ด้วงกว่างซางเหนือ แมลงสวยงามที่กำลังมีอันตราย.

    ด้วงกว่างซางเหนือ ด้วงกว่างห้าเขา( Yellow five-horned beetle ) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Eupatorus gracilicornis เป็นด้วงปีกแข็งชนิดหนึ่ง มักออกบินในช่วงต้นเดือนกันยายนของทุกปี ตัวผู้มีเขาที่ส่วนหัวยาวตั้งขึ้น และโค้งมาทางด้านหลังเล็กน้อย สันหลังอกปล้องแรกมีสีดำ มีเขาอีกสองคู่อยู่ที่ด้านข้างทั้งสองด้าน ปีกมีสีน้ำตาลอ่อนปนเหลือง ยกเว้นเส้นสีดำที่อยู่ตรงกลางปีกและขอบด้านนอก ส่วนตัวเมียไม่มีเขาและมีสีคล้ายกับตัวผู้

    กว่างซางเหนือเป็นแมลงที่ชาวบ้านทางภาคเหนือรู้จักกันเป็นอย่างดี และพบเห็นอยู่ทุกปี ด้วงมักออกบินในช่วงเวลา19:00-20:00น. และ 02:00-03:00น. ในช่วงต้นเดือนกันยายนด้วงกว่างซางเหนือส่วนมากที่บินมาเล่นไฟมักจะเป็นตัวผู้ พอถึงช่วงปลายเดือนจนถึงต้นเดือนตุลาคมก็จะเป็นช่วงที่ตัวผู้และตัวเมียออกบินพร้อมๆกัน เมื่อถึงช่วงปลายเดือนตุลาคมก็จะเหลือตัวเมียที่ออกบิน ส่วนใหญ่เป็นด้วงที่ผ่านการผสมพันธุ์มาแล้ว สาเหตุที่ตัวผู้ไม่ออกบินช่วงปลายเดือนตุลาคมอาจเป็นเพราะผ่านการผสมพันธุ์มาแล้ว ธรรมชาติของกว่างซางเหนือตัวผู้หลังจากที่ผสมพันธุ์แล้ว ก็มักจะมีชีวิตอยู่ได้ไม่เกิน1อาทิตย์ อาจเป็นเพราะว่าสูญเสียพลังงานและสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายไปในการผสมพันธุ์แล้ว

    การหายตัวไปอย่างรวดเร็วของกว่างซางเหนือมาจากสาเหตุหลายประการ เช่นการที่ความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติที่ถูกทำลายไปตามกาลเวลา การจับด้วงเพื่อเก็บสะสมมักมุ่งจับแต่ตัวผู้ที่มีเขายาว  ส่วนตัวผู้ขนาดเล็กและตัวเมียมักถูกปล่อยทิ้งไว้ในธรรมชาติเพื่อรักษาเผ่าพันธุ์เอาไว้ซึ่งเป็นความคิดที่ดี แต่ในปัจจุบันไม่เป็นเช่นนั้น เนื่องจากด้วงตัวเมียถูกนำไปประกอบอาหาร ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรหยุด หากได้เรียนรู้และรู้จักการดำรงชีวิตของด้วงมากยิ่งขึ้นก็จะรู้ว่ากว่าจะออกมาเป็นด้วงตัวเต็มวัยนั้นต้องใช้เวลาเป็นตัวอ่อนนาน16-24เดือน สรุปวงจรชีวิตคือ2ปี ผมมีโอกาสได้ลองชิมกว่างซางเหนือครั้งหนึ่ง ณ ดอยแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ เป็นด้วงที่ชาวบ้านจับเอาไว้ให้แต่มันไม่สมบูรณ์เพราะขาขาดไปแล้ว ทำให้ไม่สามารถเดินได้ตามปกติ จึงถูกนำไปจี่หรือก็คือการย่าง ด้วงหลังจากที่จี่แล้วจะมีรสชาติเหมือนกุ้ง และเกือบทุกๆตัวจะมีไข่อยู่เต็มท้อง เห็นแบบนี้แล้วทำให้ผมไม่กล้ากินด้วงกว่างซางเหนืออีกต่อไป จึงอยากจะแนะนำให้ทุกๆคนที่บริโภคกว่างซางเหนือได้ทราบว่าการบริโภคกว่างซางเหนือนั้นจะเป็นการทำให้กว่างซางเหนือสูญพันธุ์เร็วขึ้น ปัจจุบันธรรมชาติก็ถูกทำลายไปมากจนทำให้ด้วงไม่มีที่อยู่อาศัยแล้ว ยังถูกซ้ำเติมด้วยการนำมารับประทาน ซึ่งจะเป็นการทำให้ด้วงหมดโอกาสที่จะได้ขยายพันธุ์

   เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วเราก็ควรจะหยุดกินกว่างซางเหนือกันและช่วยกันเผยแพร่ความรู้ว่าการกินกว่างซางเหนือนั้นเป็นสิ่งที่ควรหยุด เพราะตัวอ่อนนั้นใช้เวลายาวนานมาก กว่าจะออกมาเป็นตัวเต็มวัยต้องใช้เวลานานถึง2ปี มันคุ้มค่ากับการนำมารับประทานเพียงคำสองคำหรือ?

อ้างอิงจาก : http://www.malaeng.com/blog/?p=5074

Comments

ความคิดเห็น

ความเห็นที่ 1

คุยกันอยู่กระทู้นี้
http://www.siamensis.org/webboard/topic/2643#new

ความเห็นที่ 2

ชอบจังครับ

ความเห็นที่ 3

ขออนุญาตเจ้าของบทความเพื่อนำบทความนี้ไปใช้เป็นข้อสอบการสรุปความ  ขอบคุณมาก

ความเห็นที่ 4

เป็นเรื่องที่ดีครับ. ที่นำมาบอกเล่า ช่วงหลังๆมานี่จะไม่มีให้เห็นแล้วผมว่าน่าจะสูญพันธุ์จริงในแถบบ้านผม จะเห็นมีแต่กวางคามที่ยังมีอยู่ไม่มากเท่าไหร่แล้วครับ

ความเห็นที่ 5

สวยงามมากๆคราฟ

ความเห็นที่ 6

ผมชอบด้วง คิดที่จะเลียงเพื่่ิอให้เขาอยู่ต่อไป ความสวยมีมากในด้วงไทยชนิดนี้ เราคงไม่ต้องไปดูด้วงปลอม ตัวสต๊าปไว้นะครับ   ของเรามีดีมากๆกลับถูกทำลายโดยไม่รู้ ของกินมีเยาะ อย่าไปทำให้ด้วงของเราต้องสูญพันธ์ไปเลยครับ