จาก นกเดินดงหัวสีส้มถึงตัวเรา
เรื่อง: อุเทน ภุมรินทร์ ภาพ: เจริญชัย โตไธสง
กลุ่มนกเดินดงที่อพยพเข้ามาในช่วงฤดูหนาว พอจะหาดูได้ง่าย ตามสวนสาธารณะในเมือง ไม่ต้องไปหาดูถึงดงดอยอย่างเพื่อนร่วมกลุ่มชนิดอื่นๆ เห็นที่จะต้องแนะนำ “นกเดินดงหัวสีส้ม" ให้รูจัก มันมีชื่อนิคเนมว่า "Orange-headed thrush” ฟ้องว่า สีสันที่หัวคงส้มสดโดดเด่น จนทั้งนักปักษีวิทยา (ผู้ศึกษาศาสตร์ด้านนก) ทั้งไทยและเทศต่างก็ให้ชื่อตามความเด่นเดียวกันนกเดินดงหัวสีส้ม เป็นนกขนาดย่อม ขนาดตัวเล็กกว่า “นกเอี้ยงสาริกา” สักเล็กน้อย เพศผู้และเพศเมียมีสีสันต่างกัน ในตัวผู้ลำตัวด้านบน บริเวณปีกสีเทาแกมน้ำเงิน ส่วนลำตัวด้านบนของตัวเมีย เป็นสีน้ำตาลแกมเขียว บริเวณหัว ท้ายทอย และท้องของทั้งสองเพศ มีสีน้ำตาลอมส้มสมชื่อ ปากสีดำ ขาสีเหลือง
นกชนิดนี้ มักกระโดดหากินตามพื้นในป่าทึบ ตามยี่ห้อของนกเดินดง มันจะใช้ปากจิกพลิกใบไม้เพื่อหาหนอน หรือแมลงที่ซ่อนตัวอยู่ใต้เศษใบไม้ที่ร่วงทับถมอยู่ตามพื้นป่า แต่บางครั้งมันก็กินผลไม้สุกที่หล่นตามพื้นด้วย
เจ้านกเดินดงหัวสีส้ม มีการกระจายในปากีสถาน, อินเดีย, จีนตอนใต้, เอเชียตะวันอกเฉียงใต้, เกาะไหหลำ, หมู่เกาะอันดามัน, เกาะนิโคบาร์ และเกาะซุนดาใหญ่ ส่วนในประเทศไทยแดน นกชนิดนี้ มีถึง 3 กลุ่มประชากรทีเดียว โดย
(1) ประชากรที่พบทางภาคเหนือ เป็นชนิดย่อย innotata ย้ายถิ่นเข้ามาเพื่อทำรังวางไข่ ในช่วงฤดูฝนเท่านั้น (breeding visitor)
(2) ประชากรที่พบในป่าดิบ และป่าชั้นสอง ที่ราบจนถึงความสูง 1,500 จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ทางภาคตะวันตกนั้น สามารถพบได้ตลอดทั้งปี เป็นชนิดย่อยประจำถิ่น (resident)
(3) และบางส่วนที่พบสามารถพบได้ทางภาคกลางของประเทศ แม้ในเมืองกรุง ของเพียงมีที่ให้พักพิงเป็นแนวต้นไม้อย่างสวนสาธารณะ มีอาหารอย่างหนอนและแมลงให้มันประทังชีวิตตลอดช่วงฤดูอพยพ คือกลุ่มที่อพยพเข้ามาในช่วงฤดูหนาว (winter visitor)
หากไม่อยากพลาดโอกาสดูนกสีสันโดนๆ ไปอีกหนึ่งชนิด ช่วงเดือนตุลาคมที่นกชนิดนี้เริ่มอพยพตบเท้าเข้ามาในบ้านเรา ลองมองหามัน ตามพื้นดินในสวนสาธารณะหรือสวนข้างบ้านให้ดีๆ เพื่อได้พบทักทายกัน กับอาคันตุกะจากแดนไกล
แต่บางครั้ง "ทูตสันถวไมตรีมีปีก" กลับโดนลดราคา ถูกจับยัดใส่กรง เป็นเพียง "เครื่องบรรณาการ" เร่ขายสนองความต้องการของใครบางคน ที่ต้องการครอบครองชีวิตสวยงามนี้แต่เพียงผู้เดียว ภาพนกเดินดงหัวสีส้มและผองเพื่อนอพยพชนิดอื่นๆ ขังใส่กรงมาวางขายในตลาดนัดสัตว์เลี้ยงที่จตุจักร ท่ามกลางแดดร้อนเปรี้ยงของวัน ยังมีอยู่เสมอ
ถ้าก่อนที่จะซื้อ 'สินค้ามีชีวิต' เหล่านี้ เราก้มลงไปมอง "สบตา" กับ 'สินค้า' ในกรงเสียก่อน เราจะเห็นนกอยู่ในสภาพโทรม อ่อนเพลีย ด้วยความเครียดที่ถูกจับมาขังกรง จากที่เคยเป็นอิสระหากินในธรรมชาติ หรืออดอาหาร อดน้ำ จนบางตัวขนหลุดหลุ่ย ย่อมบอกถึงอาการป่วยของมัน ทีมสัตวแพทย์ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เคยให้ข้อมูลกับผมว่า ในนกป่าที่ถูกจับมาขายจำนวนไม่น้อย ตายไปกับอาการปอดบวม เพราะการขนส่งนกเหล่านี้ออกจากพื้นที่ป่ามาสู่เมือง ระยะทางที่ยาวไกล รวมถึงการขนส่งเป็นไปแบบตามมีตามเกิด เพราะพวกมัน เป็นเพียงแค่ "สินค้า" จะให้พวกเขาใส่ใจอะไรนักหนา ตากแดดตากฝน ไม่แปลกหรอกที่นกส่วนหนึ่งจะตายไประหว่างทางขนส่ง ดังนั้น คนขายจึงต้องรีบขายนกป่าที่รับมาเหล่านี้ให้ได้เร็วที่สุด เพราะหากยื้อเก็บไว้หรือขายไม่ออก เปอร์เซนต์ที่นกจะตายและกำไรของพวกเขาจะสูญหายไปในอากาศย่อมมีสูง
เช่นเดียวกับนกเดินดงสีส้มชนิดย่อยประจำถิ่น ที่ "บ้าน" แหล่งอาศัยของพวกมัน ถูกบุกรุกอย่างต่อเนื่อง การเปลี่ยนพื้นที่ป่าไม้เป็นพื้นที่เกษตรกรรม การลักลอบตัดไม้ป่า ฯลฯ สาเหตุเหล่านี้ทำให้ "บ้าน" ของนกเดินดงหัวสีส้มและสรรพชีวิตอื่นๆ เหลือน้อยลงทุกขณะ
ศ. ดร.เกษม จันทร์แก้ว วิทยาลัยสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้กล่าวไว้ในบทความ "ทำไม น้ำจึงท่วมประเทศไทย?"หลังมหาอุทกภัย ปี 2554 ของกลุ่มอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อมว่า บทบาทที่สำคัญของระบบนิเวศป่าไม้คือ ทำหน้าที่แปรสภาพน้ำฝน ให้แปรสภาพเป็นน้ำท่า น้ำระเหย น้ำบาดาลหรือน้ำในดิน และอาจมีบางส่วนไหลผ่านจากลุ่มน้ำหนึ่งไปสู่อีกลุ่มน้ำหนึ่ง ที่ต้องเข้าใจอย่างยิ่งก็คือ การมีป่าไม้ปกคลุมพื้นที่มากกว่าสองในสามก็จะทำให้ระบบนิเวศป่าไม้ให้น้ำท่าปกติ คือมากในฤดูฝนและน้อยในฤดูแล้ง เนื่องจากน้ำฝนที่ตกลงสู่ป่าไม้นั้นถูกเก็บไว้ในดินก่อน แล้วค่อยๆ ปลดปล่อยลงสู่ลำธารและแม่น้ำ กรณีเช่นนี้มักไม่ก่อให้เกิดอุทกภัย (นอกจากฝนตกมากผิดปกติ เช่น ช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคม พ.ศ.2554)
แต่ถ้ามีป่าปกคลุมน้อยกว่าหนึ่งในสามของพื้นที่ลุ่มน้ำแล้ว โอกาสการเกิดอุทกภัยย่อมเกิดได้ตลอดเวลาเมื่อฝนตกค่อนข้างมาก (มากกว่า 60 มม/วัน) ในวันนี้ รายงานจากนักวิชาการของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เมื่อกลางปี 2554 ที่ผ่านมา ประเมินสถานการณ์ว่า พื้นที่ป่าไม้ลดลงอย่างต่อเนื่อง จากปี 2504-2552 พบว่า ประเทศไทยสูญเสียพื้นที่ป่ามากกว่า 72 ล้านไร่หรือเฉลี่ยประมาณ 1.6 ล้านไร่ต่อปี พื้นที่ป่าลดลงมาโดยตลอดช่วงสี่ทศวรรษที่ผ่านมา ในปี 2504 เรามีพื้นที่ป่าอยู่ถึง ร้อยละ 53.3 ของพื้นที่ประเทศ หรือประมาณ 171 ล้านไร่ ในปี 2552 เราเหลือพื้นที่ป่าเพียงร้อยละ 30.86 ของพื้นที่ประเทศหรือเพียง 99.15 ล้านไร่ จากภัยคุกคามต่อป่าที่คุกคามอย่างต่อเนื่อง ไม่ต้องบอกยังพอเดาออกว่า วันข้างหน้าพื้นที่ป่าเมืองไทยจะเพิ่มขึ้นหรือลดลง!
ถึงบรรทัดนี้ ผมนึกถึงคำกล่าวของ ดร.จารุจินต์ นภีตะภัฏ นักธรรมชาติวิทยาผู้ล่วงลับที่ว่า "ทุกวันนี้เขาอยากให้อนุรักษ์สัตว์ป่าและธรรมชาติกันทำไมรู้มั้ย เพราะมันเป็นตัวชี้ว่าเราจะอยู่หรือจะไป ตราบใดที่เราเห็นนกบินในท้องฟ้า เราก็สบายใจได้ ถ้านกเกลี้ยงฟ้าเมื่อไหร่ คุณก็เตรียมตัวตายได้ วันนี้นกอาจจะตาย แต่วันหน้าคนอาจตายเหมือนกัน...”
Comments
ความคิดเห็น
ความเห็นที่ 1
จำไม่ได้ว่าใครเขียนนะคะ แต่เขากล่าวไว้ว่า นกเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความสำคัญอันดับต้นๆ ที่บอกเราได้ว่า
บริเวณนั้นๆ ที่ยังมีนกอยู่ แปลว่ามนุษย์ก็ยังดำรงอยู่ได้
แต่เมื่อไรที่ไม่มีนกแล้ว มนุษย์เราก็อาจจะอยู่ในที่ตรงนั้นได้อีกไม่นาน
ตรงกับคำกล่าวของ ดร. จารุจินต์ เลยค่ะ
หลายครั้งที่เห็นธรรมชาติโดนรังแกด้วยฝีมือมนุษย์แล้วรู้สึกเจ็บปวดบอกไม่ถูก :(
ความเห็นที่ 2
ความเห็นที่ 3