ปัญหา ‘ช้าง’
เรื่อง: อุเทน ภุมรินทร์, ภาพ: กุลพัฒน์ ศรลัมภ์
“ช้างป่าสลักพระโดนไฟฟ้าช็อตตาย ในไร่ของชาวบ้าน”
“ช้างป่าสลักพระ เหยียบหญิงนั่งวิปัสสนาในป่า เสียชีวิต”
นี่คือ เหตุการณ์เพียงบางส่วนที่ปรากฏตามหน้าสื่อต่างๆ ในรอบสองปีที่ผ่านมาของช้างป่าที่อาศัยอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ จ.กาญจนบุรี แม้ว่าข่าวที่ออกไป จะต้องมาหามูลจริงกันบ้าง ในแต่ละเรื่อง อย่างเช่น เรื่องเหยียบหญิงวิปัสสนาเมื่อกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ข่าวลงเลยเถิดถึงขั้นว่า เพราะช้างป่าหิวจนคลั่งถึงได้ทำร้ายหญิงผู้ตายดังกล่าว ซึ่งถึงขณะนี้ ยังหาข้อพิสูจน์ไม่ได้ว่า เธอตายเพราะช้างเหยียบหรือโดนฆาตกรรมแล้วถูกอำพรางด้วยการนำศพมาทิ้งในทางด่าน ที่ช้างป่าใช้เดินหากินเป็นประจำ แต่ที่แน่นอน คือ ช้างป่า กลายเป็น ‘สัตว์ร้าย’ ไปอีกแล้ว และอีกสิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงคือ ปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับสัตว์ป่า ดูเหมือนว่า จะไม่มีแนวโน้มที่จะลดลงเลย
มองด้วยสายตาของดาวเทียมหรือดวงตานก พื้นที่ระบายเขียวของโลกนี้มีเหลืออยู่ไม่มาก ในระดับพื้นดิน มองด้วยสายตาปลวกหรือมด พื้นที่ระบายเขียวอันหมายถึงพื้นที่ป่า เหลือเพียงในภูเขาสูงชันเท่านั้น ทุกๆ ปีพื้นที่สีเขียว ดูเหมือนจะเพิ่มขึ้น แต่เป็นสีเขียวสดของพืชไร่ อย่างอ้อย ข้าวโพด หรือแม้แต่ยางพารา พื้นที่ป่าไม้ดั้งเดิมที่เป็นที่ราบ มีแหล่งน้ำและพืชอาหารเพียงพอ ซึ่งเหมาะสมเป็นแหล่งที่อยู่ของสัตว์ป่า ก็เหมาะสมสำหรับการเป็นพื้นที่เกษตรเช่นเดียวกัน
ไม่มีช้างตัวไหน อยากสูญพลังงานที่มากกว่าไปกับการปีนเขา ซึ่งใช้พลังงานมากกว่าเดินบนที่ราบถึง 25 เท่า เช่นกัน เมื่อพืชผลทางเกษตรมีราคาสูงขึ้น และชีวิตของเกษตรกร ต้องกิน ต้องใช้จ่าย ท่ามกลางการขยายพื้นที่เกษตรติดชิดกับชายป่า พืชเกษตรที่รอวันงอกงาม หรือรอเก็บเกี่ยวผลผลิต กลับกลายเป็นเสียหายในชั่วข้ามคืน จากการเข้ากินของช้างฝูง เงินแสนที่หมายถึงต้นทุนที่ลงไป หลุดลอยไปกับท่อนอ้อยที่กระจัดกระจาย เมื่อถึงตรงนี้ ชาวไร่ยังอยากฟัง เรื่องที่ว่า “ช้างป่า มีความสำคัญต่อป่าและคนอยู่ไหม?”
ตั้งแต่ปี 2534 เป็นต้นมา ช้างป่าสลักพระเริ่มออกมาในพื้นที่ริมห้วยแม่ละมุ่นในช่วงแรก พื้นที่ตอนบนบริเวณรอยต่อระหว่างเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ ซึ่งตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำแควใหญ่ ซึ่งถูกยึดครองและพัฒนาเป็นหมู่บ้านหลายแห่ง ในระยะหลังปี 2546 พบว่าช้างป่าออกไปใช้พื้นที่ทางตอนล่างของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า พบพื้นที่ความขัดแย้งไม่น้อยกว่า 20 จุด เรียกได้ว่า เกือบทุกทิศทางรอบพื้นที่ป่าสลักพระ โดยพบช้างป่าออกไปทำลายพืชผลการเกษตร และไปใช้แหล่งน้ำในพื้นที่เลี้ยงวัวของชาวบ้านในช่วงหน้าแล้งที่อากาศร้อนจัด พูดได้ว่า ชาวบ้านรอบๆ ป่าสลักพระ น้อยคนนักที่ไม่เคยเห็นช้างป่า
“ออกมาเกือบทุกคืนแหล่ะ จนเราต้องมานอนเฝ้า ตอนนี้สร้างกระท่อมไว้ที่นี่เลย หมดค่าลูกบอล ประทัดไปเดือนเป็นพันแล้ว เราก็ไม่รู้จะทำอย่างไร บางครั้ง ต้องใช้ปืนยิงขู่ด้วย รัฐหรือใครก็ไม่เห็นช่วยอะไรเลย มาก็มาถามแค่เนี่ย แล้วก็ไม่เห็นมีอะไรเกิดขึ้น”
หญิงวัยกลางคนชาวไร่อ้อย บอกกับเรา--ผม กับพี่ม่อน เจ้าหน้าที่จากเครือข่ายอนุรักษ์ช้าง: กาญจนบุรี ที่มาเก็บข้อมูลช้างทำลายพืชไร่ ด้วยน้ำเสียงข่มความฉุนเฉียว
เกษตรกรหลายราย ต้องมาเฝ้าไร่เอง หากเป็นรายใหญ่ที่มีกำลังทุนทรัพย์อาจจ้างคนงานเฝ้า และมีบางรายที่ได้รับการแนะนำจากทางเครือข่ายอนุรักษ์ช้างฯ มีการป้องกันพื้นที่เกษตรของเขาด้วยการขุดคูล้อมรอบพื้นที่ และปักหลักล้อมด้วยลวดเดินไฟฟ้ากั้นไว้อีกที
“เดี๋ยวนี้ เขาเล่นแบบเตะขึ้นมากินเลย อ้อยที่เราพึ่งปลูกไป ตายังไม่ทันงอกเป็นต้น เขามาคุ้ยแตะกินลำท่อนพันธุ์ที่ปลูกเลย”
เกษตรกรรายหนึ่ง ซึ่งมีพื้นที่ติดชิดกับชายขอบป่าบอกกับเรา เผยให้เห็นการเรียนรู้ของช้างป่า ที่แม้พืชเกษตรที่ฝังดินแล้วก็ไม่มีทางเล็ดลอดไปได้ เมื่อได้พูดคุยกัน คูและรั้วไฟฟ้าเดินไฟผ่านเส้นลวดของเขา ป้องกันช้างได้บ้าง แต่สิ่งที่น่ากังวลคือ ลวดนี้ไม่ได้รับไฟจากต้นกำเนิดหม้อแบตเตอรรี่ แต่เป็นจากเครื่องปั่นกระแสไฟฟ้าที่ใช้น้ำมัน แรงไฟฟ้าที่ได้จึงเท่ากับ 220 โวลต์เช่นเดียวกับไฟบ้าน แน่นอนว่า ช้างป่าสลักพระก็เคยจากไปด้วยกระแสไฟฟ้าที่เจ้าของสวนต่อโดยตรงจากไฟฟ้าในบ้าน
เพียงแค่รอเวลาว่า เมื่อไหร่เท่านั้นเอง ถึงแม้ว่า เจ้าของไร่ จะบอกกับเราว่า “ทำเป็นสองเส้น ต่อลงดิน เป็นสายดินไว้เส้นหนึ่ง” ก็ตาม อย่างไรกระแสไฟฟ้าก็ยังไม่ได้ลดลงตามอย่างแน่นอน เพื่อปกป้องพืชผลอันเป็นรายได้ในการเลี้ยงชีวิต คือ ความหมายของอาชีพในการลงทุนลงแรงตลอดปี บางครั้ง ชีวิตของอีกฝ่ายก็ถูกมอง อย่างผิวเผิน
................................
“บางที ยังไม่ทันจะมืด พี่ใหญ่ก็เดินออกมาข้ามถนนแล้ว เอาแค่พอสลัวๆ แค่นั้น”
ชาวไร่อีกท่าน ที่กำลังขึงลวดเป็นรั้ว 2 เส้นเพื่อปล่อยกระแสไฟฟ้าจากหม้อแปลงแบตเตอรี่ ติดกับแนวต้นไม้ เพื่อกัน ‘พี่ใหญ่’ เข้าไปชิมฟรี บอกกับเรา
เป็นเรื่องคุ้นชินเสียแล้ว ถึงแม้ว่า ชาวบ้านที่นี้ จะอยู่ไกลจากสวนสัตว์ดุสิต สวนสัตว์เปิดเขาเขียวหรือแม้แต่ศูนย์อนุรักษ์ช้าง จ. ลำปาง หลายร้อยกิโลเมตรก็ตาม ช้างตัวเป็นๆ พวกเขาเห็นจนไม่ตื่นใจแล้ว ทุกเช้าที่ขับรถออกมาทำงานในพื้นที่ รอยบนถนนลาดยาง ที่เป็นรอยดินขนาดวงกลมใหญ่ๆ เป็นทางไปนั้น บอกให้เรารู้ว่า เมื่อคืนช้างออกหากินยังอีกฝั่งถนน รวมถึงกองมูลก้อนโตๆ ที่ยังคงกลิ่นฉุนกึกก็บอกเราได้เป็นอย่างดี
“คงเป็นเรื่องยากอยู่แล้ว เพราะตอนพี่เคยสำรวจเส้นทางช้างป่าในอดีต โดยถามจากคนเฒ่าคนแก่ พรานในสมัยก่อน เขาก็บอกว่า บริเวณนี้ รอบป่าสลักพระที่เราเห็นเป็นหมู่บ้านเนี่ย เป็นป่าที่ราบกว้าง มีสัตว์ชุมมาก แล้วเส้นทางเดินของช้าง เมื่อก่อนนั้น ก็ผ่านไปกินน้ำที่แม่น้ำแควกันทั้งนั้น”
เจ้าหน้าที่เครือข่ายอนุรักษ์ช้าง: กาญจนบุรี บอกข้อมูลที่ทำให้ภาพการบุกรุก ทำลายพืชไร่ของช้างป่าปรากฏชัด เพราะเส้นทางที่ช้างใช้ในปัจจุบัน เป็นเส้นทางที่บรรพบุรุษของมัน เคยใช้มาก่อน ช้างป่าอาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูง จ่าฝูงเป็นช้างเพศเมีย รุ่นคุณยายที่มีประสบการณ์ ย่อมรู้ดีว่า ในเวลาต่างๆ ตามฤดูกาลจะพาลูกฝูงไปอยู่ ณ ที่ใด สิ่งนี้ ได้รับการถ่ายทอดมาจากช้างอาวุโสรุ่นก่อนๆ แต่เมื่อพื้นที่ดั้งเดิมที่พวกมันเคยใช้กลายสภาพไปเป็นไร่สวนพืชเกษตร ความเสียหายและการกระทบกระทั่งก็เป็นเรื่องที่เลี่ยงได้ยาก พืชเกษตรอย่างอ้อย มะละกอ กล้วย มะม่วง ฯลฯ ซึ่งมีน้ำตาลในพืชเหล่านี้สูงกว่าพืชหลักที่ช้างกินอย่าง หญ้า ดังนั้น ทั้งรสชาติและพลังงานที่ได้รับจากพืชเกษตรของชาวบ้าน อาจทำให้มันติดใจ
“การติดตามเก็บข้อมูลช้างทำลายพืชไร่ และจุดที่ช้างออกจากป่าของเรา เสนอให้ทางกรมอุทยานฯ และทางจังหวัดกาญจนบุรี ร่วมแก้ปัญหา โดยสนับสนุนงบจัดทำรั้วไฟฟ้าแบบมาตรฐาน ความยาวในช่วงเฟสแรกนี้ 15 กิโลเมตร กั้นบริเวณตำบลวังด้ง ถึงตำบลท่ากระดาน ดำเนินการโดยเขตฯ สลักพระ เป็นคนจัดทำ คงจะเสร็จในช่วงเดือนตุลาคมปีนี้”
“เรารอคอยสิ่งนี้ รั้วคงกันและบรรเทาปัญหาได้บ้าง แต่ก็ต้องมีการดูแล ไม่ปล่อยให้ลวดมันขาด มีงบคอยซ่อมดูแล และด้านข้างจากแนวรั้วไฟฟ้าข้างละ 4 เมตร ต้องทำแนวให้เตียนโล่ง เพราะไม่อย่างนั้น เขาก็เอาต้นไม้มาล้มพาดทับรั้วจนขาดแล้วออกมาได้เหมือนเดิม”
พี่ม่อน-- เจ้าหน้าที่เครือข่ายอนุรักษ์ช้างบอกกล่าวถึงความหวังของเครือข่ายฯ และชาวบ้าน ที่ต่างรอคอยรั้วไฟฟ้า ซึ่งคงพอทุเลาปัญหาการทำลายพืชไร่ของช้างป่าได้บ้าง
.......................................
“ตอนนี้ มีโรงเห็ด อยู่สามโรง คือ สามกลุ่มหมู่บ้าน แต่ที่มีรายได้กลับเข้ามาในกลุ่ม เพียงโรงเดียว อีกสองโรงนั่น กำลังเจอปัญหา คือ เห็ดเป็นโรค ขายได้บ้างบางส่วน แล้วเมื่อเข้าพรรษาที่ผ่านมานี้ ไปปลูกป่ากับชาวบ้าน เราไปส่งเสริมให้เขาสร้างเรือนเพาะชำกล้าไม้ขึ้นมา เพื่อสร้างรายได้ เพราะเดี๋ยวนี้ คนต้องการปลูกป่า องค์กรต่างๆ ต้องจัดกิจกรรมปลูกป่า เขาจะแสวงหากล้าไม้ เราก็เลยส่งเสริมให้ตั้งเป็นกลุ่มนี้ขึ้นมาด้วย อีกอย่างเพื่อปลูกฟื้นฟูต้นน้ำ แหล่งน้ำของเขาด้วย เพราะชาวบ้านบอกกับเราว่า ทางน้ำไหลที่เมื่อก่อนมีถึงหลักหลายสิบ เหลือเพียงสองสายเท่านั้น”
พี่นก เจ้าหน้าที่อีกคนจากเครือข่ายอนุรักษ์ช้าง ซึ่งกำลังส่งเสริมอาชีพทางเลือกให้กับชาวบ้าน เพื่อลดการพึ่งพึงทรัพยากรจากป่า บอกถึงกิจกรรมที่ดำเนินการอยู่ในขณะนี้
“อย่างมีชาวบ้านคู่ผัวเมีย ตอนนี้ขายขนมกุ๊ยช่าย -- ขนมทำจากแป้งข้าวเจ้าและแป้งข้าวเหนียว สอดไส้ด้วยใบกุ๊ยช่ายเป็นส่วนประกอบแล้วนำไปนึ่ง ที่เราแนะนำหาวิธีให้เขา จนเลิกเข้าป่า ตัดไม้ไผ่ขายแล้ว ปีนี้ เราก็เลยให้ทุนการศึกษาลูกเขาไป เหมือนเป็นกำลังใจและตัวอย่างให้กับคนอื่นๆ ด้วยว่า หากคุณลดการพึ่งพิงป่า คุณก็จะได้รับการช่วยเหลือ”
สิ่งที่พี่นกบอกกับผม หมายความว่า ลดการตัดไม้ไผ่ที่เป็นไผ่ป่าลำเกือบเท่าน่องขา วันละสามสิบลำออกจากป่าสลักพระได้ ถึงแม้ว่าการตัดไม้จะมีราคาที่ได้พอเลี้ยงชีพ ในราคาเกือบสิบสามบาทต่อลำก็ตาม แต่หากถูกเจ้าหน้าที่ป่าไม้ทำการจับกุม นอกจากจะโดนยึดรถลากที่มี ถ้าจะต้องต่อรถลากขึ้นมาใหม่ ราคาอะไหล่เกือบสามพันบาท แถมยังโดนปรับอีก โดยเฉพาะตอนนี้ ชาวบ้านที่เข้าไปตัดไม้ต้องรวมกลุ่มกันไป เพราะกลัวช้างป่า หลายคนคงพออุ่นใจ ลดความระแวงจากช้างลงไปบ้าง แต่คงช่วยกันระวังเจ้าหน้าที่ด้วย นั่นแหล่ะสำคัญกว่าระวังช้างเสียอีก
ลองคิดดูสิครับ ผืนที่ป่าสลักพระเสมือนกับไข่แดง ที่โดนล้อมรอบด้วยไข่ขาว คือ ชุมชนประชิดอยู่ทุกด้าน คิดเอาง่ายๆ แค่ตัดไผ่ขาย วันละ 20 ลำ เฉลี่ย 15 วันต่อเดือน ตัดแค่ 50 หลังคาเรือน คูณกันเราจะได้ยอดต่อเดือนที่ได้ คือ 15,000 ลำต่อเดือน แล้วถ้าตัวเลขไม่ใช่แค่ 50 หลังคาเรือนล่ะครับ มันจะมากมายขนาดไหน
เรื่องนี้ยังไม่มีทางออก มีแต่ทางหลวงที่ใครผ่านไปผ่านมา มักเห็นรถบรรทุกไผ่ท่อนอยู่เต็มคันวิ่งสวนทางผ่านหน้าสำนักเขตฯ สลักพระไปเท่านั้น
…………………..
“โลกนี้มีนักอนุรักษ์อยู่เยอะไป อยู่ที่ว่า ใครมีไมโครโฟน ก็เป็นนักอนุรักษ์ได้ทั้งนั้น” อาจารย์ผู้สอนด้านสัตว์ป่า ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เคยสอนในห้องเรียนไว้อย่างนั้น ท่านหมายถึง คนที่อ้างว่า เป็นนักอนุรักษ์ ที่พูดมากกว่าทำ นั้นมีอยู่ถมไป
“หลายที่ ที่มีปัญหาช้างป่าออกหากินนอกพื้นที่ ลงไปในไร่เกษตร แล้วก็ไปสร้างแหล่งน้ำเพิ่ม ปลูกพืชอาหารในป่า เพราะคิดว่า มีแหล่งน้ำ มีอาหารไม่เพียงพอ ช้างจึงออกมา โดยไม่ได้อาศัยข้อมูลที่แท้จริงเลย ไม่มีการศึกษาว่า จริงๆ แล้วมันเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า”
เป็นความจริงตามที่อาจารย์ได้บอกกับเรา หลายพื้นที่ ใช้ความ ‘น่าจะเป็น’ มากกว่าที่จะใช้ข้อมูลวิชาการเป็นบทสรุปนำหน้า ในการจัดการปัญหา
ซึ่งความจริงแล้ว พื้นที่นั้น อาจมีความสามารถในการรองรับประชากรช้างป่าได้ แค่ส่วนหนึ่ง ขณะนี้ จำนวนช้างในพื้นที่อาจเกินความรองรับได้ เราก็ต้องไปจัดการพื้นที่ เพื่อเพิ่มความสามารถในการรองรับมากขึ้น แต่หากพื้นที่มีความสามารถเพียงพอ มีพื้นที่เหมาะสม มีแหล่งน้ำ แหล่งโป่ง พืชอาหาร ฯลฯ รองรับประชากรช้างป่าในที่นั้นได้หมด เราก็ต้องมาหาต้นเหตุกันว่า เพราะอะไร ช้างถึงออกนอกพื้นที่
ถึงตอนนี้ ยังไม่ถึงเวลาอีกเหรอครับ ที่เราจะใช้ข้อมูลที่เป็นวิทยาศาสตร์มานำหน้าการอนุรักษ์ในบ้านเมืองเรา
หรือต้องรอให้มีช้างป่าตายหรือคนโดนช้างป่าเหยียบตายกันอีก แล้วค่อยเริ่มตีบี๊ป เร่งมือทำกันใหม่ เราจะรอให้ถึงวันนั้นจริงๆ หรือ
Comments
ความคิดเห็น
ความเห็นที่ 1
ปัญหาคนกับช้างนี่ ผมกลัวเหลือเกินว่ามันจะถึงเวลาที่จะ "ต้องเลือก" เข้าสักวัน กลัวใจจริงๆ ว่าถึงวันนั้นเราจะเลือกฝ่ายไหน...
ปล. ตั้งแต่เขียนมา ผมชอบบทความนี้ของอุเทนที่สุดอ่ะ
ความเห็นที่ 2
วันหนึ่งที่ต้องเลือก... แน่นอนว่า"ช้าง"คงเป็นตัวเลือกลำดับท้าย ๆ
ปล.ภาพสวยมากเลยพี่กั๊ก
ความเห็นที่ 3
ขอบคุณสำหรับบทความดีๆ ค่ะ
อ่านแล้วเศร้ายังไงไม่รู้
ปล. คนเขียนบทความเขียนดีจังค่ะ ดอนแรกเห็นเยอะๆ ยาวๆ นึกขี้เกียจอ่าน แต่พออ่านแล้วก็พาให้อ่านจนจบ
ความเห็นที่ 4
ปัญหาคนกับป่า ต่อมาก็คนกับช้าง
ไม่อยากจะคิดเหมือนกันค่ะ
ว่าเมื่อถึงเวลาต้องเลือก จะเกิดอะไรขึ้น
ความเห็นที่ 5
ปัญหาคนกับป่า ต่อมาก็คนกับช้าง
ไม่อยากจะคิดเหมือนกันค่ะ
ว่าเมื่อถึงเวลาต้องเลือก จะเกิดอะไรขึ้น
ความเห็นที่ 6
ทุกคนต้องเข้าใจก่อนว่าปัญหาเรื่องช้างสลักพระไม่ได้เกิดจากชาวบ้านในพื้นที่ ถ้าคุณเข้าไปสัมผัสกับชาวบ้านจริงๆ (ไม่ใช่แค่ไปแล้วกลับ) ชาวบ้านที่นี่รักช้าง และอยู่กับช้างมานานเกือบร้อยปี ชาวบ้านอยู่กับช้าง(และอาชีพตัดไม้ลวกก็เป็นอาชีพดั้งเดิมของคนที่นี่มานับสิบๆปี ส่วนใหญ่เขาตัดเพื่อยังชีพ ต้องเข้าใจว่าป่าสลักพระเป็นเขตเงาฝน ปริมาณฝนน้อยมาก ยากต่อการเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตร)ก่อนที่จะมีเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ ด้วยซ้ำ ปัญหาจริงๆเกิดจากการสร้างเขื่อนศรีนครินทร์ ไปปิดเส้นทางการเดินหากินของช้างสลักพระ ปกติช้างป่าจะมีพฤติกรรมย้ายที่หากินเป็นวงกลมในหนึ่งปีมันจะเดินทางมาบรรจบที่เดิม พราณป่าดั้งเดิมเล่าให้ผมฟังว่า ก่อนมีเขื่อนช้างป่าสลักพระเดินหากินตั้งแต่ ราชบุรี ไปถึง ขาแข้ง เมื่อช้างไม่สามารถเดินหากินระยะไกลได้ทำให้ช้างกระจุกอยู่ที่ป่าสลักพระ (ปัจจุบันช้างสลักพระมีประมาณ 160 เชื่อก จากข้อมูลการสำรวจทางพันธุกรรมจากมูลช้าง) ช้างส่วนใหญ่ไม่ได้มากินพืชผลชาวบ้าน พบเฉพาะบางตัวเท่านั้น (ส่วนน้อยมาก) และถ้าไปอยู่ในพื้นที่นานๆจะรู้ว่ารั้วไฟฟ้าจริงๆแล้วแทปจะกันช้างไม่ได้เลย (ช้างมันเหยียบต้นไม้ให้ล้มทับรั้วแล้วก็เดินช้ามสะบาย บางตัวใช้เท้าเหยียบรั้วเลยด้วยซ้ำ ฝ่าเท้าช้างหนาคล้ายเกือกม้า ไม่งั้นคงเดินบนเขาไม่ได้)
ตอนนี้... ที่เขตรักษาสัตว์ป่าสลักพระมีโครงการสร้างแนวรอยต่อป่า ซึ่งเป็นมาตราการ ในการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนครับ โดยเตรียมสำรวจพื้นที่ที่จะประกาศเป็นพื้นที่อนุรักษ์เพิ่มโดยส่วนหนึ่งได้รับพื้นที่จากทางหนวยราชการทหาร และทำการตกลงกับหลายอุทธยานแห่งชาติหลายแห่ง เพื่อสร้างแนวรอยต่อป่า เพื่อสร้างแนวเส้นทางการเดินให้ช้างสามารถหากินเป็นวงกลมได้ดังเดิม ซึ่งโครงการเพิ่งเริ่มได้ไม่ถึงปี กว่าจะสำเร็จเป็นรูปเป็นร่างต้องใช้เวลาอีก 5 ปี