Mammal Myth: นางอาย ใยเธอถูกสาปให้ก้มหน้า
เรื่อง: อุเทน ภุมรินทร์ ภาพ: กุลพัฒน์ ศรลัมภ์
ถ้าให้พูดถึง “ลิงลมหรือนางอาย (Slow loris)” เราคงนึกสัตว์รูปร่างหน้าตาอ้วนกลมราวตุ๊กตา เป็นสัตว์ขนาดเล็ก เช่น ลิงลมที่พบได้ในไทย มีน้ำหนักตัวประมาณ 500-1400 กรัม ชื่อ “loris” เป็นคำมาจากภาษาดัชท์ “loeris” หมายถึง ตัวตลกในละครสัตว์ (clown) ชื่อนี้ได้มาจากหน้าตาบ้องแบ๊วและท่าทางที่ดูงุ่มง่ามของมัน ตัวกลมป้อม หางสั้น ตากลมโต
แม้ว่าลิงลมจะเป็นสัตว์ในกลุ่มเดียวกับพวกลิง แต่หากใครเคยเห็นมันมาก่อนจากในสวนสัตว์ จะรู้ว่าแตกต่างกันราวคนละพวก นางอายนั้น ไม่ทะลึ่งตึงตัง เคลื่อนไหวรวดเร็วอย่างเจ้าจ๋อทั่วไป เนื่องจากมันเป็นสัตว์หากินเวลากลางคืน กลางวันมักหลบซ่อนตัว และด้วยความที่ดวงตากลมโต ช่วยในการมองเห็นเพื่อดำรงชีวิตในตอนกลางคืน แสงจ้าตอนกลางวัน ย่อมไม่เป็นผลดีกับดวงตา ‘บิ๊กอาย’ ของมัน มันจึงซุกหน้าลงกับทรวงอก แล้วกอดแขนทั้งสองข้างอ้อมหัวไว้จนมิด ท่าทางที่เราเห็นกันจนเป็น ‘แบรนด์เนม’ ของสัตว์ชนิดนี้ นำพาไปสู่เรื่องเล่าราวนิยายหรือความเชื่อต่างๆ นานา
เริ่มกันที่บ้านเรา คนไทยเชื่อว่า เหตุที่มันเอาหน้าซุกหน้าอก เป็น “นางอาย” อยู่อย่างนั้น เพราะมันขี้อาย ส่วนชาวแขกในแถบมลายูเชื่อกันว่า มันเป็นสัตว์ที่กลัวผี ถึงกับมีนิยายโบราณของบ้านเขาเล่ากันว่า สัตว์ชนิดนี้ไม่ค่อยจะมีความสุข เพราะทุกครั้งที่มันลืมตาขึ้นมาก็มักจะเห็นผี จึงต้องคอยซุกหน้าอยู่อย่างนั้น
แต่ที่เรื่องที่จำได้ขึ้นใจ คงต้องยกให้ตำนานที่ผมได้อ่านจากหนังสือ “ธรรมชาตินานาสัตว์” ของคุณหมอบุญส่ง เลขะกุล ยังนึกขำขันในความช่างคิดของชาวกะเหรี่ยงและพวกชาวลูไซทางอัสสัม ที่พวกเขาเชื่อกันว่า เหตุที่มันต้องปิดหน้าตาอยู่ตลอดวัน เพราะถูกพระอาทิตย์ท่านสาปแช่งเอาไว้ เหตุการณ์เป็นเช่นใด ทำไม? พระอาทิตย์จึงได้ลงทัณฑ์สาปส่งเจ้าลิงลมไว้เช่นนั้น เรื่องราวเล่าขานต่อๆ กันมาความว่า
กาลครั้งหนึ่ง ราชาผู้ทรงพระนามว่า “ธลังกรุคพา” ทรงสรวลสำราญพระทัยอะไรขึ้นมา จึงทรงให้มีงานเลี้ยงอาหารกันอย่างเอิกเกริก ได้ทรงเชิญสิงสาราสัตว์ทุกชนิดในสากลโลกมาร่วมงานเลี้ยง มาร่วมหฤหรรษ์ในงานมหาสมโภชครั้งนี้ด้วย สัตว์ที่มาในงานบางตัวก็ไม่ชอบแสงแดด หากโดนแดดแล้วอาจเป็นอันตรายได้ งานเลี้ยงเริ่มต้นตั้งแต่หัวค่ำ แขกทั้งหลายก็สรวลเสเฮฮาสนุกสนานจนกระทั่งเกือบจวนสว่างก็ไม่มีใครเบื่อหรืออยากเลิกเมื่อเป็นเช่นนี้พระราชาจึงได้ส่งสัตว์ตัวหนึ่งถือสาสน์ไปยังพระอาทิตย์ผู้เป็นพระสหายว่า “ขออย่าเพิ่งขับรถม้าไขแสงขึ้นมาตามกำหนดเลย ให้หยุดรถไว้ก่อนจนกว่างานเลี้ยงจะเสร็จเถิด”
พระอาทิตย์ท่านก็ทรงผ่อนปรน ยอมให้หยุดรถพักนอนเสียชั่วคราว แต่ได้ไม่นาน พระอาทิตย์เกิดอยากรู้ขึ้นมาว่า มันจะสนุกกันสักเพียงไหน ถึงได้มาขอร้องเราให้พักรถกันเลยทีเดียว ด้วยความที่อยากรู้นี่เอง ทำให้พระอาทิตย์ยอมเสียมารยาท ค่อยๆ โผล่หน้าขึ้นมาแอบดูตรงที่ขอบฟ้า ก็พอดีกับจังหวะได้เห็นนางอายกำลังเต้นระบำโป๊อยู่ เลยทรงสรวลขึ้นมาด้วยความขัน เจ้านางอายก็โกรธ ด่าทอต่อว่าพระอาทิตย์เป็นฟืนไฟ พระอาทิตย์เมื่อถูกเจ้านางอายต่อว่า ก็ทรงโกรธพิโรธราวกับไฟบรรลัยกัลป์ เลยสาปแช่งนางอายว่า
“นับแต่นี้เป็นต้นไป เจ้าจะไม่เห็นหน้าข้าอีก เจ้าจะไม่ได้ใช้แสงของข้าเดินทางท่องเที่ยวอีกต่อไปในชีวิตของพวกเจ้า”
นับตั้งแต่นั้นมา นางอายผู้ต้องคำสาปจึงต้องปิดหน้าตาของเธอให้พ้นจากแสงสว่างตลอดมา
นับตั้งแต่นั้นมา นางอายผู้ต้องคำสาปจึงต้องปิดหน้าตาของเธอให้พ้นจากแสงสว่างตลอดมาความเชื่อแนวนี้ยังพอเป็นเรื่อง “ขำๆ” แต่มีอีกหลายความเชื่อที่ส่งผลต่อการอยู่รอดของเผ่าพันธุ์ลิงลมในโลกของเรา เช่น ชาวสิงหลในอินเดียและศรีลังกาในอดีตมีความเชื่อว่า น้ำมันจากดวงตาใสโตของมันทำยาเสน่ห์ได้
นอกจากนี้ แขกมลายูบางพวกยังใช้กระดูกและขนของนางอายหรือน้ำมันจากดวงตามาเข้าเครื่องยา มีข้อความกล่าวไว้ว่า “ขนที่หนานุ่มของลิงลมใช้ในการห้ามเลือดได้ผลเป็นอย่างดี”
ความเชื่อที่คนเราสร้างเรื่องชวนเชื่อขึ้นมาเอง ทว่ามันกลับส่งผลให้สัตว์ป่าน่ารักชนิดนี้ กำลังถูกคุกคามอย่างสาหัส ตามตลาดชายแดนในประเทศไทย มีโอกาสไม่น้อยที่เราจะพบซากของลิงลมถูกแบะออก เอาเครื่องในออกหมด รมควันจนแห้งดูน่าเวทนา ปะปนกับกะโหลกเขาสัตว์ และกระดูกของสัตว์ป่าชนิดอื่นๆ
หากเข้าไปสอบถามคนขาย จะได้ความว่า “ไว้ใช้เป็นยา” เช่นเดียวกับในประเทศเวียดนามและกัมพูชาที่นำอวัยวะต่างๆ ของลิงลมไปใช้ โดยเชื่อว่า สามารถรักษาโรคกระเพาะอาหาร โรคหอบหืด โรคลมชัก โรคไขข้ออักเสบ ฯลฯ ทั้งนี้ ยังไม่มีการพิสูจน์ยืนยันทางการแพทย์ว่า รักษาได้จริงๆ หรือไม่ แต่ที่จริงแท้แน่นอน คือ มีลิงลมจำนวนไม่น้อยที่ต้องสังเวยชีวิตด้วยความเชื่อเหล่านี้
เนื่องด้วยความเชื่อที่ว่า หากไปพบเจอลิงลมเข้าขณะออกล่าสัตว์แล้วล่ะก็ เดินหันหลังกลับบ้านได้ เพราะว่าการออกล่าครั้งนั้น จะไม่พบเห็นสัตว์ออกมาให้ล่าเลย เหตุนี้ พรานจึงไม่ชอบลิงลมนัก บางคนบอกไว้ว่า หากพบลิงลมแล้วต้องยิงทิ้งเสีย มิฉะนั้นจะไม่มีทางประสบความสำเร็จในการล่าสัตว์ครั้งนั้นเลย ดังนั้นมันจึงเป็นเป้ากระสุนของพรานป่าด้วยความฉุนเฉียวอยู่เสมอๆ
นอกจากนี้ ลิงลมยังถูกลักลอบจับมาเป็นสัตว์เลี้ยง ในประเทศจีน ญี่ปุ่น และยุโรปลิงลมมีราคาตัวละหลายร้อยดอลลาร์ ในประเทศไทยเรานอกจากนำมาเป็นสัตว์เลี้ยง แล้วยังมีการลักลอบส่งไปขายยังต่างประเทศอยู่เสมอ โดยส่งไปให้ประเทศญี่ปุ่นเป็นส่วนใหญ่ลิงลมเป็นสัตว์ที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์มานานแล้ว มีความเชื่อมากมายทำให้อนาคตของสัตว์ที่มีใกล้ชิดกับเราชนิดนี้ดูมืดมน ถึงวันนี้ เราคงต้องอยู่กับความจริงที่ว่า สัตว์ป่าอย่างลิงลม ไม่ได้มีไว้เป็นเพียงแค่เครื่องประดับป่าเท่านั้น
ลิงลมทั้งหลาย เป็นผู้ควบคุมปริมาณสัตว์เล็กๆ ในธรรมชาติ เป็นข้อต่อชิ้นสำคัญของห่วงโซ่อาหารในระบบนิเวศ มันกินสัตว์จำพวกแมลง กิ้งก่า นกเล็กๆ ที่หลบนอนอยู่ตามยอดไม้ในป่า จักจั่นตัวใหญ่ๆ ที่ชอบส่งเสียงร้องกล่อมป่ายามราตรี อีกทั้งยังเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามกฎหมาย พรบ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ดังนั้น การล่าหรือการเลี้ยงครอบครองย่อมมีความผิดตามกฎหมาย
คุณเชื่อไหม? ทว่าวันหนึ่งที่เราคุกคามเผ่าพันธุ์นี้จนสูญสิ้น
ถึงวันนั้น เราก็อาจต้องเตรียมตัวจากลาโลกสีน้ำเงินใบนี้เช่นเดียวกัน
เอกสารอ้างอิง
บุญส่ง เลขะกุล. 2537. ธรรมชาตินานาสัตว์ 1. พิมพ์ครั้งที่ 2 สำนักพิมพ์สารคดี กรุงเทพฯ. 352 หน้า
วัชระ สงวนสมบัติ. 2547. นางอาย, น. 303-315. ใน วัชระ สงวนสมบัติ, โดม ประทุมทอง, สมชัย เสริมสินเจริญชัยกุล และอรุณ ร้อยศรี, บรรณาธิการ. Life on earth. บริษัท สำนักพิมพ์กรีนแมคพาย จำกัด
สีฟ้า ละออง. 2552. การจำแนกลิงลมหรือนางอายในประเทศไทย. หน้า 179-183. ใน ผลงานวิจัยและรายงานความก้าวหน้างานวิจัย ประจำปี พ.ศ. 2551. กลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรุงเทพฯ.
Comments
ความคิดเห็น
ความเห็นที่ 1
ความเห็นที่ 2