นกยางกรอก หลอกให้งง!
เรื่อง: อุเทน ภุมรินทร์ ภาพ: กุลพัฒน์ ศรลัมภ์
นกยางกรอกพันธุ์ชวา แบบใส่ชุด "แต่งงาน" (Breeding plumage)
นกยาง สหายแห่งท้องนาที่เราคุ้นตา คอยเดินท่อมๆ ในท้องทุ่งหากินกบ กินอึ่ง กินแย้ แมงอีนูน จิ้งโป่ม ดักแด้ (แย้นั่นมันไม่กิน แต่ผมกำลัง 'อิน' กับบทเพลง "ดาวมหา' ลัย" ที่เปิดฟังขณะเขียนบทความ!) และปลา กุ้งเป็นอาหาร นกยางส่วนใหญ่มีขนลำตัวสีขาวคล้ายน้ำยางพาราสมชื่อ สีตัวขาวโพลนของพวกมัน ดูตัดกันดีกับผืนนาสีเขียวสด นอกจากนกยางตัวสีขาว ยังมีนกยางอีกกลุ่ม ที่หากไม่กางปีกบินพึ่บๆ เราแทบมองไม่ได้เห็นสีขาวในตัวพวกมันเลย คือ กลุ่มนกยางกรอก (Pond Heron)
นกยางกรอกเป็นนกยางขนาดค่อนข้างเล็ก คอไม่ยาวมาก ในช่วงฤดูผสมพันธุ์ (ผมมักเรียกเวลานำดูนกว่า "ชุดขนแต่งงาน") นกยางกรอกทั้ง 3 ชนิดที่พบได้ในไทยแลนด์ จะมีชุดขนสีสันสวยงาม เรียกได้ว่า "จัดมาเต็ม" ใครไม่รู้ ย่อมเชื่อว่า มันเป็นนกคนละชนิดกันกับเจ้ายางกรอก 'ยังโสด' ตัวลายๆ สีทึมๆ ที่เคยเห็น ส่วนในชุดขนนอกฤดูผสมพันธุ์ (ชุดขน "ยังโสด") มีลวดลายสีน้ำตาลกลมกลืนกับสภาพแวดล้อมเป็นอย่างดี ขนหลังสีน้ำตาลจะคลุมบังปีกสีขาวจนมองไม่เห็น ในวันนี้ ขอแนะนำ “นกยางกรอกพันธุ์ชวา” สักชนิดหนึ่งก่อนแล้วกัน
ในช่วงฤดูผสมพันธุ์ของเจ้ายางกรอกพันธุ์ชวา จะเริ่มเปลี่ยนชุดขน ตั้งแต่ปลายฤดูหนาว ขนกลางหลังของมันจะเปลี่ยนเป็นสีดำ (คล้ายนกยางกรอกพันธุ์จีนในชุดขนผสมพันธุ์ แต่หัวและคอของพันธุ์จีน จะเป็นสีน้ำตาลแดงเข้ม) หัวและคอเป็นสีน้ำตาลอมเหลือง ไล่ไปเป็นสีน้ำตาลเข้มที่หน้าอก แต่สีสันจะผันแปรพอควรในนกแต่ละตัว อาจซีดจนดูคล้ายนกยางกรอกพันธุ์อินเดีย (Indian Pond Heron) ในชุดขนผสมพันธุ์ได้ แต่พันธุ์อินเดีย สีขนที่หลังเป็นสีน้ำตาลแดง ไม่ดำเหมือนอีก 2 ชนิดแรก
นกยางกรอกพันธุ์ชวา VS. นกยางกรอกพันธุ์จีน ในชุดขน 'แต่งงาน'
ในคู่มือดูนกบางเล่ม จะระบุความแตกต่างของนกยางกรอก 2 ชนิดว่า ในชุดขนนอกฤดูผสมพันธุ์ ในนกยางกรอกพันธุ์จีนมีลายที่ปลายปีก ส่วนนกยางกรอกพันธุ์ชวาไม่มี ทั้งนี้ เป็นข้อมูลที่ผิด เพราะสามารถพบลายที่ปลายปีกได้ในนกทั้งสองชนิด จึงเป็นการยากที่จะระบุชนิดของนกกลุ่มนี้ ในช่วงนอกฤดูสมพันธุ์ เจอนกยางกรอก ชุดขน'ยังโสด' เมื่อไร เป็นต้องเลยเรียกรวมๆ ว่า "นกยางกรอก" ไปก่อน
นกยางกรอกพันธุ์อินเดีย (Indian pond Heron) ในชุดขนแต่งงาน ต่างจากนกยางกรอกพันธุ์ชวา (Javan pond Heron) ในชุดขนเดียวกัน คือขนที่หลังเป็นสีน้ำตาลแดง ที่มา: J.M.Garg, 2007
นกยางกรอกพันธุ์ชวา เป็นนกประจำถิ่น (resident) ที่ทำรังวางไข่ในไทย พบได้บ่อยมาก ตามสวนสาธารณะ บ่อน้ำหรือสระน้ำตามบ้าน หามองหามักไม่พลาดได้พบเจอ แม้แต่ในบ่อเลี้ยงปลาน่ารักของคุณ อาจโดนเจ้านี่ลอบขโมยจับกินเอาดื้อๆ สามารถพบตามแถบที่ราบลุ่มภาคกลางและพื้นที่ใกล้เคียง มีรายงานการพบตามแหล่งน้ำในที่ราบของภาคเหนือ, ภาคใต้ในช่วงฤดูหนาว นอกจากนี้ ยังพบในอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และกัมพูชาอีกด้วย
แม้จะพบได้บ่อย สีสันสวยงามก็ใช่ว่า พวกมันจะไม่ถูกทำร้าย พวกมันจำนวนไม่น้อยยังถูกล่าเพื่อนำไปประกอบอาหารตามท้องถิ่น หากเพื่อประทังชีวิตยังชีพไม่ได้ส่งขายเป็นล่ำเป็นสันให้ร้านค้าทำอาหารขายก็คงยังพอรับกันได้ แต่การยิงทื้งหรือเห็นนกพวกนี้เป็นเพียงเป้าลองกระสุนคงน่าเศร้า
เก็บสิ่งมีชีวิตแสนสวยจากธรรมชาติตัวนี้ ไว้ประดับโลกใบนี้ ดีกว่าไหม?
*ขอบคุณข้อมูลและภาพสวยๆ อันเป็นแรงบันดาลใจให้เขียนจาก http://www.oknation.net/blog/plains-wanderer/2011/06/05/entry-1
Comments
ความคิดเห็น
ความเห็นที่ 1
ความเห็นที่ 2
ความเห็นที่ 3
ความเห็นที่ 4