบื้องต้นพบว่า จำนวนชนิดของเถาวัลย์พบประมาณอย่างน้อยหนึ่งในสามของชนิดพันธุ์ของต้นไม้ (ตัวเลข)!!  นั่นหมายความว่าถ้าเราสางเถาวัลย์ออกหมายความว่าเรากำลังทำลายความหลายหลายไปเกือบครึ่งหนึ่งของป่า และนอกจากนี้มีการศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องของสัตว์ป่าโดยเฉพาะนกและชะนี ซึ่งสองกลุ่มนี้เป็นสัตว์ที่ช่วยแพร่กระจายพันธุ์เมล็ดที่สำคัญ  และหลายชนิดกินเถาวัลย์เป็นอาหาร โดยเฉพาะมีการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่าในบางฤดูกาลชะนีกินเถาวัลย์เป็นองค์ประกอบหลัก ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่งและในปัจจุบันผู้วิจัยเรื่องดังกล่าวกำลังศึกษาเพิ่มเติมถึงความสัมพันธ์ดังกล่าวในเชิงวิวัฒนาการร่วม ถ้าขาดเถาวัลย์อาจจะทำให้เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ได้หรือไม่ เพราะความสมบูรณ์ในตัวลดลง  อันเนื่องจากขาดอาหารในบางฤดูกาล หรือสารอาหารบางอย่างซึ่งอาจจะได้รับจากเถาวัลย์  (ประเด็นนี้เราอาจจะอนุมานเทียบเคียงกับคน ที่มีสมุนไพรหลายชนิดเป็นเถาวัลย์ !!)นกบางชนิดอาจจะได้รับผลเช่นเดียวกัน อาทิเช่น นกเงือกซึ่งกินผลของเถาวัลย์หลายชนิดเช่นกัน (Datta & Rawat 2003) ในระยะยาวอาจจะส่งผลต่อการฟื้นตัวของกล้าไม้ในป่าที่สัตว์เหล่านี้ช่วยกระจายพันธุ์ไม้ป่าชนิดอื่น ทำให้เกิดสภาพ “ป่าล่ม”ถาวร?   สิ่งที่นอกเหนือไปจากนั้นยังมีพวกพืชหายากที่เป็นปรสิตจำเพาะที่ต้องอาศัยเถาวัลย์เป็นตัวอยู่อาศัย ยกตัวอย่างเช่น กระโถนฤาษี (Sapria spp.) หรือ บัวผุด (Rafflesia spp.) การสางเถาวัลย์ก็จะส่งผลต่อพืชพวกนี้และอาจจะสูญพันธุ์ไปได้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วยเช่นกัน

ดังนั้นถ้าเหตุการณ์ซึ่งมีแนวโน้มเป็นไปในทางดังกล่าวซึ่งโอกาส การที่เราสางเถาวัลย์จะทำให้เราห่างจากเป้าหมายเรื่อง การรักษาความหลากหลายทางชีวภาพออกไปเรื่อยๆ   นอกจากที่สัตว์จะใช้แล้วอย่างที่ได้เกริ่นมาว่าเถาวัลย์หลายชนิดเป็นสมุนไพรหรือเป็นอาหารที่สำคัญ เช่น บรเพ็ด (Tinospora crispa) ม้ากระทืบโรง (Ficus pubigera) และอีกหลายชนิดที่มีแนวโน้มหายากขึ้นเนื่องจากคนนำมาใช้ประโยชน์มากขึ้น การสางเถาวัลย์อาจจะเป็นการซ้ำเติมปัญหาดังกล่าวและเป็นการทำลายความยั่งยืนจากการใช้ประโยชน์จากป่าในระยะยาวหรือไม่ เป็นอีกมิติหนึ่งที่ต้องไตร่ตรองให้ถี่ถ้วนก่อนจะมีนโยบายการสางเถาวัลย์

ยังมีอีกประเด็นนึงที่ผมยังสงสัยคือ ปริมาณพื้นที่ของผืนป่าที่ถูกปกคลุมไปด้วยเถาวัลย์ตามที่เป็นข่าวคิดเป็นสัดส่วนเท่าไรของพื้นที่ทั้งหมด เช่น ป่ามี 1000 ไร่ แล้วมีกี่ไร่ที่เต็มไปด้วยเถาวัลย์  และกระจายตัวเป็นกลุ่มเดียวกันทั้งหมดหรือเป็นกลุ่มย่อย บริเวณไหนบ้าง ที่ผมตั้งคำถามนี้มาเนื่องจากคำถามที่สำคัญในทางนิเวศคือ เถาวัลย์ที่พบเป็นปริมาณมากอาจจะพบแค่บางบริเวณซึ่งทำให้ไม้ใหญ่ในพื้นที่นั้นไม่ฟื้นตัว แต่ในทางนิเวศการที่บางบริเวณมีเถาวัลย์อาจจะเป็นสิ่งที่รักษาความหลากหลายทางชีวภาพในป่าเขตร้อนไว้ให้อยู่ในระดับที่สูงได้ เพราะความแตกต่างกันในพื้นที่ Spatial heterogeneity ยิ่งมีมากก็จะทำให้ความหลากหลายมาก   การศึกษาที่มอสิงโตทั้งพื้นที่ ทั้งหมดร้อยแปดสิบกว่าไร่ต้นไม้ส่วนใหญ่เต็มไปด้วยเถาวัลย์พันขึ้น  เช่นเดียวกับที่ปานามา (Ingwall et. al.2010)  บางบริเวณ (ส่วนน้อย) ที่จะพบต้นไม้ที่ไม่สูงมากนักและมีเถาวัลย์ขึ้นอยู่หนาแน่น  แต่ลักษณะดังกล่าวพบว่าเป็นเรื่องปกติที่พบในป่าทั่วไปดังเช่นที่ Nourages ซึ่งเป็นสถานีวิจัยป่าเขตร้อนของประเทศฝรั่งเศส ในอเมริกาใต้ใกล้กับป่าอเมซอน ก็จะพบบางบริเวณที่มีเถาวัลย์ปกคลุมลักษณะเดียวกัน จนเรียกบริเวณนั้นว่าดงเถาวัลย์ (ผู้เขียน) ในป่าที่อเมริกาใต้ที่ได้กล่าวมาซึ่งเป็นป่าที่สมบูรณ์มากไม่พบร่องรอยของมนุษย์อย่างน้อยน่าจะมากว่า 1,000 ปี  นี่อาจจะเป็นสิ่งที่ดีเพราะพื้นที่มีความแตกต่างกันมากทำให้มีความหลากหลายสูง หรือทางนิเวศเราเรียกว่ามีความหลากหลายชนิดเบต้าสูง (b-diveristy)ที่มากไปกว่านั้น ผมยังได้สังเกตเห็นเถาวัลย์เป็นที่ให้พืชอิงอาศัยเช่นพืชกลุ่มสับประรดสีขึ้นเกาะด้วย เช่นเดียวกันกับในประเทศไทยผมเคยสังเกตเห็นมีเถาวัลย์บางต้นที่มีเฟิร์นข้าหลวงหลังลาย (Aspledium sp.) และกล้วยไม้หลายชนิดขึ้น  นั่นหมายความว่าถ้าเราตัดเถาวัลย์เราได้ทำลายพืชชนิดอื่นที่เชือมโยงกันไปด้วย 
ในทางกลับกันการมีเถาวัลย์น่าจะใช้เป็นดัชนีแสดงความอุดมสมบูรณ์ของป่ามากกว่าที่จะบ่งบอกถึงสัญลักษณ์ของการทำลายป่าดังที่ได้กล่าวมาบ้างแล้ว เพราะต้องมีต้นไม้ใหญ่ก่อนเถาวัลย์จึงจะโตได้ ดังเช่นที่ป่าเขาใหญ่หรือไม่ว่าจะเป็นป่าสมบรูณ์ที่ไหนในโลก  การพึ่งพิงของเถาวัลย์บนต้นไม้น่าจะคล้ายๆ เรื่องปรสิตกับเจ้าบ้านที่อยู่อาศัย ที่มีการพิสูจน์ในทางนิเวศวิทยามาแล้วว่าท้ายที่สุดปรสิตจะไม่มีทางทำให้ประชากรของเจ้าบ้านที่ไปอาศัยอยู่สูญพันธุ์และการมีปรสิตเป็นตัวบ่งบอกถึงระบบนิเวศที่มีสุขภาพดี (Hudson & Dobson 2006) เพราะไม่ทำให้ชนิดใดชนิดหนึ่งเด่นมากเกินไป (จนบางครั้งกลายเป็นชนิดพันธุ์รุกรานไปได้ (invasive species) อย่างไรก็ดีเรื่องดังกล่าวยังไม่ได้มีการศึกษามากนัก บางท่านอาจจะสงสัยว่าเท็จจริงแค่ไหนเรื่องการใช้เป็นดัชนีบ่งบอกถึงระดับความสมบูรณ์ มีการศึกษาในบ้านเราทางป่าในภาคเหนือแถวบริเวณเชิงดอยสุเทพ ที่อาจจะพอหยิบยกมาใช้อธิบายความสมบูรณ์ของป่ากับการพบเถาวัลย์ ผู้วิจัยได้ศึกษาพื้นที่ป่าเปรียบเทียบการรบกวนที่แตกต่างกัน หลักๆมาจากไฟป่า (ที่คนจุด) พบว่า บริเวณที่มีการป้องกันไฟมากกว่า 50 ปีจะมีจำนวนชนิดของเถาวัลย์มากที่สุดในขณะที่บริเวณที่มีการรบกวนจากไฟแถบจะไม่พบเถาวัลย์ (Vaidhayakarn & Maxwell 2010)

อย่างที่ผมได้ออกตัวมาก่อนหน้านี้แล้วว่าผมไม่เคยได้ป่าที่ป่าแก่งกระจานบริเวณดังกล่าวมาก่อน แต่จากที่ผมสังเกตจากสื่อเช่นหนังสือพิมพ์หรือโทรทัศน์  ผมคิดว่าเถาวัลย์ที่เกิดขึ้นน่าเป็นลักษณะของการเกิดขึ้นปกคลุมในช่องว่างของป่า  ลักษณะคล้ายกับป่าที่มอสิงโตเขาใหญ่ และมีหลายแห่งที่มีลักษณะคล้ายเช่นเดียวกัน แต่อย่างที่กล่าวมาแล้วไม่ได้พบในทุกช่องว่างในป่า  นอกเหนือจากนี้ที่ผมสังเกตเห็นในข่าวมีภาพเถาวัลย์ที่ถูกตัดมาวางไว้มีขนาดที่ใหญ่มาก ผมคิดว่าเป็นขนาดเถาวัลย์ที่พบในป่าสมบูรณ์ในเขาใหญ่นั่นแสดงว่าป่าที่แก่งกระจานเป็นป่าที่สมบูรณ์ตามธรรมชาติของมัน แต่บริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่สัมปทานไม้มาก่อน จะเป็นป่าสมบูรณ์ได้กระนั้นหรือ!!?  คำอธิบายที่เป็นไปได้คือ การทำไม้ส่วนใหญ่อาจจะไม่ได้เป็นการถางทั้งผืนป่า มีการนำออกไปเฉพาะไม้มีค่าการชักลากไม้ออกไปทำให้พื้นที่ดังกล่าวมีลักษณะเสมือนช่องว่างของป่าที่มีขนาดใหญ่ และแน่นอนในช่องว่างมักจะมีเถาวัลย์ขึ้นปกคลุม โดยเฉพาะต้นไม้ที่อยู่ด้านข้าง
 
สุดท้ายนี้ ถ้าเถาวัลย์ส่งผลจริง (กรณีที่เป็นไปในทิศทางลบอย่างเลวร้ายสุด ตามงานวิจัยที่เกาะบาโรโคโลราโด) ป่าคงจะไม่ได้ล่มดังเช่นหลายคนกลัว  แต่เราก็ยังคงเห็นป่ามีสภาพเป็นป่า เมื่อดูลักษณะโครงสร้างทั่วไปอาจจะสมบูรณ์ แต่มีองค์ประกอบอาจจะมีความแตกต่างจากเดิม แต่อย่าลืมนะครับว่าเถาวัลย์มีจำนวนชนิดของต้นไม้และยังมีวิวัฒนาการร่วมกันมากับสัตว์อีกหลายชนิด  ถ้าเราคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญผมอยากจะเสนอแนะว่าการที่ท่านส.ว. หรือใครจะพากันไปสางเถาวัลย์ซึ่งโดยหลักวิธีการคิดเป็นเจตนาเรื่องที่ดี  แต่ผลลัพธ์ที่ได้อาจจะเกิดขึ้นในทางตรงข้าม ผมว่าน่าจะเปลี่ยนเป็นโครงการติดตามศึกษาการเปลี่นแปลงสภาพป่าเทียบกันในบริเวณที่มีเถาวัลย์หนาแน่นกับบริเวณที่พบน้อยและปานกลางโดยเริ่มทำในพื้นที่เล็กๆ  ก่อนเปรียบเทียบกับพื้น โดยอาจจะใช้วิธีการเดียวกับที่สถาบันสมิทโซนเนียนก็ได้ แล้วอาจพานักเรียนหรือใครมาช่วยกันวัด บันทึกการเปลี่ยนแปลง แทนการเข้ามาตัดสาง อีกทั้งเวลาที่จะดูการเปลี่ยนแปลงนี้คงไม่ใช่แค่หกเดือนดังที่ออกข่าว เรื่องนี้เราจะใจร้อนไม่ได้ต้องไตร่ตรองให้ถี่ถ้วน และทำด้วยความรอบคอบจริงๆ เพราะอย่างที่ได้กล่าวมาเราไม่มีป่าสมบูรณ์เหลือเพียงพอให้ต้องสูญเสียได้อีกแล้ว
 
หมายเหตุ:  บทความนี้เป็นการดัดแปลงและเรียบเรียงมาจากบทความที่คาดว่าจะส่งไปเผยแพร่ในวารสารทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งจะมีเนื้อหาในเชิงลึกมากขึ้น เพื่อให้ทันต่อเหตุการณ์จึงได้นำมาเผยแพร่ก่อน
 

Comments

ความคิดเห็น

ความเห็นที่ 1

ธรรมชาติสร้างสรรค์บางสิ่งขึ้นมาเพื่อบางสิ่ง มนุษย์ก็เป็นสิ่งที่ธรรมชาติสร้างขึ้นมาเพื่อบางสิ่ง แล้วสร้างขึ้นมาเพื่ออะไร นั้นเป็นคำถามที่ยากจะอธิบาย การที่ธรรมชาติเป็นไปตามนี้อาจจะถูกต้องที่สุดแล้ว

ความเห็นที่ 2

ขอบคุณอาจารย์มากเลยครับ สำหรับข้อมูลและแนวคิดในการพิจารณษเรื่องการดำเนินการใดๆ ที่ต้องอยู่บนฐานความจริง
อยากให้หลายท่านได้อ่านครับ

ความเห็นที่ 3

จะว่าไปเถาวัลย์มันก็สวยดีเหมือนกันนะ...

ความเห็นที่ 4

เป็นข้อมูลที่ดีมากครับผมกำลังหาข้อมูลเพิ่มเติมอยู่พอดี
ขอบคุณครับ

ความเห็นที่ 5

อีกไม่นานจะมีการคัดค้านกันเป็นเครือข่าย
กลุ่มศิลปิน...ประชาชนพื้นที่...นักวิชาการ

ความเห็นที่ 6

แจ้งให้เราเข้าร่วมด้วยนะครับคุณ loseman

ความเห็นที่ 6.1

ได้ครับขอบคุณ

ความเห็นที่ 6.2

เครือข่ายพิทักษ์รักป่าแก่งกระจาน..ขอเชิญร่วมคัดค้านการตัดเถาวัลย์ในป่าแก่งกระจาน วันที่ 13-14 พ.ย.53 ณ บ้านกร่างแค้มป์ มีผู้เข้าร่วมที่ตอบรับเเล้วดังนี้  เครือข่ายพิทักษ์เจตนารมณ์เดือนตุลา....เครือข่ายศิลปินเพือสิ่งเเวดล้อม....นักวิชาการ... 

ความเห็นที่ 7

พอดีบทความผมตกหล่นอ้างอิง เลยเอามาใส่ให้ครบถ้วน

Chanthorn, W. & Brockelman, W.Y. (2008) Seed dispersal and seedling recruitment in the light-demanding tree Choerospondias axillaris in old-growth forest in Thailand. Scienceasia, 34, 129-135.

Datta, A. & Rawat, G.S. (2003) Foraging patterns of sympatric hornbills during the nonbreeding season in Arunachal Pradesh, northeast India. Biotropica, 35, 208-218.

Gumpenberger, M., Vohland, K., Heyder, U., Poulter, B., Macey, K., Rammig, A., Popp, A., & Cramer, W. (2010) Predicting pan-tropical climate change induced forest stock gains and losses-implications for REDD. Environmental Research Letters, 5.

Hudson, P.J., Dobson, A.P., & Lafferty, K.D. (2006) Is a healthy ecosystem one that is rich in parasites? Trends in Ecology & Evolution, 21, 381-385.

Ingwell, L.L., Wright, S.J., Becklund, K.K., Hubbell, S.P., & Schnitzer, S.A. The impact of lianas on 10 years of tree growth and mortality on Barro Colorado Island, Panama. Journal of Ecology, 98, 879-887.
Phillips, O.L., Martinez, R.V., Arroyo, L., Baker, T.R., Killeen, T., Lewis, S.L., Malhi, Y., Mendoza, A.M., Neill, D., Vargas, P.N., Alexiades, M., Ceron, C., Di Fiore, A., Erwin, T., Jardim, A., Palacios, W., Saldias, M., & Vinceti, B. (2002) Increasing dominance of large lianas in Amazonian forests. Nature, 418, 770-774.

Vaidhayakarn, C. & Maxwell, J.F. (2010). Ecological status of the lowland deciduous forest in Chang Kian Valley, Chiang Mai, Northern Thailand. Maejo Int. Sci. Technol., 4, 268-317.

Wright, S.J., Calderon, O., Hernandez, A., & Paton, S. (2004) Are lianas increasing in importance in tropical forests? A 17-year record from Panama. Ecology, 85, 484-489.

ความเห็นที่ 8

แล้วก็ มีแก้ไขนิดหน่อยคือ พอดีช่วงที่เขียนต้องรีบไปออกฟิลด์ ตรงทีวงเล็บว่าตัวเลข จากการสอบถามข้อมูลคร่าวๆ จากศูนย์พันธุวิศวกรรมแห่งชาิติ ที่แปลงมอสิงโตมีเถาวัลย์ประมาณ 120 ชนิด ต้นไม้ 260 ชนิด นั่นหมายความว่าเกือบครึ่งของพืชที่เป็นโครงสร้างป่าเป็นเถาวัลย์ ถ้าเราเอาเถาวัลย์ออกหมดจะเกิดอะไรขึ้น!!?

พอดีได้ข่าวมาว่าเค้าจะเลื่อนการศึกษาเป็นจากหกเดือนเป็นห้าปี ผมคิดว่าสิ่งที่ควรทำในการศึกษาครั้งนี้คือ ควรมีการตั้งแปลงศึกษากระจายในทั่่วพื้นที่ดังกล่าว ปีหรือสองปีแรกคงจะได้ข้อมูลเบื้องต้นว่ามีเถาวัลย์มากน้อยเท่าไร มีต้นไม้อะไรเด่น อะไรหายาก และอาจจะสำรวจสัตว์ป่าควบคู่กันไป (อาจจะรวมถึงสิ่งมีชีวิตอื่นด้วย) หลังจากที่ได้ข้อมูลดังกล่าวแล้ว ผมว่ามีกรณีที่น่าจะส่งผลกระทบน้อยที่สุด ถ้าจะต้องมีการทดลองสางเถาวัลย์คือ ต้นไม้ที่ถูกเุถาวัลย์ขึ้นเป็นต้นไม้หายากในระัดับประเทศหรือในระดับโลก ประชากรมีอยู่น้อย (เช่น เหลืออยู่ร้อยต้นทั่วโลก) และุเถาวัลย์ที่ขึ้นมีจำนวนมากและพบได้ทั่วไป เราคงจำเป็นต้องช่วยป้องกันไม่ให้ต้นไม้นั้นสูญพันธุ์ แต่กรณีที่ยากต่อการตัดสินใจคือถ้า เถาวัลย์ที่ขึ้นก็หายากด้วยคงต้องพิจารณาองค์ประกอบอื่นร่วมด้วย เช่น สิ่งมีชีวิตอื่นที่เกี่ยวข้องกับเถาวัลย์ชนิดนั้น ส่วนกรณีอื่นคิดว่าคงต้องติดตามตรวจสอบระยะเวลายาวนานมากกว่านี้

ความเห็นที่ 9

อยากติดต่อให้เขียนบทความลงลอลัม COOL ในโพสต์ทูเดย์ติดต่อกลับด้วยครับ 0899677012

ความเห็นที่ 10

การปรากฏขงเถาวัลย์ที่แก่งกระจาน..ลองหยุดคิดกันสักนิดก่อนตีข่าว  ว่ามันจะเกิดจากอะไร...แล้วมาจัดการให้ถูกวิธี เพราะการแก้ปัญหาอย่างผิดวิธีคือการสร้างปัญหาลูกโซ่..
ปัจจุบันคือการปรากฏของเถาวัลย์ (บางบริเวณที่เกิด ไม่ได้เยอะอย่างที่เป็นข่าว)
สาเหตุที่เกิด เพราะธรรมชาติกำลังเสียสมดุล..เพราะอะไรจึงเป็นเช่นนั้น
1. สัตว์ป่าหายไปจากพื้นที่..เนื่องจากการรบกวนของมนุษย์ (ท่องเที่ยว ล่าสัตว์ ตัดไม้)
2. ปัจจัยแวดล้อมเอื้ออำนวย ทั้ง แสง อุณหภูมิ..
ลองมามองแง่ดีบ้าง (มองแต่แง่ดีเถิด)
1. น้ำท่วมเพชรบุรี..แต่ไม่ท่วมที่แก่งกระจานและบริเวณต้นน้ำเพชรบุรี ไม่คิดบ้างหรือว่าธรรมชาติสร้างเถาวัลย์มาช่วยปกป้องและชะลอการไหลของน้ำและรากอันมากมายของมันช่วยดูดซับน้ำลงดิน เหมือนธรรมชาติจะรู้ว่าฝนจะตกหนัก จึงสร้างสิ่งนี้ขึ้นมา..
2. อากาศร้อน อุณหภูมิสูงขึ้น หากไม่มีเถาวัลย์มาช่วยปกคลุมดิน ความแห้งแล้งจะมากกว่าปกติ
 
นี่คือข้อดีที่เกิดปรากฏการณ์นี้
 
ส่วนข้อเสียนั้น หากคิดดีๆ แล้วแทบจะไม่ใช่ข้อเสีย อย่างที่หนังสือพิมพ์บางฉบับหลับหูหลับตาเขียนเชียร์ให้มีการตัดเถาวัลย์..บางอย่างมันโง่เง่าปิดหูปิดตาชาวบ้าน..หาว่าช้างป่าทำร้ายชาวบ้านเพราะเครียดเรื่องเถาวัลย์ปิดทาง..จระเข้จะสูญพันธุ์เพราะผลกระทบจากเถาวัลย์ ...เป็นเรื่องงี่เง่าบิดเบือนทั้งเพ..ไม่คิดบ้างหรือว่ามันเป็นอาเพศจากคนบางคนที่เป็นใหญ่อยู่ในนั้น..ไม่เคยมียุคไหนที่ช้างป่าโดนฆ่าตายและโดนทำร้ายเหมือนช่วง 2 ปีมานี้ ช้างมันก็อาฆาตแค้นเป็นไม่เกี่ยวกับเถาวัลย์..จระเข้ที่ต้นแม่น้ำเพชรบุรีวางไข่ทุกปี...การไปรบกวนโดยมนุษย์..แม่จระเข้มันเครียดที่ไข่โดนรังควานมันก็ไม่อยากอยู่หรอก....ผลกระทบของเถาวัลย์ต่อถิ่นที่อยู่อาศัยของจระเข้น้ำจืดนั้นไม่น่าจะมี เพราะสภาพพื้นที่ที่จระเข้อาศัยนั้นเป็นพงหญ้า ไม่พุ่มริมน้ำและหาดทรายริมตะพักแม่น้ำเพชรบุรี ซึ่งมีน้ำท่วมขังทุกปียากที่เถาวัลย์จะเข้าไปยึดครองได้ เพราะไม่ใช่ระบบนิเวศที่เถาวัลย์ชอบ แต่ปัญหาของจระเข้นั้นทางอุทยานฯต้องทบทวนว่า สิ่งที่ทำอยู่ปัจจุบันนั้นถูกต้องและเหมาะสมหรือไม่
 ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองหากจะไปดูเถาวัลย์แก่งกระจาน ถ้าไม่อยากโง่ก็ให้ไปกันเอง อย่าให้ทางเจ้าหน้าที่แก่งกระจานพาไป..เพราะเขาจัดพื้นที่ไว้ให้ท่านดูแล้ว คัดเอาแต่ที่เจ๋งๆ แล้วบอกท่านว่าเป็นแบบนี้ 3 แสนไร่...ท่านก็จะเป็นตาบอดคลำช้าง...
ฝากถึงชาวบ้านผู้เสียภาษีทั้งหลายขอให้รู้เถิดว่า..เงินของท่านกำลังจะถูกโกงครั้งใหญ่อีกครั้งด้วยกระบวนการนี้ ป่านนี้เขาเคาะเครื่องคิดเลขกันเรียบร้อยแล้วว่า ค่าดูแลนักข่าว(บางฉบับ) ผู้บริหาร เจ้านาย นักการเมือง จะได้กันเท่าไร  และตัวเองจะได้อีกเท่าไร..อนาถหนอราชการไทย
ขอวิงวอนนักข่าว นักวิชาการ ..ขอให้ช่วยพยุงรักษาสังคมไทยให้อยู่รอด..ช่วยรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ ให้ราชการใสสะอาดเพื่อในหลวงของเรา อย่าสนับสนุนคนชั่วเพียงเพราะเห็นว่าเป็นพรรคพวกหรือเกรงกลัวต่ออิทธิพลของนักการเมือง..หรือพุทธทำนายเรื่องคนชั่วจะได้รับการยอมรับ คนดีจะถูกขับออกจากสังคม เป็นจริงแล้ว..

 

ความเห็นที่ 11

ตอนนี้ไทยรัฐตีข่าวนี้...เสียจนดูเหมือนเถาวัลย์เป็นฆาตกรไปแล้ว...

ความเห็นที่ 12

ตามลิ้งนี้ครับ
http://www.thairath.co.th/content/region/126010
ลงทุกวันเลย แล้วทำให้คยจงเกลียดจงชังพืชอย่างเถาวัลย์อย่างกับเกลียดมาเป็นชาติ
ใครไม่เชื่อลองไปอานดูนะครับ
 

ความเห็นที่ 13

เถาวัลย์รุกรานป่าแก่งกระจาน ทำพืชสมุนไพรหายากตายหมด เร่งฟื้นฟูสภาพป่าเร่งด่วน ส่งทีมลงพื้นที่สำรวจพเหลืออยู่แค่ 10 กว่าชนิด ...

จากกรณี "ไทยรัฐ" นำเสนอปัญหาเถาวัลย์รุกรานป่าในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี จนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ คนใหม่ ได้สั่งการให้ระดมนักวิชาการของสำนักวิจัย ดำเนินการศึกษาวิจัยถึงผลกระทบทุกด้าน โดยทีมทำงานปราบเถาวัลย์ได้ลงพื้นที่ดำเนินการอย่างเป็นทางการแล้ว และต้องรอผลการศึกษาวิจัย 6 เดือน ตามข่าวที่ได้เสนอมาตามลำดับ

สำหรับความคืบหน้ากรณีดังกล่าว ทีมข่าวเฉพาะกิจภูมิภาค "ไทยรัฐ" รายงานเมื่อวันที่ 4 พ.ย. นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เปิดเผยว่า หลังจากที่อุทยานได้ดำเนินการตัดสางเถาวัลย์ ออกในส่วนที่ตรวจสอบแล้ว เนื่องจากพบว่าผืนป่าบริเวณนั้นอยู่ในสภาพวิกฤติ จนล่าสุดได้รับข่าวดีหลังจากที่เริ่ม พบสัตว์บนผิวดินทั้ง กระทิง ช้าง กวาง ออกมาหากินบ้างแล้ว และขณะนี้ทีมพิทักษ์ป่าได้พบกับนกเงือกสัตว์เรือนยอดที่เป็นตัวบ่งชี้ถึงความสมบูรณ์ของผืนป่า และนกนานาชนิดที่หายหน้าไปอย่างสิ้นเชิง โดยขณะนี้ได้เริ่มทยอยกลับมายังถิ่นเดิมที่ได้มีการตัดสางเถาวัลย์ ออกไปแล้วเช่นกัน อีกทั้งยังมีสัตว์เรือนยอดอื่นๆ เช่น ลิง ชะนี ค่าง ต่างกลับมาห้อยโหนโยนตัวบนเรือนยอดของต้นไม้อย่างมีความสุขแล้วด้วยเช่นกัน

นายชัยวัฒน์เผยต่อว่า แต่สิ่งที่ตนเป็นห่วงมากนอกจากวิถีชีวิตของสัตว์ป่าและไม้ใหญ่ที่จะได้รับความ เสียหายจากเถาวัลย์ คือตนเป็นห่วงเรื่องของไม้สมุนไพร ที่เคยมีอยู่มากมายหลากหลายชนิด เรียกได้ว่าแก่งกระจานเป็นป่าศูนย์รวมของพืชสมุนไพรอันดับต้นๆของประเทศ แต่เวลานี้จะหาไม้สมุนไพรยากมาก เพราะพืชสมุนไพรถูกเถาวัลย์เข้ารุกรานปกคลุมจนตายหมด คาดว่าขณะนี้พืชสมุนไพรที่สำคัญหลายอย่างได้หมดไปจากผืนป่าแห่งนี้โดยสิ้นเชิงแล้ว เช่น ค้างคาวดำ วงขิงข่า ซึ่งจะหาพืชสมุนไพรที่เป็นหัวมาทำยาแม้แต่หัวเดียวยังหาไม่ได้ ดังนั้น การเร่งฟื้นฟูสภาพป่าจึงเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน ต้องเดินหน้าทำไปเรื่อยๆ ในส่วนที่ทำแล้วเกิดผลดีไม่กระทบต่อระบบของป่า เพราะขณะนี้ผืนป่าอยู่ในสภาพวิกฤติยังมองอนาคตไม่ชัดเจนว่าจะแก้ทันหรือเปล่า หากรออย่างเดียวเกรงว่าจะทำให้การแก้ไขปัญหาเพิ่มความยากลำบากมากขึ้นเหมือนกับที่สหรัฐอเมริกาประสบอยู่

ด้าน น.ส.สุพร พลพันธ์ นักวิชาการป่าไม้ปฏิบัติการ กล่าวว่า ปรากฏการณ์เถาวัลย์ที่เกิดขึ้นมีท่าทีว่าจะขยายรุกคืบไปจนถึงป่าลึก หากปล่อยทิ้งไว้อาจส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะสมุนไพรชนิดต่างๆ ที่เป็นดรรชนีตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าแห่งนี้ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้เคยร่วมกับคณะผู้ชำนาญการเพื่อปรับโครงสร้างการ บริหารจัดการและองค์กรด้านสิ่งแวดล้อม คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ สำรวจพืชสมุนไพรในช่วงฤดูฝน พบพืชสมุนไพรในป่าแห่งนี้ทั้งสิ้น 6 ประเภท ใน 7 พื้นที่ รวม 86 วงศ์ 302 ชนิด แยกตามประเภทป่า ได้แก่ ป่าดิบแล้งพบพืชสมุนไพร 37 วงศ์ 72 ชนิด ป่าเบญจพรรณชื้น บริเวณป่าบ้านกร่างพบพืชสมุนไพร 21 วงศ์ 29 ชนิด ป่าเต็งรังที่เหมืองใบลานพบพืชสมุนไพร 31 วงศ์ 43 ชนิด ป่าดิบชื้นที่บ้านกร่าง กม.18 พบพืชสมุนไพร 25 วงศ์ 32 ชนิด ป่าเบญจพรรณที่โป่งพรมพบพืชสมุนไพร 32 วงศ์ 71 ชนิด ป่าดิบเขาที่ป่าพะเนินทุ่งพบพืชสมุนไพร 23 วงศ์ 26 ชนิด ป่าดิบชื้นที่ป่าละอูพบพืชสมุนไพร 22 วงศ์ 29 ชนิด

น.ส.สุพร กล่าวต่อว่า หลังจากที่เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นมา ได้มอบหมายให้นายสุทัศน์ ทรัพย์ภู่ หัวหน้างานศึกษาวิจัยระบบนิเวศป่าไม้และสัตว์ป่า นำกำลังเจ้าหน้าที่ พิทักษ์ป่าและลาดตระเวนลงตรวจสอบพื้นที่บริเวณโป่งพรม บ้านกร่าง ไปจนถึง กม.15 ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ถูกเถาวัลย์ปกคลุมประมาณ 5-6 หมื่นไร่ เพื่อสำรวจชนิดของสมุนไพรที่เหลืออยู่ในขณะนี้ ปรากฏว่าพบเพียง 10 กว่าชนิดที่หลงเหลืออยู่เพียงเล็กน้อย เช่น กวาวเครือขาว  ย่านาง หรือเถาป่านาง โด่ไม่รู้ล้ม ว่านพลูช้าง คงคาเดือด มะป่วน หรือปอฉอด นางนวล แดงดง ชาป่า หรือชาฤาษี เจ๊าข่อย พริกพราน อ้อยช้าง เนระพูสีไทย ขณะที่พืชสมุนไพรอีกจำนวนมากมายหลายชนิดได้หายไปจากผืนป่าแห่งนี้อย่างสิ้นเชิงแล้ว ถือเป็นเรื่องน่าเสียดายมาก.

ความเห็นที่ 13.1

ที่จริงแล้วสมุนไพรในแก่งกระจานมันหายไปเพราะการพัฒนาพื้นที่มากกว่า ทั้งการเปิดลานกางเต๊นท์ ลานจอดรถ การเปิดถนน และอีกสารพัดโครงการที่ทำเพื่อหวังผลด้านการท่องเที่ยวอย่างเดียว คุณสุพร เป็นแต่นักวิชาการฉาบฉวย เอากระแสเถาวัลย์เข้าไปโหนหรือเปล่า

ความเห็นที่ 14

กรณี "ไทยรัฐ" ตีแผ่ปัญหาฝูงเถาวัลย์รุกรานกินป่าในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ที่ส่ง ผลกระทบไปต่อทุกระบบของป่า จนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ต้องสั่งตั้งนักวิชาการทุกภาคส่วนของสำนักวิจัยแบบบูรณาการ เป็นทีมปราบเถาวัลย์ที่ล่าสุดได้แผ่ขยายออกมารุกรานนอกผืนป่าแล้ว ขณะที่ทีมปราบเถาวัลย์ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า   และพันธุ์พืช   ก็ได้ลงพื้นที่ตัดสางเถาวัลย์ ในแปลงทดลองที่ได้กำหนดไว้อย่างเป็นทางการแล้ว หลังการตัดสางแปลงวิจัยตามหลักวิชาการเสร็จสิ้น ก็จะเป็นช่วงเวลาของการติดตามเก็บข้อมูลทุกเดือนเพื่อดูผลต่างๆที่จะเกิดออกมาให้เห็น  จากนั้นจึงจะสรุปและนำไปเข้าสู่การเปิดเวทีสาธารณะเพื่อให้ภาคประชาชนและผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดมีส่วนร่วมในการรับรู้และแสดงความคิดเห็นก่อนจะดำเนินการตามขั้นตอนที่ได้ผลสรุปออกมาตามข่าวที่เสนอมาอย่างต่อเนื่องนั้น

ความคืบหน้าเมื่อวันที่ 31 ต.ค. จากการเปิดเผยของ นายสุทธิพงษ์ ตันบุญยศิริเดช นายอำเภอแก่งกระจาน ว่า หลังทราบเรื่องเถาวัลย์จาก "ไทยรัฐ" ตนได้สั่งการไปยังกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และประชาชนในเขต อ.แก่งกระจานจำนวน 6 ตำบล 52 หมู่บ้าน กำชับให้ทุกฝ่ายลงพื้นที่ตรวจสอบ ว่าในไร่ สวน หรือพื้นที่เกษตรกรรมของชาวบ้านมีที่ใดที่ พบเถาวัลย์บ้าง หากพบให้เร่งดำเนินการตัดหรือทำลายทิ้งทันที เนื่องจากอยู่นอกเขตอุทยานจึงไม่เป็นปัญหาใดๆ สำหรับในพื้นที่ของหน่วยราชการต่างๆให้หน่วยงานนั้นๆ เป็นผู้รับผิดชอบดูแลตามระเบียบของต้นสังกัด พร้อมประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับรู้ถึงปัญหาเถาวัลย์ที่กำลังเป็นพืชรุกรานผลผลิตทางการเกษตรในท้องถิ่นที่ส่งผลกระทบในหลายด้าน และสร้างความเสียหายให้กับเกษตรกรอย่างมากด้วย ในเรื่องนี้ต้องขอขอบคุณ "ไทยรัฐ" ที่นำปัญหานี้มานำเสนอ ทำให้ประชาชนได้ทราบข้อเท็จจริง จนออกมาสังเกตกับปรากฏการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น และช่วยกันแก้ไข

ทางด้านนายบุญยืน เอี่ยมน้อย ผอ.สำนักงานบำรุงทางเพชรบุรี กล่าวว่า หน่วยงานของตนดูแลเส้นทางหลวงแผ่นดินของ จ.เพชรบุรีทั้งหมด ที่ผ่านมามีหน้าที่ต้องดูแล ต้นไม้ริมถนนตลอดเส้นทางใน จ.เพชรบุรี เมื่อเกิดการรุกล้ำเข้ามาในถนนหลักของกิ่งไม้   ต้นไม้ที่แห้ง   เปราะ และพร้อมที่จะโค่นลงมาสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้ใช้รถใช้ถนน ก็ได้ตัดออกเพื่อเป็นการสร้างความปลอดภัยให้กับประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนและนักท่องเที่ยว  แต่เป็นการตรวจสอบและดำเนินการเพียงปีละครั้งเท่านั้น แต่หลังทราบข่าวจาก "ไทยรัฐ" ว่าเกิดปัญหาลักษณะนี้ขึ้นมาและมีอันตรายหากปล่อยทิ้งไว้ ตนจึงได้ปรับเปลี่ยนเพิ่มความถี่การตรวจสอบและตัดออกเป็นสัปดาห์ละครั้ง โดย มอบให้นายวีรวัฒน์ จิระประดิษฐ์ผล หัวหน้าหมวดการทาง อ.ท่ายาง ลงพื้นที่เดินหน้าสำรวจเส้นทางพร้อมทั้งตัดแต่งกิ่งไม้ และตัดสางเถาวัลย์ที่รุกรานต้นไม้ริมทางให้โล่งเตียน  ไม่ให้มีกิ่งไม้หักลงมาขวางเส้นทางหลวงบดบังภูมิทัศน์โดยเด็ดขาด เพื่อสร้างความปลอดภัยให้ กับผู้ใช้รถใช้ถนน

นายบุญยืนเผยต่อไปว่า ขณะนี้ตนได้เร่งระดมเจ้าหน้าที่ออกสำรวจควบคู่ไปกับการประสานงานกับองค์การโทรศัพท์และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในพื้นที่สนธิกำลังร่วมกันแก้ไข เพราะเถาวัลย์เหล่านี้ส่งผลกระทบไปถึงเสาไฟฟ้า สายโทรศัพท์ด้วย หากเสาไฟฟ้าที่ถูกดึงเหนี่ยวรั้งลงมา นอกจากทำให้ไฟฟ้าดับแล้ว การสื่อสารทั้งหลายก็จะหยุดชะงัก เป็นความเสียหายแบบลูกโซ่อีกด้วย ยิ่งระยะนี้ มีฝนตกหนัก ทำให้เถาวัลย์เจริญเติบโตเร็วผิดปกติ จึงให้เจ้าหน้าที่ออกสำรวจวางกรอบกระชับพื้นที่การทำงานให้แคบลงเพื่อป้องกันเหตุไม่คาดฝันที่อาจเกิดขึ้นกับชาวบ้านหรือนักท่องเที่ยวที่ขับรถเข้ามาเที่ยวแก่งกระจานอย่างต่อเนื่อง สำหรับปัญหาในเขตอุทยานตนดูแล้วเป็นปัญหาที่ใหญ่มาก กินพื้นที่นับแสนไร่ หากไม่รีบดำเนินการแก้ไขอย่างเร่งด่วนในหน้าฝนนี้ อาจส่งผลให้ เกิดไฟป่าในหน้าแล้งที่จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงกับผืนป่าได้ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทราบว่ามีการระดมนักวิจัยจากสาขาต่างๆเข้ามาระดมความคิดเพื่อแก้ไขปัญหาแบบบูรณาการอย่างเป็นรูปธรรม ถือเป็นเรื่องดีที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาและเป็นต้นแบบทำงานเชิงรุกให้กับหน่วยงานอื่นต่อไป แต่ต้องเร่งดำเนินการ.

ความเห็นที่ 15

ลองดูอีกความคิดเห็นครับ
http://www.wildelephantlover.com/distribution/viewtopic.php?f=6&t=322

ความเห็นที่ 16

จากกรณีฝูงเถาวัลย์หลากหลายสายพันธุ์  ทั้งขนาดใหญ่กว่าโคนขาของมนุษย์และขนาดเล็กบุกเลื้อยเข้ายึดผืนป่าในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ครอบคลุมพื้นที่กว่า 3 แสนไร่ โดยเฉพาะผืนป่ารุ่น 2 ที่ผ่านการสัมปทานไปแล้ว และล่าสุดกำลังคืบหน้าเข้าสู่ผืนป่าธรรมชาติในป่าลึก  ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ วิทยาและวิถีชีวิตของสัตว์ป่าทุกชนิด ซึ่งปัญหานี้ได้ กลายเป็นปัญหาทั้งระดับประเทศและระดับโลกที่หลาย ประเทศกำลังประสบอยู่เช่นกัน  ตามข่าวที่นำเสนอมาตามลำดับ

สำหรับความคืบหน้ากรณีดังกล่าว ทีมข่าวเฉพาะกิจภูมิภาค "ไทยรัฐ" รายงานเมื่อวันที่ 16 ก.ย. ว่า ภายหลังได้ติดตามความเคลื่อนไหวของการดำเนินการตัดสางเถาวัลย์ ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อเส้นทางหากินของสัตว์ป่า เช่น ช้าง กระทิง วัวแดง เก้งหม้อ กวาง เลียงผา ของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ที่นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หน.อุทยานฯได้นำเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าในสังกัด กระจายกำลังกันดำเนินการตัดสาง ตามคำสั่งของนายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในจุดที่เกิดผลกระทบต่อสัตว์ป่า ทั้งในเส้นทางเดินและแหล่งอาหาร โดยการดำเนินงานเป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะเถาวัลย์ชนิดต่างๆ อาทิ แก้วมือ เล็บเหยี่ยว หนามหันและสะแกวัลย์ ที่ขึ้นรกหนาแน่นได้เกี่ยวเสื้อผ้าตลอดจนแขนขาและร่างกายของเจ้าหน้าที่จนได้รับบาดแผลกันทุกคน อย่างไรก็ตาม การเร่งตัดสางเถาวัลย์ครั้งนี้ สามารถบรรเทาปัญหาไปได้ระดับหนึ่ง สัตว์หลายชนิดเริ่มทยอยกลับสู่วิถีชีวิตเดิมของตัวเองบ้างแล้ว  แต่ยังไม่เป็นที่พอใจของเจ้าหน้าที่อุทยานฯ

ด้านนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี กล่าวว่า ตนจะต้องเร่งตัดสางเถาวัลย์ต่อไปทุกวัน แม้ฝนตกก็จะไม่ย่อท้อ ไม่เช่นนั้นจะควบคุมบริหารจัดการพื้นที่ลำบาก เพราะเถาวัลย์ เพิ่มจำนวนเจริญเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆทุกวัน

ส่วนทีมข่าวเฉพาะกิจภูมิภาค "ไทยรัฐ" รายงานเพิ่มเติมว่าว่า หลังการเปิดเผยข่าวและเกาะติดมาตลอดของ นสพ.ไทยรัฐ ปรากฏว่าบรรยากาศในพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ขณะนี้มีสื่อมวลชนหลายแขนงทั้ง โทรทัศน์ วิทยุ สื่อสิ่งพิมพ์ และสำนักข่าวต่างๆ พากันเดินทางเข้าไปสำรวจข้อเท็จจริงในพื้นที่และนำข่าวไปเสนอกันอย่างคึกคัก  ส่วนใหญ่ได้เห็นสภาพปัญหาจากของจริง ถึงกับวิพากษ์วิจารณ์กันว่าสภาพป่าที่เห็นปรากฏอยู่เบื้องหน้าเป็นภาพที่สลดหดหู่  และเปรียบเทียบผืนป่าแก่งกระจานขณะนี้ เสมือนเป็นสุสานของไม้ยืนต้นชนิดต่างๆ เพราะต้นไม้แต่ละต้นต่างถูกพันธนาการด้วยเถาวัลย์อย่างมิดชิด จนต้องยืนตายซากทั้งเป็น

ขณะที่นายเกียรติศักดิ์  กล่อมสกุล  มัคคุเทศก์ ท้องถิ่น ซึ่งเดินทางร่วมกับคณะของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เพื่อตัดสางเถาวัลย์ ได้เปิดเผยว่า ตนได้สังเกตเห็นเถาวัลย์เลื้อยพันขึ้นไปบนต้นสมพงษ์ และต้นยวนผึ้ง สูงประมาณครึ่งต้นแล้ว จึงขอตั้งข้อสังเกตว่าไม้ทั้งสองชนิดนี้ ภายในผืนป่าแก่งกระจานตามธรรมชาติจะมีนกเงือกชนิดต่างๆ ซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองเป็นสัตว์ป่าหายาก และยังเป็นสัตว์ที่บ่งชี้ถึงความสมบูรณ์ของป่า โดย นกเงือกจะเจาะต้นไม้ในจุดที่สูงเกือบสุดเป็นโพรงเพื่อทำรัง  เนื่องจากต้นสมพงษ์และต้นยวนผึ้ง เป็นพันธุ์ไม้ที่มีขนาดของต้นสูงใหญ่ เนื้ออ่อน ลำต้นเกลี้ยง ปลอดภัยจากงูและศัตรูอื่นของนกเงือก เพราะไม่สามารถเลื้อยขึ้นไปทำอันตรายต่อนกและลูกนกภายในรังได้ แต่หากปล่อยให้เถาวัลย์เลื้อยพันขึ้นไปถึงจุดสูงสุดของต้นไม้ทั้งสองชนิดได้แล้ว ต่อไปงูจะเลื้อยขึ้นไปถึงรังของนกเงือกได้ และจะส่งผลให้นกชนิดนี้ลดจำนวนลงไปอีก จากข้อมูลที่ได้รับการยืนยันจากนักดูนกทั่วประเทศ พบว่ามีนกเงือกอาศัยอยู่ถึง 6 ชนิดในผืนป่าแห่งนี้ จากที่มีอยู่ในประเทศไทย 13 ชนิด หากไม่ได้รับการแก้ไขหรือแก้ไขช้าเกินไป อาจจะทำให้นกเหล่านี้สูญพันธุ์ไปจากผืนป่าแก่งกระจานได้

นายอาคเนย์ กายสอน นักวิชาการท้องถิ่นกล่าวว่า จากการศึกษาเรื่องเถาวัลย์คลุมป่าในพื้นที่แก่งกระจาน เป็นประเด็นที่น่าศึกษามาก  เนื่องจากว่าเป็นปรากฏการณ์ ใหม่ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะข้อมูลด้านภาวะภูมิอากาศในแถบนี้ที่เปลี่ยนแปลงทั้งอุณหภูมิและปริมาณน้ำฝน มีการมองกันเฉพาะในปัญหาของระบบนิเวศ ล่าสุด พบช้างป่าเร่ร่อนมาเดินหาอาหารกินตามชายแนวป่า และขึ้นมาเดินบนพื้นถนนที่ชาวบ้านใช้สัญจรไปมากันแล้ว ซึ่งเกรงว่าจะเกิดอันตรายจากการที่ช้างจะถูกรถชน รวมถึงช้างจะเข้าไปเหยียบย่ำพืชผลของชาวบ้าน  อีกทั้งอันตรายที่จะเกิดจากไฟป่าขั้นรุนแรงด้วย  ดังนั้น เหตุ–การณ์ครั้งนี้จึงควรเป็นข้อมูลที่จะต้องศึกษาต่อว่า หากมันยังระบาดอยู่อย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกับที่ประเทศสหรัฐอเมริกา จะเตรียมวิธีการแก้ไขอย่างยั่งยืนไว้รองรับอย่างไรกัน.

ความเห็นที่ 17

จากกรณี "ไทยรัฐ" เสนอปัญหาฝูงเถาวัลย์หลากหลายชนิดแพร่กระจายรุกรานเข้าไปกินป่าในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี จนส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศวิทยาและวิถีชีวิตของสัตว์ป่า ตามข่าวที่เสนอมาตามลำดับ ล่าสุด ทีมข่าวเฉพาะกิจภูมิภาค "ไทยรัฐ" รายงานความคืบหน้าเมื่อวันที่ 26 ต.ค. ดร.วัฒนา ศักดิ์ชูวงษ์ หัวหน้าทีมปราบเถาวัลย์ เปิดเผยว่า ตนได้จัดทำแปลงทดลองไว้ 9 แปลง แบ่งออกเป็น 3 จุด จุดละ 3 แปลง ใช้พื้นที่แปลงละ 1 ไร่ ทั้ง 3 จุด โดย 1 แปลงอยู่ในพื้นที่ป่าธรรมชาติที่มีเถาวัลย์ขึ้นตามปกติทั่วไป ส่วนอีก 2 แปลง อยู่ใกล้เคียงระหว่างรอยต่อของป่าธรรมชาติกับผืนป่ารุ่นสองที่มีเถาวัลย์ปกคลุมอย่างหนาแน่น โดยจะมีการตัดสางในแปลงที่อยู่ในผืนป่ารุ่นสองที่มีเถาวัลย์ขึ้นอย่างหนาแน่น 1 แปลง และอีก 1 แปลง ปล่อยไว้ไม่มีการตัดสางเช่นเดียวกับแปลงที่อยู่ในป่าธรรมชาติ จากนั้นจะเริ่มติดตามผลและเก็บข้อมูลจากแปลงทดลองทั้ง 9 แปลง ใน 3 จุด ในทุกๆ 1 เดือน ไปจนกว่าจะครบ 6 เดือน แล้วจึงนำมาแปลผลสรุปว่ามีผลออกมาเช่นใด  คาดว่าช่วงนั้นจะมีความชัดเจนว่าควรจะต้องดำเนินการต่อไปอย่างไร  เพื่อให้เถาวัลย์อยู่คู่กับป่าได้ในระบบพึ่งพิงเหมือนเดิม เมื่อได้ผลสรุปเรียบร้อยจะนำเข้าสู่กระบวนการเปิดเวทีสาธารณะ เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้รับทราบและมีความเห็นร่วมกันอีกครั้ง

ขณะเดียวกัน ทีมปราบเถาวัลย์ได้เข้าสู่พื้นที่เพื่อตัดสางเถาวัลย์ในแปลงทดลองเป็นครั้งแรกตามหลักวิชาการที่ได้กำหนดจุดไว้อย่างเป็นทางการ โดยมีนายชิงชัย วิริยะบัญชา น.ส.ภานุมาศ ลาดปาละ นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการพิเศษ จากสำนักวิจัยกรมอุทยานแห่งชาติฯ และนายสุทัศน์  ทรัพย์ภู่  หัวหน้างานศึกษาวิจัยระบบนิเวศน์และสัตว์ป่า อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน พร้อมทีมงานอีก 10 คน ลงพื้นที่ในบริเวณป่าโปร่งพรม กม.8 เพื่อตรวจสอบแปลงวิจัยที่ 4 ซึ่งมีความกว้าง 40 เมตร ยาว 40 เมตร ที่ต้องตัดสางเปรียบเทียบกับแปลงทดลองอื่น โดยใช้เครื่องมือเก็บตรวจวัดคาร์บอนปริมาณความหนาแน่นของต้นไม้ ไม้หนุ่ม ไม้หลัก จำนวน และชนิดต่างๆของต้นไม้ และเถาวัลย์ เพื่อศึกษาวิจัยถึงวิธีการเจริญเติบโตของเถาวัลย์ รวมถึงเพื่อการพิสูจน์ให้เกิดความชัดเจนว่า ความหนาแน่นของเถาวัลย์ดังกล่าวจะเป็นอันตรายต่อสภาพความเป็นป่าในอนาคต ตามที่มีการคาดการณ์ไว้ในเบื้องต้นหรือไม่ แต่จากการทำงานเพื่อตัดสางและการเดินเท้าเข้าไปเก็บข้อมูลมวลสิ่งแวดล้อมกลับเต็มไปด้วยความลำบาก เพราะสภาพพื้นที่ป่าสัมปทานเก่ามีเถาวัลย์ปกคลุมหนาแน่นมาก

จากนั้นนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ได้เปิดเผยว่า หลังจากทีมวิจัยได้ลงพื้นที่ตรวจสอบและเปรียบเทียบปริมาณของเถาวัลย์กับปริมาณของต้นไม้หลักแล้ว พบตัวเลขที่น่าตกใจ โดยในแปลงทดลองนี้มีเถาวัลย์ประเภทต่างๆ ประกอบไปด้วย รางจืด แก้วลืมวาง มะลิไส้ไก่ เครือตดหมูตดหมา เครือประสงแดง เครือเบาน้ำ หวายตะมอย เครือแตงแพะ คัดเค้าหมู บุหรง จิงจ้อเหลือง เครือเถาน้ำ ขมิ้นเครือ เถาคันแดง รวม 14 ชนิด คิดเป็น 94.44% ของพื้นที่ ส่วนต้นไม้หลักและไม้ใหญ่ พบมีเหลือเพียง 6 ชนิด ประกอบไปด้วย อีโด ตาเสือ นางเลว ตองแตก สาบเสือ ข่อยหนาม คิดเป็น 5.56% ของพื้นที่เท่านั้น เมื่อเทียบกันแล้วจะเห็นได้ว่าเถาวัลย์หลากชนิดเหล่านี้ได้ปกคลุมพื้นที่เกือบ 100% หากปล่อยทิ้งไว้ป่าที่เหลือจะถูกเถาวัลย์ปกคลุมจนสูญเสียต้นไม้หลักไปอย่างแน่นอน.

ความเห็นที่ 18

พบตัวเลขที่น่าตกใจ โดยในแปลงทดลองนี้มีเถาวัลย์ประเภทต่างๆ ประกอบไปด้วย รางจืด แก้วลืมวาง มะลิไส้ไก่ เครือตดหมูตดหมา เครือประสงแดง เครือเบาน้ำ หวายตะมอย เครือแตงแพะ คัดเค้าหมู บุหรง จิงจ้อเหลือง เครือเถาน้ำ ขมิ้นเครือ เถาคันแดง รวม 14 ชนิด คิดเป็น 94.44% ของพื้นที่ ส่วนต้นไม้หลักและไม้ใหญ่ พบมีเหลือเพียง 6 ชนิด ประกอบไปด้วย อีโด ตาเสือ นางเลว ตองแตก สาบเสือ ข่อยหนาม คิดเป็น 5.56% ของพื้นที่เท่านั้น


นี่มันป่าหรือครับ?????
สาบเสือ จัดเป็นต้นไม้หลักและไม้ใหญ่
555

ความเห็นที่ 18.1

งึดอีหลี....สาบเสือเป็นต้นไม้หลักและไม้ใหญ่
คันบ่พอ กะให้มาก่นเอาอยู่หลังเฮือนผมเด้อ