“นกเงือกคอแดง...เสน่ห์แห่งดิบเขาทุ่งใหญ่นเรศวร”

 เรื่อง:นายอุเทน ภุมรินทร์,ภาพ:พงษ์พิทักษ์ ศรีบัณฑิต

เคยเหนื่อยปานจะขาดใจตายไหม?

ผมถามคำถามกับตัวเองในใจอย่างกะทันหันแข่งกับเสียงหอบ และหัวใจที่เต้นกระชั้นถี่ พวกเรา ซึ่งอยู่ในท่าไม่ต่างจาก ไอ้แมงมุมในเรื่อง ‘Spiderman’ เว้นแต่ว่าที่ไต่ขึ้นอยู่นี้ ไม่ใช่ตึกสูงระฟ้าอย่างในเรื่อง มันกลับเป็นเนินชันๆ บนหนทางในป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก จ.ตาก ไม่มีนางเอกสาวสวย ให้ใจหนุ่มของไอ้สไปเดอร์แมนจำเป็นทั้งหลายได้กระชุ่มกระชวย มีคล้ายๆ กันบ้าง แต่ก็เป็นแค่เสียงของชะนีตัวเมียที่ร้องเมื่อช่วงเช้านี้ เท่านั้น

ในขณะเดินขึ้นสู่สันเขา เหงื่อโชกชุ่มไปทั้งตัว สิ่งที่เราต้องทำคือ โงหลังก้มไปด้านหน้า เพื่อไม่ให้เป้หนักๆ  นั้นดึงเราไปด้านหลังจนเสียหลัก เหงื่อชุ่มๆ  เต็มแผ่นหลังจะเปลี่ยนเป็นเปียกโชกทั้งตัว และเป้ก็เหมือนจะหนักขึ้นอีกเท่าหนึ่งด้วย เพราะฝนตกลงมาได้ทุกขณะ จุดหมายของเราอยู่ที่สันเขาของป่าดิบเขา ซึ่งต้องใช้เวลาเดินจากหน่วยพิทักษ์ป่าที่เริ่มออกเดินเป็นเวลา 2 วัน เพื่อวางเส้นแนวสำรวจประชากรของนกเงือกคอแดง โดยจุดสำรวจห่างกันจุดละ 200 เมตร รวมระยะทาง 9 กิโลเมตร

บนเส้นทางป่าดิบที่ถูกห่อหุ้มไปด้วยไอหมอกละอองฝน แสงแดดและทัศนวิสัยที่มองเห็นได้กว้างไกลคือสิ่งที่หาได้ยาก ทุกหนแห่งเต็มไปด้วยทาก ไม่ว่าจะตามพื้นดินหรือบนใบไม้เหนือหัวเรา ไม่แปลกที่บางครั้งหลังเสื้อจะมีเลือดซึมออกมา เป็นธรรมดาเมื่อใส่รองเท้าแตะ เดินไปมาในแคมป์ได้สักพัก เลือดมักอาบเท้า เพราะซอกนิ้วเท้ามีทากกำลังดูดเลือดจนตัวบวมเปล่ง หรืออาจเจ็บแปลบที่เอวเพราะสัตว์ดูดเลือดตัวเท่าไม้จิ้มฟันแต่จะเท่าปลายนิ้วก้อยเมื่อดูดเลือดเข้าไปเต็มที่ ก่อนขึ้นเปลนอน หากสำรวจตัวเองไม่ถี่ถ้วน เช้ามาอาจได้กลิ่นคาวเลือดในเปล ก่อนกลิ่นหอมของข้าวเช้าในหม้อสนาม

ในสภาพเช่นนั้น คงพูดได้ว่าที่แห่งนี้ ไม่ใช่ที่ของมนุษย์ แต่เรามาที่นี่ก็เพื่อตามหา และทำความ รู้จักกับชีวิตหนึ่ง ซึ่งอนาคตมืดมนไม่ต่างจากทัศนวิสัยของป่าดิบเขายามฤดูฝน ชีวิตหนึ่งที่ชื่อนกเงือกคอแดง

ยามค่ำคืนนั่งเบียดกันอยู่ใต้ผืนผ้าใบที่ขึงเหนือกองไฟ ฝนเริ่มตกตั้งแต่ตอนตีหนึ่ง เรื่องนอนสบายๆ ในเปลแห้งๆ ใต้ผืนผ้าใบ ดูจะเป็นเรื่องยากเอาการสักหน่อย กับมือใหม่น้อยประสบการณ์และชั่วโมงเดินอย่างเรา ยังไม่ถึงตีสี่ ผมกับหนึ่งเริ่มหุงข้าวในหม้อสนาม เพราะหากนอนต่อคงได้เปียกทั้งตัวเป็นแน่ ข้าวในหม้อเริ่มเดือดน้ำหยดลงกองไฟดัง ฟู่ๆอากาศเย็นสายลมแรง บนยอดสันเขาความสูงจากระดับน้ำทะเล 1,200 เมตร คงไม่มีใครอยากออกห่างจากกองไฟ
................

เสียง กก กกของนกกก และเสียง อก อกคล้ายเสียงสุนัขเห่าแหบๆ ดังๆ ของนกเงือกคอแดงร้องก้องอยู่ในหุบเขา วางเส้นทางสำรวจได้ยังไม่ถึงครึ่งของระยะทางทั้งหมด

กระทิงอยู่ข้างหน้า หลบให้ห่างจากด่าน ขึ้นต้นไม้ก็ได้ เร็ว!”

เสียงพี่เอ๋ เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าที่นำทางเรา ตะโกนบอกกับเราที่เดินเรียงตามหลังมาตามเส้นทางสันเขา เป้สัมภาระหลังใบโตๆ ที่แบกเอาทุกอย่างสำหรับการสำรวจและใช้ชีวิตในป่าราวสัปดาห์ ไม่เป็นปัญหาเลย สำหรับการขึ้นไปอยู่บนต้นไม้ เมื่อกระทิงตัวเกือบตันขวางทางเดินอยู่ข้างหน้า เมื่อเดินบนเส้นทางของสัตว์ป่าการพบเจอเจ้าของเส้นทาง จึงเป็นเรื่องธรรมดา ที่เกิดขึ้นได้เสมอ ในช่วงเวลานั้นเอง กระทิงโทนยังไม่เดินหลบออกไปจากด่าน เมฆหมอกเคลื่อนออกราวกับรู้จังหวะ สลายตัวเคลื่อนออกเผยให้เห็นหุบเขา เบื้องล่าง นกเงือกคอแดง เพศผู้ ถลาร่อนอยู่ในหุบเขานั้น ในสภาพเนื้อตัวมอมแมม จากการเดินป่ามาสามวัน ผมจำได้ว่า ใบหน้าอิดโรยของพวกเรา เปื้อนรอยยิ้ม

ชีวิตของพวกนกเงือกเหมือนจะมีอยู่ 2 ฤดูคือ ฤดูจับคู่ผสมพันธุ์เลี้ยงลูก และนอกฤดูผสมพันธุ์ หลังจากที่เริ่มจับคู่กันตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ นกเงือกวางไข่เลี้ยงลูกต่างไปจากนกชนิดอื่นคือ นกเงือกตัวเมียจะเข้าไปกกไข่เลี้ยงลูกอยู่ในโพรงไม้ขนาดใหญ่ แม่นกจะนำมูลของตัวเองผสมกับเศษอาหารจำพวกลูกไทรที่สำรอกออกมาปิดปากโพรงเหลือไว้เพียงช่องเล็กๆ โผล่เพียงปากออกมาเท่านั้น เป็นเวลา 3-4 เดือนที่แม่นกกับลูก ซึ่งออกจากไข่ตอนปลายเดือนมีนาคมอยู่ในโพรงรัง โดยมีพ่อนกนำอาหารมาป้อน

ต้นเดือนตุลาคมในตอนนี้ นกเงือกทั้งหลายพาลูกออกจากโพรงหมดแล้ว โดยพาออกตั้งแต่เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ช่วงนี้เป็นช่วงเวลาที่พ่อแม่จะสอนลูกให้รู้จัก โลกข้างนอกซึ่งไม่ใช่ใน โพรงแคบๆ ที่มีพ่อแม่คอยนำอาหารมาป้อนอีกต่อไป ผับ ผับเสียงปีกแหวกอากาศ นกกกๆ 3 ตัวหนึ่งตะโกนขึ้น ทุกคนแหงนมองตามไป พวกมันบินไปเกาะนอนรวมกันอีกฝากหนึ่งของหุบเขา ราวๆ เดือนสิงหาคม นกเงือกจะรวมฝูงกลับมาเกาะนอนและออกหากินไปด้วยกัน สำหรับสัตว์ป่าการ รวมฝูงเป็นสิ่งจำเป็น ตาหลายคู่ย่อมช่วยกันระแวดระวังภัยได้ดีกว่าตาเพียงคู่เดียว การอยู่รวมกันช่วยเหลือกันคือ สิ่งที่สัตว์ป่าทำมาเนิ่นนานแล้ว

                การช่วยเหลือกัน ซึ่งสัตว์ที่เราเจอในกระจกเงา มัก หลงลืม

 

Comments

ความคิดเห็น

ความเห็นที่ 1

กระทิงไม่หนีเราเหรอครับ ปกติจะหนีไม่ใช่หรือ ถ้าเห็นเราแบบมีระยะหน่อย

ความเห็นที่ 2

คอแดง ๆๆๆๆๆๆๆๆ ยังไม่เคยเห็น

ความเห็นที่ 3

อ่ะ...ลืมบอก บทความเขียนดี ชอบ ๆ

ความเห็นที่ 4

อ๋อ! ตอนนั้น กระทิงยังไม่รู้ตัวน่ะครับว่า เราเดินมา แล้วอีกอย่างก็ไม่อยากให้เขาตกใจ มันเป็นครั้งแรกของผม ที่พบเห็นกระทิงในป่า ประทับใจมากครับ ขนาดพี่พิทักษ์ป่าไล่ให้ขึ้นต้นไม้ ผมกับเพื่อนยังยืนอยู่บนด่าน อยากเห็นน่ะครับ

ความเห็นที่ 5

พี่เอ๋บอกว่ามันเป็นกระทิงเจ็บครับ โทนเสียด้วย กำลังคะนองเต็มที่ ไล่อยู่นานกว่าจะไป