กลับบ้าน (หากคุณไม่ได้ ‘กลับบ้าน’ อีกแล้ว)

 เรื่อง:นายอุเทน ภุมรินทร์,ภาพ:อัครวัช สมไกรสีห์

ปลายเดือนมีนาคม ฝูงนกนางนวลธรรมดาเต็มน่านน้ำท้องทะเลบางปู บ้างลอยตัวอยู่บนผืนน้ำ บ้างบินโฉบไปมาคอยรับกากหมูจากนักท่องเที่ยวที่มาให้อาหารบนสะพานสุขตา ในเวลานี้ นกนางนวลที่เราเห็นโดยปกติ สีตัวเป็นโทนขาวสะอาด เริ่มเปลี่ยนสีขนตรงส่วนหัวและบริเวณใบหน้า เป็นสีน้ำตาลเข้ม ราวกับหัวของมันถูกคลุมไว้ด้วยถุงสีน้ำตาล หน้าตาของนกนางนวลธรรมดาช่วงเวลานี้ ทำให้เราอ่านชื่อสามัญของมันที่ว่า Brown-headed Gull ซึ่งหมายถึง นกนางนวลที่มีหัวสีน้ำตาล แล้วเห็นภาพได้ชัดเจนขึ้น

                เลยไปยังฝั่งชายทะเลอ่าวไทยตอนใน จังหวัดสมุทรสาคร ที่นี่ นกชายเลนหลากชนิด เดินท่องหากินไปทั่วบริเวณ จากสีบนลำตัวของกลุ่มนกชายเลน ที่ส่วนใหญ่เป็นสีเทาออกน้ำตาลทึมๆ  กลมกลืนไปกับสภาพแวดล้อมที่เป็นหาดทรายชายเล หรือบ่อนาเกลือ แต่ในช่วงเวลานี้ นกชายเลน เริ่มผลัดขนเป็นมีสีสัน อย่างเช่น นกชายเลนปากโค้ง ที่ดูจะมีจำนวนมากที่สุด ในนกชายเลนที่หากินในนาเกลือ เริ่มเปลี่ยนสีขนลำตัวเป็นสีออกน้ำตาลแดงหรือสีสนิม และนกอีกหลายชนิดก็พากันผลัดขนเปลี่ยนชุดกันหมดแล้ว

                หลังจากอาศัยพักพิงในเมืองไทยมาเป็นเวลาครึ่งปี เริ่มตั้งแต่ราวต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา  ขณะนี้ การเดินทางอพยพกลับบ้านเกิดของนกนักเดินทางไกล มาถึงอีกครั้งหนึ่งแล้ว พวกมันเตรียมพร้อมอยู่ในชุดขนสดใส พร้อมกลับไปจับคู่ผสมพันธุ์ สร้างรังวางไข่ สืบต่อเผ่าพันธุ์ ณ ดินแดนอันเป็นบ้านที่พวกเขาเกิดและเติบโต

                เวลาผ่านไป ลูกน้อยเติบโตพอ และพร้อมที่จะเดินทางไกลเพื่ออพยพเอาชีวิตรอด เพราะช่วงฤดูหนาวกลับมาเยือนอีกครั้ง ที่ดินแดนอย่างไซบีเรีย ยุโรป ฯลฯ บ้านเกิดของพวกนกอพยพ ช่วงกลางวันที่สั้นลงทำให้ผืนน้ำกลายเป็นผืนน้ำแข็ง การขาดแคลนอาหาร ส่งผลต่อสัญชาตญาณในตัวพวกมันให้ต้องจากบ้านสู่ดินแดนอันอุดม หลายชนิดอพยพมาอาศัยพักพิงตามพื้นที่ธรรมชาติของไทย และอีกหลายชนิดที่อพยพผ่านไปอาศัยยังประเทศใกล้เคียง อย่างเช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย เป็นต้น ปลายเดือนสิงหาคม เราจึงเริ่มเห็นนกอพยพ อย่างนกเด้าลมหลังเทา ที่มักมาถึงก่อนเพื่อน เดินตามพื้นที่แหล่งน้ำหรือแม้แต่กลางถนนในป่า ทำหางกระดกขึ้นลงหาแมลงกินเป็นอาหาร อากัปกิริยาสมชื่อ นกเด้าลม ชีวิตในธรรมชาติของนกอพยพ วนเวียนเป็นวัฎจักรอย่างนี้

                พูดได้ว่า ในทุกพื้นที่ของเมืองไทย มีนกอพยพมาพำนักอาศัยช่วยงานนกประจำถิ่นทำหน้าที่ในธรรมชาติอยู่ทุกแห่งหน อย่างในสวนบริเวณบ้านของเรา มักได้ยิน เสียงร้องแหบดัง “แคร่...” ติดต่อกันหลายครั้ง หากมองหา จะเห็นนกขนาดใหญ่กว่านกเอี้ยงไม่เท่าไหร่นัก ลำตัวสีเหลืองสด ปากสีชมพูแกมส้ม มีแถบคาดตาสีดำลากยาวจนถึงท้ายทอย เสียงนกขมึ้นท้ายทอยดำนี้ เหมือนคอยบอกเราอยู่ตลอดว่า ขณะนี้เป็นช่วงฤดูกาลอพยพ

                มองออกไปกลางทุ่งนา บนรั้วลวดหนามกั้นเขตที่นา นกอีเสือสีน้ำตาล กำลังนำเหยื่อ อย่างเขียดหรือแมลงที่ล่าได้มาเสียบไว้กับรั้วลวดหนามตรงปมที่เป็นเหล็กแหลม

                หากตัดภาพไปที่หาดเลนหรือบ่อนาเกลือ บริเวณนั้น จะเต็มไปด้วยฝูงนกชายเลนจำนวนมหาศาลที่บ้างออกเดินหากิน บ้างยืนพักพับขาข้างหนึ่งขึ้น และเอาหัวซุกไว้ใต้ปีก หากพาตัวเองเลยไปยังถิ่นป่าแดนดอย อย่างดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ หรือดอยลาง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เราจะได้พบนกเดินดงอีกหลายชนิดที่อพยพมาอาศัยบ้านดงดอยเป็นแหล่งหากิน

                แต่ถ้าพื้นที่ที่นกเหล่านี้ เคยใช้อาศัยหากินในฤดูกาลย้ายถิ่นเปลี่ยนแปลงสภาพไปจนไม่เหมาะสม หรือไม่ปลอดภัยพอให้นกดำรงชีวิตอยู่ได้ เช่น กลายเป็นพื้นที่ปลูกสร้างบ้านพัก รีสอร์ตหรู ในปีหน้า เราคงไม่มีโอกาสได้เห็นนกอพยพในพื้นที่เดิมอีก

                ต้นเดือนเมษายน นกนางนวลที่บางปูหายไปไม่มีให้คนคอยเลี้ยงดูด้วยกากหมูอยู่ช่วงหนึ่ง เสียงแหบดัง “แคร่...” ของนกขมึ้นท้ายทอยดำเริ่มเงียบเสียงไป แต่เสียงร้อง “แต้ว...แล้ว” เริ่มดังแทนที่ ในช่วงนี้เป็นต้นไป นกแต้วแล้วธรรมดา เป็นนกอพยพอีกชนิดที่ย้ายถิ่นเข้ามาในบ้านเรา ไม่ใช่เพื่ออาศัยอาหารประทังชีวิตเพียงอย่างเดียวเท่านั้น หากเธอจะสร้างรังวางไข่ เพื่อเลี้ยงลูกน้อยจนเติบโตแข็งแรง จนพร้อมที่จะเดินทางกลับบ้านไปกับเธอพร้อมกัน ไม่ใช่นกแต้วแล้วธรรมดาชนิดเดียวเท่านั้น ยังมีนกอีกหลายชนิดที่เข้ามาวางไข่เลี้ยงลูกในช่วงนี้เหมือนกัน อย่างเช่น นกแต้วแล้วอกเขียว นกแอ่นทุ่งใหญ่ นกยางดำ เป็นต้น

                เมื่อถึงเวลาหนึ่ง ตามฤดูกาลที่ธรรมชาติกำหนด นกนักเดินทางอพยพก็ต้องเดินทางกลับบ้าน ไปทำหน้าที่ในธรรมชาติยังถิ่นที่จากมา นกชายเลนทั้งหลายควบคุมปริมาณสัตว์หน้าดินชายหาดทะเลให้มีปริมาณพอเหมาะ นกขมึ้นท้ายทอยดำกลับไปควบคุมปริมาณแมลงให้ไม่มีมากจนเกินพอดี แต่ไม่ใช่นกอพยพทุกตัวหรอก ที่จะมีโอกาสได้เดินทางกลับถึงบ้าน

                ท่ามกลางแดดร้อนของวัน ในสภาพแออัดของตลาดนัดขายสัตว์เลี้ยงจตุจักร พลาซ่า มีกลุ่มกรงขังนกที่จับมาจากธรรมชาติ วางขายอยู่ 5-6 จุด แต่ละจุดมีนกที่ขายรวมกันไม่ต่ำกว่า 50 ตัว นกขมึ้นท้ายทอยดำ 5 ตัวถูกขังรวมกันไว้ในกรงเดียวกัน สภาพขนกระเซิงหลุดลุ่ย ที่หน้าผากของนกบางตัวเปรอะกรังไปด้วยเลือดที่เกิดจากการชนซี่กรงพยายามหาทางออก นกเค้าหูยาวเล็ก—นกฮูกที่เป็นนกอพยพชนิดหนึ่ง นอนหลับแอ้งแม้งอยู่บนกรงราวกับตายแล้ว ที่ขาของมันมีเชือกล่ามไว้กับซี่กรง ไม่ให้มันบินหนีไปไหนได้

                กลุ่มนกเดินดง อย่างเช่น นกเดินดงสีคล้ำ นกเดินดงหัวสีส้ม ถูกขังรวมอยู่ในกรงเดียวกัน สภาพสีขนซีด บางตัวเซื่องซึมราวกับจะหมดลมหายใจในอีกไม่ช้า

                คนขายมีคู่มือดูนกเมืองไทย เช่นเดียวกันกับที่นักดูนกใช้ประกอบในการจำแนกชนิดนก แต่พวกเขามีไว้เพื่อเป็นแคตตาลอกให้ลูกค้าสามารถสั่งซื้อได้ตามที่ต้องการ ประมาณว่า อยากได้ตัวไหนก็หามาให้ได้ หนักไปกว่านั้น แม่ค้าพ่อขายหลายคนให้ลูกมาช่วยขายนกในกรงเหล่านี้ด้วย เด็กและเยาวชนในวัยที่ควรจะเรียนรู้เรื่องความสำคัญของนกในธรรมชาติกลับต้องมาเป็นผู้เสนอขายชีวิตเหล่านี้เสียเอง คุณคิดเห็นอย่างไร

                ก่อนที่คุณจะตัดสินใจซื้อพวกเขามาเลี้ยง ลองนั่งลง แล้วมองเข้าไปในแววตาของนกในกรงที่ไม่มีโอกาสได้กลับบ้านอีกแล้ว บางที อาจมีบางอย่างที่มันอยากจะบอกคุณก็เป็นได้

Comments

ความคิดเห็น

ความเห็นที่ 1

นกป่าที่จตุจักรเดี๋ยวนี้มีไม่น้อยไปกว่าเมื่อยี่สิบปีที่แล้ว ดีไม่ดีจะมากขึ้นด้วยซ้ำ ถ้านับรวมพวกนกหัวจุกเข้าไปด้วย 

ความเห็นที่ 2

ผมเคยเห็นนกขมิ้นท้ายทอยดำวัยอ่อน แบบปีกยังไม่เต็ม มาวางขายด้วย?!?

แปลว่า นกชนิดนี้ก็มีทำรังวางไข่ในประเทศไทยด้วยหรือเปล่า?

ส่วนนกเค้าหูยาวเล็ก กับนกเค้ากู่ บอกตามตรงว่าผมแยกไม่ออกเลยจริงๆครับ  มันคล้ายกัน 

ความเห็นที่ 3

ตอบคุณ snakeeater ครับ นกขมิ้นท้ายทอยดำ ยังไม่มีรายงานการทำรังวางไข่ในไทยครับ มีนกประจำถิ่นอยู่ก็จริง แต่หายากครับ พื้นที่ที่พบใกล้เคียงกับพื้นที่ที่พบนกขมิ้นปากเรียว แถบแม่น้ำน่านตอนล่าง (ข้อมูลจากการติดต่อส่วนตัวกับพี่มาโนช แตงตุ้ม) และมีมาวางขายเป็นนกวัยอ่อนนั้น เป็นนกอพยพครับ เพราะนกอพยพชนิดนี้ มีปริมาณที่เยอะมาก และบ่อยครั้งที่เราพบนกขมิ้นท้ายทอยดำตัวไม่เต็มวัยครับ

ส่วนนกเค้าหูยาวเล็กที่จับมาขายส่วนใหญ่และที่พบเป็นชนิดย่อย อพยพ ชุดขนสีน้ำตาล (ยังไม่เคยพบนกเค้าหูยาวเล็ก ประจำถิ่น ชุดขนออกเทา มาวางขาย) ความแตกต่างจากนกเค้ากู่นั้น เอาที่สังเกตได้ง่าย คือขนาดตัวของเขาครับ หากเจอตัวจริงแล้วเปรียบ เค้ากู่ หุ่นจะแน่น บึกกว่า และขนคล้ายหูบนหัวจะสั้นกว่ามากในนกเค้าหูยาวเล็ก ซึ่งลำตัวนี้เพียวกว่า เสียงในธรรมชาตินี้ชัดเจนครับ หากได้ยินเสียงในธรรมชาติ นกเค้ากู่ จะร้องพยางค์เดียว "กู่" เว้นระยะสมำเสมอคล้ายคนกู่เรียก ส่วนนกเค้าหูยาวเล็ก ร้อง สี่พยางค์ "ต๊อดๆ ตะ ต๊อด" ประมาณนี้ครับ อีกอย่างถ้าพบในช่วงกลางวัน ดวงตาของเค้าหูยาวเล็ก จะเป็นสีเหลืองเกือบทั้งลูกตา ส่วนนกเค้ากู่นั้น เป็นสีออกน้ำตาลเข้ม ภาพจากเวปสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย

ความเห็นที่ 4

กลับภาพนกเค้ากู่ ลองเปรียบเทียบกันดูน่ะครับ ตามลิ้งค์ของพี่สาวน้อยร้อยชั่งเลยครับ

  กลับภาพเค้ากู่ ลองเปรียบกันดูน่ะครัhttp://www.thailandviews.com/gallery/displayimage.php?album=2&pos=47

ความเห็นที่ 5

สวยมากๆ