กู้บทความเก่า: แหล่งน้ำในเขตอำเภอ ทองผาภูมิ และ สังขละบุรี โดย นณณ์ ผาณิตวงศ์ เมษายน 2545

วันเสาร์ของเดือนเมษายนที่กำลังร้อนได้ที่

นานๆ จะว่างตรงกันสักที ผม และ เพื่อนๆ อีก 2-3 คนเลยนัดจะไปสำรวจพันธุ์ปลากัน เป้าหมายของเราในวันนี้ คือแหล่งน้ำในเขตอำเภอ ทองผาภูมิ และ สังขละบุรี ซึ่งเป็นอำเภอชายแดนตะวันตก ในเขตจังหวัดกาญจนบุรี ด้านติดกับประเทศพม่า ทางด่านเจดีย์สามองค์ ตอนแรกก็นัดกันไว้ 5 คน แต่พอเอาเข้าจริงๆ ก็เหลือพวกบ้าๆ แค่ 3 คน ในคราวนี้เราหวังที่จะไปเสาะหาแหล่งที่อยู่ของปลาหมอแคระในตระกูล บาดิส (Badis sp.) ซึ่งเป็นปลากลุ่มที่พวกเรา สนใจมาก นอกจากนั้นเรายังต้องการไปสำรวจพันธุ์ปลาค้อในแหล่งน้ำไหล และเรายังต้องการไปดูว่า ต้น Cryptocoryne sp. (คริบโตโครีนี) ขนาดใหญ่ที่ผมเจอขึ้นอยู่ริมฝั่งแม่น้ำซองกาเลีย เมื่อครั้งก่อนมีการออกดอกบ้างรึเปล่า

เนื่องจากตัวกระผมเองมีภาระกิจจะต้องทำในวันถัดไป ทริ๊ปนี้ของเราจึงต้องไปแบบเช้า-มืดกลับ ระยะทางนั้นก็ไม่ใช่ย่อยเลยครับ สำหรับการขับรถไป อำเภอสังขละบุรีชายแดนตะวันตกของไทย เราออกเดินทางออกจากกรุงเทพฯประมาณ 6.30 นน. หลังจากที่ใช้เวลาในการเตรียมอุปกรณ์จับปลาอยู่ร่วมครึ่งชั่วโมงที่บ้านคุณโทนี่ เรามาเริ่มเข้าเขตอำเภอทองผาภูมิเอาเมื่อตอนประมาณ 10.30 นน.

จากข้อมูลที่ผมได้มาปลาหมอแคระ จะอาศัยอยู่ในลำธารน้ำไหลเอื่อยๆ โดยมันจะอาศัยอยู่ในกอหญ่าริมน้ำ เราขับผ่านลำธารแรกไป เพราะเห็นว่ามีขนาดเล็ก และน้ำน้อยเกินไป เมื่อถึงลำธารที่ 2 เราก็จอดรถแล้วชะโงกลงไปดูจากสะพาน ซึ่งลำธารนี้ก็ดูเหมือนจะเป็นแหล่งน้ำที่เรากำลังหากันอยู่ ไหลเอื่อยๆ และมีกอหญ่าริมน้ำ

ผมเป็นคนแรกที่คว้าสวิงลงไปยืนอยู่ริมตลิ่ง เท่าที่ดูคร่าวๆ น้ำในลำธารใส และไหลเย็น แต่ก็พอมีขยะต่างๆ ให้เห็นอยู่บ้าง ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรสำหรับแหล่งน้ำที่อยู่ติดกับถนนหลัก กลิ่นก็ออกจะตุๆ หน่อย แต่ไม่ใช่กลิ่นของน้ำเน่า เป็นกลิ่นเหมือนกับขี้วัวมากกว่า ก่อนจะลงจับปลาทุกครั้ง ผมมักจะยืนอยู่ริมตลิ่งมองสำรวจแหล่งน้ำนั่นก่อนว่ามีปลาอะไรอาศัยอยู่บ้าง สังเกตุพรรณไม้น้ำต่างๆ ลักษณะพื้นล่าง ว่าเป็นกรวด ทราย หรือโคลน สังเกตุดูว่ามีตะไคร่ลักษณะไหนขึ้นอยู่บ้าง ลองเอามือแตะน้ำดูว่าอุณหภูมิเป็นยังไง ผมยังนึกโกรธตัวเองที่คราวนี้ลืมติดเทอร์โมมิเตอร์ไปด้วย การไหลของน้ำว่าไหลเชี่ยวแค่ไหน นอกจากนั้นผมมักจะเตรียมขวดน้ำขนาดเล็ก เพื่อเก็บตัวอย่างน้ำไปวิเคราะห์หาค่า ความเป็นกรดด่าง และค่าความกระด้างด้วย ทุกวันนี้เครื่องมือวัดของกลุ่มเรายังไม่ดีนัก แต่ก็หวังว่ากลุ่มของเราจะมีเงินทุนในการซื้ออุปกรณ์ราคาแพงเหล่านี้ในวันข้างหน้า

เท่าที่มองดูคร่าวๆ ผมเห็นฝูงปลาซิว(Rasbora sp.) ซึ่งมีลักษณะเฉพาะของจังหวัดกาญจนบุรีว่ายอยู่หลายฝูง ถึงแม้ว่าจะเป็นปลาพันธุ์ที่เพิ่งค้นพบใหม่ แต่ก็เป็นปลาที่ผมเห็นอยู่ทั่วไปในเขตนี้ ผมจึงไม่ตื่นเต้นอะไรมากนัก ปลาซิวบางฝูงจะมีปลาในตระกูลปลาตะเพียน (Cyprinidae) ขนาดเล็กที่มีหางสีแดงว่ายรวมอยู่ด้วย ปลาตัวนี้ผมไม่คุ้นเคยนัก และยังไม่แน่ใจว่าเป็นปลาอะไรกันแน่ ปลาเสือสุมาตราพันธุ์ไทย (Puntius partipentazona) ว่ายเข้าออกเป็นฝูงหลวมๆ อยู่ริมกอสาหร่าย ต้นไม้น้ำชนิดเดียวที่เห็น คือสันตวาใบกลม (Oteria sp.)

จริงๆ แล้วใจผมไม่ค่อยได้อยู่กับปลาทั้งหมดที่เห็นเท่าไหร่นักหรอก เพราะว่าวันนี้ผมตั้งใจจะมาหาเจ้าปลาหมอแคระมากกว่า ผมมองสำรวจไปรอบๆ และเลือกที่จะเดินย้อนรอดใต้สะพานขึ้นไปอีกหน่อย เพราะริมลำธารทางฝั่งขวานั้นมีกอหญ่าขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น ผมค่อนข้างมั่นใจว่านี่ คือที่อยู่ของปลาหมอแคระแน่ๆ ผมจ้วงสวิงเข้าไปใต้กอหญ่า ค่อยๆ ยกขึ้นมา ไม่มีปลา มี แต่ตัวอ่อนของแมลงปอน่าตาแปลกๆ จริงๆ แล้วก็ไม่เลวนัก เพราะตัวอ่อนแมลงปอจะอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำสะอาดเท่านั้น การพบมันในลำธารแห่งนี้จึงเป็นเครื่องยืนยัน ว่าน้ำซึ่งมีกลิ่นตุๆ เหมือนมีขี้วัวปนอยู่นี้สะอาดมากทีเดียว

ถึงตอนนี้ เพื่อนผมลงมาสมทบกันแล้ว วันนี้เรามีสวิงขนาดเล็กใหญ่หลายอัน และที่ขาดไม่ได้ คืออวนขนาดเล็กที่ต้องใช้ 2 คนช้วยกันลาก เรายังไม่ใช่อวน แต่มุ่งไปที่การช้อนด้วยสวิงเข้าไปใต้กอหญ่าริมน้ำมากกว่า หลังจากช้อนไปได้ 4-5 ที พวกผมก็ได้เฮกันเมื่อ สวิงที่ผมยกขึ้นมาจากน้ำนั่นมีปลาหมอแคระติดขึ้นมาด้วย นับเป็นปลาหมอแคระตัวแลกที่ผมจับได้จากธรรมชาติ หลังจากที่รัก และเลี้ยงปลาในตระกูลนี้มานานพอสมควรแล้ว เราจับปลาชนิดเดียวกัน จากกอหญ้าแทบนั้นได้อีก 2-3 ตัว แล้วก็เลยตัดสินใจจะลองลงอวนดูบ้าง ผมยังสนใจเจ้าปลาตะเพียนตัวอ้วนๆ หางสีส้มที่ว่ายอยู่กับพวกปลาซิวอยู่

การลงอวนครั้งแรกของเรา ได้ปลาซิวมาหลายตัว รวมไปถึงปลาช่อยธรรมด๊าธรรมดาอีกตัว ครั้งที่ 2 ผมมองไปเห้นเจ้าปลาตะเพียนตัวอ้วนพอดี จึงล้อมขึ้นมาได้หลายตัว หลังจากเห็นตัวแล้ว คุณโทนี่จึงสามารถบอกได้ว่าปลาตัวนี้ คือ ปลามุมหมาย (Puntius stoliczkanus ) นั่นเอง การจับปลาพันธุ์นี้ได้ในครั้งนี้ ถือเป็นรายงานการพบปลาพันธุ์นี้เป็นครั้ง 2 ของเขตแม่น้ำแม่กลอง หลังจากที่ เพื่อนผมอีกกลุ่มเคยจับปลาชนิดเดียวกันนี้ได้เมื่อครั้งมาสำรวจเมื่อปีที่แล้ว ปลามุมหมายเป็นปลาในตระกูลปลาตะเพียนขนาดเล็กที่มีความสวยงามมากชนิดนึง เนื่องจากลำตัว และครีบที่มีสีส้มอมชมพู และจุดสีดำทองบริเวณโคนหางก็ ทำให้ปลาดูเด่นขึ้นมาก

นอกจากปลาที่เอ่ยถึงไปแล้วนั้น ปลาที่เราจับได้จากแหล่งแรกนี้ก็ยังมี ปลาหลดธรรมดา ปลาไหลนา ปลากระทุงเหว และ ปลาไส้ตัน นับเป็นลำธารขนาดเล็กที่มีความหลากหลายทางพันธุ์ปลาค่อนข้างสูงทีเดียวครับ

หลังจากประสบความสำเร็จในหมายแรก พวกเราก็มุ่งหน้าสู่หมายที่ 2 ต่อไป หมายนี้เป็นลำธารขนาดกลางๆ ความกว้างเฉลี่ยสัก 3-5 เมตร น้ำจะใส และตื้น พื้นเป็นกรวดเล็กใหญ่สลับกันไป เนื่องจากความใสของน้ำ เราจึงตัดสินใจที่จะดำดูปลา ถ่ายรูปกัน ที่หมายนี้เราเจอ ปลาค้อขนาดใหญ่ร่วมๆ คืบที่เชื่องมากๆ หลายตัว ภายหลังเรามาระบุจากภาพถ่ายได้ว่าพวกเค้า คือ ปลาค้อ Nemacheilus pallidus นอกจากนั้นเรายังพบปลาค้ออีกชนิด ที่มีขนาดเล็กกว่า และมีอยู่อย่างชุกชุม คือ Acanthocobitis zonalternans ถ้าเราผลิกหินขึ้นมาเรายังพบปลาค้ออีก ชนิด คือเจ้า Schistura desmotes ด้วยครับ

ปลาบู่น้ำตก คือปลาอีกตัวที่เราตั้งใจจะมาดูกันในคราวนี้ เพราะครั้งที่ผ่านมาผมถ่ายภาพได้ แต่ตัวเมีย วันนี้ผมเลยพยายามมาหาเจ้าตัวผู้ ซึ่งมีคนล่ำลือว่าสวยมาก ซึ่งผมก็ไม่ผิดหวัง เพราะไม่นานผมก็ได้พบกับปลาบู่น้ำตกกาญจนบุรีตัวผู้ Rhinogobias sp. Kanchanaburi ปลาบู่สายพันธุ์นี้เป็นปลาที่มีการกระจายพันธุ์อยู่ในเขตกาญจนบุรี และเข้าใจว่าจะเป็นสายพันธุ์ใหม่ของโลกครับ ปลาทั้งหมดที่เอ่ยมาเจออยู่ในน้ำ ที่ลึกไม่เกินหน้าแข้ง

เราออกจากหมายนี้มุ่งหน้าสู่แม่น้ำซองกาเลียซึ่งอยู่ติดกับชายแดนพม่าทางด้านด่านเจดีย์ 3 องค์ เพื่อไปดูต้นคริ๊ปขนาดใหญ่ที่ผมพบเมื่อครั้ง ที่แล้วที่แวะไปที่แหล่งนี้ นอกจากคริ๊ปแล้วที่หมายซองกาเลียยังมีร้านส้มตำไก่ย่างร้านโปรดของเราด้วยครับ ระหว่างทางไปเราแวะดูปลา ที่น้ำตกเกริงกระเวียที่วันนี้มีน้ำน้อย แต่ค่อนข้างขุ่นเอามากๆ เราเห็นปลาซิวใบไผ่ Danio regina ว่ายอยู่ในบริเวณแก่งหลายตัว แต่เนื่องจากมี คนมาก และหนทางจากตรงนี้ไปซองกาเลียยังอีกไกลเราเลยเริ่มเดินทางกันต่อ

เรามาถึงหมายซองกาเลียในเขตอำเภอสังขละบุรีเอาเกือบบ่าย 2 ต้นคริ๊บที่ผมเจอเมื่อคราวที่แล้วยังมีอยู่หนาแน่นพอสมควร งานนี้คนที่ตื่นเต้นที่สุด คือเจ้ากิ๊กซึ่งกำลังคลั่งไคล้กับต้นไม้ตระกูลนี้เอามากๆ หลังจากก้มๆ เงยๆ หาดอกอยู่พักใหญ่ เราก็ยอมแพ้ และสรุปว่านี่คงจะไม่ใช่หน้าออกดอก ของคริ๊ปในแถบนี้แน่ๆ สำหรับคริ๊บกลุ่มนี้ผมได้ส่งรูปไปให้ผู้เชี่ยวชาญ คือ Professor Niels Jacobson ดูแล้ว ซึ่งท่านก็บอกว่า น่าจะเป็น Cryptocoryne crispatura crispatura แต่เนื่องจากว่าตัวอย่างซึ่งท่านเคยได้จากทางกาญจนบุรีนั้นมีขนาดใหญ่มาก ท่านจึงยังไม่แน่ใจนัก ซึ่งการพบ คริ๊บที่หมายนี้ถือเป็นรายงานการค้นพบแหล่งที่อยู่ที่มีหลักฐานยืนยันเป็นครั้งแรกของคริ๊บขนาดใหญ่ สายพันธุ์นี้ครับ เราหวังว่าคงจะได้กลับมาที่หมายนี้อีกครั้งในขณะที่มีดอก เพื่อที่จะให้ได้รู้แน่กันไปเลยว่าเจ้าพวกนี้เป็นสายพันธุ์ไหนกันแน่

หลังจากกินข้าวเหนียวไก่ย่างส้มตำกันอิ่มหน่ำสำราญแล้ว พวกเราก็ย้อนกลับไปที่หมายลำธารที่ 2 เพื่อจะลองไปตีอวนจับปลา ในช้วงที่น้ำค่อนข้างลึกดูบ้าง ระหว่างทางเราแวะที่ห้วยลิเจีย เพื่อจะลองขุดหาทอง.....เอ้ย เพื่อจะลองหาปลาดูบ้าง แต่เนื่องจากว่า ลำห้วยเป็นหินกลมๆ ขนาดเล็กใหญ่ และค่อนข้างตื้นเราจึงไม่สามารถดำสำรวจหรือจับปลาดูได้ ที่หมายนี้เราได้ แต่กุ้งตัวใหญ่สีแดงขึ้นมา

เรากลับมาถึงลำธารก็บ่ายแก่มากแล้วท้องฟ้าก็คลึ้มเหมือนฝนกำลังจะตก ถึงแม้ว่าฝนจะ ทำให้เราจับปลายากขึ้น แต่ผมก็ยังอยากให้ตก เพราะในหน้าแล้งของแถบนี้จะแล้งมากๆ และเกิดไฟป่าบ่อยครั้งถ้าฝนตกลงมาคงจะช้วยได้เยอะ เมื่อมาถึงเราลองลงอวน เพื่อจับปลาใน เขตที่น้ำลึกดูบ้าง เราตีอยู่หลายครั้งซึ่งเกือบทุกครั้งก็จะติดเป็นเจ้าปลาซิวกาญจนบุรีขึ้นมา เราลองเดินขึ้นต้นน้ำไปอีก ซึ่งเป็นจุดที่มีรีสอร์ทอยู่ใกล้ๆ มีวังขนาดเล็กซึ่งน้ำไหลเข้าไปใต้รากไม้อยู่ เราจึงตีอวนเข้าไปตรงจุดนั้น เมื่อยกอวนขึ้นมาเราก็ได้เฮกันอีกครั้งเมื่อในอวนมีปลาจาด Poropuntius melanogrammus Roberts, 1998 ซึ่งเป็นปลาสายพันธุ์ใหม่ที่เพิ่งได้รับการบรรยายลักษณะทางพันธุกรรมไปเมื่อปี 1998 นี่เอง ย่อหน้าต่อไปเป็นข้อมูลที่คุณชัยวุฒิตอบผมไว้เกี่ยวกับปลาตัวนี้ที่เว็บพันทิบครับ

"คุณคิลลี่แมนครับ เจ้าปลาจากนี่ชื่อ วิทยาศาสตร์ว่า Poropuntius melanogrammus Roberts, 1998 เพิ่งถูกตั้งชื่อทางวิทยาศาสตร์เมื่อ 4 ปีก่อนนี้เองครับ ในเอกสารวิชาการฉบับนั้นก็เป็นรูปปลาดองในฟอร์มาลินเสียด้วยสิ Dr. Tyson เก็บตัวอย่างได้จากสองห้วยในเขตอำเภอสังขละบุรีครับ ซองกาเลีย และ ห้วยมาลัย ตัวอย่างที่คณะของคุณคิลลี่แมนเก็บมาเป็นตัวอย่าง ที่มีรูปถ่ายอ้างอิงเป็นตัวแรกของทองผาภูมิเลยนะนี่!!"

ปลาจาดตัวนี้เป็นปลาที่ผมพยายามจับมาหลายทีแล้ว เพราะเคยดำเจอในห้วยขนาดใหญ่หลายแห่ง แต่ก็ไม่เคยจับได้สักที จนมาสำเร็จ ในห้วยเล็กๆ แห่งนี้เองครับ เจ้านี่ถือเป็นปลาที่สวยมากตัวนึงทีเดียว เพราะลักษณะของลำตัวที่ค่อนข้างยาวกลม และเส้นสีดำพาดกลางลำตัว เหมือนปลาเล็กมือนาง (Crossocheilus siamensis) แต่มีขนาดใหญ่กว่ามาก และครีบทุกครับยังเป็นสีแดงส้มอีกตะหาก

เราลองตีอวนเข้าไปที่จุดเดิมอีกครั้งเราก็ได้ปลาที่ไม่ค่อยได้พบเห็นกันบ่อยนักอีกตัว ซึ่งก็ คือเจ้าปลาแค้ภูเขา Glyptothorax fuscus นั่นเอง หลังจากที่เราหายอยากกับการตีอวนแล้ว เราก็ย้อนกลับไปแหล่งน้ำตื้น เพื่อจับปลาเล็กกันบ้าง คราวนี้คุณโทนี่อยากได้เจ้าปลาค้อ Schistura desmotes กลับไปเลี้ยง เพื่อเปรียบเทียบกับตัวอื่นๆ ที่บ้าน เราพยายามกันอยู่นานมาก แต่ก็ไม่สามารถจับได้สักตัวจนฟ้าก็เริ่มมืดแล้ว ฝนก็เริ่มตกพร่ำๆ เรายังต้องขับรถกลับบ้านอีกหลายร้อยกิโลผมพยายามจนจะเลิกอยู่แล้ว จนปัญญาจนถึงขนาดต้องขอว่า "เจ้าป่าเจ้าเขาคร๊าบพวกผมขอบริวาร ปลาค้อไป เพื่อการศึกษาสักตัวนะคร๊าบ พวกผมจะได้กลับบ้านแล้ว เย็นมากแล้วคร๊าบ ผมตกหนาวด้วย" แค่นั้นแหละครับผมก็ยกกระชอนชึ้นมา แล้วผมก็ได้ปลาค้อเดสมอเตสขึ้นมาจริงๆ เป็นอันว่าเราก็เลยได้กลับบ้านกันก่อนที่พระอาทิตย์จะตกดิน

วันนั้นกลับมาถึงกรุงเทพฯกันเกือบเที่ยงคืน สนุกตื่นเต้น แต่ก็เหนื่อยแย่เหมือนกันครับ

more survey ...