ปลาดื่มน้ำหรือเปล่า?
ปลาดื่มน้ำหรือเปล่า??
น้ำเป็นสสารที่มีความสำคัญที่สุดของทุกชีวิต ร่างการของมนุษย์อย่างเราประกอบไปด้วยน้ำถึงร้อยละ ๗๐ และสัดส่วนนี้ก็ใช้ได้กับสัตว์มีกระดูกสันหลังเกือบทุกชนิดในอัตราที่ไม่หนีกันมากนัก คนอย่างเราที่เป็นสัตว์เลือดอุ่นอาศัยอยู่บนบก สูญเสียน้ำจากร่างกายได้หลายทาง ทั้งจากการระเหยออกจากร่างกายผ่านทางเหงื่อ และการขับถ่าย ซึ่งเราก็ทดแทนน้ำที่สูญเสียไปด้วยการดื่มน้ำ แล้วคุณเคยสงสัยไหม ว่าปลาที่อาศัยอยู่ในน้ำดื่มน้ำหรือเปล่า?
คำตอบคือ แล้วแต่ว่าคุณถามถึงปลาอะไร ปลาน้ำจืด หรือ ปลาน้ำเค็ม?
ปลาโดยทั่วไปมีเกลือชนิดต่างๆอยู่ในเลือดประมาณร้อยละ ๑.๔ ในขณะที่ในน้ำจืดส่วนใหญ่จะมีเกลืออยู่ต่ำมากๆจนแทบจะไม่มีเลย ส่วนในน้ำทะเลนั้นมีเกลืออยู่ประมาณร้อยละ ๓.๕ หรือมีปริมาณเกลือมากกว่าในเลือดของปลาน้ำจืดสักสองเท่ากว่าๆ ซึ่งนับว่ามากพอควรเหมือนกัน ดังนั้นปลาน้ำจืด และน้ำเค็มจึงมีวิธีการที่แตกต่างกันไปในการใช้ชีวิตอยู่ในน้ำ
มีสองกระบวนการที่เป็นปัจจัยว่าปลาจะต้องดื่มน้ำหรือเปล่า คือกระบวนการออสโมสิส (Osmosis) และกระบวนการการแพร่ (Diffusion)
การออสโมสิส ก็คือการที่น้ำซึมผ่านเยื่ออะไรสักอย่างจากจุดที่น้ำมีความหนาแน่นน้อยกว่าไปสู่จุดที่มีความหนาแน่นมากกว่า เช่นถ้าเรานำเยื่อบางๆมากั้นไว้ระหว่างน้ำจืดกับน้ำเค็ม น้ำจืดจะซึมผ่านเยื่อดังกล่าวไปสู่น้ำเค็ม ในระหว่างนั้นกระบวนการแพร่ ก็จะทำให้แร่ธาตุต่างๆรวมทั้งเกลือในน้ำ แพร่จากจุดที่มีแร่ธาตุมากไปสู่จุดที่มีน้อย ซึ่งก็คือจากน้ำเค็มไปสู่น้ำจืด จนถึงระดับที่น้ำมีความเค็ม(จืด)เท่ากัน
ดังนั้นในกรณีของปลาน้ำจืด เมื่อในตัวของปลามีเกลืออยู่มากกว่าน้ำภายนอก น้ำจึงซึมผ่านเหงือกและเนื้อเยื่อต่างๆเข้าไปในตัวปลาอย่างต่อเนื่อง จนปลาไม่มีความจำเป็นต้องกินน้ำเลย ในทางตรงกันข้าม เพื่อรักษาระดับน้ำให้คงที่ ปลาน้ำจืดต้องคอย “ถ่ายเบา”ออกมาอยู่เรื่อยๆ มิเช่นนั้นก็จะกลายเป็นลูกโป่งน้ำไปเลย มีการประมาณการไว้ว่าปลาน้ำจืดอาจจะมีการถ่ายเบามากถึงร้อยละ ๒๐ ของน้ำหนักตัวในแต่ละวัน ซึ่งในการถ่ายเบานี่ ปลาจะสูญเสียแร่ธาตุบางส่วนออกมาด้วย ปลาน้ำจืดจึงต้องคอยทดแทนแร่ธาตุต่างๆที่เสียไป ผ่านทางอาหารและผ่านทางการแพร่ของแร่ธาตุจากน้ำผ่านทางเหงือกเข้าสู่ร่างกายด้วยอย่างต่อเนื่อง
สรุปว่า ปลาน้ำจืดไม่ดื่มน้ำครับ เพราะมีน้ำซึมผ่านเข้าไปในร่างกายมากเพียงพออยู่แล้ว
Note: คุณเคยเล่นน้ำหรือเปลี่ยนน้ำตู้ปลานานๆจนนิ้ว “เหี่ยว”ไหมครับ? ไหนๆก็พูดถึงเรื่องออสโมสิสแล้วขอแถมเรื่องนี้หน่อยก็แล้วกัน ผิวหนังของเราโดยปกติมีสารที่เรียกว่า ซีบัม (Seebum) เคลือบอยู่สารตัวนี้ในเวลาปกติจะเคลือบผิวของเราเอาไว้ทำให้ผิวหนังของเรากันน้ำได้ แต่เมื่อลงน้ำไปนานๆผิวหนังส่วนที่ไม่มีต่อมผลิตสารตัวนี้ เช่นที่ฝ่ามือและฝ่าเท้าก็จะสูญเสียสารที่ว่านี่ไป ทำให้น้ำออสโมสิสเข้าไปในผิวหนังของเราได้ เพราะใต้ผิวหนังของเรานั้นจะเป็นชั้นหนังกำพร้าตายแล้วที่แห้งๆ ดังนั้นอาการที่เราเห็นจริงๆแล้วนิ้วเราไม่ได้เหี่ยวนะครับแต่มัน “พอง”ออกด้วยซ้ำไป แต่ผิวหนังที่บริเวณปลายนิ้วมือของเราจะยึดกับเนื้อด้านล่างเป็นจุดๆ ทำให้การบวมตัวของผิวไม่เท่ากันเลยเห็นเป็นริ้วๆเหมือนกับว่าเหี่ยว ทั้งๆที่จริงๆแล้วมันเป็นการ “พอง”ออกเสียมากกว่า ซึ่งเมื่อขึ้นจากน้ำแล้ว น้ำก็จะระเหยออกไปเองครับ ซึ่งถ้าใช้หลักการนี้เปรียบเทียบกับปลาน้ำจืดและน้ำเค็ม การอาบน้ำเค็มมากๆจะเป็นการถนอมผิวหนังมากกว่าน้ำจืดนะครับ เพราะน้ำเกลือจะซึมผ่านผิวหนังของเราไปได้น้อยกว่าน้ำจืดมากครับ (ขอบคุณ หมอ Banxสำหรับข้อมูลครับ)
สำหรับปลาทะเล มีปัญหาตรงกันข้ามกับปลาน้ำจืดโดยสิ้นเชิง เนื่องจากของเหลวในร่างกายของปลาทะเลมีเกลือน้อยกว่าในน้ำทะเลเกือบ ๑ ใน ๓ ปลาทะเลจึงเสียน้ำออกจากร่างกายผ่านการออสโมสิส อยู่ตลอดเวลา ซึ่งถ้าปลาไม่ดื่มน้ำเข้าไปก็จะเสียน้ำมากจนตายได้ (ฟังดูแปลกๆทั้งๆที่อยู่ในน้ำแท้ๆ) เพื่อแก้ปัญหานี้ ปลาทะเลจึงดื่มน้ำทะเลเข้าไปเรื่อยๆ โดยในบางชนิดมากถึงร้อยละ ๓๕ ของน้ำหนักตัวในแต่ละวัน และในขณะเดียวกันปลาทะเลก็รักษาระดับเกลือในร่างกายโดยการ “ถ่ายเบา”อย่างมีประสิทธิภาพโดยความช่วยเหลือของไตที่ปรับแต่งมาเป็นพิเศษให้มีน้ำออกไปน้อยที่สุด และยังมีการขจัดเกลือส่วนเกินด้วยการแพร่ออกผ่านทางเหงือกอีกด้วย
สรุปว่า ปลาทะเลกินน้ำครับกินเยอะเสียด้วยสิ
รู้แล้วจะช่วยอะไรได้บ้างหล่ะเนี๊ย?
สำหรับท่านที่เลี้ยงปลาน้ำจืด ลองนึกภาพปลาของท่านอาศัยอยู่ในน้ำที่มี “น้ำเบา”ของตัวเองเพิ่มขึ้นวันละร้อยละ ๒๐ ของน้ำหนักตัว บวกกับ “ถ่ายหนัก”กับอาหารที่กินเหลือทุกวันสิครับ ว่ามันจะเป็นอย่างไร อย่าลืมเปลี่ยนน้ำให้ปลาของคุณบ่อยๆหน่อยนะครับ
หรือท่านที่เลี้ยงปลาทะเล ถ้าปล่อยให้น้ำระเหยออกไปเรื่อยๆ จนน้ำเค็มขึ้น คิดดูว่าปลาของคุณจะเครียดแค่ไหนกับการที่จะต้องคอยปรับระดับเกลือในเลือดของตัวเองให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมที่ความเค็มมากขึ้น ซึ่งจะต้องใช้พลังงานมากขึ้น
และสำหรับท่านที่มีปลาป่วยและต้องใช้ยา ที่นี่ก็ทราบแล้วนะครับ ว่าจะต้องทำอย่างไรบ้าง ยาบางชนิดเป็นยาภายนอกก็ไม่เดือดร้อนอะไร แต่สำหรับยาที่ต้องใช้รักษาภายในหรือแม้แต่พวกวิตามินต่างๆที่ไม่สามารถซึมผ่านเนื้อเยื่อผิวหนังหรือเหงือกนั้น ถ้าเป็นปลาน้ำจืด การใส่ลงไปในน้ำเฉยๆอาจจะช่วยได้ไม่มากนักเพราะปลาจะไม่ดื่มยาที่ว่านี่เข้าไปแน่ๆ (ไม่เหมือนกับในกรณีของปลาทะเล) ซึ่งคุณอาจจะต้องหาวิธีอื่นๆที่เหมาะสมต่อไป เช่นการคลุกหรือแช่ไว้กับอาหารเป็นต้น
Comments
ความคิดเห็น
ความเห็นที่ 1
เข้ามาเก็บความรู้ + รื้อฟื้นความรู้เก่า ^^
ระบบ Osmoregulation ล้วนๆ เลย
ว่าแต่ ปลาน้ำกร่อย กับ น้ำเปรี้ยว มันอยู่ยังไงครับพี่ ??
ความเห็นที่ 2
ขออนุญาต ตอบแทนเจ้าของบทความนะครับ
จริงๆ แล้วส่วนของบทความนั้นเน้นไปที่การกินน้ำเป็นหลัก แต่พูดถึงเนื้อหาที่เกี่ยวกับการทำงานของไตค่อนข้างน้อยไปนิดนะครับ เพราะว่าถ้าจะพูดถึงระบบ osmoregulation ที่สมบูรณ์นั้นเราต้องพูดถึงความสัมพันธ์ของการกำจัด/ดูดกลับน้ำกับการทำงานของไตด้วย โดยในบทความ พูดถึงระบบไตในแง่ของการถ่ายเบา ซึ่งหมายถึงการขับถ่ายของเสียประเภทยูเรีย ซึ่งในทางสัตววิทยา จัดว่าเป็นระบบขับถ่าย(excretion) โดยมีไตเป็นเครื่องจักรสำัคัญในการกรองของดี (ที่เป็นสารที่ร่างกายต้องการ) และกำจัดของเสียซึ่งเป็นของที่ร่างกายต้องการขับทิ้ง ซึ่งขอกล่าวคร่าวๆ ดังนี้
ในปลาน้ำจืด ตามที่บทความกล่าวนั้นปลาต้องกำจัดน้ำออก และต้องเก็บสารสำคัญซึ่งได้แ่กพวก โซเดียมอิออน แคลเซียมอิออน และ คลอไรด์อิออน เป็นต้น (สารเหล่านี้เป็นองค์ประกอบหลักที่เราพบในน้ำทะเล) ปลาต้องคงไว้เพื่อรักษาความเค็มในร่างกายให้คงที่ ในขณะเดียวกันก็ต้องกำจัดน้ำ และสารในกลุ่มยูเรียออกไปจากร่างกาย ดังนั้นปลาพวกนี้จึงมีไตทีพัฒนาดี นอกจากไตแล้ว ปลายังมีเซลล์พิเศษที่เหงือกเรียกว่า คลอไรด์เซลล์ทำหน้าที่เก็บอิออนที่่สำคัญต่างๆ ในน้ำไม่ให้ออกจากร่างกายและในปลาบางชนิด เหงือกยังสามารถทำหน้าที่ปล่อยแอมโมเนียมอิออนได้ด้วย
ในกลุ่มปลาทะเล ส่วนที่เพิ่มเติมจากบทความก็คือ ไตแทนที่จะต้องทำหน้าที่กำจัดน้ำส่วนเกินกลับต้องทำหน้าที่ดูดน้ำกลับ และกำจัดสารพวกเกลือและแอมโมเนียออกจากร่างกาย ไตส่วนหน้าของปลาทะเล (ที่ทำหน้าที่กำจัดน้ำ) จึงลดรูปลงเหลือแต่เพียงส่วนกลางและท้ายเท่านั้น (เราจะสังเกตเห็นว่าไตปลาทะเลจะมีขนาดเล็กกว่าปลาน้ำจืดมาก) และคลอไรด์เซลล์ที่เหงือกจะทำหน้าที่ตรงกันข้ามกับปลาน้ำจืด
แล้วคำถามที่ว่าปลาน้ำกร่อยกับปลาน้ำเปรี้ยวมันอยู่อย่างไร เอาปลาน้ำกร่อยก่อน ปลาน้ำกร่อยเป็นปลาที่มีระบบไตพัฒนามากที่สุด และสามารถทำหน้าที่เหมือนกับทั้งของปลาน้ำจืดและปลาทะเล เพราะว่าแหล่งที่อยู่อาศัยของมันในช่วงน้ำหลากจะเ็ป็นน้ำจืดและในช่วงน้ำน้อยจะเป็นน้ำเค็ม ปลากลุ่มเด่นๆ เช่นปลากะพงชนิดต่างๆ จะเป็นตัวอย่างที่ดีของปลาที่สามารถอยู่ได้ทั้งน้ำจืดและน้ำกร่อย เมื่อตอนที่เป็นเด็กฝึกงาน พี่คนงานที่สถานีประมงบ้านเพ เขาเล่นกลให้ดู โดยใช้ปลากะพงแดงสีเลือดที่เขาเพาะได้และเลี้ยงไว้ในน้ำเค็ม เขาถามว่าปลาตัวนี้เอาใส่น้ำจืดทันทีจะเป็นอย่างไร ด้วยความเป็นเด็กน้อยด้อยประสบการณ์ เราก็คิดว่ามันต้องตายเพราะเรียนในวิชามีนวิทยาว่า มันต้องมีการปรับความเค็ม (acclimatization) ก่อนแล้วเป็นเวลานานพอสมควรทีเดียวก่อนที่ปลาจะอยู่ได้ แต่พี่เขาเอาตักปลาที่อยู่ในน้ำเค็ม ใส่ลงในตู้ปลาทอง ปลากะพงมันก็ทำท่ามึนๆ อยู่สักพักแล้วก็ว่ายเล่นกับปลาทองหน้าตาเฉย (ไม่เห็นเป็นอย่างที่เรียนมาเลย) ทีนี้เรื่องปลาน้ำเปรี้ยว น้ำเปรี้ยวมันเป็นน้ำจืดที่มีความเป็นกรดสูง ดังนั้นระบบ osmoregulation มันก็เหมือนปลาน้ำจืด แต่เท่าที่สังเกตดู ปลาพวกนี้เวลาเอามาเลี้ยงในน้ำจืดปกติที่ไม่เป็นกรด ตัวมักจะเปื่่อยยุ่ยเป็นแผลได้ง่าย สงสัยว่ามันคงต้องวิวัฒนาการเกี่ยวกับผิวหนังให้ต้านทานความเป็นกรด ถ้าอยู่ในน้ำที่ไม่เป็นกรดนานๆ เข้า ระบบ osmoregulation มันคงปั่นป่วน น้ำซึมผ่านมาเยอะเลยทำให้หนังเปื่อย
ที่กล่าวมาข้างต้นมันเป็นระบบขับถ่ายของปลากระดูกแข็ง เจ้าปลากระดูกอ่อนเช่นกระเบนและฉลาม ที่อยู่ในทะเลมันก็มีระบบ osmoregulation ที่แตกต่างกับปลากระดูกแข็ง คือปลาพวกนี้แทนที่จะปล่อยแอมโมเนียออกไปนอกร่างกาย มันกลับนำสารกลุ่มดังกล่าวละลายเก็บไว้ในกระแสเลือดเพื่อทำให้เลือดของมันมีความดันออสโมติกใกล้เคียงกับน้ำทะเล สารนี้มีชื่อว่า trimethylamine oxide หรือ TMAO เราสามารถรับรู้สารนี้ได้ง่ายๆ ถ้าใครเคยทานกระเบนย่าง หรือฉลามผัดฉ่า จะพบว่าเนื้อของปลากลุ่มนี้มีกลิ่นคล้ายๆ ฉี่ (หรือเป็นกลิ่นของแอมโมเนีย) ในปลากระดูกอ่อนที่อยู่ในน้ำจืดอย่างถาวร (เช่นกระเบนโมโตโร) มันจะมีระบบ osmoregulation ที่ใกล้เคียงกับปลากระดูกแข็งน้ำจืดครับ
หวังว่าข้อเขียนของผม คงช่วยเสริมเนื้อหาบทความของคุณนณณ์ให้แน่นขึ้นนะครับ
ความเห็นที่ 3
ปลานิลก็คงมีระบบใกล้เคียงกับปลาน้ำกร่อย เพราะเคยมีการทดลองพบว่า มันอาศัยอยู่ในน้ำกร่อยได้ อาจจะเป็นปลาน้ำจืดที่วิวัฒนาการจากปลาทะเลเป็นเวลาไม่นานมากนัก ต่างกับพวกตะเพียน
ปล.เนื้อฉลามถึงจะคาวแอมโมเนียบ้าง แต่(สำหรับผม)รู้สึกว่ามันก็กินอร่อยเหมือนกะพงเลยนะ แถมเคี้ยวได้เน้นๆไม่ต้องระวังก้าง
ความเห็นที่ 3.1
ถ้าเอาเฉพาะที่เคยสัมผัส ผมว่าปลาหมอเทศ (Oreochromis mossambicus) น่าจะมีไตที่สุดยอดที่สุดกระมัง เพราะมันอยู่ได้ตั้งแต่ความเป็น 0 จนถึงกว่า 70 ppt โดยไม่มีการน๊อคเลย ส่วนปลานิลทนได้แค่น้ำกร่อย จำไม่ได้แล้วว่าทนได้แค่ไหน
ความเห็นที่ 4
ขอบคุณอาจารย์สมหมายสำหรับข้อมูลดีๆครับ ข้าน้อยด้อยความรู้ ไม่มีปัญญาเขียนถึงไต มิใช่ว่าไม่อยากเขียนครับ
ความเห็นที่ 5
เข้ามาเก็บความรู้อีกรอบครับ
พึ่งรู้ว่าระบบ Osmoregulation ในปลาน้ำกร่อยพัฒนาสูงกว่าน้ำจืดและน้ำเค็ม หุๆ
ขอบคุณอาจารย์สมหมายสำหรับความรู้มากๆ ครับผม ^^
ความเห็นที่ 6
ปลาน้ำกร่อยสุดยอดอย่างนี้นี่เอง เค้าถึงว่าปลาสองน้ำอร่อยที่ีซู๊ดดดด
ความเห็นที่ 7
ขอบคุณสำหรับบทความดี ๆ ครับ
ความเห็นที่ 8