ว่าด้วยเรื่อง เขื่อนคลองชมพู จ.พิษณุโลก

ว่าด้วยเรื่อง เขื่อนคลองชมพู จ.พิษณุโลก
 
เรื่อง/ภาพ: ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์ 
 
ในขณะที่สังคมกำลังหันหน้าไปสนใจกับเขื่อนแม่วงก์ ด่านหน้าที่ครม.มีมติอนุมัตงบประมาณออกมาแล้ว โครงการเล็กๆอีกโครงการในชุดเดียวกันที่ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาคือเขื่อนคลองชมพู จ.พิษณุโลก ผมขอถือโอกาสนี้ชี้แจงข้อมูลบางส่วนที่ได้รับรู้มา ในช่วงที่ลงพื้นที่เมื่อ 2-3 ปีก่อนครับ เอาเป็นว่าผมจะให้ข้อมูลเท่าที่ผมจะให้ได้ แล้วท่านตัดสินใจด้วยตัวเองแล้วกัน ว่าผิดหรือถูก ว่าเราควรจะทำอย่างไรต่อไป สร้างเขื่อนดี ไม่สร้างเขื่อนดี? ถ้าหากท่านใดมีข้อมูลเพิ่มเติม หรือเห็นแย้งประการใด ผมก็พร้อมที่จะรับฟังด้วยความเต็มใจ 
 
ข้อมูลเบื้องต้นนะครับ คลองชมพูเป็นคลองขนาดกลางๆ ถ้าคุณเป็นคนกรุงเทพฯ ผมก็จะบอกว่ามันมีขนาดประมาณเท่าครึ่งของคลองประปา มีต้นน้ำอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง ไหลลงมา ผ่านพื้นที่มีคนอยู่แห่งแรกคือ บ้านชมพู ก่อนที่จะไหลต่อไปผ่านที่บ้านซำรัง บ้านปลวกง่ามบ้านน้ำปาด ตำบลชมพูอำเภอเนินมะปรางผ่านเนินสะอาดหนองปลาไหล อำเภอวังทองที่ผ่านมาได้มีโครงการที่จะก่อสร้างเขื่อนคลองชมพู เนื่องจากว่าในหน้าน้ำ น้ำในคลองชมพูจะเอ่อล้นเข้าท่วมบ้านเรือนและพื้นที่เกษตรกรรม ในหน้าแล้งน้ำในคลองชมพูจะเค็มใช้ประโยชน์ไม่ได้เนื่องจากพื้นที่ต้นน้ำเป็นพื้นที่ ๆ มีแหล่งเกลืออยู่

 
คลองชมพูตอนบน บริเวณที่พบจระเข้น้ำจืดอาศัยอยู่ บริเวณนี้เป็นเขตป่าที่สมบูรณ์ของ อช.ทุ่งแสลงหลวง

 
คุยกันทีละเรื่องนะครับ เรื่องแรกก็คือเรื่องน้ำท่วม อาจจะฟังดูแปลกถ้าจะบอกว่าพี่น้องครับปล่อยให้น้ำท่วมบ้างเถิด โดยเฉพาะที่คลองชมพู น้ำท่วมนั้นก็มีข้อดีหลักที่อยากชี้ให้เห็นอยู่ 2 ประการ
 
เรื่องแรกก็คือน้ำที่คลองชมพูเค็ม ชาวบ้านในพื้นที่ท่านก็รู้อยู่ มันจะเค็มมากในหน้าแล้ง ลงไปว่ายขึ้นมาตัวเหนียว เลียดูเค็มเลย หน้าฝนมีน้ำมากหน่อยก็เค็มน้อยหน่อย ระหว่างที่มันไม่เค็มมากท่านก็ใช้น้ำเหล่านี้รดลงไปในที่ดินของท่าน ผลก็คือถึงจะมีน้อยแต่มันก็ยังมีเกลือ ดังนั้นทุกวันทุกปีท่านได้รดน้ำเค็มลงไปในที่ดิน นานวันเข้าเกลือก็จะสะสมในที่ของท่าน แล้วในที่สุดดินก็จะเสียปลูกอะไรไม่ได้ ปัญหาดินเค็มเป็นหนึ่งในปัญหาหลักของที่ดินการเกษตรทั่วโลกครับ แต่ที่ทุกวันนี้ดินยังไม่เค็มไม่เสีย ก็เพราะพอฝนตกน้ำมามากๆ มันไหลบ่าท่วมที่ดินท่านมันก็ชะพาเอาความเค็มออกไปจากที่ดินท่าน แล้วก็เอาปุ๋ยและแร่ธาตุมาให้กับที่ดินของท่าน ดินท่านก็ไม่เค็ม ชุ่มชื้น และอุดมสมบูรณ์
 
เรื่องที่สองชาวประมงพื้นบ้านเรารู้ดี ปีไหนน้ำท่วม ปีนั้นปลาเยอะ เพราะปีนั้นจะเป็นปีที่ปลาได้ขึ้นมาทำรังวางไข่ และลูกปลาได้อาศัยพื้นที่น้ำท่วมหลบภัยและหากิน ปลาน้ำจืดไทยเกือบจะทั้งหมดมีพฤติกรรมการผสมพันธุ์ที่ต้องพึ่งพื้นที่น้ำท่วมทั้งสิ้น ปลาเป็นแหล่งโปรตีนที่ดี ไขมันต่ำ และสามารถจับหากินได้ไม่ยากนักนะครับ 
 

ลูกปลามากมายที่พบในทุ่งน้ำท่วมในฤดูน้ำหลาก

 
สำหรับการแก้ปัญหาน้ำเค็ม เขื่อนคลองชมพู ตามทฤษฏีแล้วจะไม่แก้เรื่องน้ำเค็มเลย ซ้ำร้ายอาจจะทำให้มันแย่กว่าเดิมด้วยซ้ำ เพราะการสร้างเขื่อนจะก่อให้เกิดเหตุการณ์ขึ้นมาสองเรื่อง
 
เรื่องแรกคือน้ำจำนวนมากที่ถูกกักไว้หลังเขื่อน จะหนักและมีแรงดันมากขึ้น มันจะแทรกซึมลงไปในชั้นดินได้ลึกขึ้น และชั้นดินทางต้นแม่น้ำคลองชมพู ผมก็ยังไม่เห็นรายงานสำรวจนะครับ แต่ให้เดาก็คงต้องบอกว่ามีเกลือแน่ๆ และน้ำที่ซึมลงไปก็จะไปดึงเอาเกลือขึ้นมาเพิ่มความเค็มให้น้ำสมทบกับเกลือผิวดินที่น้ำพามาอยู่เป็นประจำ
 
เรื่องสองก็คือน้ำที่ถูกเขื่อนกักจะมีพื้นที่ผิวมากขึ้น ลองเอาน้ำจำนวนเท่ากันใส่กาละมังซักผ้า กับใส่ไว้ในแก้ว แล้วตากไว้กลางแดด น้ำตรงไหนจะระเหยเร็วกว่ากัน?  ก็ต้องน้ำที่มีพื้นที่ผิวให้น้ำระเหยได้มากกว่าที่กาละมังซักผ้าใช่ไหมครับ?  การสร้างเขื่อนที่คลองชมพู จะเป็นการเพิ่มพื้นที่ผิวให้น้ำระเหยได้เร็วยิ่งขึ้น น้ำระเหยแต่เกลือไม่ได้ระเหยไปไหน เหมือนเวลาทำนาเกลือนั่นแหล่ะครับ น้ำที่เหลือก็จะเค็มยิ่งขึ้น และทีนี้อาจจะเค็มยาวนานทั้งปีก็เป็นได้ ลองดูกรณีเขื่อนราษีไศล เถิดครับ 
 
ผมนึกได้เท่านี้และเห็นว่าเขื่อนจะสร้างปัญหาให้กับเกษตรกรปลายน้ำมากกว่าที่จะแก้ปัญหาใดๆ นอกจากว่าน้ำจะได้ไม่ท่วมบ้านเรือน แต่ในที่สุดแล้วเขื่อนไม่ใช่คำตอบสุดท้ายว่ามีแล้วน้ำจะไม่ท่วม ถ้าน้ำมามากจริงๆ มันก็ท่วมอยู่ดี เพราะมันจะอยู่ที่การจัดการตั้งแต่ต้น การคาดการณ์ว่าน้ำจะเหลือมากหรือน้อย ควรจะปล่อยและเก็บในช่วงไหน ถ้ามีเขื่อนแล้วน้ำไม่ท่วมจริง ทำไมน้ำถึงท่วมในปีพ.ศ.2554 ทั้งๆที่เรามีเขื่อน กั้นแม่น้ำ ปิง วัง และ น่านอยู่แล้ว?
 
เขื่อนเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา แต่ไม่ใช่คำตอบเบ็ดเสร็จสำหรับทุกอย่างครับ ในที่สุดคือเราเอาชนะธรรมชาติไม่ได้ เขื่อนผ่อนหนักเป็นเบาได้ แต่เขื่อนแก้ปัญหาเบ็ดเสร็จไม่ได้ ถ้าน้ำท่วมมันไม่ดีเอามากๆ ทำไมนครหลวงของไทย ทั้งสุโขทัย อยุธยา ธนบุรี และ รัตนโกสินทร์ ล้วนแล้วแต่ตั้งอยู่ในเขตน้ำท่วมทั้งนั้น?  บรรพบุรุษของเราก่อบ้านสร้างเมือง ปรับตัวเข้ากับน้ำท่วมได้อย่างไร บ้านยกพื้น เรือใต้ถุน เราลืมแล้วหรือ?  
 
อ่านเท่าที่ผ่านมาอาจจะเครียดแล้ว ผมจะเล่าเรื่องตลกให้ฟังสักเรื่อง “เขาเล่ากันว่า ตอนที่พระเจ้าสร้างโลก ท่านมีพืชพรรณสัตว์ต่างๆอยู่ในถุงใบใหญ่ เดินแล้วก็เลือกหยิบมาวางไว้ตามประเทศต่างๆ พอมาถึงประเทศไทย พระเจ้าดันเดินสะดุด ทำพืช สัตว์ สิ่งมีชีวิตต่างๆหล่น ออกมาเต็มประเทศไทยไปหมด ท่านเห็นแล้วก็นึกในใจ ตายละวา...ประเทศไทยนี่มีพืชสัตว์เยอะเกินหน้าประเทศอื่นไปมากมาย ประเทศนี้มีต้นทุนความหลากหลายทางชีวภาพเยอะกว่าประเทศอื่นๆ ของพวกนี้ถ้ารู้จักใช้รู้จักศึกษา ประเทศนี้จะได้เปรียบคนอื่นมากมาย ไม่ได้การ อีกหน่อยประเทศนี้จะเจริญรุ่งเรืองกว่าชาติอื่นเป็นแน่ ปิ๋ง! พระเจ้าตัดสินใจ ส่งคนผู้ไม่รู้จักคุณค่าของความหลากหลายทางชีวภาพลงมาอยู่บนแผ่นดินไทย พระเจ้ากระหยิ่มยิ้มย่อง คนพวกนี้มีของดีแต่ใช้ไม่เป็น เดี๋ยวก็ทำตกหล่นสูญหาย ไม่ได้เปรียบใครเขาหรอก เหอ เหอ เหอ” 
 
ใกล้ ๆ กับคลองชมพูในบริเวณที่จะสร้างเขื่อนมีถ้ำอยู่หลายถ้ำ ถ้าคุณเดินลงไปจะพบว่าในถ้ำมีน้ำไหลอยู่ ในนั้นมีปลาอยู่สองชนิด ชนิดหนึ่งเป็นปลาเกล็ดตัวใหญ่ยาวได้เป็นสอก มันมีตัวสีขาวโพลนและตาเล็กๆ อีกชนิดเป็นปลาค้อตัวใหญ่เป็นคืบ มันมีลำตัวสีเนื้ออมชมพู บางตัวก็ตาบอดสนิท บางตัวเห็นตาเล็กๆอยู่ นอกจากนั้นในน้ำยังมีกุ้งตัวสีขาวและปูขายาวรูปร่างแปลกประหลาด สัตว์เหล่านี้ นอกจากถ้ำในแถบนี้ไม่มีอีกแล้วที่ไหนในโลก ผมยังไม่เห็นรายงานการศึกษาใดๆถึงผลกระทบจากการสร้างเขื่อนต่อระบบน้ำในถ้ำเลย
 
ปลาตัวแรกคือปลาพลวงถ้ำ และปลาตัวที่สองคือปลาค้อตาบอดถ้ำพระวังแดง ทั้งสองชนิดเป็นสัตว์คุ้มครอง ตามกฎหมายของประเทศไทย ในปัจจุบันปลาถ้ำมีบทบาทอย่างมากในการวิจัยทางการแพทย์เกี่ยวกับการพัฒนาตาและระบบประสาทต่างๆที่เชื่อมโยงกับตา ซึ่งเชื่อกันว่าจะสามารถนำมารักษาคนตาบอดตาไม่ดีได้ในอนาคต ไม่ใช่ว่าทุกประเทศในโลกนี้มีปลาถ้ำนะครับ มีอยู่ไม่กี่ประเทศเท่านั้นที่โชคดี ประเทศไทยมีครับ! 


ปลาพลวงถ้ำและปลาค้อถ้ำ พบในระบบถ้ำใกล้กับบริเวณที่จะมีการสร้างเขื่อนเพียงแห่งเดียวในโลก


ทีนี้ในยามค่ำคืนถ้าคุณกล้าพอที่จะเดินผ่านป่าที่รกทึบเข้าไป คุณจะเห็นสัตว์รูปร่างประหลาดคล้ายจิ้งจกแต่ตัวใหญ่กว่ามากและมีนิ้วยาว มีมีลายปล้องสีแดง/น้ำตาลสลับเหลือง มันคือตุ๊กกายปล้องทอง สัตว์เลื้อยคลานที่เพิ่งถูกค้นพบเมื่อปีพ.ศ.2553 มันเป็นสัตว์ชนิดใหม่ที่โลกเพิ่งค้นพบและมันอาศัยอยู่เฉพาะในถ้ำแถบนี้เท่านั้น เป็นที่ทราบกันดีว่าพวกจิ้งจกตุ๊กแกสามารถงอกหางออกมาใหม่ได้ถ้าขาดไป ในขณะที่มนุษย์ทำไม่ได้ ไม่แน่นะว่ากุญแจสำคัญอาจจะอยู่ที่ชนิดนี้ก็ได้ ใครจะไปรู้? 


ตุ๊กกายปล้องทอง
 

ตามหัวแก่งของคลองชมพู ถ้าคุณลองเอาสวิงตาถี่หน่อย ขูดลากไปตามหาดกรวด แล้วคุณโชคดี คุณจะได้ปลาตัวเล็กๆชนิดหนึ่งขึ้นมา มันมีขนาดไม่ถึง 1 นิ้ว ลำตัวของมันเป็นสีน้ำตาลเข้มสลับกับลายสีน้ำตาลอ่อน มันมีผิวหนังที่ขรุขระ หน้ามู่ทู่ที่เต็มไปด้วยหนวดเครา ปลาชนิดนี้คือปลาขยุยคลองชมพู และเหมือนกับตุ๊กกายปล้องทอง มันเป็นปลาที่เพิ่งถูกค้นพบเมื่อปีพ.ศ.2553 มันเป็นสัตว์ชนิดใหม่ที่โลกเพิ่งรู้จัก และในปัจจุบันยังไม่มีรายงานจากส่วนใดของโลกนอกจากที่คลองชมพู ปลาชนิดนี้สามารถผลิตพิษเก็บเอาไว้ที่เงี่ยงของมันครับ เอาไว้ป้องกันตัวเวลาถูกจับมันก็จะตำเอา เจ็บปวดมาก ในปัจจุบันเริ่มมีการศึกษาพิษที่ปลาผลิตขึ้นมาเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทางยาแล้วครับ พิษของปลาขยุยชนิดนี้จะมีประโยชน์อย่างไรบ้าง? ถ้ามันสูญพันธุ์ไปเสียก่อน เราคงไม่มีวันได้รู้
 

ปลาขยุยคลองชมพู

 
นอกจากนั้นที่คลองชมพูยังมีจระเข้ จระเข้น้ำจืดสายพันธุ์ไทย จระเข้ชนิดที่ถูกจัดว่ามีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติมากที่สุดชนิดหนึ่งของโลก ใครจะหาว่าเป็นจระเข้ปล่อย จระเข้หลุด ผมไม่สน ผมได้เห็นมันมาแล้วกับตา ตัวมันใหญ่มาก ถ้าใครจะปล่อยจระเข้มาหลอกกันคงไม่บ้าหรือโง่หรือลงทุนไปซื้อตัวใหญ่ขนาดนี้มาปล่อย ผมได้คุยกับชาวบ้านเป็นสิบคน มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับจระเข้เก่าๆในพื้นที่มากมาย มีหัวกะโหลก มีศาลจระเข้ ผมเชื่อว่ามันคือจระเข้ป่า และผมเชื่อชาวบ้านว่ามีมากกว่า 1 ตัวที่ผมเจอด้วย 

จระเข้ขนาดใหญ่ที่พบในซอกหินริมคลองชมพู
 

ไม่มีใครบอกให้ชัดเจนได้ ว่าเขื่อนคลองชมพู จะส่งผลกระทบอย่างไรกับ ปลาถ้ำ ตุ๊กกาย ปลาขยุย หรือ จระเข้สัตว์เหล่านี้อาจจะสูญพันธุ์ หลายคนอาจจะไม่สนใจบอกว่าสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ไม่มีประโยชน์ในการดำเนินชีวิตประจำวัน ผมจะไม่บอกซ้ำว่านี่คือต้นทุนความหลากหลายทางชีวภาพที่ประเทศไทยมีมากมายกว่าชาติอื่น ผมจะไม่บอกว่าเราควรจะรักษาพวกมันไว้ให้คนรุ่นหลัง ว่าเราไม่มีสิทธิ์ไปตัดสินว่าสิ่งมีชีวิตไหนมีประโยชน์และสมควรอยู่ต่อไป และสิ่งมีชีวิตไหนไร้ประโยชน์และตายๆไปเสียได้ก็ช่างมัน เราก็เป็นแค่สิ่งมีชีวิตอีกชนิดเท่านั้น ผมแค่จะบอกคุณว่าพวกมันอยู่ตรงนั้น และมันอาจจะได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนคลองชมพู
 
ผมมีเรื่องบอกคุณเท่านี้ และที่เหลือคุณก็ตัดสินใจเอาเองเถิด 

ข้อมูลเขื่อนคลองชมพู
          ที่ตั้งโครงการ         : ต.ชมพู อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก
          พิกัดโครงการ         : 47 QPU 830451 ระวาง 5142-III
          พื้นที่รับน้ำฝน         : 342.50 ตร. กม.
          ปริมาณน้ำท่า         : 150  ล้าน ลบ.ม./ ปี 
          ปริมาณน้ำนองสูงสุด : 690 ลบ.ม./วินาที
          หัวงาน                 : เขื่อนดิน กว้าง 10 เมตร ยาว 1,100 เมตร สูง 49.50 เมตร
          ระบบส่งน้ำ            : 103,800 ไร่ (ฤดูฝน 103,800 ฤดูแล้ง 17,600) รายละเอียดดังนี้
                                     - 35,500 ไร่ พื้นที่ชลประทานตอนบน (ก่อสร้างระบบใหม่)
                                     - 1,800 ไร่ พื้นที่ตั้งถิ่นฐานใหม่
                                     - 53,000 ไร่ พื้นที่โครงการวัดตายม และพื้นที่ท้ายโครงการ 13,500 ไร่
          ความจุเก็บกัก         : 86.26 ล้าน ลบ.ม.
          ความจุใช้งาน         : 84.40 ล้าน ลบ.ม.
          ราคาค่าก่อสร้าง       :1,302.71 ล้านบาท รายละเอียดดังนี้
                                      -เขื่อนและอาคารประกอบ              655.87 ล้านบาท 
                                      -ระบบส่งน้ำ                              400.85 ล้านบาท
                                      -ระบบระบายน้ำและป้องกันอุทกภัย  245.99 ล้านบาท

ข้อมูลล่าสุดของโครงการดังกล่าวเท่าที่หาพบสามารถd/l ได้ด้านล่างครับ
http://www.siamensis.org/document/35506

 
“เรามันคนบ้านป่า ต้องอยู่กับธรรมชาติ พึ่งพาธรรมชาติ เราเชื่อว่าถ้าจระเข้มันอยู่ได้ เราก็อยู่ได้ ถ้ามันอยู่ไม่ได้
ก็หมายความว่าบ้านเราไม่มีความอุดมสมบูรณ์เหลืออยู่แล้ว เมื่อนั้นเราก็อยู่ไม่ได้เหมือนกัน”

ชาวบ้านคลองชมพู

รายงานการพบรังจระเข้ที่คลองชมภู เดือนมิถุนายน 2555
http://www.siamensis.org/webboard/topic/35760#comment-35843

 

Comments

ความคิดเห็น

ความเห็นที่ 1

เปิดมาแล้วสะดุดตากับคำว่า "ดร.นณณ์" เหอๆ  ^^

ความเห็นที่ 2

yes

ความเห็นที่ 3

ผีตัวนี้น่ากลัวไม่แพ้ตัวอื่นๆเลยแฮะ รัฐบาลขยันปลุกผีกันจริงๆเลยวุ้ย
ขอบคุณสำหรับข้อมูลดีๆครับ

ความเห็นที่ 4

จะช่วยยับยั้งมันได้อย่างไรคะ

ความเห็นที่ 5

จะเป็นอีกหึ่งเสียงที่คัดค้าน

ความเห็นที่ 6

พอมีข่าวการสร้างเขื่อนทีไร ผมจะนึกถึงหนังเรื่องอวตาร (avatar) ทุกที สิ่งมีชีวิตในป่า ไม่เหมือนชาวเผ่านาวีที่จะหยิบจับอาวุธสู้ได้ การสร้างเขื่อนในป่าเป็นการทำลายแหล่งเ็ก็บคาร์บอนที่ำสำคัญของโลก ซึ่งจะช่วยลดโลกร้อน ปัญหาที่พวกเราทุกคนกำลังเผชิญกันอยู่ ขณะที่การสร้างเขื่อนเืพื่อหาทางป้องกันนำ้ท่วม ซึ่งเกิดจากโลกร้อนเป็นต้นเหตุ แต่การสร้างเขื่อนต้องทำลายป่าที่ช่วยลดโลกร้อน ซึ่งมีเป็นสาเหตุที่ทำให้น้ำท่วม ผมไม่แน่ใจว่าตรรกกะมันแปลก อีกอย่างการมีเขื่อนเราจะมีอะไรรับรองว่าน้ำจะไม่ท่วมอีก แล้วมันจะคุ้มค่ากับธรรมชาติ และสิ่งมีชีวิตในป่าที่จะสญเสียไป

ความเห็นที่ 7

yes

ความเห็นที่ 8

โดนใจมากๆ ครับพี่นนณ์ 

ความเห็นที่ 9

ขออนุญาต เผยแพร่นะครับ 

ความเห็นที่ 10

ผมเป็นคนหนึ่งที่อาศัยลำน้ำคลองชมพูมาตั้งแต่เกิด บ้านผมอยู่ริมน้ำและเติบโตกับลำน้ำสายนี้ เพิ่งห่าง
จากมาเมื่อระยะหลังนี้เอง
ตอนเด็กๆ มีน้ำท่วมเกือบทุกปี พวกเราชอบให้น้ำท่วม เพราะมีน้ำมาให้เล่นถึงถนนหน้าบ้าน ไม่เกินวัน น้ำก็ลด ทิ้งดินโคลนเกาะใบไม้ และทับอยู่บนที่ดินหนาเป็นคืบ เราอาศัยดินนี้ ปลูกผักในฤดูหนาว ไม่เคยใส่ปุ๋ย เพราะยังไม่ทันมี 
การทำลายป่า การขยายที่ทำกิน การใช้รถไถ การใช้สารเคมีการเกษตร ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมาย น้ำแห้งขอดในหน้าแล้ง หน้าฝนน้ำขุ่นข้นด้วยตะกอนดิน สัตว์น้ำลดลง มีโรคระบาด
แต่เรายังอุ่นใจว่า ที่ป่าต้นน้ำ ยังมีน้ำ มีป่า คอยรักษาสมดุล และส่งน้ำมาให้เราทุกปี
ได้ยินเรื่องสร้างเขื่อนมานาน นึกไม่ถึงว่า จะจู่โจมสร้างในรัฐบาลนี้
ทำอะไรไม่ถูกเลยครับ
รู้แต่ว่า ไม่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อนๆนี้
ป่าต้นน้ำบริเวณสร้างเขื่อนอุดมสมบูรณ์มาก แม้จะถูกรุกล้ำมากแล้วก็ตาม ผมเคยพบฝูงช้างป่า ที่เดินทางมาเพื่อกินเกลือที่ลำน้ำนี้ จากทั่วเขตอุทยานฯ เช่น จากเขาปู่ จากทุ่งแสลงหลวง
นอกจากช้าง ยังมีสัตว์ป่าอย่างกระทิง ควายป่า กวาง เก้ง เลียงผา สัตซเลื้อยคลานต่างๆ ไก่ป่า นกยูง นกหว้า นก นกค้อ(นกม่อง)ฯลฯ
นึกถึงป่าสักตรงบริเวณจะสร้างเขื่อน
นึกถึงผักหวาน หน่อไม้ ผักกูด ผักหนาม เถาอีนูนฯลฯ
นึกถึงน้ำผึ้งเดือนห้า 
นึกถึงฝูงปลากินตะไครน้ำ
นึกถึงบ่อเกลือ ที่วังปืน
ฯลฯ
คิดสารตะแล้ว ผมไม่เอาเขื่อนดีกว่า
ใครจะช่วยพวกเราได้ หนอ..

ความเห็นที่ 10.1

เราช่วยกันครับ รอให้มาจริงๆก่อน ค่อยไปลุยกัน ตอนนี้หน้าด่านคือแม่วงก์ ถ้าแม่วงก์ไม่หลุด เขื่อนในป่าพวกนี้คงยังไม่กล้าออกมา ตอนนี้ภาคประชาชนต้องเข้มแข็งครับ มีโอกาสอยากจะคุยเพิ่มเติมครับ

ความเห็นที่ 11

เช้าวันนี้มีรายงานว่าชาวบ้านพบรังของจระเข้ที่ริมน้ำคลองชมพูครับ 

ความเห็นที่ 12

ได้ความรู้ใหม่อีกมากเลยค่ะ  เสียดายการให้ข้อมูลเกี่ยวกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจำกัดมาก คนท้องถิ่นรอบๆๆบริเวณริมคลองชมพูควรได้รับรู้ สิ่งที่มีประโยชน์มากมายมหาศาลไกล้ๆตัว  และขยายวงกว้างให้ความรู้แ่ก่เยาวชนและประชาชนทั่วไป ได้รับรู้  ว่าพื้นที่แห่งนี้คือสมบัติของชาติที่ธรรมชาติสร้างมาให้อย่างสมบูรณ์  และจะได้หาทางป้องกันรักษาไว้  ให้คนรุ่นหลังต่อไป 

ความเห็นที่ 13

จระเข้มีจริงนะคับ...ผมคน ต.ชมพู ขอบอกว่ามีจริง