รายงานการค้นพบจระเข้น้ำจืดสายพันธุ์ไทย ในเขตอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง จังหวัดพิษณุโลก

รายงานการค้นพบจระเข้น้ำจืดสายพันธุ์ไทย ในเขตอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง จังหวัดพิษณุโลก
8 เมษายน 2550

จระเข้น้ำจืดไทย มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Crocodylus siamensis ชื่อสกุล Crocodylus นั้นเป็นภาษากรีกแปลได้ความว่า สัตว์ที่มีผิวหนังตะปุ่มตะป่ำ ส่วนชื่อวิทยาศาสตร์ siamensis นั้นเกิดจากคำสองคำ คำแรกคือ Siam ชื่อเดิมของประเทศไทย และคำที่สองเป็นภาษาลาติน ensis แปลว่า “Belonging to หรือ ซึ่งเป็นของ”รวมกันแล้ว  จึงแปลว่าจระเข้ซึ่งเป็นของประเทศไทย

อย่างไรก็ดีสัตว์ชนิดนี้มีการแพร่กระจายพันธุ์อยู่ในเกือบทุกประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ ประเทศ ไทย ลาว พม่า เขมร เวียตนาม มาเลเซีย บรูไน และ อินโดนีเซีย ในอดีตจระเข้แห่งสยามนี้มีพบชุกชุมในหลายพื้นที่ โดยมีรายงานว่าชอบอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำที่ไหลไม่แรงนักหรือแหล่งน้ำนิ่ง ในประเทศไทยเอง บึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ และ บึงน้ำจืดหลายแห่งในเขตภาคกลางเช่น บึงสีไฟ จังหวัดพิจิตร ก็จัดเป็นแหล่งแพร่กระจายพันธุ์ที่สำคัญของจระเข้สายพันธุ์นี้ ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจระเข้น้ำจืดจะสูญพันธุ์ไปหมดแล้วจากแหล่งดังกล่าวก็ตาม

จระเข้ในสกุลCrocodylus นี้มีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 12 ชนิด ใน 12 ชนิดนี้ จระเข้น้ำจืดไทยถูกจัดให้เป็นชนิดที่มีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์มากที่สุด และในบรรดาเผ่าพันธุ์จระเข้ทั่วโลกที่มีด้วยกันอยู่ 25 ชนิดใน 8 สกุล ความหายากของจระเข้ชนิดนี้จะเป็นรองก็แต่ จระเข้ปากกว้างสายพันธุ์จีน (Alligator sinensis) เท่านั้น โดยจระเข้ไทยนั้นถูกจัดอยู่ในบัญชีหนึ่งของอนุสัญญาไซเตส  (CITES, Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora) ซึ่งเป็นบัญชีของสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ นอกจากนั้น องค์การ IUCN ยังจัดให้เป็นสัตว์ที่ถูกคุกคามอย่างยิ่งยวด (Critical threatened) อีกด้วย

สาเหตุหลักที่ทำให้จระเข้น้ำจืดสายพันธุ์ไทยใกล้สูญพันธุ์นั้น มีอยู่ด้วยกัน 3 ข้อหลัก คือ การล่าจระเข้ขนาดใหญ่เพื่อเอาหนังและเนื้อ การเก็บไข่และตัวไม่เต็มวัยเพื่อรวบรวมให้กับฟาร์ม และข้อสุดท้ายคือการทำลายแหล่งอาศัย ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะมีจระเข้น้ำจืดสายพันธุ์ไทยอยู่อีกมากตามฟาร์มต่างๆ แต่ในธรรมชาติกลับมีรายงานเพียงไม่กี่แห่ง โดยในประเทศไทยนั้นมีรายงานที่ยืนยันได้อยู่เพียงสองแห่งคือ ที่ต้นน้ำเพชรบุรีในเขต อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และอีกแห่งหนึ่ง คือที่อช.เขาอ่างฤาไน ซึ่งทั้งสองแห่งนั้นคาดว่าจะมีจำนวนประชากรอยู่เพียงไม่กี่ตัวและคาดว่าจะไม่มีการผสมพันธุ์ ซึ่งนั่นหมายความว่า หากสิ้นอายุขัยของจระเข้ตัวดังกล่าว ประชากรจระเข้น้ำจืดในประเทศไทยก็คงหมดสิ้นไปแต่เพียงเท่านั้น

ส่วนในประเทศเพื่อนบ้าน สถานการณ์ของจระเข้น้ำจืดชนิดนี้ยังดีกว่าในประเทศไทยเล็กน้อย โดยในช่วงไม่กี่ปีมานี้หลังจากมีการสำรวจอย่างจริงจังมีการค้นพบจระเข้ในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะประชากรในประเทศลาวและเขมรนั้นอาจจะเรียกได้ว่าเป็นความหวังสุดท้ายของจระเข้ที่ได้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า “เป็นของประเทศไทย”ไปแล้วก็ได้ โดยมีการประมาณการว่าในประเทศเขมรนั่นน่าจะมีจระเข้น้ำจืดสายพันธุ์นี้อยู่ในธรรมชาติอย่างน้อย 50 ตัวหรืออาจจะมากถึง 4,000 ตัว จะเห็นว่าเป็นตัวเลขประมาณการที่กว้างมาก เนื่องจากสัตว์ชนิดนี้เป็นสัตว์ที่มีความระวังไพรสูงมากและทำให้ไม่สามารถสำรวจพบเห็นตัวได้ง่าย การพบเห็นสัตว์ชนิดหายากชนิดนี้ในธรรมชาติจึงเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นและดีใจเสมอโดยเฉพาะการพบเห็นในประเทศไทย ซึ่งจระเข้ชนิดนี้ได้รับการตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติ์

ต้นปี พ.ศ. 2550 กลุ่ม siamensis.org ซึ่งเป็นกลุ่มอนุรักษ์เอกชนที่มีความรู้และความชำนาญทางด้านการสำรวจสัตว์น้ำและสัตว์เลื้อยคลาน ได้รับการติดต่อจาก ดร.กฤษดา ดีอิน นักวิชาการประมง 7. หัวหน้ากลุ่มงานวิจัยแหล่งน้ำ ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด พิษณุโลก สำนักวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด กรมประมง ให้ร่วมกันสำรวจจระเข้สายพันธุ์ไทยในเขตต้นแม่น้ำคลองชมพู ซึ่งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง จังหวัดพิษณุโลก เนื่องจากมีคำบอกเล่าจากชาวบ้านในพื้นที่ว่ายังมีจระเข้น้ำจืดขนาดใหญ่อาศัยอยู่ในพื้นที่ และจากการสำรวจของดร.กฤษดา ก็พบร่องรอยที่เชื่อได้ว่าเป็นรอยของจระเข้ขนาดใหญ่จริง โดยพบเป็นรอยเล็บ และรอยวาดหางที่เหลืออยู่บนเนินทรายริมฝั่งแม่น้ำ

โดยการสำรวจนั้นได้เลือกเอาช่วงที่น้ำมีระดับต่ำสุดคือในช่วงต้นเดือนเมษายน ซึ่งคาดว่าจะทำให้พบเห็นจระเข้ได้ง่ายขึ้น ในคืนวันที่ 7 เมษายน พ.ศ.2550 ทีมสำรวจร่วมระหว่าง ชาวบ้านชมพู กรมประมง กรมป่าไม้  และ กลุ่ม siamensis.org ได้เดินทางเข้าสู่พื้นที่ โดยก่อนถึงที่หมายนั้นได้รับข้อมูลเพิ่มเติมจากเด็กในหมู่บ้านว่าพบจระเข้ขนาดใหญ่ในวังน้ำแห่งหนึ่งในระหว่างการดำยิงปลากลางคืนเมื่อประมาณ 4 วันก่อนหน้าที่ทีมสำรวจจะเข้าไป การสำรวจจึงมุ่งเน้นไปที่วังดังกล่าวเป็นหลัก

การสำรวจแบ่งออกเป็น 2 ทีม ทีมแรกใช้การดำน้ำส่องไฟหาตามซอกหลืบของหินใต้น้ำซึ่งคาดว่าจระเข้อาจจะกบดานซ่อนตัวอยู่ อาจจะเป็นความบ้าบิ่นของทีม siamensis.org บ้าง แต่ชาวบ้านในพื้นที่ยืนยันว่าเวลาเข้ามาหาปลาในวังดังกล่าว ก็พบจระเข้บ่อยครั้งและจระเข้เหล่านี้ไม่เคยทำร้ายคน ซึ่งเป็นธรรมชาติของ C. siamensis ซึ่งกินปลาและสัตว์ขนาดเล็กเป็นหลักและแทบจะไม่มีรายงานว่าทำร้ายมนุษย์แต่ประการใด ส่วนอีกทีมนั้นเป็นการส่องไฟหาร่องรอยและตัวจระเข้ตามริมฝั่ง

เวลาประมาณ 23.00 น. ทีมส่องไฟก็ประสพความสำเร็จในการค้นหาจระเข้แห่งคลองชมพู เมื่อส่องไฟเข้าไปในโพรงถ้ำแห่งหนึ่งและพบจระเข้ขนาดใหญ่นอนอยู่ด้านใน ถ้ำดังกล่าวนี้เกิดจากหินแบนขนาดใหญ่มีความกว้างประมาณ 3 เมตรยาวประมาณ 7 เมตร พาดทับลงไปในตลิ่ง ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างหินกับพื้นดิน โดยทางเข้าของถ้ำนี้อยู่ใต้น้ำที่มีความลึกประมาณ 1 เมตร เป็นความโชคดีที่น้ำได้เซาะดินบางส่วนที่ขอบหินออก ทำให้เกิดช่องขนาดเล็กทางด้านทิศตะวันออก ทำให้สามารถมองรอดเข้าไปได้ และจึงสำรวจพบจระเข้ดังกล่าว ทางทีมงานได้ใช้กล้องถ่ายภาพระบบดิจิตอลขนาดเล็กยื่นผ่านรูดังกล่าวเข้าไปถ่ายภาพ บริเวณหลัง สีข้าง เท้าหน้า และหลังทางด้านขวา รวมไปถึงบางส่วนของท่อนหางไว้ได้ โดยจระเข้ที่พบมีความยาวประมาณ 3 เมตร จัดเป็นจระเข้น้ำจืดสายพันธุ์ไทยที่โตเต็มวัย ซึ่งต่อมาจระเข้ได้ขยับตัวเข้าไปด้านในของถ้ำ ทำให้ไม่สามารถเห็นได้อีก

การค้นพบจระเข้น้ำจืดที่คลองชมพูครั้งนี้ ถือเป็นรายงานที่ยืนยันได้แหล่งที่ 3 ของประเทศไทย โดยชาวบ้านในพื้นที่ยืนยันว่ามีจระเข้อาศัยอยู่ในพื้นที่อย่างน้อย 3 ตัว และยังมีการทำรังวางไข่ โดยเมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้วชาวบ้านก็จับจระเข้ขนาดประมาณเมตรกว่าได้ตัวหนึ่ง ซึ่งถ้าหากเป็นจริงตามคำอ้างของชาวบ้าน ประชากรของจระเข้น้ำจืดแห่งคลองชมพูนี้จะถือเป็นประชากรของจระเข้น้ำจืดสายพันธุ์ไทยที่เหลืออยู่มากที่สุดในประเทศไทยและเป็นประชากรเดียวที่ยังมีการผสมพันธุ์อยู่

โดยสภาพพื้นที่ของคลองชมพูในจุดที่สำรวจพบจระเข้นั้นทางทีมงานได้สำรวจสองฝั่งของคลองเป็นระยะทางประมาณ 3กิโลเมตร พบว่าจุดที่กว้างที่สุดมีความกว้างประมาณ 50 เมตร โดยพื้นที่ในช่วงที่มีการสำรวจนี้เป็นวังน้ำที่มีความลึกมาก สลับไปกับแก่งที่มีความกว้างไม่มากนักเป็นช่วงๆ สองฝั่งคลองเป็นลานและแท่งหินที่มีซอกหลืบมากเหมาะเป็นที่หลบพักของปลาขนาดใหญ่และจระเข้ บางช่วงมีลักษณะเป็นเกาะที่มีพื้นเป็นทรายมีพืชชายน้ำเช่น อ้อ และพง ขึ้นหนาแน่น ซึ่งชาวบ้านเล่าว่าเคยพบรังจระเข้บนเกาะดังกล่าว  สองฝากคลองนั้นเป็นป่าเต็งรัง และป่าดิบแล้งที่ถูกรบกวนน้อย มีการเข้ามาใช้ประโยชน์จากชาวบ้านบ้าง เช่น เลี้ยงวัวในปลายหน้าฝน และหาปลาในลำคลอง โดยในวันที่สำรวจนั้นพบปลาน้ำจืดชุกชุม เช่น ปลากด ปลาแขยง ปลาสร้อย และ ปลาหมอตะกรับ นอกจากชาวบ้านในพื้นที่แล้วก็มีการรบกวนจากบุคคลภายนอกน้อยมากเนื่องจากเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ   

อย่างไรก็ดี พื้นที่คลองชมพูบริเวณที่สำรวจพบจระเข้นี้ เป็นจุดที่จะได้รับผลกระทบจาก “โครงการอ่างเก็บน้ำคลองชมพู”ซึ่งคาดว่าระดับน้ำจะท่วมพื้นที่อาศัยของจระเข้ทั้งหมด และจะเป็นการเปลี่ยนแปลงแหล่งอาศัยของจระเข้น้ำจืดที่อาจจะเป็นประชากรที่ใหญ่ที่สุดที่เหลืออยู่ในธรรมชาติของประเทศไทยอย่างถาวร

นอกจากนั้นระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ำในถ้ำพระวังแดง ถ้ำน้ำดั้น และ ถ้ำพระไทรงาม ซึ่งมีการสำรวจพบปลาถ้ำซึ่งเป็นสัตว์คุ้มครองของประเทศไทยถึง 3 ชนิด คือปลาค้อถ้ำพระวังแดง ปลาค้อถ้ำพระไทรงาม และ ปลาพลวงถ้ำโดยปลาถ้ำทั้ง 3 ชนิดนี้ก็เป็นสัตว์ถิ่นเดียวของพื้นที่ กล่าวคือไม่มีการสำรวจพบที่อื่นอีกในโลก ซึ่งจากรายงานการศึกษาสภาพอุทกธรณีวิทยาของโครงการดังกล่าว ระบุชัดเจนว่าการสร้างเขื่อนจะมีผลต่อระดับน้ำบาดาลในพื้นที่ แต่ไม่สามารถคาดเดาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อระดับน้ำในถ้ำที่มีปลาถ้ำอาศัยอยู่ได้ จึงเป็นความเสี่ยงที่มิควรจะเสี่ยงเป็นอย่างยิ่ง

ข้าพเจ้าในนามของกลุ่ม siamensis.org จึงขอให้มีการทบทวนโครงการดังกล่าว ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบทางลบต่อสัตว์ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในระดับสากลที่พบในพื้นที่และควรค่าแก่การอนุรักษ์ให้ยั่งยืนสืบไป

นณณ์ ผาณิตวงศ์

Comments

ความคิดเห็น

ความเห็นที่ 1

แจ่มเลยครับ อ่านทีไร ก็นึกดีใจขึ้นทุกครั้ง ไม่รู้ว่า ขณะนี้ โครงการอ่างน้ำนั้น เป็นไปอย่างไรแล้ว ล้มเลิกไปหรือยัง ใครทราบชี้แจงหน่อยครับ ขอบคุณครับ

ความเห็นที่ 2

ถ้ามีการขยับอะไร สายทางนั้นน่าจะแจ้งมาครับ ตอนนี้ยังเงียบๆอยู่ หวังว่าคงไม่ใช่ลมเงียบก่อนเกิดพายุใหญ่นะ

ความเห็นที่ 3

แล้วเค้าไม่นับที่เขาใหญ่หรือครับ? ดูจากรูปลักษณ์ภายนอกแล้ว น่าจะเป็น C.siamensis ค่อนข้างชัดเจน...

เพียงแต่ว่า มันมีแนวโน้มที่จะเป็นจระเข้ที่มาอาศัยอยู่ภายหลัง(ไม่ใช่ของดั้งเดิม) และคงมีอยู่ไม่เกิน 2-3 ตัว