ในน้ำมี......?

เรื่อง/ภาพ:นณณ์ ผาณิตวงศ์ / ภวพล ศุภนันทนานนท์  
 
ปลาเป็นสัตว์ที่น่าสงสารอย่างหนึ่ง เพราะคนทั่วไปมักจะมองว่ามันไม่น่ารัก ทั้งยังอาศัยอยู่ในน้ำ ที่ลึกบ้าง ขุ่นบ้าง มองไม่เห็นตัวบ้าง ทำให้เป็นเรื่องยากสำหรับผู้ที่สนใจจะศึกษา ปลาจึงเป็นสัตว์ที่ถูกมองข้ามเสมอ เป็นแบบนี้ ‘บ้าน’ ของพวกมันอย่าง แม่น้ำ ลำคลอง ห้วย หนอง บึง และลำธาร ก็เลยถูกสัตว์ที่มีอำนาจเหนือกว่าอย่างมนุษย์ชาวไทยมองเห็นเป็นเพียงท่อระบายน้ำ นึกจะขุดก็ขุด จะถมก็ถม จะกั้นก็กั้น จะทำอะไรก็ทำ ไม่เคยมองเลยว่าระบบนิเวศที่แสนจะเปราะบางเหล่านี้เป็นบ้านของสิ่งมีชีวิตและได้เป็นแหล่งผลิตอาหารมาให้เราชาวสยามแต่ครั้งโบราณ  

แม่น้ำสาละวิน เป็นแม่น้ำสายใหญ่สายสุดท้ายในภูมิภาคที่ยังไม่โดนกั้นลำน้ำสายหลัก


ปลาน้ำจืดในประเทศไทยมีจำนวนเกือบ 600 ชนิด อาศัยอยู่ตั้งแต่ต้นน้ำบนยอดเขาสูงจนถึงปากแม่น้ำใหญ่ ลำธารน้ำใต้ถ้ำ ไปจนถึงป่าพรุที่มีน้ำเป็นกรด หรือแม้แต่ในบ่อน้ำร้อนที่เอาเท้าจุ่มลงไปได้ไม่เท่าไหร่ก็ต้องเอาขึ้นมาก็ยังมีปลาอาศัยอยู่ได้

ประเทศไทยของเรายังเป็นบ้านของปลาที่มีขนาดเล็กติดลำดับโลก เช่น ‘ปลาซิวแคระแม่น้ำโขง’และ ‘ปลาข้าวสารจิ๋ว’ในขณะเดียวกันก็มีปลายักษ์หนักหลายร้อยกิโลกรัมอย่าง ‘ปลาบึก’‘ปลากระโห้’และ ‘ปลากระเบนราหู’แหวกว่ายอยู่ตามแม่น้ำสายใหญ่ๆ เรามีปลาที่มีสีสันสวยงามเป็นที่นิยมเลี้ยงไปทั่วโลกอย่าง ‘ปลาทรงเครื่อง’ และ ‘ซิวข้างขวาน’และยังมีรายงานการค้นพบปลาชนิดใหม่ๆเพิ่มขึ้นอีกเรื่อยๆอย่างไม่รู้จักหมดสิ้น


ภาพขนาดเท่าตัวจริงของปลาซิวแคระแม่น้ำโขง


ปลาบึกขนาดใหญ่ที่สุดตัวหนึ่งที่เคยจับได้ ภาพปรากฏตามสื่อต่้างๆมากมาย

 
แต่น่าแปลกที่คนไทยส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้จักปลาท้องถิ่นของไทยกันสักเท่าไหร่ เด็กๆในยุคนี้ไม่เคยลิ้มรสหวานฉ่ำของ ‘ปลาเสือตอ’ ปลาชื่อดังจากบึงบอระเพ็ดเพราะปลาชนิดนี้แทบจะสูญพันธุ์ไปจากเมืองไทยแล้ว พวกเขาไม่เคยลิ้มรสน้ำปลาดีที่ทำจาก ‘ปลาสร้อย’ อย่างที่มีบันทึกไว้ในเรื่องเล่าของคนสมัยเก่า น้อยคนจะรู้ว่า ‘ปลาหมอโคว้’ นั้นอร่อยผิดกันลิบลับจาก ‘ปลานิล’ กลับกลายเป็นว่าเราพอใจที่จะกินปลาทับทิม ปลาดุกบิ๊กอุย หรือปลากะพงขาวที่ถูกเลี้ยงกันเป็นอุตสาหกรรมเพียงเพราะว่ามันง่าย และปล่อยให้ปลาไทยท้องถิ่นที่มีคุณค่านับอนันต์ค่อยๆลดจำนวนลงและสูญพันธุ์ไปพร้อมๆกับภูมิปัญญาที่สืบต่อมาจากบรรพบุรุษผ่านทางตำราอาหารและวิถีการใช้ชีวิตที่เกี่ยวพันกับธรรมชาติอย่างหลีกเลี่ยงกันไม่ได้

ยังจำได้ดี เมื่อหลายปีก่อน เพื่อนคนหนึ่งกลับไปเยี่ยมบ้านที่จ.นครสวรรค์ คุณแม่ดีใจที่ลูกกลับมาเยี่ยมบ้าน นำปลาหน้าตาแปลกประหลาดไม่เคยเห็นมาก่อนชนิดหนึ่งมาทำอาหารเลี้ยงลูกได้อร่อยจับใจ แม่เค้าบอกว่ามันชื่อ ‘ปลาแป้นแก้ว’ หรือบางทีก็เรียกกันว่า ‘ข้าวเม่า’ เจอเยอะก็หน้านี้เท่านั้น เพื่อนผมตื่นเต้นมาก ถ่ายภาพปลามาให้ดูนึกว่าเป็นปลาชนิดใหม่ ทั้งๆที่จริงๆแล้วมันก็เป็นปลาที่ไม่ได้หายากมาก อุทาหรณ์ของเรื่องคือ เพียงแค่หนึ่งชั่วอายุคนเท่านั้นเอง ที่ภูมิปัญญาเรื่องปลาน้ำจืดของไทยกำลังสูญหายไป คุณแม่ของเพื่อน ไม่ได้เพียงรู้จักปลา ท่านรู้ถึงสองชื่อ รู้ว่ามันมีมากฤดูไหนและทำอะไรอร่อย นี่คือสิ่งที่น่าเสียดาย

นกที่บินอยู่บนฟ้า หลายคนมองว่ามีอิสรเสรี นึกอยากจะบินไปที่ไหนก็ไปได้ แต่ในความเป็นจริง นกไม่ได้บินร่อนเล่นไปทั่ว นกทุกชนิดมีอาณาเขตหากินที่แน่นอน มีเส้นทางการบินที่แน่นอน มันไม่ได้บินเล่นท่องเที่ยวตามใจนึกอย่างที่เราจินตนาการ ปลาก็เช่นกัน ด้วยความที่บ้านเรามีความหลากหลายทางชีวภาพมาก ปลาแต่ละชนิดจึงปรับตัวและวิวัฒนาการให้เข้ากับแหล่งอาศัยเป็นหลัก ไม่น่าแปลกใจที่พวกมันต่างก็มีความต้องการที่เฉพาะเจาะจงแตกต่างกันออกไป บางชนิดหากินอยู่เฉพาะบริเวณแก่งที่เป็นลานหิน บ้างก็ชอบลานทราย หรือบ้างก็ชอบวังน้ำลึกเท่านั้น พวกที่อยู่ในวังน้ำลึกยังแบ่งกันอีก ว่าบางชนิดก็อยู่ผิวน้ำ บางชนิดอยู่ที่หน้าดิน ไม่ว่ายออกมาหากินนอกบริเวณอย่างที่หลายคนเข้าใจ แม้จะมีน้ำให้พวกมันสามารถเคลื่อนตัวได้อย่างเสรีก็ตาม


ปลาผีเสื้อถ้ำ เป็นหนึ่งในปลาที่มีถิ่นอาศัยเฉพาะที่สุดในโลก พบอาศัยอยู่ตามแก่งในถ้ำเพียงไม่กี่แห่งในจ.แม่ฮ่องสอน


ในสังคมของมนุษย์นั้น ผู้คนแต่ละอาชีพต่างก็มีความสำคัญทัดเทียมกัน ช่างตัดผม ช่างซ่อมรถ แม่ครัว เกษตรกร ฯลฯ ต่างก็มีความสำคัญและคุณค่าไม่น้อยไปกว่ากัน เราต้องการ ‘ความหลากหลาย’ เพื่อสร้างสังคมที่สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุข เช่นเดียวกันกับระบบนิเวศในน้ำ ปลาแต่ละชนิดต่างก็มีวิธีการหากินที่ต่างกัน แต่ละตัวต่างก็ไม่ทับซ้อน ไม่ก้าวก่ายหน้าที่ซึ่งกันและกัน พวกมันมีบทบาทในการสร้าง ควบคุม ทรัพยากรในน้ำที่ชัดเจน และจำเป็นต้องมีครบสมบูรณ์ระบบนิเวศจึงจะอยู่รอดได้อย่างที่เคยเป็นมานานนับล้านปี

ไม่เพียงเท่านั้น ปลาในแหล่งน้ำบ้านเราแต่ละแหล่งนั้นก็ไม่ได้เหมือนกันเสียทีเดียว เพราะถูกแยกสายการวิวัฒนาการกันมาเป็นเวลาหลายล้านปี ดังนั้นแม้ว่าปลาบางกลุ่มจะมีอยู่ทุกแม่น้ำ แต่ก็มีความต่างกันในระดับชนิด เช่น ปลาสวายที่แม่น้ำโขงกับสาละวิน ก็เป็นปลาคนละชนิดกัน ปลาค้อที่ต้นแม่น้ำน่านกับแม่น้ำแม่กลอง ก็เป็นคนละชนิดกัน  ปลาทางใต้ของประเทศไทยเป็นปลาที่อยู่เหนือสุดของการกระจายพันธุ์ของปลาจากแหลมมลายู ในขณะที่ทางเหนือปลาหลายชนิดเป็นพวกที่อยู่ใต้สุดของบรรดาปลาที่กระจายลงมาจากเทือกเขาหิมาลัย และด้วยภูมิศาสตร์ที่หลากหลายนี่เอง ที่ทำให้แต่ละซอกมุมของประเทศไทยมีปลาเฉพาะถิ่นที่ไม่พบที่อื่นใดในโลกอยู่มากมาย

และปีนี้ (พ.ศ. 2555) เองที่งบประมาณ “พัฒนาแหล่งน้ำ” ถูกแจกจ่ายออกไปทั่วประเทศ โดยมีเหตุหลักเพื่อป้องกันน้ำท่วมน้ำแล้ง เราเริ่มเห็นการสร้างฝาย ขุดห้วย แหวกแม่น้ำ กันโดยทั่วไป โดยที่ผู้คนต่างก็หลงลืมว่านั่นคือ “บ้าน” ของสัตว์น้ำนานาพันธุ์ การขุดแก่งในลำห้วยจึงเป็นการทำลายปลาที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นในทางอ้อม การสร้างฝายสร้างประตูน้ำกีดขวางการอพยพของปลาและสัตว์น้ำต่างๆในฤดูผสมพันธุ์ การผันน้ำข้ามลุ่มน้ำ เช่นโครงการผันน้ำสาละวินมาลงลุ่มเจ้าพระยา จะทำให้ปลาที่แยกสายวิวัฒนาการกันมาเป็นล้านปี ต้องมาแก่งแย่งต่อสู้กันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้



ประตูน้ำสะพานจันทร์ สร้างกั้นแม่น้ำยม กีดขวางการอพยพของปลาในฤดูผสมพันธุ์ (ภาพ:กลุ่มป่าสักทอง ต้านเขื่อนแก่งเสือต้น)


ไม่ใช่ว่าห้ามพัฒนา ไม่ใช่ว่ารักปลามากกว่าเพื่อนร่วมชาติ แต่การพัฒนาที่ทำลายสมดุลของระบบนิเวศไม่ใช่การพัฒนาที่ยั่งยืน หากแต่เปรียบเสมือนการฆ่าตัวตายผ่อนส่ง ฝายเป็นสิ่งที่สามารถสร้างได้ในพื้นที่ที่เหมาะสม ในแบบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น มีช่องให้ปลาโจน มีทางลาดให้ปูและกุ้งไต่ข้ามไป คลองที่ตื้นเขินขุดได้ในตำแหน่งและรูปแบบที่ไม่ต่างจากของเดิมนัก การกักเก็บน้ำไม่ควรทำโดยการขุดหรือดัดแปลงแหล่งน้ำธรรมชาติ แต่สร้างแหล่งน้ำใหม่ ขุดบ่อแยกออกจากเส้นทางน้ำเดิม ทางเลือกของการกักเก็บน้ำมีมากกว่าการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ เช่น การขุดบ่อน้ำในที่ดินส่วนตัว นอกจากมีที่กักเก็บ และสามารถจัดการน้ำได้ด้วยตนเองแล้ว พื้นที่เหล่านี้ยังจะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำและเป็นแหล่งโปรตีนซึ่งตรงตามหลักการเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอีกด้วย นับว่าทางเลือกของเรายังมีอีกมาก แต่ก็ต้องศึกษาและเข้าใจให้ถ้วนถี่ก่อนจะตัดสินใจลงมือทำ


ปลาไม่ได้น่ารักอย่างหมีแพนด้า ไม่ได้ตัวใหญ่เป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองเหมือนช้าง แต่หวังว่าคงจะไม่มีใครปฏิเสธว่าปลาเป็นแหล่งโปรตีนที่สำคัญ หล่อเลี้ยงคนไทยที่อาศัยก่อบ้านสร้างเมืองอยู่ริมแม่น้ำมาทุกยุคทุกสมัย  จนเขาว่ากันว่า ‘เมืองไทยนั้นดี ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว’ ขออย่าให้สิ่งที่บรรพบุรุษของเราช่วยกันรักษาไว้มาสูญสิ้นเผ่าพันธุ์ในยุคนี้เลยครับ

Comments

ความคิดเห็น

ความเห็นที่ 1

รักน้ำ รักปลา heart

ความเห็นที่ 2

มาเจิม


เดียวนี้ เขียนบทความได้ดึงดูดอารมณ์มากเลยพี่

ความเห็นที่ 3

เป็นข้อมูลที่ทุกฝ่ายควรได้รับรู้และใส่ใจ

ความเห็นที่ 4

คนไทยส่วนใหญ่ไม่รู้จักปลาท้องถิ่น ไม่เห็นว่าน่าแปลกใจอะไร คนเขียนบทความต่างหากทำไมเข้าใจไม่ได้เรื่องนี้ ธรรมดามาก คนที่รู้จักปลาท้องถิ่นต่างหากที่ผิดปกติในสังคมขณะนี้..."แต่น่าแปลกที่คนไทยส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้จักปลาท้องถิ่นของไทยกันสักเท่าไหร่ "เป็นประโยคที่แสดงการตำหนิ มากกว่าจะแสดงการวิเคราะห์ ซึ่งไม่รู้ว่าเขียนมาด้วยความเข้าใจนัยยะหรือเปล่า

ความเห็นที่ 4.1

มันเป็นสำนวนในการเขียนอย่างหนึ่งครับ แหม! "เข้าใจ" ครับว่าทำไมถึงไม่รู้จักปลาท้องถิ่นกัน ทุกวันนี้เราตีตัวออกห่างธรรมชาติกันมากๆ ผมเชื่อว่าคนเมืองรู้จัก ปลาดุก ปลาช่อน ปลานิล และ ปลาอีกไม่กี่ชนิดเท่านั้น ในขณะที่ชาวบ้านที่อยู่กับน้ำรู้จักปลามากมาย แต่ด้วยความที่แหล่งน้ำจืดในบ้านเรามันเสื่อมโทรมลงทุกวัน คนเหล่านี้ก็เหลือน้อยลงทุกวัน 

ความเห็นที่ 4.2

จากที่อ่านเอง รู้สึกว่าผู้เขียนต้องการชี้ชวนให้เรากลับมาเห็นคุณค่าของปลาท้องถิ่นมากกว่านะคะ
เจตนาไม่น่าจะใช่การตำหนิอะไร

การเขียนโดยใช้สำนวนเชิงล้อกับความรู้สึกผู้อ่าน ไม่ใช่สำนวนวิชาการ
อาจตีความได้สองแง่สองง่าม เนื่องจากบทความเป็นตัวหนังสือ ไม่ใช่บทให้สัมภาษณ์แบบคลิปวิดิโอ
ผู้อ่านเองอาจจะตีความไปได้หลายแบบ
ความรู้สึกที่ได้จากการอ่าน ก็คงเป็นความรู้สึกที่ผ่านการตีความของผู้อ่านเช่นกัน

เว็บไซต์นี้จัดตั้งขึ้นมาอย่างไม่แสวงหาผลกำไรค่ะ
มีเจตนาเพื่อให้ความรู้ เป็นแหล่งข้อมูล เกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตต่างๆในธรรมชาติ
รวมถึงชี้ชวนให้เราอย่าหลงลืมธรรมชาติ มีสำนึกที่ดีต่อธรรมชาติที่่เป็น "ผู้ให้" ทรัพยากรต่างๆ ให้มนุษย์อย่างเราๆมีกินมีใช้ อยู่กันอย่างสบาย ให้ธรรมชาติยังคงมีความหลากหลายในสมดุลของมันต่อๆไป

สมาชิกและผู้เยี่ยมชมทุกคนมีสิทธิแสดงความเห็นค่ะ และน่าจะเป็นสิ่งดีถ้าทุกคนเคารพในความคิดเห็นซึ่งกันและกัน การไม่มองว่าใครผิดหรือถูำกเป็นการเปิดกว้างอิสระทางความคิดนะคะ :)

ความเห็นที่ 4.3

ผมว่าคนที่ไม่เข้าใจสิ่งที่ผู้เขียนต้องการสื่อน่ะท่านเองตะหากwink

ความเห็นที่ 5

ขอบคุณมากค่ะที่ทำให้ได้รู้จักปลาพื้นถิ่นของไทยอีกตั้งหลายอย่าง. แล้วยังทำให้รำลึกถึงความหลังที่ลางเลือนไปนานแล้วว่าเรามีน้ำปลาดีจากปลาสร้อยที่แสนอร่อย จำได้ว่าช่วงนึงที่น้ำหลากมา ไม่มีใครเกลียดกลัวน้ำเหมือนสมัยนี้ เพราะเวลาน้ำในลำคลองเปลี่ยนสีเรามักจะมีอาหารอันโอชะไว้กินด้วย_ขอบคุณสำหรับข้อมูลและความรู้. ขอแบ่งปันเผื่อคนอื่นๆด้วยนะคะ

ความเห็นที่ 6

ขอบคุณสำหรับบทความดีๆ ครับsmiley

ความเห็นที่ 7

มันไม่ใช่เฉพาะแต่ปลาหรอกครับคุณนณณ์ ภูมิปัญญาหลายอย่างที่บรรพบุรุษชาวไทยได้สั่งสมกันมาก็สูญหายไปมาก ไม่ต้องดูไกลแค่รุ่นผม กับรุ่นหลาน ความแตกต่างแค่สภาพการเลี้ยงดูและสภาพแวดล้อม มันก็ทำให้อะไรหลายๆ อย่างหายไป รุ่นผมไม่มีอินเตอร์เนต ในสวนที่บ้านมีนก มีหนู ลิงลม กระต่ายป่า ชะมด ผีเสื้อหลากชนิด เป็นเพื่อนเล่นแก้เหงา แต่ขณะที่รุ่นหลานอยู่บ้านหลังเดียวกันแต่ถูกเมืองรุกล้ำ สรรพสัตว์และสรรพต้นไม้หายไป มีแต่คนและคนและคน เต็มไปหมด เด็กก็มีโทรทัศน์ และอินเตอร์เนตให้เล่นแทนการออกไปสัมผัสกับธรรมชาติ ความเข้าใจในสรรพสิ่งรอบตัวของเด็กๆ ก็หายไป แต่พวกเขาก็เรียนรู้ชีวิตความเป็นเมืองได้เร็วกว่าผมมาก

วกกลับมาว่าคนไม่รู้จักปลาพื้นเมือง เมืื่อก่อนฤดูน้ำท่วมตอนผมเด็กๆ จะได้เห็นปลาตะโกก ปลายี่สก ปลาตะเพียน ตะพาก และปลาหลากหลายชนิดถูกจับมาขายกันเกลื่อนตลาด ที่บ้านตัวเองในร่องไร่อ้อย ก็มีปลาช่อน ปลาดุก ปลาหมอ ปลากระดี่ ปลาซิวหนวดยาว มาตกค้างให้จับกินกันได้ แต่ตอนนี้หลานผมรู้จักแค่ข่าวน้ำท่วมจากทีวี ในชีวิตเด็กพวกนี้ไม่เคยพบเคยเห็นว่าน้ำท่วมเป็นอย่างไร ปลาก็รู้จักแค่ปลาตะเพียน ปลานิล ปลาดุก ปลาทู ปลาแซลมอน และปลาซาบะ เพราะว่าตลาดมีขายอยู่แค่นั้น เป็นอย่างนี้แล้วเราจะไปโทษใครได้ครับ ในเมื่อโลกมันเปลี่ยนแปลงสังคมมันเปลี่ยนไป เราเท่านั้นแหละครับที่ต้องสอน ต้องพาให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ในสิ่งเหล่านี้บ้างนอกเหนือไปจากชีวิตหน้าจอคอม

ความเห็นที่ 8

เห็นด้วยกับพี่นณณ์ครับว่าการพัฒนาต่างๆที่จะมีผลกระทบต่อธรรมชาติควร  มีการศึกษาและหาวิถีทางที่จะรบกวนธรรมชาติให้น้อยที่สุด เพราะทุกชีวิตเขาก็มีสิทธิ์ที่จะอยู่บนโลกนี้เช่นเดียวกับเรา  และแถมยังมีประโยชน์ต่อเรามากมายอีกด้วยครับ

ความเห็นที่ 9

yes

ความเห็นที่ 10

yes

ความเห็นที่ 11

ฝายของญี่ปุ่นน่าสนใจดีนะครับ น่าจะมาพัฒนาให้เข้ากับลุ่มแม่น้ำบ้านเราได้นะ