งูลายสอจุดขาว หรือลายสอดำ (White Spot Keeled-Back Water Snake : Xenochrophis punctulatus (Günther, 1858))

งูลายสอจุดขาว หรือลายสอดำ (White Spot Keeled-Back Water Snake : Xenochrophis punctulatus (Günther, 1858))

เรื่อง/ภาพ: มนตรี สุมณฑา

 
“งูลายสอจุดขาว หรือลายสอดำ”ชื่อนี้เมื่อได้ฟังแล้วก็คงไม่คุ้นหูนัก แต่หากจะเรียกมันว่างูลายสอน้ำตามหนังสือบางเล่มภายใต้ชื่อ Amphiesma  groundwateri ก็อาจพอจะนึกออก เพราะมีรูปประกอบอย่างชัดเจน และจากตัวอย่างเดียวกับรูปดังกล่าวซึ่งผ่านการนอนในขวดแอลกอฮอล์มาเกือบ 20 ปี นำมาสู่การตีพิมพ์บันทึกครั้งแรกว่าพบงูลายสอดำจากประเทศไทยในปี พ.ศ. 2544 (Pauwels and Nudphand, 2001)
 
งูลายสอดำจัดเป็นงูลายสอขนาดค่อนข้างเล็ก มีลำตัวเป็นทรงกระบอกค่อนข้างสั้นและแบนข้างเล็กน้อย หัวค่อนข้างแบน กว้างกว่าคอชัดเจน ตามีขนาดเล็ก  และหางไม่ยาวมากนัก สีของตัวโดยรวมเป็นสีดำ สีบนเกล็ดบางส่วนและหนังระหว่างเกล็ดเป็นสีขาวจนทำให้เห็นเป็นจุดขาวกระจายทั่วตัว เกล็ดท้องขาวมีขอบดำ มีเส้นขาวข้างลำตัวใกล้ส่วนท้อง  อาศัยตามแหล่งน้ำในป่าชายเลน แม้แต่ยามนอนก็ยังนอนตามต้นไม้เหนือระดับผิวน้ำเพียงเล็กน้อย หากินเวลากลางวันโดยเฉพาะเมื่อยามน้ำลง ชอบกินปลาเป็นอาหารโดยจะลงดำน้ำไล่จับปลาอย่างคล่องแคล่ว และบางครั้งก็กินสัตว์จำพวกกบ  งูลายสอดำเป็นงูไม่มีพิษ นิสัยไม่ดุร้ายอย่างเช่นงูลายสอบ้าน (Xenochrophis flavipunctatus) ที่เราคุ้นเคย แต่มีฟันที่แหลมคมมากเพื่อช่วยในการจับปลาไม่ให้ดิ้นหลุดได้โดยง่าย  แพร่พันธุ์โดยการวางไข่ครั้งละประมาณ 17 ฟอง
 
งูลายสอดำจัดเป็นงูที่หายาก ในประเทศไทยมีรายงานที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน(?) และระนองเท่านั้น

Comments

ความคิดเห็น

ความเห็นที่ 1

ถ้าเจอแม่ฮ่องสอน กับระนอง จังหวัดระหว่างนั้นก็คงมีหมดนิครับ อยู่ที่ว่าจะมีถิ่นอาศัยที่เหมาะสมและมีคนเจอหรือเปล่า

ความเห็นที่ 2

ความเห็นส่วนตัว..คิดว่าไม่มีที่แม่ฮ่องสอน อาจารย์แกน่าจะสับสนมากกว่าครับ ตัวอย่างตัวนั้นผมเชื่อว่ามาจากระนอง เพราะในหนังสือลายงูไทยระบุว่าเป็นงูลายสาบท่าสาน (Amphiesma groudwateri) ที่พบทางตอนบนของคาบสมุทรไทย  รูปที่ลงหนังสือถ่ายมากว่า ๒๐ ปีแล้ว และน่ามีการระบุข้อมูลภาพไว้ ส่วนข้อมูลว่ามาจากแม่ฮ่องสอนนั้น มาคุยตอนที่ท่านมีปัญหาสุขภาพแล้ว

ความเห็นที่ 3

นั่นสิครับ แม่ฮ่องสอน ไม่มีป่าชายเลนนี่ครับ

ความเห็นที่ 4

กัดตายเปล่า