9 เรื่องที่คุณควรรู้เกี่ยวกับเขื่อนแม่วงก์

เรียบเรียง: ดร. นณณ์ ผาณิตวงศ์ @ siamensis.org
ข้อมูลจาก: มูลนิธิสืบนาคะเสถียร และ มูลนิธิโลกสีเขียว
 
1.        ข้อมูลทั่วไป: เขื่อนแม่วงก์มีลักษณะเป็นเขื่อนหินทิ้งแกนดินเหนียวขนาดใหญ่ ความยาว 730 เมตร กว้าง 10 เมตร สูง 57 เมตร พื้นที่อ่างเก็บน้ำประมาณ 13,000 ไร่ อยู่ในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จ.กำแพงเพชรและจ.นครสวรรค์ปริมาณกักเก็บน้ำ 250 ล้านลูกบาศก์เมตร

449840.jpg
 
2.        ประมาณการค่าก่อสร้างของเขื่อนแม่วงก์เมื่อปี 2525 อยู่ที่ 3,761 ล้านบาท 2551 มีมูลค่า 7,000 ล้านบาท ในเว็บไซด์ของกรมชลประทานในวันที่ 31 สิงหาคม 2554 ระบุว่ามีมูลค่า 9,000 ล้านบาท แต่ เมื่อมีการอนุมัติงบประมาณ เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2555 มีมูลค่าก่อสร้างทั้งสิ้น 13,000 ล้านบาท (ตัวเลขการเพิ่มนี้ถ้าเทียบกับ ค่าเงินเฟ้อถือว่าอยู่ในระดับที่ยอมรับได้)
 
3.        ถึงแม้ว่าพื้นที่น้ำท่วมจะเป็นแค่ 2% ของพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ หรือ 0.12% ของป่าตะวันตกทั้งหมด แต่พื้นที่ตรงนี้เป็นป่าที่ราบต่ำริมน้ำซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญในการหากินและขยายพันธุ์ของสัตว์ป่าในฤดูแล้ง ในปัจจุบันประเทศไทยเหลือป่าในพื้นที่ราบอยู่น้อยมาก สัตว์ป่าบางชนิด เช่น นกยูง ไม่สามารถบินขึ้นไป อาศัยอยู่บนเขาได้อย่างที่นักการเมืองเข้าใจ แต่นกยูง ต้องการลานหิน ลานทราย ริมน้ำเพื่อการ ป้อตัวเมีย ไม่สามารถไปกางหางอวดในป่ารกทึบได้ จากการสอบถามเจ้าหน้าที่อุทยานฯพบว่าป่าที่นักการเมืองกล่าวอ้างว่าเป็นป่าใหม่มีอายุไม่ถึง 30 ปีมีอยู่เพียงไม่กี่พันไร่ แต่ป่าด้านใน เป็นป่าไม้ที่สมบูรณ์มาก ในการสร้างเขื่อน ต้องทำการตัดไม้ออกจากพื้นที่ให้มากที่สุดเพื่อป้องกันน้ำเน่าเสีย น่าสนใจว่าไม้ขนาดใหญ่ (ซึ่งรวมถึงต้นสักด้วย) จะตกเป็นผลประโยชน์ของใคร 

 PA040118.jpg
ภาพจาก: sky report

4.        การก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ จะทำให้สูญเสียพื้นที่ป่าไม้ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ไม่น้อยกว่า 13,000 ไร่ เป็นไม้ใหญ่ประมาณ 500,000 ต้น ซึ่งในจำนวนนี้มีไม้สักประมาณ 50,000 ต้น กล้าไม้อีก 10,000 ต้น หรือเปรียบ เทียบได้ว่าพื้นที่ป่า 1 ไร่ ที่จะถูกน้ำท่วมจะมีไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ 80 ต้นเป็น ไม้สัก 13 ต้น ลูกไม้ 576 ต้น และกล้าไม้อีก 1,880 ต้น จากการคำนวณพื้นที่ป่าที่จะสูญเสียไป จากการสร้างเขื่อนแม่วงก์ เมื่อคำนวณเป็น ปริมาณคาร์บอนที่ต้นไม้สามารถดูดซับไว้ได้นั้น หากมีการสร้างเขื่อนแม่วงก์ ประเทศไทยจะสูญเสียพื้นที่ที่ สามารถดูดซับคาร์บอนได้ประมาณ 10,400 ตันคาร์บอน ป่าแม่วงก์มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่อย่างน้อย 549 ชนิด และมีปลาอาศัยอยู่ในลำน้ำ 64 ชนิด (ใน EIA รายงานไว้ 61 แต่สำรวจเจอเพิ่มจากการลงพื้นที่อีก 3 ชนิด) ในจำนวนนี้มีเพียง 8 ชนิด หรือ 13% ที่สามารถผสมพันธุ์ในแหล่งน้ำนิ่งในอ่างเหนือเขื่อนได้นอกนั้นต้องอาศัยพื้นที่น้ำไหลหรือน้ำหลากซึ่งเกิดขึ้นตามธรรมชาติ
 
 




5.        จากเว็บไซด์ของกรมชลประทาน ลุ่มน้ำแม่วงก์มีพื้นที่รับน้ำฝน (water shed) 1,113 ตารางกิโลเมตร มีน้ำท่า 569 ล้าน ลูกบาศก์เมตร หรือมีน้ำ 0.52 ล้าน ลบ.ม./1 ตร.กม. ของพื้นที่รับน้ำ เมื่อเปรียบเทียบกับลุ่มน้ำทับเสลาซึ่งมีเขื่อนทับเสลาอยู่แล้ว ซึ่งมีพื้นที่รับน้ำฝน 534 ตร.กม. แต่มีน้ำท่า 124 ล้าน ลบ.ม. หรือมีน้ำ 0.23 ล้าน ลบ.ม./1 ตร.กม. ข้อสังเกตคือ พื้นที่ใกล้ๆกัน เขื่อนทับเสลาอยู่ทางใต้ของแม่วงก์เพียง 40 กม.ทำไมพื้นที่รับน้ำของเขื่อนแม่วงก์(ต่อตร.กม.)จึงมีน้ำมากกว่าพื้นที่รับน้ำของเขื่อนทับเสลาสองเท่ากว่าทั้งๆที่อยู่ในแนวเขาเดียวกัน ปริมาณฝนตกไม่น่าจะแตกต่างกันมากนัก ทั้งนี้ปีพ.ศ.2554 ซึ่งเป็นปีที่มีน้ำมาก เขื่อนทับเสลามีปริมาณน้ำในอ่างเพียง 49 ล้าน ลบ.ม. หรือ 31% ของความจุ และในปัจจุบัน ณ วันที่ 5 พค. 2555 ซึ่งเป็นปลายฤดูแล้งที่ควรจะมีการจัดส่งน้ำให้ทำการเกษตรในหน้าแล้ง ปรากฏว่ามีน้ำในอ่างที่ใช้การได้จริงเพียง 34 ล้าน ลบ.ม. หรือ 21% ของความจุเท่านั้น
ข้อมูลจาก: ศูนย์ประสานและติดตามสถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน (http://www.thaiwater.net/DATA/REPORT/php/rid_bigcm.html)

เขื่อนทับเสลา พค. 2555 (ภาพ: มูลนิธิสืบฯ)
 
 
6.        การช่วยบรรเทาน้ำท่วม: เขื่อนแม่วงก็มีอัตราการเก็บน้ำสูงสุดที่ 250 ล้าน ลบ.ม. ในขณะที่ปริมาณน้ำที่ท่วมภาคกลางเมื่อปลายปี 2554 มีถึง 16,000 ล้าน ลบ.ม. (ตัวเลขจาก ศปภ.) น้ำที่กักเก็บได้ทั้งหมดของเขื่อนแม่วงก์จึงคิดเป็นเพียงแค่ 2% ของปริมาณน้ำที่ท่วมที่ราบลุ่มภาคกลางในช่วงปลายปี 2554 หรือคิดเป็นปริมาณน้ำที่ไหลเข้าทุ่งเจ้าพระยาในช่วงที่น้ำไหลเข้ามากที่สุดเพียงแค่ ครึ่งวันกว่าเท่านั้น เช่นในวันที่ 21 ตค. 2554 ทีม กรุ๊ป ให้ข่าวว่าปริมาณน้ำที่ไหลเข้าสู่ทุ่งเจ้าพระยามีมากถึงวันละ 419 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนแม่วงก์จึงสามารถช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมภาคกลางได้น้อยมาก นอกจากนั้นแม้แต่พื้นที่ใกล้เคียง เช่น อ.ลาดยาว เขื่อนแม่วงก์ก็ช่วยเรื่องน้ำท่วมหลากได้เพียง 25% เนื่องจากน้ำที่ท่วมอ.ลาดยาวจริงๆแล้วมาจากหลายสาย และเป็นน้ำไหลบ่าจากทุ่ง ไม่ใช่จากน้ำแม่วงก์สายเดียว ทั้งนี้การบริหารจัดการเขื่อน ต้องคงเหลือน้ำไว้ในเขื่อนส่วนหนึ่ง จึงเป็นไปไม่ได้ที่เขื่อนแม่วงก์จะสามารถรับน้ำได้เต็ม 250 ล้าน ลบ.ม. ทุกปี
 

(ภาพ: มูลนิธิสืบฯ)

7.        รายงานการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม(EIA) ทั้ง 4 ครั้งตั้งแต่ปี 2538, 2541, 2545 และ 2547 ไม่เคยผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม ซึ่งระบุให้กรมชลประทานไปหาวิธีจัดการน้ำแบบบูรณาการมากกว่าสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม ส่วนรายงานการศึกษาฉบับที่กำลังทำอยู่ในปัจจุบัน มีมูลค่าวงเงินตามสัญญา ประมาณ 15 ล้านบาท ก็มีแนวโน้มไม่โปร่งใส เนื่องจากมีการลัดขั้นตอน ตัดลดจำนวนการลงพื้นที่สำรวจความหลากหลายทางชีวภาพบางรายการ นอกจากนั้นกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยังได้มีหนังสือด่วนที่สุดเมื่อวันที่ 23 มีค. 2555 ถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ให้ความเห็นว่าโครงการเขื่อนแม่วงก์ขัดต่อเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติและไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ ป่า และ พันธุ์พืช จะพิจารณาให้ดำเนินการได้

 
8.        กรมชลประทานระบุว่าเขื่อนแม่วงก์จะสามารถส่งน้ำให้กับพื้นที่ชลประทานในฤดูฝนได้ 291,900 ไร่ พื้นที่ในฤดูแล้ง 116,545 ไร่ จากการลงพื้นที่ ปรากฏว่าในฤดูฝน ชาวบ้านใช้น้ำฝนและน้ำหลากทุ่งในการทำการเกษตรอยู่แล้ว ไม่มีความจำเป็นต้องพึ่งน้ำจากเขื่อนแต่อย่างใด ประโยชน์ของน้ำชลประทานจากเขื่อนจึงเหลือแต่ในฤดูแล้ง ซึ่งจากการคำนวน โดยใช้สมมุติฐานว่า
8.1     ชาวบ้านปลูกข้าวได้                0.75 ตัน/ไร่
8.2     ขายข้าวได้ราคาปกติ               8,000 บาท/ตัน
8.3     ขายข้าวได้ราคาจำนำ(เฉลี่ย)   14,000 บาท/ตัน
8.4     มีต้นทุนการเพาะปลูก             3,000 บาท/ไร่
8.5     ชาวบ้านจะมีกำไร/ไร่              (0.75*8,000)-3,000 = 3,000 บาท/ไร่ (ราคาปกติ)
8.6     ชาวบ้านจะมีกำไร/ไร่              (0.75*14,000)-3,000 = 7,500 บาท/ไร่ (ราคาจำนำ)
8.7     ชาวบ้านในพื้นที่ชลประทานจะมีรายได้เพิ่มขึ้น = 116,545 (ไร่) * 3,000 = 349.64 ล้านบาท (ราคาปกติ)
8.8     ชาวบ้านในพื้นที่ชลประทานจะมีรายได้เพิ่มขึ้น = 116,545 (ไร่) * 7,500 = 874.09 ล้านบาท (ราคาจำนำ)
8.9     ทำให้โครงการมูลค่า 13,000,000,000 บาทมีระยะเวลาคืนทุน 37 ปี และ 15 ปี ตามลำดับ โดยยังไม่คิดถึงค่าใช้จ่ายในการดูแลและซ่อมบำรุงเขื่อนและระบบส่งน้ำ  ทั้งนี้การลงทุนทั่วไปควรมีระยะคืนทุนอยู่ระหว่าง 4-7 ปี และ 7-10 ปีในโครงการขนาดใหญ่ 
8.10  เขื่อนแม่วงก์จะมีค่า IRR ในกรณีข้าวราคาปกติที่ -5% ในระยะเวลา 20 ปี และ 3% ในระยะ 20 ปีที่ราคาจำนำ ทั้งนี้ในปัจจุบัน การลงทุนส่วนใหญ่ควรมีค่า IRR ในช่วงระยะเวลา 10 ปีอยู่ระหว่าง 5-10% จึงจะถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า (การคำนวนยังไม่ได้นำค่าใช้จ่ายในการดูและและซ่อมบำรุงเขื่อนและระบบส่งน้ำเข้ามารวม) 
หมายเหตุ: ตัวเลขจากกรมชลประทานระบุว่าจะเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรในพื้นที่ได้ประมาณ 720 ล้านบาท/ปี คิดเป็น ระยะเวลาคืนทุน 18 ปี IRR เมื่อ 20 ปี =1%

(ขยายความเรื่อง IRR: หมายถึง ผลตอบแทนการลงทุนของกระแสเงินชุดหนึ่ง ส่วนใหญ่แล้วเริ่มต้นด้วยงบลงทุน เป็นตัวเลขติดลบ ตามด้วยผลตอบแทนที่จะได้รับในแต่ละปี ในกรณีของเขื่อนแม่วงก์ ถ้าหากใช้ตัวเลขของกรมชลประทานว่าจะได้ผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มขึ้นปีละ 720 ล้านบาท/ปี โดยลบเงินลงทุนที่ 13,000 ล้านในปีแรก พบว่าในระยะเวลา 18 ปี ได้ผลตอบแทนเฉลี่ยเพียงปีละ 1% ทั้งนี้ในปัจจุบันดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ที่ประมาณ​ 2.5-3.5% จะเห็นว่าเงินลงทุนสร้างเขื่อนแม่วงก์ หากเอาไปฝากธนาคารไว้เฉยๆ ยังได้ผลตอบแทนคุ้มค่ากว่าประมาณ 2.5-3.5 เท่า) 

(หมายเหตุเพิ่มเติม: รัฐบาลบอกว่าโครงการนี้จะใช้เงินกู้ประมาณ 9,000 ล้านบาท ทั้งนี้ปัจจุบันอัตราพันธบัตรรัฐบาลอายุ 20 ปี ให้ผลตอบแทนประมาณ 5.5-6% ต่อปี ในขณะที่ผลตอบแทนของโครงการนี้ในระยะ 18 ปีอยูที่ 1% เท่านั้น ซึ่งหมายความว่าโครงการนี้เป็นโครงการลงทุนที่ไม่คุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์)  
 
9.        ผมโพล 7 สี ถามคนในจ.นครสวรรค์ว่าต้องการให้สร้างเขื่อนแม่วงก์หรือไม่ปรากฏว่ามี 22.7% ต้องการเขื่อน 32.5% ต้องการเขื่อนถ้าไม่มีผลกระทบโดยรวม และ 34.2% ไม่ต้องการเขื่อน ในขณะที่ 10% ไม่แน่ใจ แสดงให้เห็นว่า คนในพื้นที่เองส่วนใหญ่แล้วก็ยังไม่ต้องการเขื่อนเลยหรือไม่ต้องการถ้าส่งกระทบต่อส่วนรวม ทั้งนี้ป่าไม้ มิได้เป็นสมบัติของคนในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง แต่เป็นสมบัติของคนทั้งชาติ ที่มีการใช้ “บริการทางอ้อม” จากป่าไม้ร่วมกัน เช่นใช้เป็นแหล่งผลิตออกซิเจน แหล่งกักเก็บน้ำ แหล่งอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นต้น การจะทำลายป่าไม้จึงต้องคำนึงถึง “คนนอกพื้นที่” ด้วยว่าเห็นด้วยหรือไม่ 

Comments

ความคิดเห็น

ความเห็นที่ 1

เรียนคุณ วสันต์ ใจมุ่ง สิ่งที่ชาวลุ่มน้ำแม่วงก์เจออยู่ตอนนี้ คือปัญหาน้ำท่วมน่ะครับ น้ำแห้งน้ำแล้งไม่เท่าไหร่ครับ เรื่องการสร้างเขื่อนแม่วงก์ มีเปอร์เซ็นช่วยลดน้ำท่วม นี้คือความหวังของเรา

   ผมก็อยากรู้เหมือนกันว่า อ้อย 1000 ไร่ จะแช่อยู่ในน้ำได้นานกี่วัน ถ้าเกิน 15-30 วัน ก็ช่วยบอกผมด้วยน่ะ ฤดูฝนจะได้ปลูกอ้อย 1000 ไร่ แช่น้ำ แทนนาข้าวที่โดนน้ำท่วมทุกปี ถึงผมจะไมใช่เกษตกร แต่ผมก็เห็นความเปลี่ยนแปลง ก่อนน้ำท่วมและหลังน้ำท่วม ชาวบ้านที่แม่วงก์หวังรายได้ส่วนใหญ่ กับ พืช ผลการเกษตรที่เขาตั้งใจทำมา เมื่อน้ำมา ไร่นาก็ตายจากไปพร้อมน้ำ ถ้าอ้อย 1000 ไร่ ปลูกในพื้นที่นี้ได้จริง ชาวแม่วงก์คงปลูกกันไปนานแล้วครับ 


   
  

ความเห็นที่ 1.1

"ลุงอย่ามองว่าคนต้านเขื่อน รักแต่สัตว์ แต่ป่า ไม่เห็นใจชาวบ้านสิครับ"

(ตอบ)
ผมเคยบอกไว้ที่ไหนว่า ผมบอกอย่างนั้น ?

ความเห็นที่ 1.2

"ผมมองว่าโครงการนี้มันไม่ได้เป็นโครงการที่จะช่วยเหลือชาวบ้านได้จริงๆเลย และเป็นการใช้งบประมาณทั้งภาษีและเงินกู้สาธารณะอย่างไม่คุ้มค่าเอามากๆ"

(ตอบ)

ผมมองว่าโครงการนี้ช่วยเหลือชาวบ้านได้จริงๆ + คุ้มค่าเอามากๆ" (ไม่อย่างนั้น ผมจะไม่สนับสนุน)

ความเห็นที่ 1.2.1

ผมคำนวนความคุ้มค่าทางด้านชลประทานให้ลุงดูแล้ว ลุงไม่เห็นออกความเห็นเลยครับ คือเรากำลังพูดถึงเงิน 13,000 ล้านบาทนะครับ ไม่ใช่สี่ห้าพันบาท จะได้ใช้ความรู้สึก หรือการพูดคุยเป็นตัววัด โดยเฉพาะกับเงินที่กู้มาใช้เนี๊ย ตัวเลขตอนนี้คือสมมุติว่าลงทุนไป 100 บาท ได้คืนแค่ปีละ 1 บาทนะครับ (ค่าเฉลี่ย 18 ปี) เอาเงินไปฝากธนาคารตอนนี้ดอกเบี้ยต่ำๆ ยังได้ 3% แล้วเลยครับ เงินตรงนี้ เอาไปฝากธนาคารแล้วคอยเอาดอกไปแจกชาวบ้าน ยังได้มากกว่า 3 เท่าเลยครับ

ความเห็นที่ 1.2.1.1

ความคิดของคุณ เหมือนngoเลยนะ เริ่มพูด ก็คิดว่าชาวบ้านไม่ฉลาดสมมุติฐานผืดตั่งแต่เริมคิดเลยครับมีชาวบ้านตนใหนบ้างละครับว่าจะแบ่งเขื่อนเป็นเงิน เขามีความคิด เขามีศักดิ์ ของความเป็นคนอยากเป็น มนุษย์ ที่หมายความว่า เจริญทั้งร่างกายและจิตใจ นะครับ สิ่งที่คนหลุ่มน้ำแม่วงก์คิดคือ อนาคต วันนี้ และอนาคตลูกหลานวันหน้า พ.ศ 2529 ถึงวันนี้ ยังไม่มีใครคิดแบ่งเขื่อนแม่วงก์ เป็นเงินสด ตามที่ท่านผู้เจริญคิดเลยนะครับ ขอโทษ

ความเห็นที่ 1.2.2.1

มันคุ้มค่ายังไงครับ จากข้อมูลก็บอกอยู่แล้ว

ว่าจุดประสงค์ ที่จะสร้างเขื่อน เพื่อ ป้องกันน้ำ รองรับน้ำ ซึ่งก็ เห็นว่า รองรับน้ำไม่ได้จริงหรือได้แค่ 1% จาก ปริมาณน้ำที่ท่วมในเหตุการณ์น้ำท่วมกรุงเทพปี 2554

หรือจะแก้ปัญหาภัยแล้งให้เกษตรกร ซึ่ง ก็จะมีแค่ 30% ของเกษตรกร ได้รับผลพลอยได้จากตรงนี้ แล้วอีก 70% ล่ะครับ 

หรือจะเป็นเรื่อง ผลิตกระแสไฟฟ้าเหรอครับ (กระแสไฟฟ้า ที่ได้จากการเขื่อน มีเพียง 3% ของพลังงานกระแสไฟฟ้าทั้งหมดของประเทศไทยนะครับ สูงสุด 50 กว่าเปอเซ็นได้จากการผลิตกระแสไฟฟ้าจาก แก๊สนะครับ) แล้ว เขื่อนแม่วงก์ก็ไม่สามารถผลิตกระแสไฟได้นะครับ

***ทีนี้เรามาดูข้อเสียกันนะครับ 
ป่าหายไปนะครับ สัตว์ป่าหายากใกล้สูญพันธ์นะครับ แน่นอนได้รับผลกระทบแน่ๆ 
ป่าสักทองผืนสุดท้ายนะครับ (การสร้างเขื่อนต้องตัดไม้....แล้วไม้(ไม้สักนะครับ) ที่ตัดไปล่ะครับไปไหนครับ) เราๆจะได้หรือเสียครับ
แล้วเงินที่นำมาสร้างเขื่อน กู้นะครับกู้ ไม่ใช่เศษเงินหรือเงินทอนค่าก๊วยเตี๋ยวนะครับ 13000 ล้านกว่าบาทครับ กู้แปลว่าไรครับ เป็นหนี้ใช่ป่ะครับ!! เอาล่ะสิ แล้วหนี้ก้อนนี้ ตกที่ใครครับ?.....พวกเราๆคุณๆนี้ไงครับ กลายเป็นหนี้สาธารณะอีก เอาล่ะสิ!!

ทีนี้คุณ ธนพล สาระนาด ลองอธิบายขอดี ที่มากกว่าเสียให้ฟังได้ไหมครับ อย่างที่คุณบอกว่า"คุ้มค่าเอามากๆ" ผมมองไม่เห็นความคุ้มค่าจริงๆครับ ขอโทษด้วย
  

ความเห็นที่ 1.2.2.2

ตอบแทนนะครับ (จากลูกชาวนา)มีเขื่อนคุ้มอย่างไร หน้าแล้งเกษตรทำการทำนาในพื้นที่  100,000 ไร่ ในเขตลุ่มน้ำ แม่งก์ โดยใช้น้ำบาดาลต้นทุ่นน้ำ/ไร่ 800-1,200 บาทจะเป็นเงินประมาญ 100 ล้านบาท หากใช้น้ำชลประทาน ไร่ละ 120 บาท จะเป็นเงิน 12 ล้านบาทจะมีความต่างระหว่างน้ำบาดาล กับ น้ำชลประทาน 88 ล้านบาท หากมีระบบชลประทาน หากเป็นฤดูฝนจะมีเกษตรกรทำนาลุ่มน้ำแม่วงก์ ประมาญ 300,000 ไร่หากน้ำท่วมประมาญ 50% ประมาญ 150,000 ไร่เกษตรกรจะสูญเสืยข้าวที่ควรจะได้ไปประมาญไร่ละ 1 ตันโดยมีราคาตันละ 12,000 บาทในราคาปัจจุบัน 1,800 ล้านบาท และหากรัฐบาลชดเชยไร่ละ 2,000 บาทเป็นเงิน 300 ล้านบาท 1,800-300=1,500 ล้านบาท หากคำนวนตามนี้ ทั้งฤดูแล้งและฤดูน้ำ ชาวนาในเขตลุ่มน้ำแม่วงก์ก็จะได้เงินเพิ่ม ประมาณ 1,588 ล้านบาท/ปี และเงินจำนวนนี้ ก็จะไปช่วยความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ของเกษครกร ไม่่ว่าด้านการศึกษา และด้านสังคม เศรษฐกิจ ด้านการเมือง คุ้มมะ

ความเห็นที่ 1.3.2.2

เศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้หมายความว่ารวยแล้วทำไม่ได้ คนรวยก็ทำตามความพอเพียงได้ คนจนก็เดินตามพระราชดำริได้ เช่นกันความพอเพียงไม่ได้บอกว่าไม่ต้องมีเขื่อน ไม่อย่างนั้นจะมีเขื่ิอนในโครงการพระราชดำริ ได้อย่างไร อ่านให้ครบ แปลให้ถูกก่อนนำอ้าง และทำความเข้าใจไปให้ถึง แล้วศึกษาก่อนอ้าง นะครับ

ความเห็นที่ 1.2.2.1

ไม่เห็นพูดถึงเรื่อง ระบบนิเวศ เลยครับ

ความเห็นที่ 2.2.2

เขื่อนขุนด่านฯ คือทางออกของ เขื่อนเหวนรกครับ ได้ทำตามพระราชดำรัสแนะนำที่ในหลวงพระราชทานไว้ มีระบบนิเวศที่ต้องสูญเสียไปก็จริง แต่ก็ไม่ใช่ Critical Ecosystem มากนักจึงพอยอมรับกันได้ แต่เขื่อนแม่วง นี้อีกเรื่อง จากที่ระบบนิเวศแบบนั้นเหลือน้อยมากอยู่แล้วในไทย หรือทั้งภูมิภาค Indo-Burmese ก็ว่าได้ และผลได้ระยะยาวตามที่ นณณ์ สรุปจากข้อมูลที่มีการเผยแพร่อยู่แล้ว+การประเมิน ดุแล้วยังไงก็ไม่คุ้ม ถ้าเขื่อนคือคำตอบในการป้องกันน้ำท่วมจริง ปีที่แล้วเราคงไม่เห็นภาพน้ำท่วมดอนเมือง หลังจากฝนหยุดมาแล้วเป็นเดือน
การคิด พท.ป่าที่จะเสียไปของกรมชลฯ ได้รวมถึงขอบอ่างที่ต้องถางไม้ออกเป็นรัศมี ห่างจากขอบน้ำสูงสุดแล้วยัง???
อย่างไรก็ตาม ไม่เอาเขื่อนที่อยู่บนพื้นฐานความคิดแบบของ "การพัฒนาโดยการทำลาย"

ความเห็นที่ 2.2.2.1

"เขื่อนขุนด่านฯ แต่ก็ไม่ใช่ Critical Ecosystem  "...(ตอบ) เขื่อนแม่วงก์อยู่ชายขอบอุทยาน เช่นเดียวกับเขื่อนขุนด่าน ไม่ใช่ Critical Ecosystem"...เป็นป่ารุ่นสอง(secondary growth)หลังจากที่ชาวบ้านถูกอพยพออกไปเมื่อประมาณ 30 ปี มาแล้วครับ.

ความเห็นที่ 2.2.2.1.1

ป่าอายุ 30 ปีนี่ผมว่ามันนานแล้วเหมือนกันนะครับ! ข้อสำคัญ เจ้าหน้าที่บอกผมว่า ป่า 30 ปีมันแค่ด้านนอกไม่กี่พันไร่ ด้านในมันป่าดั้งเดิมสมบูรณ์ทั้งนั้น ภาพที่ลุงถ่ายไว้ในเว็บไซด์ของลุง คิดว่าคงแค่เดินๆอยู่แถวแก่งลานนกยูง ไม่ได้เดินเข้าไปด้านในลึกๆ คือผมก็ฟังเค้ามาอีกทีนะ อยากเดินเข้าไปดูให้เห็นกับตาเหมือนกันครับ

ความเห็นที่ 2.2.1.1.1

วันนี้ 30 ปี แต่อีก50-100 ปีข้างหน้ามันก็ 80-130 ปี ก็เกินครึ่งหนึ่งของป่าต้นน้ำ primary  forest แล้วครับ ถ้าคิดเรื่อง CO2 fixation คงช่วยได้หลายตันอยู่

ความเห็นที่ 2.2.2

"ถ้าเขื่อนคือคำตอบในการป้องกันน้ำท่วมจริง ปีที่แล้วเราคงไม่เห็นภาพน้ำท่วมดอนเมือง หลังจากฝนหยุดมาแล้วเป็นเดือน "...(ตอบ) โครงการเขื่อนแม่วงก์มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเกษตรกรรมในพื้นที่โครงการ 291,900 ไร่ ครับ ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันน้ำท่วมดอนเมือง

ความเห็นที่ 2.2.2.1

ยิ่งได้ไม่คุ้มเสียใหญ่เลยครับ ถ้าบอกว่าจะใช้แค่ทำการเกษตร ตัดเรื่องคุณค่าของผืนป่าออกไปเลยนะครับ โครงการนี้ลงทุน 13,000 ล้านบาท เพิ่มผลผลิตได้แค่ปีละ 720 ล้านบาท/ปี (ตัวเลขกรมชลฯ) คิดเร็วๆ เอา 13,000/720 ก็ตั้ง 18 ปีเข้าไปแล้วกว่าจะคืนทุน แล้วนี้เป็นเงินกู้เค้ามาลงทุนด้วย ดอกเบี้ยอีก ค่าดูแลอีก ดีไม่ดีปาไป 20 ปี โครงการแบบนี้ รัฐบาลที่มีนายกฯเป็นนักธุรกิจมีชื่อเสียงน่าจะคิดได้ง่ายๆครับว่าควรหรือไม่ควรทำ ลองคิดว่าเป็นเงินของครอบครัวท่านมาลงทุนโครงการลักษณะนี้ โดยมีความเสี่ยงเป็นดินฟ้าอากาศที่ควบคุมไม่ได้ด้วยนี่ อยากรู้เหมือนกันว่าครอบครัวท่านจะลงหรือเปล่า 

ความเห็นที่ 2.2.2.1.1

ถูกใจโคตรๆๆ

ความเห็นที่ 2.2.2.1.2

เห็นด้วยอย่างยิ่งกับวิธีคิดนี้ แล้วเรายังทำลายธรรมชาติเพื่อความต้องการอันไม่มีที่สิ้นสุด โดยลืมนึกถึงพืชและสัตว์รวมถึงมนุษย์คนอื่นๆที่ไม่ได้รับผลประโยชน์โดยตรงที่อยู่ร่วมโลกกับเรา

ความเห็นที่ 2.2.3

"การคิด พท.ป่าที่จะเสียไปของกรมชลฯ ได้รวมถึงขอบอ่างที่ต้องถางไม้ออกเป็นรัศมี ห่างจากขอบน้ำสูงสุดแล้วยัง???" ... (ตอบ) รวมแล้วครับ (เนื้อที่ป่า 12,300 ไร่)

ความเห็นที่ 2.2.4

"เขื่อนขุนด่านฯ คือทางออกของเขื่อนเหวนรกครับ "
(ตอบ)
เขื่อนแม่วงก์ ไม่มีทางเลือกที่ดีกว่าครับ จะย้ายไปที่เขาชนกัน ห่างออกไป 20-30 กม หรือก็มีชาวบ้านอยู่เต็มไปหมด รวม 2,100 ครอบครัว ที่ทำกิน 39,290 ไร่ บ้านเรือน 3,300 หลัง ... ก็จะถูกน้ำท่วมครับ.

ความเห็นที่ 2.2.4.1

ทางออกมีครับ สำหรับแม่วงก์ คือไม่สร้าง เก็บป่าไว้ แล้วพัฒนาระบบที่ปลายน้ำเอา อาจจะดูแพงกว่าต่อหน่วยของน้ำ?? แต่ผู้ได้ประโยชน์ต้องเป็นผู้มีส่วนรับภาระด้วย

ความเห็นที่ 2.2.4.1.1

1.คนในพื้นที่เขาเลือกทางออก คือ สร้างเขื่อนแม่วงก์ (ผมสนับสนุน)
2.พัฒนาระบบปลายน้ำคืออย่างไร ช่วยอธิบายด้วยครับ
3.แพงกว่าแค่ไหน ช่วยอธิบายด้วยครับ
4.ผู้ได้รับประโยชน์ต้องรับภาระแค่ไหน ช่วยอธิบายด้วยครับ

ความเห็นที่ 2.2.4.1.1.1

1.คนในพื้นที่เขาเลือกทางออก คือ สร้างเขื่อนแม่วงก์ (ผมสนับสนุน): ทางเลือกที่ 1 ไม่สร้างอะไรเลย(ใช้เท่าที่มี) B/C ratio = 0 ; ได้คิดค่า ecosystem service แล้วยังครับ

2.พัฒนาระบบปลายน้ำคืออย่างไร ช่วยอธิบายด้วยครับ; ก็ข้อนี้ไงครับ; สร้างฝายตามลำน้ำ+ขุดสระ +น้ำบาดาล
3.แพงกว่าแค่ไหน ช่วยอธิบายด้วยครับ ; คุณลุงมีคำตอบอยู่แล้วครับ
: ทางเลือกที่ 3 สร้างฝายตามลำน้ำ+ขุดสระ B/C ratio = 0.49
  ทางเลือกที่ 4 สร้างฝายตามลำน้ำ+น้ำบาดาล B/C ratio = 0.71

4.ผู้ได้รับประโยชน์ต้องรับภาระแค่ไหน ช่วยอธิบายด้วยครับ; คือน้ำอาจมีราคาแพงขึ้น หรือต้องปรับตัวกับการขาดน้ำตามฤดูการที่อาจเกิด  แต่ทรัพยากรธรรมชาติ ecosystem service (ของทุกๆคน กลุ่ม และโลก) ยังมีอยู่เดิม
 

ความเห็นที่ 2.2.4.1.2

งบประมาณ 13,000 ล้านบาทก็ส่วนหนึ่งของ 2 ล้าน ล้าน นะครับ ถ้า ห่วงเรื่่องภาระหนี้มวลรวมก็ให้นึกรวมยอด 2 ล้าน ล้าน ด้วยครับ ถ้าคิดว่่าไม่คุ้มแล้วอะไรละครับที่่คุ้ม รัฐลงทุน ต้องคำนึงถึง คำว่าคุ้มหรือไม่คุ้ม ถนน คุ้มมั้ยครับ รถไฟฟ้าคุ้มมั้ยครับ ไฟทางสาธารณะ ทางกับรถ ทางด่วน 30 บาทรักษาโรค คุ้มมั้ยครับ รถเมล์ รถไฟฟี คุ้มมั้ยครับ เบี้ยยังชีพคนสูงอายุ คุ้มใมั้ยครับ งั้นทุกโครงการที่ทำต้องคิดว่าคุ้มหรือไม่คุ้มหรือเปล่าครับ อ้อครับ เลี้ยงลูกหนึ่งคน มีค่าจ่าย ส่งให้เรียนมีค่าใช้จ่าย คุ้มมั้ยครับ แล้วคิดกันอย่งไร ใครเป็นคนคิด (รัฐทุุกรัฐ มีหน้าที่ บำบัดทุุกข์ บำรุงสุข) เช่นกันผมเคยคิดเหมื่อน รัฐครับ ว่าถ้าผมให้สิ่งที่ดีที่สุดกับลูกผมได้ เพื่ออนาคตของลูกผม ไม่ผิดกฎหมาย ไม่ทำให้สังคมเดือดร้อน(อย่าแกล้งเดือดร้อน) ยินดีให้ครับ ไม่มีความคิด ที่เป็นตัวเลข ให้ครับ พ่อแม่ ทุกท่าน ก็คงคิดเหมื่อน นะครับ (หวังว่ารัฐ ก็คงคิดเหมื่อนผมนะครับ เพราะว่าลูก ลูก เขตหลุ่มน้ำแม่วงก์ก็อยากมีอนาคตเหมือนกันนะครับ) 

ความเห็นที่ 2.2.5

ป่าแม่วงก์มีพื้นที่ ประมาณ 550,000 ไร่ แม่วงก์เป็นป่าส่วนหนึ่งของผืนป่าตะวันตกที่มีพื้นที่ตั่งแต่ห้วยขาแข้ง ทุ่งใหญ่นเรศวร แม่วงก์ คลองลาน อุ้มผาง รวมผืนป่าต่อเนื้อง 11 ล้านก่วาไร่ แม่วงก์จึงเป็นของป่า 11 ล้านกว่าไร่ การสร้างเขื่อนแม่วงก์ ใช็พื้นที่รับน้ำ 12,000 ไร่ หากถามว่าเสียมั้ย เสียครับ แต่ 0.02 % โดยประมาณ ระบบนิเวศ กระทบครับ (กระทบตามตัวเลขที่เห็น) ก็ตีราคากันตามสบาย ครับ แต่ให้นึกบ้างซิครับ ว่าคนที่นี่ก็รักป่านะครับ รักสัตว์เหมือนทุกท่านนะครับ คน แม่วงก์ ไม่เคยโดนคดีลักลอบล่าสัตว์ และแนวขอบป่าแม่วงก์หลายหมู่บ้านเป็นชุมชน อาสา ป้องกันไฟป่า และเคยร่วมปลูกป่า ท่านอาจจะอยู่ ข้างนอก ท่านอาจจะรับข้อมูลจากคนอื่น ลองมาสัมพัสตัวตนคนแม่วงก์ บ้างนะครับ มาศึกษา ดูซิครับ แล้วจะได้ทราบว่า ทำไมคนส่วนมากที่ลุ่มน้ำแม่วงก็ ต้องการเขื่อนแม่วงก์

ความเห็นที่ 3.2

"ได้ไม่คุ้มเสีย"

ความเห็นที่ 4.2

ปลา 64 ชนิดในลำน้ำตอนนึง หลากหลายเกือบมากกว่า ปลาน้ำจืดของประเทศอังกฤษทั้งประเทศ !!!

...แต่ถ้ารัฐบาลมีนโยบายจะสร้างก็ต้องเพิกถอนพื้นที่เขื่อนและอ่างออกจากเขตอุทยานฯ ทำนองเดียวกับเขื่อนขุนด่านฯ จ.นครนายกครับ".

ป่าไม่ใช่ของรัฐบาลหรือนักการเมืองเสียงข้างมากแต่ผู้เดียว ควรฟังเสียง ในหลักวิชาการ ความเป็นจริง จาก ปชช. ที่เป็นเจ้าของ และผู้จ่ายเงินเดือนให้คูณบ้าง

ความเห็นที่ 5.2

คนไม่ได้เป็นสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวบนโลกใบนี้ สัตว์ที่ต้องล้มตายเพราะการสร้างเขื่อนเพื่อประโยชน์คนมีจำนวนไม่น้อย น้ำท่วมหนักเพราะป่าต้นน้ำทั่วประเทศถูกคนโลภเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวทำลายแต่สัตว์ป่าต้องมารับกรรม คนฉลาดและเข้มแข็งน่าจะปรับตัวทำอย่างอื่น ปลูกพืชให้เหมาะแก่ฤดูกาล ทำแหล่งเก็บน้ำขนาดเล็กไว้ตามชุมชน. ขุดลอกคลอง น่าจะดีกว่าค่ะ

ความเห็นที่ 5.2.1

คิดอย่างท่านดีครับ งั้นช่วยรณรงค์เอากรุงเทพปลูกป่าดีกว่ามั้ยครับ ปลูกตึกทำลายบรรยากาศ ติดแอร์ทำลายอากาศ สร้างถนนทำให้รถเพิ่มขึ้น รถเพิ่มขึ้นทำลายอากาศ สร้างรถไฟฟ้าเสียงบประมาณภาษี สร้างถนนไม่คุ้ม สร้างอุโมงค์ระบายน้ำไม่คุ้ม อยู่แบบเศรษฐกิจพอเพียงดีกว่า เขื่อนที่สร้างทุบทิ้งเถอะครับ ธรรมชาติอย่างไรให้มันเป็นอย่างนั้นทำได้ตามที่ว่า สุดคุ้มครับ ดื่มน้ำคลองซิครับ ใช้ตะเกียงซิครับ ถีบจักรยาน ซิครับ ไม่ทำลายอากาศ มีความปลอดภัย เขียนจดหมาย อย่าใช้โทรศัพย์นะครับ คนที่อยู่ตึกที่นอนสุูงกว่า นก ให้ลงมานอนต่ำกว่า นก เถอะครับมมันไม่เป็นธรรมชาติ นะครับ(มนุษุย์ไม่ได้เกิดมาเพื่ออยู่กับธรรมแต่เพื่อบริหารธรรมชาติต่างหากครับ)

ความเห็นที่ 6.2

วันนีืเพิ่งกลับมาจากไปทำงานวิจัยเกี่ยวการทดสอบและพัฒนาเครื่องจักรกลเกษตรในย่านนั้น จู่ๆชาวบ้านกยกประเด็นเรื่องเขื่อนมาเสวนา และบอกไม่อยากได้เลย

ความเห็นที่ 6.2.1

รบกวนขยายความนิดหนึ่งครับ เค้าบอกไหมว่าทำไมถึงไม่อยากได้เขื่อน?

ความเห็นที่ 7.2

ผมมองว่าปัญหาขัดแย้งทางความคิดส่วนใหญ่ ขึ้นอยู่กับแต่ละคนจะให้คุณค่าของสิ่งใดให้สูงกว่าอีกสิ่ง
ทั้้งนี้ไม่นับรวมผู้ขาดข้อมูลนะครับ นับเฉพาะคนที่มีข้อมูลใกล้เคียงกัน

และทั้งไม่นับคนที่มีผลประโยชน์ทั้งโดยตรงและแอบแฝง ที่บางหนอาจจะสามารถสามารถแสดงความคิดชวนเชื่อให้บางคนได้

กรณีนี้ มองแล้วผมว่าคนในเว็บนี้ ตามข้อมูลที่แต่ละคนมีนั้น มองผลประโยชน์โดยรวมในระยะยาว อาจยาวถึงตอนที่แต่ละคนไม่อยู่แล้วก็ได้ !

มิพักต้องพูดถึงความน่าระแวงในการการผลักดันโครงการโดยรัฐบาล... !

เสียงเล็ก ๆ จากคนไม่เท่าไหร่ ดูเหมือนจะต้านไม่ได้นะครับ !
แต่ชั่วโมงนี้ รัฐบาลนี้เข้มแข็งน้อยลง
เสียงเล็กๆอาจเป็นเสียงที่ต้องฟังมากขึ้น

ก็ยังมีความหวังครับ


ป.ล. เจ้าของบทความเพิ่งจบมาได้ไม่กี่วันใช่มั้ยครับ
      เดาเอาจากเข้ามาที่นี่บ่อย ๆ  แต่เพิ่งได้เห็นคำนำหน้านามใหม่
      ขอยินดีกับดุษฎีบัณฑิตด้วย ผมเคยอ่านเคยซื้อหนังสือที่คุณนณณ์ทำ
      ถ้ามีโอกาส จะขอแวะทักทายที่เกษตรแฟร์ครับ

ความเห็นที่ 7.2.1

เพิ่งประกาศในเว็บไซด์ของมหาวิทยาลัยเมื่ออาทิตย์ที่แล้วนี่เองครับ ขอบคุณครับ

ความเห็นที่ 8.2

"ในการสร้างเขื่อน ต้องทำการตัดไม้ออกจากพื้นที่ให้มากที่สุดเพื่อป้องกันน้ำเน่าเสีย น่าสนใจว่าไม้ขนาดใหญ่ (ซึ่งรวมถึงต้นสักด้วย) จะตกเป็นผลประโยชน์ของใคร"

(ตอบ)

องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้จะเป็นผู้ตัด ผลประโยชน์จะตกเป็นของรัฐ

ความเห็นที่ 8.2.1

เพิ่งทราบครับว่าไม้ที่ตัดออกจากเขื่อนเอาไปขายได้ด้วย! ขอบคุณสำหรับข้อมูลครับ

ความเห็นที่ 8.2.2

จริงรึเปล่า เดี๋ยวก็มีประมูล+ฮั้วประมูลไม้อีก 
แถมงบก่อสร้างก็กินกันแหลกลาญ 
เขื่อนสร้างมาก็ใช้ประโยชน์ได้ไม่ถึงครึ่ง แค่เท่าทีมีอยู่เดิมดูแลให้มันทำงานได้เต็มประสิทธิภาพยังทำไม่ได้ยังจะสร้างเพิ่มเพื่ออะไร

ความเห็นที่ 9.2

ชมรมอนุรักษ์อุทยาน แต่สนับสนุนการทำลายป่าโดยรัฐทุกโครงการ เปลี่ยนชื่อชมรมดีกว่า ก่อนหน้านี้บอกใครทำป่าคือคนทำลายชาติ หีหี เปลี่ยนไปแล้ว

ค่า B/C น่าสงสัยมาก ราคาเขื่อนเพิ่มขึ้นเกือบ สี่เท่า แต่ B/C ยังคุ้มค่า มีใครรู้บ้างหรือมั้ยตัวเลขเหล่านี้มีข้อมูลดิบมาอย่างไร 

ลงทุนหมื่นสามพันล้าน มีผลตอบแทนปีละ 720 ล้าน เอาเงินก้อนนี้ไปปล่อยกู้ดีกว่ามั้ยได้ดอก 6 % ก็มากกว่าผลประโยชน์ที่ชาวบ้านจะได้เสียอีก 

ต้นทุนสวลไม่เคยคิด หากคิดแบบที่กรมป่าไม้ฟ้องชาวบ้าน"คดีโลกร้อน" ไร่ละเท่าไหร่ http://openso.blogspot.com.au/2012/04/blog-post_29.html ลองอ่าดู 

เรื่องผลกระทบต่อสัตว์ป่า ลุงก็บอกแต่ว่าไม่พบสัตว์อะไรในพื้นที่อ่างเก็บน้ำ ผมว่าต้องทบทวนความรู้ วิธีคิดใหม่นะครับ เอาแค่เสือ (และสัตว์ป่าอื่น ๆ ด้วย) หากินใช้พื้นที่กว้างเท่าไหร่ ใช้ตรงไหน ใช้เมื่อไหร่ คุณรู้หรือยัง  ยืนกระต่ายขาเดียวบอกไม่มี ผมว่าตอบแบบกำปั้นทุบดินเกินไป ก่อสร้างเขื่อน 8 ปี ทั้งระเบิด ทั้งเจาะ คนงานอีกนับพัน สัตว์ป่ามันจะอยู่หรือ

นกยูง คุณลุงสรุปว่าเป็นนกยูงอินเดีย เพราะฟังมาจากเจ้าหน้าที่พิทักษ์คนไหนไม่บอกชื่อ ผมว่าลุงยังไม่เห็นนกยูงเลยมั่งเนี่ย ถึงแยกไม่ออกไหนนกยูงอินเดีย นกยูงไทย

คุณลุง ผมว่าควรทบทวนตัวเองหน่อยนะครับ วิธีคิด การหาข้อมูล โลกทุกวันนี้มันเปลี่ยนไปมากแล้ว จะมาคิดแบบคนกรมป่าไม้สมัยก่อนไม่ได้ มันโบราณมาก  


ความเห็นที่ 9.2.1

"ชมรมอนุรักษ์อุทยาน แต่สนับสนุนการทำลายป่าโดยรัฐทุกโครงการ เปลี่ยนชื่อชมรมดีกว่า ก่อนหน้านี้บอกใครทำป่าคือคนทำลายชาติ หีหี เปลี่ยนไปแล้ว"

(ตอบ) http://www.interpretationthailand.org/index.php?lay=show&ac=article&Id=539503264

ความเห็นที่ 9.2.1.1

ชมรมคุณธนพลเปลี่ยนชื่อได้แล้ว ทำให้เกิดความเข้าใจผิดอย่างแรง เพิ่งฟังคุณพูดที่คมชัดลึก 10 กันยายน 56 คุณไม่มีความรู้ด้านการอนุรักษ์และไม่มีความเจ้าใจในธรรมาภิบาล หรือมีอะไรปิดหูปิดตาคุณจนหน้ามืดสนับสนุนโครงการทำลายผืนป่าสร้างเขื่อนแม่วงศ์หรือ? คุณรู้อยู่แก่ใจกำลังสนับสนุนคนชั่วกินผืนป่าประเทศอยู่หรือเปล่า????

ความเห็นที่ 10.2

ผมติดตามอ่านดูการถามตอบของทั้งสองฝ่ายในบทความนี้ พบว่าข้อมูลของลุงธนพล หลวมและน้อยมากครับ ไม่ทราบว่าท่านทำงานเพียงลำพังหรือว่ามีทีมงานของชมรมฯ ช่วยกันหาข้อมูล

และตอนนี้ทางฝั่งอนุรักษ์ไม่เอาเขื่อนก็ได้ให้ข้อมูลและตอบข้อซักถามอย่างชัดเจนแล้ว ลุงธนพลจะเอาไงต่อครับ ทั้งๆ ที่เห็นชัดๆ ว่าได้ไม่คุ้มเสีย

ความเห็นที่ 11.2

แจ้ปู เอาเหล็ก หิน ปูน ทราย.....เอาโรงปั่นไฟ..เข้าใปทำลายป่า บ้านของเสือ วัวแดง กระทิง นกเงือกคอแดง นกยูงไทย และสัตว์ป่าอีกร้อยกว่าชนิด และระบบนิเวศน์ทางธรรมชาติที่ต้องสูญเสียไปกับเขื่อนแม่วงก์ แค่ถลุงงบอ้างแก้น้ำท่วม อนาถที่สุด มีบทเรียนมาแล้วว่ามีเขื่อนอยู่ตอนบนต่ั้งหลายสิบเขือนแก้ปัญหาน้ำท่วมไม่ได้ คิดผิด..คิดใหม่ได้..ฝรั่งเขาทุบเขื่อน!ทิ้ง..เพื่อฟื้นระบบนิเวศน์?..ครับท่าน.

ความเห็นที่ 11.2.1

ฝรั่งทุบเขื่ิอนเพราะกลัวพังก็ได้นะครับเพราะอายุมัน 100 ปึแล้ว ฝรั่งเหยียบดวงจันทร์มาเกือบ 50 ปีมาแล้วถ้ามาวันนี้ทุบเขื่อนเพื่ิออนุรักษ์ ไม่น่าเชื่ิอที่่โง่มาตั้ง 100 ปีแนะแล้วเขื่อนที่ จีน กำลังสร้างละช่วยสงเสียงถึง จีนด้วยครับเดี๋ยวอีก 100 ปีข้างหน้าจะรู้สึกตัวว่าโง่แบบฝรั่ง นะครับ เตือนเค้าหน่อยผู้มีความฉลาดกว่า 

ความเห็นที่ 12.2

อยากให้ ชมรมอนุรักษ์อุทยาน มาสำรวจโครงการเขื่อนห้วยโสมงบ้างจังเลยครับ

ความเห็นที่ 13.2

ผมเห็นด้วยกับคำพูดนี้อย่างยิ่งครับ ไม่ว่าจะด้วยความคุ้มหรือไม่คุ้มอะไร เราควรปล่อยป่าไม้เอาไว้เแยอย่างนั้นไม่ต้องไปแตะต้องมันอีกต่อไปครับ     

“ในความรู้สึกของผม เราไม่ต้องเสียเวลามานั่งเถียงกันหรอกว่า เราจะใช้ป่าไม้อย่างไร เพราะมันเหลือน้อยมากจนไม่ควรใช้ …เดี๋ยวนี้เขื่อนเริ่มจะเข้าไปในพื้นที่ป่าอนุรักษ์แล้ว เพราะว่าป่าข้างนอกหมดแล้ว”

สืบ นาคะเสถียร ได้ให้สัมภาษณ์กับสารคดี ในบ่ายวันหนึ่งของเดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๕๓๓ 

ความเห็นที่ 14.2

ผมอยากให้ข้อมูลด้วยคนนะครับ
1.ในเรื่องปริมาณน้ำเข้าเขื่อนจะเท่าไหร่ต่อปี ก็เป็นการคำนวนจากปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่ครับ
   เช่นเดียวกับการคาดการของนักวิชาการด้านอื่น
2. พื้นที่ที่คาดว่าน้ำท่วมผมไปสำรวจมาแล้วครับ ท่วมห่างจากลำน้ำที่ห่างสุดประมาณ 4 กม. ซึ่งอยู่ฝั่งกำแพงเพชร ส่วนในฝั่งนครสวรรค์ท่วมจากลำน้ำไกลสุดประมาณ 2 กม.ครับ ถ้าใครเคยเดินเข้าไป
จะทราบว่ามีหน่วยจัดการต้นน้ำขุนน้ำเย็นซึ่งอยู่ห่างจากบริเวณแนวแกนเขื่อนประมาณ 7-8 กม.
นั้นคือบริเวณที่น้ำจะท่วมบางส่วน หลังจากนั้นจะท่วมริมลำน้ำครับ และขอยืนยันว่าพื้นที่ในบริเวณที่น้ำท่วม
ในส่วนที่เป็นป่าเบญจพรรณจะเคยผ่านการทำกินมาแล้ว ยกเว้นบริเวณป่าเต็งรังบางบริเวณ
3. ส่วนที่กรมอุทยานทำโป่งเทียมให้สัตว์นั้นอยู่ห่างจากหน่วยจัดการต้นน้ำขุนน้ำเย็นและไม่ใช่บริเวณน้ำท่วมครับ
4.ผมอยากให้นักวิชาการหรือใครก็ตามที่ออกมาพูดกันออกสนามพร้อมกันแล้วสอบถามชาวบ้านที่ทำนาว่าเขาต้องการหรือไม่ และป่าไม้มีขนาดใหญ่อย่างที่พูดกันหรือไม่ ป่าสักมีความหนาแน่นเป็นอันดับสองของประเทศอย่างที่พูดกันหรือไม่ แล้วถ้าข้อมูลฝ่ายไหนดีกว่าก็ขอให้อีกฝ่ายหนึ่งเลิกพูดเพื่อสนับสนุนหรือคัดค้าน
5.การที่อ้างโพล 7 สี ว่าชาวบ้านเขาไม่เห็นด้วยมากกว่า(จำนวนตัวอย่าง 288ตัวอย่าง) ตัวเลขจากการลงทำการสำรวจตั้งแต่บริเวณเขื่อนจนถึงบริเวณพื้นที่ที่คาดว่าเป็นพื้นที่ชลประทาน ชาวบ้านเห็นด้วยมากกว่า 80 % (จำนวน 400 ตัวอย่าง) ก็ลองเปรียบเทียบดูครับ
6. ชาวสะเอียบไม่เอาเขื่อนนักวิชาการที่คัดค้านก็เห็นยืนเคียงข้างชาวบ้านเฉยเลย แต่พอแม่วงก์ชาวบ้านต้องการเขื่อนนักวิชากลุ่มเดิมกลับออกมายืนตรงข้ามชาวบ้าน
7.เวลาเปลี่ยนทำให้ราคาค่าก่อสร้างเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมต่างๆ ก็เปลี่ยน
8.น้ำที่ชาวบ้านสูบมาใช้ทำนามีต้นทุนต่อไร่เพิ่มขึ้น เหตุที่ต้องทำเพาะพื้นที่เหมาะจะทำนาอย่างเดียว
   ประมาณ 80% เป็นนาข้าวครับ แล้วจะให้เขาทำอาชีพอะไรดีครับ
ข้อมูลบางส่วนเท่านั้นครับ
 

ความเห็นที่ 15.2

ขออนุญาตเรียนถามคุณลุงธนพล
ชมรมอนุรักษ์ฯ มีคุณลุงคนเดียว?
หรือเป็นเพราะยังไม่ได้เพิ่มข้อมูลสมาชิก กรรมการ หรือผู้เกี่ยวข้องกับชมรมท่านอื่นๆ?

ด้วยความเคารพ

ความเห็นที่ 16.2

เรามั่วแต่หลอกเป็นชั่วอายุคนว่าเขื่อนสามารถกักน้ำเวลาน้ำท่วมได้....แล้วที่ผ่านมาเขื่อนทำหน้าที่กักน้ำไม่ให้น้ำท่วมได้ไหมแล้วเมื่อปี54แม่น้ำแทบทุกสายมีเขื่อนหมดทำไมยังช่วยไม่ได้นั้นแสดงว่าทฤษฎีมีเขื่อนแล้วน้ำจะไม่ท่วมหรือท่วมน้อยลงนั้นเป็นเรื่องงมงายที่พิสูตรได้แล้วว่าช่วยไม่ได้  ส่วนเขื่อนแม่วงค์เค้าเจตนาหลักไว้ช่วยน้ำแล้ง ลองไปหัดเรียนรู้จากประวัติศาสตร์ดิมีเขื่อนภาคไหนของประเทศไทยที่ช่วยไม่ให้น้ำท่วมได้บ้างและมีเขื่อนไหนในประเทศไทยที่ช่วยเรื่องขาดเเคลนน้ำได้มั่งเห็นทุกปีต้องมีข่าวทางทีวีประกาศภัยพิบัติน้ำท่วมน้ำแล้งกันอยู่ทุกปี..........ถ้าคุณเป็นมนุษย์ที่มีใจสูงกว่าคน....ก็ควรหยุดเบียดเบียนพื้นที่ธรรมชาติได้แล้วสัตว์จะไม่มีที่อยู่ที่กินกันอยู่แล้วเพราะความเห็นแก่ตัวของสัตว์เศรษฐกิจ.....ถ้าเป็นสัตว์ประเสริฐจริงต้องไม่มีความคิดที่จะเอาเปรียบธรรมชาติเช่นนี้

ความเห็นที่ 17.2

อยากให้นักวิชาการทั้งสองฝ่ายลงพื้นที่พร้อมกันคะ ทำเป็นวิดีโอเผยแพร่เลย ไปสอบถามชาวบ้านพร้อมกัน หาข้อมูลพร้อมกัน แล้วเสนอความคิดเห็นของตนเองมา เพื่อเป็นการง่ายต่อการเปรียบเทียบ ชั่งน้ำหนักของประชาชนค่ะ

ความเห็นที่ 18.2

ผมชอบจังแบบนี้มันเป็นพูดการพูดคุยที่ได้ความรู้มากเลยการสร้างเขื่อนดีในบางภูมิประเทศ หรือบางเขื่อนเลวในบางภูมิประเทศ เขื่อนก็ไม่ได้ช่วยอะไรได้เลย ในทั้งทุกเรื่อง ซ้ำยังเป็นการการทำลายชีวิตความเป็นอยู่ของคนใกล้เขื่อนอีกตั่งหาก(ไม่ต้องมองสิงสาลาสัตว์อื่น) แต่เขื่อนมิใช่สิ่งเลวร้ายถ้าสร้างเพื่อให้ประชาชนอยู่ดีกินดีมีความสุขมีตัวอย่างทั้งเขื่อนดี(ป่าสักชลสิทธิ์หรือเขื่อนที่มีมานานลองดูสิครับว่าเราได้อะไรบ้าง)หรือเขื่อนเลวมากมาย ตรงนั้นลองมองดูและหยิบยกมาอธิบายบ้างก็ดีนะครับ เขื่อนราศรีไศร เขื่อนน้ำพอง ก็ถลองงบกันเป็นว่าเล่น ผมมองแบบบ้านๆ แบบคนเมาๆ ประเทศเราอาจเป็นประเทศที่มีเขื่อนมากที่สุดในโลกก็ได้(ลงกินเน็ตด้วยนะ)แต่ประเทศอื่นเขาไปถึงไหนแล้วขอรับท่าน เขาใช้คลื่นใช้ลมแล้วขอรับ บ้านเรายังเถียงกันเรื่องเขื่อนเรื่องนิวเคลียกันอยู่เลย ผมอ่านและฟังทั้งสองฝ่าย หนึ่งเทคโนหนึ่งธรรมชาติ ผมว่ามันมีตรงกลางที่เรายังหาหาไม่เจอนะขอรับ เราอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีธรรมชาติ เราอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีเทคโนโลยี่ ถึงเวลาหรือยังครับที่จะเอาทั้งสองอย่างมารวมกันเพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่แบบกลางๆผมว่าคนไทยไม่แพ้ชาติใดในโลกเถียงกันโต้ตอบกันเพื่อสร้างสรรค์สิ่งดีๆให้ชีวิตคนไทย( บ๊ายบาย) ปล.ขอตัวไปนอนละนะ เมาแล้ว ช๊อบชอบกระทู้แบบนี้ ได้ความรู้โคตรๆ

ความเห็นที่ 19.2

เจตนาของเขื่อนแม่วงศ์มิได้อยู่แค่การป้องกันน้ำท่วมอย่างเดียวนะคัรบ มีหลายเหลือบ ! เอ๊ยหลายเรื่องปนๆกันอยู่ เรื่องของไม้ เรื่องของไฟฟ้า เรื่องของค่านายหน้า เรื่องของค่าเวณคืนที่ดิน โอ๊ยเยอะ ลองช่วยกันหาข้อมูลดูแล้วกัน ถ้าเจอรับรอง ฮา(ไม่ออก) พะยะค่ะ. คงไม่ต้องบอกว่าบริษัทฯ ไหนได้รับการวางตัวให้สร้างนิ

ความเห็นที่ 20.2

คนมันก็มองได้แค่ประโยชน์ที่มันจะได้รับ เท่าที่มันจะมีปัญญามองเห็น แต่มันไม่เคยมองถึงสิ่งที่สูญเสียเพราะมันไม่มีปัญญาพอจะเข้าใจในสิ่งที่ต้องสูญเสียไป เพราะมักเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลานานถึงจะมองเห็นผลที่เกิดขึ้น