กู้บทความเก่า: แหล่งน้ำในเขตอำเภอ ทองผาภูมิ และ สังขละบุรี 2 โดย นณณ์ ผาณิตวงศ์ เมษายน 2545

วันหยุดยาวอีกแล้ว ช่วงนี้ช่างมีวันหยุดมากเหลือเกิน หลังจากอากาศอันร้อนแสนร้อนของเดือนเมษายน ในที่สุดเราก็หลุดพ้นจากเดือนที่ร้อนที่สุดของปีมาได้ ฝนก็เริ่มตกลงมาแล้ว เป็นสัญญาณบอกพวกผมว่าหน้าแล้งกำลังจะสิ้นสุดลง อีกไม่นานแม่น้ำลำธารทุกสายก็จะเต็มไปด้วยน้ำ และเศษดินตะกอนที่ชะลงมา น้ำจะขุ่น และไหลเชี่ยว ถ้าอยากจะไปสำรวจปลาตามแหล่งน้ำธรรมชาติก็ต้องรีบไปแล้วหละ เนื่องจากทริปทองผาภูมิ-สังขละบุรีทริปที่แล้วของเราเป็นการไปเช้ามืดกลับ ทำให้เราไม่มีเวลาสำรวจปลาได้ละเอียดนัก ยังมีปลาคาใจผมอยู่อีกหลายสายพันธุ์ทีเดียว ตัวที่น่าจะพบได้ง่ายๆ อย่างเจ้าปลาม้าลายมุก (Branchydanio albolineatus) ก็ไม่มีให้เห็นแม้ แต่เงา คุณโทนี่ก็ยังไม่ได้เห็นปลาค้อหลายๆ ตัวที่ตั้งใจไว้ อย่ากระนั้นเลย ก่อนที่น้ำแดงจะลง เราไปตะลุยดินแดนสุดเขตชายแดนภาคตะวันตกแห่งนี้กันอีกซักครั้งดีกว่า

เนื่องจากเป็นวันหยุด 3 วันติดต่อกัน ผม โทนี่ และคุณหมี จึงตกลงที่จะสะสางภารกิจกันในวันเสาร์ให้เสร็จก่อนแล้วจึงค่อยออกเดินทางกันตอนค่ำ พอเอาเข้าจริงๆ กว่าจะพร้อมออกจากกรุงเทพฯกันได้ก็เกือบ 5 ทุ่มเข้าไปแล้ว เนื่องจากเป็นถิ่นที่ผมไปเที่ยวมาตั้ง แต่เด็ก และ คุ้นเคยทางเป็นอย่างดี งานนี้ผมก็เลยรับหน้าที่เป็นพลขับอีกครั้ง กองทัพเดินด้วยท้อง เรามาหยุดที่ตัวเมืองกาญจนบุรี เพื่อกิน"ข้าวเย็น" กันสักหน่อย ผมมีร้านโปรดอยู่ร้าน ใครผ่านไปมาแวะไปรับรองว่าไม่ผิดหวัง มาถึงตัวเมืองกาญฯแล้ว เมื่อถึงจุดที่ทางด้านขวามือเป็นตลาดโต้รุ่ง ให้เล็งทางซ้ายไว้ ถ้าเห็นน้ำพุรูปปลากัดน่าตาแปลกๆ เมื่อไหร่ให้เลี้ยวขวาเข้าไปจนถึงหัวมุมด้านซ้ายตรงข้ามกับสถานีรถทัวร์ ร้านนี้นอกจากมีข้าวมันไก่รสดีแล้ว สิ่งที่ผมติดใจที่สุด คือขนมปังเย็นที่มาทีเป็นจาน โปะด้วยน้ำแข็งไสราดน้ำแดง และนมข้นแบบไม่มีขี้เหนียว กินกัน 3 คนพอดีๆ ครับ กว่าเราจะมาถึงท่าแพมิตรสัมพันธ์ที่ตัวอำเภอสังขละบุรีกันก็เกือบตี 3 แล้ว เขื่อนวชิราลงกรณ์ (เขื่อนเขาแหลมเดิม) วันนี้น้ำลดลงจากหนที่แล้วมากเลยทีเดียว ทางเขื่อนคงจะเร่งปล่อยน้ำ เพื่อเตรียมรับกับหน้าฝนของแถบนี้ที่ตกกันแถบจะไม่หยุดทั้งอาทิตย์ จากท่าแพมิตรสัมพันธ์เราก็ต่อเรือที่นัดให้มารับไปยังแพพักบริเวณปากแม่น้ำรันตีอีกประมาณ 10 นาที อากาศดีทีเดียว ไม่ร้อนจนเกินไปนัก คืนนั้นเรานอนหลับไปด้วยความเหนื่อยอ่อน

วันแรกกับแม่น้ำซองกาเลีย และน้ำตกตะเคียนทอง

7.30 ผมก็ตื่นขึ้นมาแล้ว อยู่ต่างจังหวัดอากาศตอนเช้าๆ ดีจะตาย ผมต้องตื่นมาเก็บไว้ให้เต็มปอด วันนี้มีพระ 2 รูปนั่งเรือหางยาว มาบิณฑบาตที่แพด้วย เราตักบาตรกันเรียบร้อยก็เตรียมตัวออกเดินทางไปสู่หมายของเรา ในวันนี้เราตั้งเป้าหมายไว้ 2 แห่ง คือ แม่น้ำซองกาเลีย และน้ำตกตะเคียนทอง สายน้ำทั้ง 2 แห่งมีต้นกำเนิดมาจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร โดยที่น้ำตกตะเคียนทอง นั้นจะไหลลงสู่แม่น้ำซองกาเลียอีกที พูดถึงสายน้ำแล้วก็บรรยายแหล่งน้ำแถวนี้ให้ละเอียดไปเลยดีกว่า เขื่อนวชิราลงกรณ์จะได้น้ำมาจาก แม่น้ำ 3 สายหลัก คือ แม่น้ำรันตี แม่น้ำซองกาเลีย และ แม่น้ำบีคี่ โดยที่สายน้ำทั้งหมดนั้นมีต้นน้ำอยู่ในแถบเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร และเทือกเขาตะนาวศรีนี่เอง เดิมนั้นแม่น้ำทั้ง 3 สายจะไหลมารวมกันในจุดที่เรียกว่า สามประสบ ซึ่งเป็นที่ตั้งของตัวอำเภอสังขละบุรีเดิม เมื่อมีการสร้างเขื่อนขึ้น ตัวอำเภอ และสามประสบจึงจมอยู่ใต้น้ำเหลือ แต่คำเล่าขานต่อกันมา จริงๆ แล้วผมอยากเห็นมากเลย ว่าก่อนที่จะมีการสร้าง เขื่อนนั่นสามประสบเป็นอย่างไร ทุกวันนี้สิ่งที่พอจะแสดงว่าครั้งหนึ่งตัวอำเภอสังขละบุรีอยู่ตรงนี่ก็คงมี แต่ซากปรักหักพังของ วัดวังวิเวการามที่จมน้ำอยู่ และมีบางส่วนโผล่มาให้เห็นแล้ว แต่จังหวะน้ำในเขื่อนจะขึ้นหรือลงมากน้อยแค่ไหน รำพึงรำพันไปซะยาว เอาเป็นว่า แม่น้ำ 3 สายนั้นจะรวมกันเป็นแม่น้ำแควน้อยครับ ซึ่งแม่น้ำแควน้อยเนี่ยก็จะไหลไปรวมกับแม่น้ำแควใหญ่ที่ตัวเมืองจังหวัดกาญจนบุรี กลายเป็น แม่น้ำแม่กลอง ไหลผ่านหลายจังหวัดจนไปลงทะเลที่จังหวัดสมุทรสาคร

กลับมาที่แม่น้ำซองกาเลียอีกครั้ง ระดับน้ำในแม่น้ำยังไม่เปลี่ยนไปจากเมื่อ 2 อาทิตย์ก่อนมากนัก ผมหยิบเจ้าแคนนอน G1 คู่ใจออกมาจากกระเป๋า เพื่อเตรียมจะนำใส่ถุงกันน้ำ แต่ก็ต้องหงายหลังเมื่อพบว่า กล้องนั้นเปิดมาตลอดทาง และถ่านก็อ่อนกำลังมากๆ แล้ว แย่ครับ ถ่านสำรองที่เตรียมมาก็ยังไม่ได้ชาร์ต เอาเป็นว่าวันนี้ผมเลยต้องดำน้ำ สำรวจปลาโดยที่ไม่มีกล้องคู่ใจเคียงข้าง ผมไม่มีเป้าหมายอะไรเป็นพิเศษที่หมายนี้ ใส่หน้ากากคาบท่อหายใจเสร็จก็โดดลงแม่น้ำไปก่อน เพื่อน วันนี้ไม่มีอะไรตื่นเต้นมากนัก ที่น่าสังเกต คือปลาน้ำหมึก กาญจนบุรีBaririus sp. Kanchanaburi ที่มีอยู่พอสมควรในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา วันนี้หายกันไปหมดแล้ว ปลาที่เราพบเมื่อครั้งก่อนๆ ก็มี แต่ลูกปลาขนาดเล็ก เราคาดว่าในช่วงหน้าน้ำ ปลาน้ำหมึกที่โตขึ้นคงจะอพยพขึ้นไปทางต้นน้ำกันหมดแล้ว แต่เราก็ยังไม่มีหลักฐานอะไรมายืนยันในจุดนี้ ไว้คงต้องลองขึ้นไปดูกันสักครั้งหละครับ นอกจากนั้นก็ยังมีลูกอ๊อดตัวใหญ่ของกบอะไรก็ไม่รู้ที่มีวงสีส้มสดข้างตัวดูเก๋ไก๋ วันนี้มีเยอะมากเป็นพิเศษ

ปลาเด่นๆ ในวันนี้ก็ยังคงเป็นปลาตัวเดิมๆ เจ้าปลาซิวกาญจนบุรี ปลาซิวพันธุ์ใหม่ของไทยที่ยังไม่ได้บรรยายลักษณะทางอนุกรมวิธาน เจ้านี่จะหน้าตา คล้ายๆ กับRasbora rasbora ต้นพันธุ์ของปลาซิวทั้งหลายทั้งปวงจากประเทศอินเดีย คราวนี้ก็ยังมีให้เห็นอยู่เป็นจำนวนมาก ปลาค้อขนาดเล็กที่ ไม่ขี้อายอย่างเจ้าAcanthocobitis zonalternans ก็ยังมีให้เห็นทั่วไป ปลาหมูค้อฝูงเล็กๆ ซัก 4-5 ตัวว่ายลัดเลาะอยู่ตามโขดหินใหญ่ ผมค่อยๆ ปล่อย ให้ตัวไหลไปตามกระแสน้ำจนไปเกยตื้นอยู่ตรงแก่งด้านล่าง ปลาค้อขนาดใหญ่น่าจะอยู่กันแถวนี้ เพราะเจ้าพวกนี้จะไม่ชอบโชว์ตัวนัก ผมค่อยๆ พลิกหิน ก้อนที่คิดว่าจะมีปลาซ่อนอยู่ข้างล่างทีละก้อน และในที่สุดก็ได้พบกับปลาค้อ Schistura desmotes ตัวนึงหลบอยู่ ผมลองเช็คเจ้า G1 คู่ใจดูก็ปรากฏ ว่ายังพอมีไฟอยู่ เลยถ่ายไปได้ 2 รูป ทางพี่หมีกับโทนี่ ใช้สวิงขนาดเล็กไล่ช้อนปลาอยู่ตามแหล่งน้ำไหล ซึ่งปลาที่น่าสนใจ คือเจ้าปลาปักเป้าตัวกลม ที่ ด้านข้างลำตัวมีจุดสีแดงชัดเจนน่ารักดี ปลาตัวนี้คุณโทนี่เคยจับได้จากแหล่งน้ำไหลในจังหวัดราชบุรีมาแล้ว การที่ได้มาเจอที่นี่จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรนัก

เราตัดสินใจเดินขึ้นไปทางต้นน้ำอีกหน่อย ระหว่างที่ เพื่อนร่วมทริปทั้ง 2 กำลังสาละวนกับการไล่จับปลาค้อ และปลาหน้าดินอื่นๆ ผมก็ปลีกตัวไปดำน้ำเล่นอยู่อีกฟากของแม่น้ำ จุดนี้เป็นจุดที่มีขอนไม้ขอนซุงสะสมอยู่ค่อนข้างมาก และยังมีกอต้นไม้ขึ้นอยู่ริมฝั่งด้วย ปลาที่พบยังเป็นปลาเดิมๆ แต่ซักพักผมก็ เหลือบไปเห็นฝูงปลาซิวขนาดเล็กๆ เข้า ตอนแรกนึกว่าจะเป็นเจ้าปลาซิวกาญฯ แต่เมื่อว่ายเข้าไปใกล้อีกหน่อยผมก็ต้องประหลาดใจ ปลาซิวฝูงนี้ ไม่ใช่ปลาซิวกาญฯแน่นอน มันดูคล้ายกับปลาซิวที่พบทางแม่น้ำสารวิน Rasbora daniconius มากกว่า แต่ตัวของมันก็มีขนาดเล็กเกินไป และแถบสีทองก็ไม่ชัดเหมือนปลาซิวสารวิน ฮ่ะ ฮ่ะ ผมเจอปลาเด็ดๆ อีกแล้ว ผมรีบเรียกให้พี่หมีมาช่วยดูว่าปลาซิวตัวนี้เป็นปลาอะไรกันแน่ แต่เมื่อพี่หมีดูแล้วก็ไม่สามารถให้คำตอบกับผมได้ เอาเป็นว่าถ้าผู้เชี่ยวชาญปลาไทยอย่างท่านพี่ไม่ทราบผมก็คงไม่กล้าจะเดาหรอก เราเก็บตัวอย่าง ปลาซิวฝูงนี้มาประมาณ 20 ตัว ส่วนนึงผมนำมาเลี้ยงไว้ที่บ้าน และอีกส่วนพี่หมีจะเก็บไว้ เพื่อจำแนกสายพันธุ์ต่อไป จากการสังเกตผมพบว่า ปลาซิว พันธุ์นี้จะอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่ๆ หลายสิบตัวในบริเวณที่น้ำไหลค่อนข้างแรง ไม่เหมือนปลาซิวกาญฯที่มีขนาดใหญ่กว่า และจะอยู่กันเป็นฝูงเล็กๆ ในบริเวณที่น้ำไหลไม่เชี่ยวนัก ผมคว้าเจ้ากล้องคู่ใจที่อ่อนแรงขึ้นมาอีกครั้ง และพยายามจะถ่ายฝูงปลาซิวตัวแปลกไว้ แต่เพียงแค่แช๊ะแรกเจ้า G1 ก็ปิดตัวเองลง เอาเป็นว่าผมไม่มีกล้องดิจิตอลใช้แล้ววันนี้ เหลือ แต่ Canon EOS 50e คู่ใจอีกตัว แต่เจ้านี่ก็ลงใต้น้ำไม่ได้ ถ่ายข้างบนก็ยังดีนิ

หลังจากหายตื่นเต้นกับปลาซิวแล้ว ผมก็ดำไปเจอรากไม้ใหญ่เข้า ปลาปักเป้าจุดแดงตัวเล็กๆ ตัวนึงหากินอยู่ในดงไม้ ผมเพิ่งเคยเห็นปลาปักเป้าในธรรมชาติเป็นครั้งแรกเลยตื่นตาตื่นใจเป็นพิเศษ ลีลากระพือครีบที่เล็กๆ แต่เร้าใจ ลอยตัวตอดนู่นตอดนี่ไปเรื่อยๆ น่ารักมากๆ เสียดายที่กล้องไม่ทำงานซะแล้วไม่งั้นผมคงกดไม่ยั้ง ที่หมายรากไม้นี่ผมยังได้เจอกับฝูงปลาสร้อยตาแดงขนาดใหญ่ และเจ้าปลากระสูบ ขนาดคืบกว่าๆ อีก 2 ตัว ทางคุณหมีกับคุณโทนี่ ตอนนี้ได้ปลามาพอสมควรแล้ว ผมเห็นในถังที่เตรียมมามี ปลาค้ออยู่หลายชนิด นอกจากนั้นก็ยังมี ปลากระทุงเหว ปลามุมหมาย ปลาปักเป้าจุดแดง ปลาสร้อยตาแดง แต่ที่ ทำให้คุณหมีดีใจมากก็ คือปลาแขยงภูเขาตัวสีเหลืองคาดเทาที่หาไม่ง่ายนัก หลังจากหมายนี้แล้วเราก็เดินย้อน สายน้ำลึกขึ้นไปเรื่อยๆ ดำสำรวจตามแก่งต่างๆ ซึ่งก็ไม่ได้เจอปลาที่น่าสนใจอะไรนอกจากปลาจาดสายพันธุ์ใหม่ที่เราพบเมื่อทริปที่แล้ว

เขียนมาไม่กี่ย่อหน้า แต่นี่ก็ปาเข้าไป เกือบบ่าย 3 แล้ว ข้าวปลายังไม่ได้กินกันเลย น้ำก็ไม่ได้เตรียมไป อาศัยว่าน้ำในลำธารนั้นสะอาดผมก็เลยแอบ จิบไปเรื่อยๆ แต่ในเมื่อกองทัพต้องเดินด้วยท้อง พวกผมก็เลยจำต้องเดินกลับไปตรงจุดที่เราจอดรถไว้ ขาไปก็กำลังตื่นเต้นก็เดินไปเรื่อยๆ แต่ขากลับนั้นลำบาก และเหนื่อยมาก เราย้อนกลับไปที่ร้านส้มตำไก่ย่างเจ้าโปรดของผมทุกครั้งที่มาที่แม่น้ำซองกาเลีย ผมมักจะฝากท้องไว้กับร้านนี้เสมอ มื้อนี้เราก็อิ่มหนำสำราญกันอีกครั้ง รีบกินแล้วก็รีบไปที่หมายต่อไปที่ตั้งใจไว้ หมายนี้เป็นน้ำตกในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรห่างออกไปจากจุดแรกประมาณ 20 กิโลได้ เราเคยเข้าไปสำรวจตรงน้ำตกสายหลักแล้วคราวนี้เราเลยจะลองเข้าไปทางสายย่อยดูบ้าง แม่น้ำตื้นๆ พื้นเป็นกรวด ป่าข้างๆ สมบูรณ์มากๆ ที่น่าแปลก คือในน้ำที่ดูว่าน่าจะอุดมสมบูรณ์แห่งนี้กลับแทบจะไม่มีปลาให้เห็นเลย เราช้อนกันอยู่นานก็ไม่ได้ปลาที่น่าตื่นเต้นอะไร นอกจากปลากซิวกาญฯ และปลากระทุงเหวแล้วเราไม่พบปลาอย่างอื่นเลย

เย็นพอสมควรแล้วอากาศในป่าดิบชื้นเริ่มเย็นลงเรื่อยๆ แสงที่ผ่านต้นไม้ใหญ่น้อยก็เริ่มลดลง ฝนก็เริ่มตั้งเค้าแล้ว ลำธารที่เราเดินกันอยู่ไหลโค้งไปทางซ้ายเล็กน้อย เราตัดสินใจเดินทวนน้ำขึ้นไปเรื่อยๆ ผมเชื่อว่าลำธารจะต้องโค้งไปตัดกับทางเดินสายหลักในจุดที่ไม่ไกลเกินไปนัก เรายังไม่เจอปลาพันธุ์อื่นเลย แปลกมากๆ เราเดินเข้าป่าไปลึกขึ้นเรื่อยๆ ด้านหน้าเป็นหน้าผาดินค่อนข้างชัน ดูแล้วน้ำตรงจุดนั้นคงลึกพอดู ผมตัดสินใจปีนขึ้นไปเดินบนตลิ่งที่มีอยู่เล็กน้อย พลันสายตาก็เหลือบไปเห็นรอยเท้าของสัตว์ขนาดใหญ่ชนิดหนึ่ง ตอนแรกก็นึกว่าคงจะเป็นพวกหมูป่าหรือกวางที่มีรอยให้พบได้ทั่วไปในแถบนี้ แต่เมื่อพิจารณาดีๆ รอยเท้าที่พวกเราเห็นอยู่นี่ไม่ใช่รอยของสัตว์กีบแน่ๆ มันกลมๆ เหมือนกับพวกรอยเท้าสัตว์ตระกูลแมวตัวใหญ่ๆ มากกว่า ผมลองกำมือลงไปทาบดูก็ปรากฏว่าปิดกันมิดพอดีๆ แหะ แหะ ชักจะท่าไม่ดีซะแล้ว หลังจากสรุปได้ แล้วว่าน่าจะเป็นรอยเท้าของอะไร เราก็ออกเดินหน้าต่อไป ผมยังมั่นใจว่าทางเดินสายหลักต้องอยู่อีกไม่ไกล เราไปกันได้อีกสัก 2 โค้งป่าข้างทางดูรกทึบขึ้นมาก ฝนก็เริ่มตกแล้ว ผมชักจะไม่แน่ใจ ความกลัวเริ่มมีมากกว่าความกล้า ถ้ายังเดินต่อไปเรื่อยๆ แล้วไม่เจอทางหลักหละ? ใกล้มืดแล้วด้วย ไฟฉายก็ไม่มี ถ้าไปเจอเจ้าของรอยเท้าเข้าหละ เมื่อความกล้าหมดลง ความมั่นใจก็หมดลง ผมเลิกดื้อ และยอมเดินย้อนกลับตามคำแนะนำของ เพื่อนร่วมทาง ผมไม่แปลกใจที่ตัวเองรู้สึกโล่งใจอย่างประหลาดเมื่อเราตัดสินใจกลับทางเดิม

กว่าเราจะกลับมาถึงรถได้ก็ปาไปเกือบ 6 โมงแล้ว ฟ้าสลัวเต็มที ฝนยังตกอยู่ปรอยๆ ผมค่อยๆ ขับรถออกไปตามทางที่คดเคี้ยว มาได้สักครึ่งทาง คุณหมีก็เหลือบไปเห็นลำธารสายเล็กๆ ไหลอยู่ริมถนนเลยบอกให้ผมจอดรถหน่อย ลำธารอยู่ต่ำจากระดับถนนไปพอสมควร คุณหมีลงไปยืนชะโงกดูจากถนนสักพักแล้วก็วิ่งดุ๊กๆ ลงไปยืนดูอยู่ริมลำธาร บอกตรงๆ ว่าผมไม่ค่อยจะเชื่อน้ำยาลำธารสายนี้สักเท่าไหร่ เพราะขนาดลำธารสายใหญ่ที่เราเพิ่งไปกันมายังไม่มีอะไรเลย แล้วลำธารที่ไหลรินเหมือนกับใครลืมเปิดก๊อกน้ำทิ้งไว้จะมีปลาอะไรได้ ยังคิดไม่ทันจบ คุณหมีก็เดินกลับขึ้นมาที่รถ บอกว่าให้เปิดท้ายรถทีจะเอาสวิง ในลำธารมีเจ้าม้าลายมุก (Branchydanio albolineatus) เต็มไปหมดเลย ตอนแรกผมก็นึกว่าโดนอำ เพราะจริงๆ แล้ว ผมเพิ่งบ่นถึงเจ้าม้ามุกเมื่อตอนที่เราเพิ่งขึ้นรถมานี่เอง ผมคว้าสวิงเดินตามคุณหมีไปที่ลำธาร แล้วผมก็ได้เห็นแหล่งที่อยู่ของปลาม้าลายมุกเป็นครั้งแรกในชีวิต ลำธารสายนี้เล็กมากจริงๆ บางช่วงกว้างไม่ถึง 2 ศอก เราช้อนได้ปลาม้ามุกหลายตัว บางทีก็มีลูกปลาซิวกาญฯ และลูกปลาซิวใบไผ่ (Danio regina) ติดมาด้วย นอกจากนั้นเรายังได้ปลาช่อนก้างขนาดเล็กอีกหลายตัว เราเก็บตัวอย่างปลาม้าลายมุกมาซัก 10 ตัวส่วนปลาที่เหลือก็ปล่อยคืนไปหมด สำหรับปลาม้าลายมุกจากแหล่งนี้นั้น จะมีความแตกต่างจาก เพื่อนร่วมสายพันธุ์จากแถบลุ่มแม่น้ำสารวินซึ่งเป็นม้ามุกที่มีขายอยู่ในตลาด ตรงที่พวกเค้าจะมีแถบเส้นสีทองดำเริ่มจากกลางลำตัวไปสุดที่โคนหางในขณะที่ม้าลายมุกจากสารวินจะไม่มีเส้นนี้ให้เห็น

ตะลุยห้วยยามค่ำ

กว่าเราจะกลับถึงแพที่พักกันก็ทุ่มกว่าๆ แล้ว เนื่องจากเราเพิ่งกินข้าวเหนียวไก่ย่างกันไปเมื่อตอนบ่าย 3 เราจึงยังไม่หิวกันมากนัก วันนี้แม่ครัวมีข้าวเหนียวทุเรียนมาให้รองท้องกันก่อน ระหว่างกินอาหารเย็นตอนเกือบๆ 3 ทุ่มเราปรึกษากันถึงลำธารสายหนึ่งในไร่ไม่ห่างจากแพที่พักไปนัก ไร่แห่งนี้เป็นที่ราบที่ถูกหุบเขาขนาบไว้ทั้ง 2 ข้าง ด้านในสุดของไร่มีลำธารสายเล็กๆ อยู่ ซึ่งน้ำนั้นไหลออกมาจากถ้ำ และก็ไหลกลับเข้าถ้ำไปอีกฟากภูเขา คนงานเล่าว่า ตอนกลางคืนในช่วงหน้าฝนเค้ามักจะเห็นปลาดุกตัวขนาดสักคืบกว่าๆ ออกมาหากินในลำธารเสมอๆ ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าพวกเราสนใจอยากจะเห็นเจ้าปลาดุกที่ว่ากันมากๆ คุณหมีคาดว่าปลาที่คนงานบอกคงจะเป็นปลาชะโอนถ้ำชนิดหนึ่ง อย่ากระนั้นเลย จำเราจะต้องไปพิสูจน์ เดินป่าตอนกลางคืน คงสนุกดีเหมือนกัน

เราใช้เวลาเดินขึ้นเขาข้ามห้วย(น้ำแห้งไปแล้ว)ร่วมๆ ครึ่งชั่วโมงท่ามกลางบรรยายป่าๆ ก็ไปถึงลำห้วยที่เราตั้งใจจะมาสำรวจ แว่บแรกที่สปอร์ตไลท์ในมือ คุณหมีส่องลงไปในน้ำ พวกเราก็ได้ประทับใจไปกับฝูงปลาซิวใบไผ่ (Danio regina) ที่มีอยู่มากมาย และบางตัวมีขนาดใหญ่เกือบ 3 นิ้ว จากจุดนั้นเรา เดินย้อนลำธารขึ้นไปเรื่อยๆ เราจับปลาค้อสีแปลกๆ ได้หลายตัวเหมือนกัน แต่ก็ไม่มีร่องรอยของปลาดุกที่ว่า พี่ที่นำทางเราเข้าไปในไร่ บอกว่าช่วงนี้น้ำลงเยอะ ปลาคงกลับเข้าถ้ำกันไปหมดแล้ว

เนื่องจากว่าคุณหมีมีสปอร์ตไลท์อยู่ในมือ เราจึงยกให้พี่เค้านำหน้า โดยพื้นลำธารที่เป็นโคลนแดงๆ นั้น เมื่อย่ำลงไปแล้วก็จะฟุ้งกระจาย ทำให้น้ำขุ่นมากๆ ผมกับคุณโทนี่ที่เดินตามอยู่ข้างหลังนั้นก็คอยมองข้ามไหล่คุณหมีไปดูข้างหน้า เรามาถึงจุดที่มีปลาค้อหลบอยู่ตามกอตะไคร่น้ำหลายตัว ขณะกำลัง จะเริ่มจับคุณหมีก็ร้องขึ้นมาว่า "งู!!!!" พร้อมกับชักเท้าออกจากน้ำทำเอาพวกเราทุกคนหยุดกันไปหมด เพราะตอนนี้น้ำในห้วยขุ่นมาก ผมนั้นยืนนิ่ง ถามคุณหมีให้แน่ใจอีกครั้งว่างูแน่นะ ซึ่งพี่แกก็ยืนยันพร้อมทำมือให้ดูว่าตัวมันต้องมีน้องๆ กระปุกฟิล์มถ่ายรูป ยิ่งรู้ว่าตัวใหญ่ทุกคนก็ยืนนิ่งกันไปหมด ถ้าเป็นงูบกน่าจะโผล่ออกมาจากน้ำได้แล้ว ถ้าเป็นงูน้ำเราก็ไม่รู้ว่าเป็นงูอะไร รู้ แต่ว่าตัวไม่เล็กแน่ๆ

ท่ามกลางความเงียบของป่าในคืนที่มี แต่เสียงลำธาร และแมลงเรไร พวกเรายืนนิ่งมองหน้ากันเหงื่อแตกพลั่ก คงจะเป็นเวลาไม่กี่วินาที แต่ผมรู้ สึกเหมือนนานเหลือเกิน ในเมื่อเจ้างูไม่ขยับหรือโผล่ออกมา พวกเราก็คงต้องเป็นฝ่ายขยับ นึง ส่อง ซ่ำ ทุกคนกระโดดขึ้นฝั่งในจุดที่ใกล้ที่สุด อย่างพร้อมเพรียงกัน เอาเป็นว่าเรารอดพ้นจากวิกฤตการณ์ครั้งนี้ไปได้ คราวนี้ทุกคนเลยปอดเดินบนฝั่งกันหมด อีกพักใหญ่ก็ยังไม่มีวี่แวว ของปลาดุกประหลาดให้เราเห็น เกือบจะเที่ยงคืนแล้วด้วย พรุ่งนี้โปรแกรมยังอีกยาว เราเลยตัดสินใจกลับแพที่พักกันดีกว่า

ยกยอ และห้วยมหัศจรรย์

เช้าตรู่ของวันรุ่งขึ้น สงสัยจะราวๆ ตี 4 ครึ่ง คุณหมี และคุณโทนี่ ซึ่งยังไม่เคยเห็นการยกยอของเขื่อนวชิราลงกรณ์ก็ออกเรือมุ่งสู่ปากแม่น้ำซองกาเลีย ยอแถบนี้จะเป็นยอขนาดใหญ่ที่ใช้รอกในการช่วยยกตัวคันซึ่งทำจากไม้ไผ่ขนาดใหญ่ ลักษณะของผ้ายอจะเป็นผ้าที่ตาถี่มากๆ เพราะเป็นยอที่ใช้จับปลาเล็ก เพื่อนำเป็นเป็นอาหารให้ปลาในกระชังอีกที ลักษณะการล่อปลานั้นก็เหมือนกับการไดน์ปลาหมึกในทะเล คือชาวประมงจะใช้ไฟนีออนสีเขียวห้อยไว้ปริ่มๆ น้ำ ไฟจะดึงดูดลูกไรน้ำจืดให้เข้ามา แล้วปลาเล็กก็จะตามเข้ามากินลูกไร ปลาใหญ่ก็จะตามเข้ามากินปลาเล็ก ซึ่งปลาที่ติดยอขึ้นมาส่วนใหญ่จะเป็น ปลาซิวแก้ว ปลาแป้นกระจก ปลาซิว ปลาแปป และปลาสร้อยต่างๆ นานๆ ทีโดยเฉพาะในช่วงหน้าฝนเราก็จะได้ปลาขนาดเล็กแปลกๆ เช่นปลากระทิ และ ปลาเล็บมือนาง โดยบางครั้งปลาใหญ่ๆ ก็มีหลงเข้ามาเหมือนกัน ล่าสุดมีข่าวว่ามีคนจับปลาเค้าดำขนาดเกือบ 2 กิโลได้ด้วยยอในลักษณะเดียวกันนี้ด้วย งานนี้คุณหมีได้ตัวอย่างปลากลับไปเป็นปี๊บเลย

หลังจากรับประทานอาหารเช้าแล้ว เราก็แพ๊คกระเป๋า พอจัดการนำปลาที่จะนำกลับมาเลี้ยงใส่ถุง และถังเรียบร้อยก็ออกเดินทางสู่หมายแรกของเรา ซึ่งเป็นลำห้วยขนาดกลางอยู่ริมถนนสาย ทองผาภูมิ-สังขละบุรี หมายนี้เป็นหมายเดียวกับที่เราแวะกันในทริป ทองผาภูมิ-สังขละครั้งแรก ซึ่งคราวนั้นเราไม่มีเวลาสำรวจมากนักแถมฝนก็ตกด้วย คราวนี้เราเลยกลับมาอีกที เพราะยังมีแก่งหินน้ำไหลอีกหลายจุดที่น่าสนใจ มาคราวนี้ระดับน้ำสูงขึ้น ไหลเชี่ยวขึ้น และ เริ่มมีฝุ่นตะกอนแล้ว ทำให้เราไม่สามารถถ่ายภาพใต้น้ำได้ แต่หมายนี้ก็ไม่ ทำให้เราผิดหวัง เมื่อปลาที่จับขึ้นมาได้ แต่ละตัวนั้นเป็นปลาที่ไม่ค่อยได้พบเห็นบ่อยนัก และความหลากหลายของลำห้วยแห่งนี้ ทำให้พวกเราทึ่งมากๆ ยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างปลาในตระกูลปลาเลียหิน Gara sp. นั้นในแก่งหินแก่งเดียวเราพบถึง 3 สายพันธุ์ ปลาในตระกูลแค้ภูเขา Glyptothorax sp. ก็พบถึง 2 สายพันธุ์ในครั้งนี้รวมกับอีกสายพันธุ์ที่เราพบในคราวที่แล้ว ทำให้ลำธารแห่งนี้มีปลาแค้ภูเขาถึง 3 สายพันธุ์ ปลาค้อก็มีมากมายหลายตระกูล เยอะจนผมงงว่า แต่ละสายพันธุ์ นั้นมีหน้าที่แตกต่างกันอย่างไรในธรรมชาติ

หลายๆ ทริปที่ผ่านมานั้น เวลาที่มีจำกัด และการที่ต่างคนต่างตื่นเต้นอยากจะจับปลา ทำให้บางครั้งเราได้ภาพปลา ที่ไม่สวยนัก โดยเฉพาะรูปที่ถ่ายแห้งๆ บนมือหรือสวิงนั้น มีบางท่านบ่นมาว่าไม่สวย คราวนี้ผมเลยอาสาจะเป็นตากล้อง โดยใช้ตู้ถ่ายขนาดเล็กแทน ซึ่งการถ่ายลักษณะนี้ ทำให้ได้ภาพที่สวยดูเป็นธรรมชาติ แต่ในขณะเดียวกันก็ถ่ายยากพอสมควร เพราะนายแบบนางแบบจะไม่ค่อยยอมอยู่นิ่งให้ถ่ายซักเท่าไหร่ เอาเป็นว่าในวันนั้นพี่ๆ หาปลาสายพันธุ์ต่างๆ ได้เร็วกว่าที่ผมถ่าย แต่ภาพที่ออกมาก็คุ้มค่า และดูดีกว่าปลาแห้งเป็นกอง เอาเป็นว่าถ้ามีเวลา และแสงให้ เราจะพยายามถ่ายในลักษณะนี้แล้วกันครับ

นกเงือกกลับบ้าน

เราออกจากหมายนี้เมื่อใกล้บ่าย ระหว่างทางเราต้องผ่านป่าที่ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ เมื่อขับมาเกือบถึงน้ำตกเกริงกระเวีย นกขนาดใหญ่สีดำ 2 ตัวก็บินตัดหน้ารถเราไปในระยะใกล้ๆ ผมเองนั้นดูไม่ทันว่าเป็นนกอะไร เพราะตาต้องมองถนนที่คดเคี้ยวอยู่ตลอด แต่คุณหมีซึ่งนั่งอยู่ด้านหลังนั้นเห็นชัดถนัดตา "นกเงือก นกเงือก จอดก่อน" เท่านั้นแหละครับ ผมรีบจอดแนบเข้าข้างทางเปิดประตูรถได้ก็วิ่งไปคว้ากล้อง และเลนส์ 300 MM คู่ใจออกมาถ่ายไปได้ 4-5 ภาพ นกที่เราพบเป็นนกเงือกขนาดใหญ่ที่ชาวบ้านเรียกว่านกกาฮัง (Buceros bicornis) ด้วยความที่เป็นนกขนาดใหญ่ และต้องการที่อาศัยหากิน และต้นไม้ที่ใช้ทำรังขนาดใหญ่ นกเงือกจึงถือเป็นดัชนีวัดความสมบูรณ์ของป่าตัวหนึ่ง นกคู่นี้ ทำให้เราใจชื้นขึ้นเยอะ กับสถานการณ์ของป่าต้นน้ำในแถบนี้ นกทั้ง 2 ตัวซึ่งเราเข้าใจว่าจะเป็นตัวผู้กับเมียกระโดดไปมาอยู่ซักพัก ก็บินหายเข้าไปในป่าลึก ประทับใจมากครับ เกิดมาเพิ่งเคยเห็นนกเงือกในธรรมชาติก็คราวนี้เอง เราแวะกินข้าวแกงร้อยหม้อแถวทองผาภูมิแล้วก็มุ่งหน้ากลับบ้าน เพราะผมมีภารกิจต้องทำตอนเย็น ขากลับเห็นลำธารเล็กๆ อยู่ริมทางก็ไม่วายแวะดูซักหน่อย ซึ่งก็ไม่ผิดหวัง เพราะเราได้เจอกับปลาม้าลายมุกอีกครั้ง พร้อมกับอึ่งอ่างตัวเล็กๆ อีกตัว ซึ่งภายหลังมาเช็คได้ว่าเป็นอึ่งข้างดำ จากหมายนี้เราก็มุ่งหน้ากลับกรุงเทพฯกันเต็มเหยียดเลยครับ ถือเป็นทริปที่เหนื่อย แต่ก็สนุกมากอีกทริปทีเดียว

หมายเหตุ: หลังจากที่เขียนบทความเรื่องนี้เสร็จก็ได้รับอีเมลล์จากคุณหมีเกี่ยวกับปลาซิวตัวที่พบที่แม่น้ำ ซองกาเลียดังนี้ครับ "ซิวซองกาเลียตอนนี้เปรียบเทียบตัวอย่างแล้วเหมือนกับตัวอย่างทางใต้ ตะวันออก และจากเจ้าพระยาตอนบนคาดว่าจะเป็น Rasbora paucisqualis แน่นอน"

more survey ...