จดหมายเหตุ: กรณีจระเข้เขาใหญ่ 2555

Text :  ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์
Photo:  เสฎฐวุฒิ วิเศษบุปผา

พ.ศ. 2547 มีรายงานพบจระเข้ที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เป็นครั้งแรก จากบริเวณเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ ผากล้วยไม้ ลำน้ำที่พบ คือลำตะคอง สายน้ำสายหลักที่ไหลหล่อเลี้ยงป่าเขาใหญ่ ว่ากันว่ามีสองตัว เกิดเป็นข่าวใหญ่โตอยู่พักใหญ่ ว่ามันมาได้อย่างไร ข่าวจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และ พันธุ์พืช ระบุว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2505 ซึ่งมีการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ยังไม่เคยมีรายงานพบจระเข้ในพื้นที่ ดังนั้นคาดว่าจระเข้ทั้งสองตัวจะเป็นจระเข้ที่มีคนนำมาปล่อย อีกสัก 2-3 ปีต่อมา พอจระเข้เริ่มตัวใหญ่ขึ้น เริ่มมีคนพบเห็นบ่อยขึ้น จึงกลายเป็นข่าวโด่งดังอยู่ช่วงหนึ่ง บ้างก็ว่าจะจับออกมา เพื่อพิสูจน์ว่าเป็นจระเข้ไทยหรือไม่ แต่ในที่สุดก็สรุปว่า ปล่อยมันไว้ เพื่อทำการศึกษาวิจัยก่อน แล้วค่อยว่ากันอีกที

2-3 ปีผ่านไป จระเข้เขาใหญ่อยู่ในที่ของมันได้เป็นอย่างดี สรุปว่ามี 2 ตัว น่าจะเป็นเพศผู้ทั้งคู่ จากภาพถ่ายที่เห็นนักท่องเที่ยวถ่ายกันมาได้เรื่อยๆ พบว่ามีลักษณะภายนอกคล้ายกับจระเข้น้ำจืดไทยมากที่สุด (ที่เขียนเช่นนี้เพราะจระเข้ลูกผสมระหว่างน้ำจืดกับน้ำเค็มบางทีก็มีลักษณะคล้ายจระเข้น้ำจืดได้เหมือนกัน) แต่จากพฤติกรรมที่เห็นว่าไม่ก้าวร้าว ทำให้ผมพอจะเชื่อว่ามันน่าจะเป็นจระเข้น้ำจืด Crocodylus siamensis พันธุ์แท้ (แต่ก็ย้ำอีกครั้งว่ามีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นลูกผสมเหมือนกัน แต่ไม่ใช่จระเข้จากต่างประเทศหรือน้ำเค็มแน่นอน) ดูแล้วเหมือนจะชื่นมื่น จระเข้อยู่ได้ คนก็ได้เห็นจระเข้ในธรรมชาติ ผมนึกดีใจว่า ยังมีจระเข้อาศัยอยู่ในธรรมชาติให้คนไทยได้ดูบ้าง เพราะปัจจุบันจระเข้น้ำจืดสายพันธุ์ไทยจัดเป็นหนึ่งในชนิดที่ใกล้จะสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติที่สุดแล้วชนิดหนึ่ง  อย่างน้อยเรามีสองตัวนี้ไว้ ให้คนไทยได้เรียนรู้และคุ้นเคยที่จะเห็นจระเข้อยู่ในธรรมชาติบ้าง อีกหน่อยเราอาจจะมีโครงการปล่อยจระเข้ในป่าอื่นๆได้บ้าง 

จระเข้น้ำจืดสายพันธุ์ไทย เท่าที่ฟังมาและศึกษาตามข่าวและวิชาการ เป็นจระเข้ที่ไม่ดุร้าย ชาวบ้านที่คลองชมพู ในจ.พิษณุโลก ซึ่งยังมีจระเข้น้ำจืดตัวใหญ่ๆอาศัยอยู่ ก็ยืนยันว่ามันไม่เคยทำร้ายคน จระเข้ดุๆของไทย เท่าที่ติดตามข่าวและภาพดูเกือบทั้งหมดที่เห็นเป็นจระเข้น้ำเค็มซึ่งตัวใหญ่กว่าและก้าวร้าวกว่ามาก ผมค่อนข้างมั่นใจว่าถ้าไม่มีไอ้บ้าที่ไหนอุตริไปกระโดดปล้ำจระเข้ เจ้าสองตัวที่เขาใหญ่คงจะไม่ทำร้ายใคร 

เดือน ธค. 2555 จู่ๆก็มีข่าวออกมาว่า ต้องทำการจับจระเข้ทั้งสองตัวออกจากเขาใหญ่ โดยโดนตั้งข้อหาร้ายแรงหลายข้อ คือ

1.       เป็นเอเลี่ยนสปีซีย์หรือชนิดพันธุ์ต่างถิ่นของเขาใหญ่ - ข้อนี้ ต้องบอกก่อนว่าผมเชื่อว่าสองตัวนี้เป็นจระเข้ปล่อยแน่ๆ แต่ผมไม่เชื่อว่าดงพญาเย็น ไม่เคยมีจระเข้ ดังนั้นการที่ไม่เคยเจอตั้งแต่พ.ศ.2505 ไม่ได้หมายความว่าดงพญาเย็นไม่เคยมีจระเข้อาศัยอยู่ ทุกวันนี้ในอุทยานฯใกล้เคียงกับเขาใหญ่ เช่นปางสีดา ก็ยังมีรายงานจระเข้น้ำจืดอาศัยอยู่ แล้วทำไมเขาใหญ่จะเคยมีจระเข้ไม่ได้ ถ้าจะห่วงเรื่องเอเลี่ยนสปีซีย์จะกลับกันด้วยซ้ำ เพราะลำตะคองบนเขาใหญ่ถูกกั้นฝายเป็นช่วงๆ ทำให้จากระบบนิเวศน้ำไหลกลายเป็นน้ำนิ่ง แล้วก็มีคนเอาปลานิลไปปล่อยจนขยายพันธุ์เต็มไปหมด จระเข้น่าจะคอยช่วยจับปลานิลกิน ควบคุมประชากรไม่ให้ปลาต่างถิ่นจากทวีปแอฟริกาชนิดนี้มีมากเกินไปด้วยซ้ำ ถ้าจะเครียดกับเรื่องนี้จริงๆ ผมว่ากรมอุทยานฯ น่าจะหันไปควบคุมพืชต่างๆที่ตัวเองนำขึ้นไปปลูกในอุทยาน พืชต่างถิ่นที่พบเป็นจำนวนมากในหลายอุทยาน ปลาต่างถิ่นในลำห้วย หมา&แมว ทั้งที่เป็นจรจัดและที่เจ้าหน้าที่เลี้ยง รวมไปถึงอุทยานอื่นๆที่มีข่าวชาวบ้านเอาวัวเข้าไปเลี้ยงมากกว่า ที่จะมาเครียดกับเจ้าสองตัวนี้  

2.       ดุร้าย - เกรงว่าจะทำร้ายคน ข้อนี้ผมเชื่อว่าสองตัวนี้ได้พิสูจน์มาหลายปีแล้วว่ามันไม่ได้ก้าวร้าวเลย ถ้าเรากันที่ให้ชัดเจน ไม่ให้คนลงไปเล่นน้ำไปกวนมัน ทำป้ายเตือนนักท่องเที่ยว ออกกฎการอยู่ร่วมกันให้ชัดเจน ผมว่าโอกาสที่มันจะทำร้ายคนนั้นน้อยมาก และคิดว่าเป็นโอกาสในการเรียนรู้ที่ดีของคนทุกเพศ ทุกวัยและทุกชาติ ถ้าจะกลัวสัตว์ทำร้ายนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวเขาใหญ่ แล้วต้องจับออก เราคงต้องจับ เสือ ช้าง งูพิษ หมีควาย ทาก ยุง และ หมาไน ออกด้วย ผมคิดว่าคนมาเที่ยวป่า จะหวังว่าจะต้องปรอดภัยเหมือนเที่ยวห้างคงไม่ได้ ในเมื่อป่าคือบ้านของสัตว์ป่าและคนเป็นเพียงแค่ผู้มาเยือน เราต้องเคารพสัตว์และให้เกียรติ์มัน

ไม่ใช่ว่าเราไม่หวงสวัสดิภาพนักท่องเที่ยวหรือคนทั่วไป จะเห็นว่าไม่เคยมีใครออกมาคัดค้านโวยวายเวลามีจระเข้หลุดเข้าไปอยู่ในแหล่งชุมชน เราได้เห็นอธิบดีไกรทองถือปืนไล่ล่าไอ้เข้ ก็มีมาแล้ว คือเป็นผมๆก็ไม่สบายใจ แต่ 2 ตัวนี้มันอยู่ในป่านะครับ เราจะให้โอกาสมันอยู่บ้างไม่ได้หรือ?  ในเมื่อที่ผ่านมาพฤติกรรมของมันก็ชัดเจนว่าไม่ได้มีความก้าวร้าวใดๆ

3.       กินสัตว์หมดป่า – ตามข่าวบอกว่าจระเข้จะกินนากจนหมดลำน้ำ ข้อนี้ตามหลักแล้วไม่น่าจะเป็นไปได้ ผมเชื่อว่านากเรียนรู้ที่จะอยู่กับจระเข้ได้ เคยดูสารคดีในต่างประเทศ จระเข้กลัวนากด้วยซ้ำ ข้อสำคัญ นากยังมีอยู่มากมายในลำตะคอง ล่าสุดก็มีคนถ่ายภาพได้เป็นฝูงใหญ่ ไม่ได้หมดไปอย่างที่มีการกล่าวอ้าง ส่วน เหี้ย งู ลิง รวมไปถึงกวางนั้น ไม่มีทางเป็นไปได้เลยที่จระเข้จะกินจนหมดป่าเขาใหญ่ได้ โดยเฉพาะกวาง ซึ่งจระเข้น้ำจืด ไม่น่าจะมีขนาดใหญ่พอที่จะกินกวางได้ คือไม่ได้ต้องอ้างอิงวิชาการใดๆ ป่าเขาใหญ่กว้างใหญ่ขนาดไหน จระเข้สองตัวนี่จะกินสัตว์พวกนี้หมดได้อย่างไร? ลิงจะลงมาให้จระเข้กินปีหนึ่งสักกี่ตัว? เหี้ยปรับตัวเก่งอย่างนั้นจะโดนจระเข้กินหมดคงเป็นไปไม่ได้ ผมไม่เชื่อว่าในระบบนิเวศใหญ่ระดับเขาใหญ่ จระเข้แค่สองตัวจะกินอะไรให้หมดไปได้เลย

4.       ถ้าต้องการตรวจ DNA ว่าเป็นพันธุ์ไทยแท้หรือไม่ ผมเชื่อว่าเรามีวิธีการที่ดีกว่าเช่นการใช้ตัวอย่างจากอุจาระ (ซึ่งถามผู้เชี่ยวชาญแล้วว่าสามารถทำได้) ซึ่งเป็นวิธีการที่ดีกว่าเสี่ยงไปปล้ำจับมันขึ้นมาทั้งตัวมากมายนัก  เพราะถ้าตรวจแล้วออกมาว่ามันเป็นพันธุ์แท้แล้วถ้าท่านอยากให้มันอยู่ต่อ มันอาจจะเครียดและไม่อยากอยู่แล้วก็ได้ คือถ้าตรวจแล้วไม่ใช่พันธุ์แท้ จะคิดอ่านจับมันก็ค่อยว่ากัน ดีกว่าไปไล่จับมาก่อนแล้วค่อยมาพิสูจน์

สรุปคร่าวๆ ว่าผมไม่เห็นด้วยที่มีการยัดเยียดข้อหาให้กับจระเข้เขาใหญ่รอบนี้ และจากเมื่อหลายปีก่อนที่เคยบอกว่าจะมีการทำการวิจัยจระเข้ทั้งสองตัว ทุกวันนี้ผมก็ยังไม่เห็นว่าจะมีงานวิจัยอะไรออกมา จระเข้น้ำจืดสายพันธุ์ไทย ปัจจุบัน ขอย้ำอีกครั้งว่าเป็นชนิดที่ถือว่าเหลือจำนวนอยู่ในธรรมชาติน้อยที่สุดชนิดหนึ่งในโลก การที่มีสองตัวนี้อยู่ในจุดที่นักท่องเที่ยวเห็นได้ง่าย น่าจะใช้มันให้เป็นประโยชน์ เพื่อการท่องเที่ยว เพื่อการศึกษาให้กับประชาชนทั่วไป มากกว่าที่จะไปตั้งแง่กับมัน อย่างเช่นที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน  มีการท่องเที่ยวในหลายประเทศทั่วโลกที่นักท่องเที่ยวกับจระเข้ใกล้ชิดกันจนกลายเป็นจุดขาย ผมเชื่อว่าเราก็ทำได้

ในวันที่เขียนบทความนี้ ผมไม่แน่ใจว่ามันโดนจับไปหรือยัง แต่ถ้ายัง ผมขอร้องให้ท่านเปลี่ยนใจเถิดครับ ศึกษาวิจัยมันก่อน อย่างที่เคยได้กล่าวกันไว้ แล้วถ้าผลการวิจัยมันออกมาว่ามันจะกินนาก กินเหี้ย กินลิง หมดป่าจริงๆ สรุปว่ามันมีพฤติกรรมก้าวร้าวไล่กัดนักท่องเที่ยวจริงๆเกรงว่าจะเป็นภัยถึงแก่ชีวิต (โดยไม่ใช่นักท่องเที่ยวไปอุตริแหย่มันก่อน) วันนั้นเราค่อยมาจัดการมันก็ได้ แต่ตามข้อมูลเท่าที่มีอยู่ในปัจจุบันและการกล่าวอ้างที่ไม่มีรายงานวิชาการใดๆมารองรับตามข่าวนั้น

ผมยังอยากยกประโยชน์ในจระเข้ทั้งสองได้มีโอกาสใช้ชีวิตอย่างอิสระของมันต่อไปก่อนครับ 
 

หมายเหตุ
จระเข้น้ำจืดสายพันธุ์ไทย หรือ Crocodylus siamensis ชื่อวิทยาศาสตร์ของจระเข้ชนิดนี้ตั้งชื่อ สยาม เป็นเกียรติ์แก่ประเทศไทย แต่จริงๆแล้วมีการกระจายพันธุ์ค่อนข้างกว้าง ในเขตประเทศเวียตนาม ลาว กำพูชา และ ไทย โตเต็มที่มีขนาดประมาณ 4 เมตร อาหารส่วนใหญ่เป็น ปลา สัตว์เลื้อยคลาน และ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก ปัจจุบันจระเข้ชนิดนี้จัดเป็นจระเข้ที่มีจำนวนในธรรมชาติเหลืออยู่น้อยที่สุดชนิดหนึ่ง ประชากรที่ใหญ่ที่สุดที่ยังเหลืออยู่น่าจะอยู่ในประเทศกำพูชา ส่วนในประเทศไทย มีรายงานพบในเขตป่าอนุรักษ์บางแห่งเช่น แก่งกระจาน ทุ่งแสลงหลวง และ ปางสีดา ยังไม่มีรายงานว่าประชากรที่พบสามารถขยายพันธุ์ได้ ในปัจจุบันจระเข้สายพันธุ์นี้ยังเหลืออยู่มากในที่เลี้ยง และมีภาคเอกชนพร้อมที่จะบริจาคสายพันธุ์แท้เพื่อนำมาปล่อยในธรรมชาติ แต่ยังไม่มีหน่วยงานภาครัฐใดๆมีโครงการปล่อยจระเข้แต่อย่างใด  (เห็นแต่โครงการจับออก)

บทความที่เกี่ยวข้อง
รายงานการพบจระเข้น้ำจืดในเขตทุ่งแสลงหลวง จ.พิษณุโลก

อ้างอิง
http://www.thairath.co.th/content/edu/315012
http://www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9520000104081

Comments

ความคิดเห็น

ความเห็นที่ 1

กดlike 500000000000 T

ความเห็นที่ 2

สรุปได้เท่านี้ ผู้เกี่ยวของในกรมอุต แ่งบ้า

ความเห็นที่ 3

แหม...คนให้สัมภาษณ์ว่า จระเข้จะกินนาก กินลิง กินกวางนี่ มันเมาแฟลช เมาไมค์ ที่จ่อปากเปล่านี่  Non sense จริงๆ no

ความเห็นที่ 3.1

yesyesyes

ความเห็นที่ 4

..เชื่อข้อมูลพี่นณณ์ครับ 
..เพิ่มเติมนิดนึง จากข้อมูลที่ผมทราบเมื่อ 15ปีก่อน

   - จระเข้ที่เกษตรกรเลี้ยงเกือบทั้งหมดเป็นจระเข้น้ำจืดไทย
   - จระเข้น้ำเค็มมีเลี้ยงเฉพาะฟาร์มใหญ่ ไม่ถึงมือเกษตรกรทั่วไป
   - จระเข้ผสมน้ำจืด+น้ำเค็ม ตัวใหญ่ ดุร้าย มีไม่มากนักเฉพาะฟาร์มสมุทรปราการ ไม่ถึงมือเกษตรกรทั่วไป
   - เริ่มมีการนำเคแมนมาเลี้ยงเป็นจระเข้เนื้อแล้ว โดยฟาร์มสมุทรปราการ แต่มันตัวเล็กคงโดนจระเข้ไทยจับกินสะก่อนจะผสมข้ามพันธุ์กันได้
   - แม้หนังจระเข้น้ำเค็มจะราคาแพงกว่า แต่ยุคนั้นก็เลี้ยงจระเข้น้ำจืดกันเป็นล่ำเป็นสัน ไม่มีปัญหาอะไร ไม่มีความจำเป็นต้องปรับปรุงสายพันธุ์

.. คือจะบอกว่า ถ้าได้พบจระเข้ตามแหล่งน้ำที่หน้าตาเป็นจระเข้น้ำจืดไทย ก็คงจะคิดว่ามันเป็นน้ำจืดไทยแท้มากกว่าจะคิดสงสัยว่าจะเป็นพันธุ์ผสมหรือไม่ แต่ปัจจุบันนี้วงการเลี้ยงจระเข้มีการปรับปรุงสายพันธุ์ไปอย่างไรอีกหรือเปล่าไม่รู้ ใครมีข้อมูลเล่าให้ฟังบ้างนะครับ

ปล.จระเข้พันธุ์ผสมน้ำจืด+น้ำเค็ม ในอดีตก็คงมีเกิดขึ้นได้เองตามธรรมชาติ บริเวณพื้นที่รอยต่อสองน้ำ


 

ความเห็นที่ 4.1

ขอบคุณครับ ข้อมูลน่าสนใจมาก

ความเห็นที่ 4.2

 ไม่รู้ว่าแนวความคิดที่กลัวจระเข้พันธุ์ผสมจะหลุดลงธรรมชาติเกิดขึ้นตอนไหน  ผมว่าไม่น่ากังวล

ความเห็นที่ 4.3

...

ความเห็นที่ 5

เห็นดีด้วยอย่างยิ่งครับ หากทำงานบนฐานของวิชาการ เหตุผล และความเป็นจริง จริงๆ แต่ต้องไม่ลืมว่าในทางวิทยาศาสตร์เราต้องการเข้าใกล้ถึงความจริง โดยลดความเป็นวิสัย ไม่ลำเอียง ความลำเอียงมันเกิดขึ้นได้หลายแบบ  จริงอยู่ที่คนที่เห็นด้วยว่าควรเอาออกให้เหตุผลว่า สิ่งมีชีวิตอื่นๆ อาจจะสูญพันธุ์ นั่นก็อาจจะเกินจริง แต่อีกด้านหนึ่งคนที่เห็นด้วยว่า ควรจะให้มันอยู่ต่อ ก็อ้างว่าไม่มีผลกระทบใดๆ แต่ก็ไม่มีรายการการศึกษาเช่นเดียวกัน  แสดงให้เห็นว่าทั้งสองฝ่ายก็มีความ Bias เข้าข้างความคิดของตน  ปัจจุบันเราพูดกันมากเกี่ยวกับเรื่องวิทยาศาสตร์เทียม โดยเฉพาะในเมืองไทยมีการอ้างวิทยาศาสตร์อย่างพร่ำเพรื่อ  ซึ่งแท้จริงแล้วไม่ใช่วิทยาศาสตร์ แต่เป็นวิทยาศาสตร์เทียมนั่นเอง  การที่มีอคติ คิดหรือตัดสินข้อมูลก่อนย่อมเไม่ใช่วิถีวิทยาศาตร์  แต่สำหรับกรณีนี้ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องที่เราจะกำหนดนโยบายให้เหมาะสมมากกว่าจะเถียงกันเรื่องถูกผิด  มีหลายคำถามที่เราต้องถาม เช่น วัตถุประสงค์การใช้พื้นที่ตรงนั้นของอุทยานแห่งชาติคืออะไร ตรงนี้จะมีส่วนช่วยในการตัดสินใจ  
กรณีบอกว่าอนุรักษ์ เราต้องตอบว่าอนุรักษ์อะไร ถ้าหมายถึงธรรมชาติทั้งระบบเรื่องหนึ่ง ถ้าตอบว่าอนุรักษ์จระเข้ เราต้องการ reintroduction ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งแต่อย่างไรก็ดี กรณีนี้สามารถนำพิจารณาได้ในเชิงตรรกะอีกด้วย
แนวคิดกลุ่มที่หนึ่ง  คิดว่าไม่ควรเอาออก เหตุผลเพราะคิดว่าไม่มีการรายงานทางวิชาการว่า มันมีโทษหรือผลลบใดๆ ที่จะส่งผลต่อสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่นำไปสู่การสูญพันธุ์  ตรรกะนี้เหมือนกับการกระทำความผิดทางกฏหมายอาญา  หมายความว่า หากไม่มีหลักฐานจะถือว่าบุคคลผู้นั้นเป็นแค่ผู้ต้องสงสัย แต่ยังไม่มีความผิด จนกว่าจะมีหลักฐาน  แนวคิดนี้เป็นการป้องกันความผิดผิดพลาดในกระบวนการยุติธรรมที่อาจจะเกินได้ ก็คือ อาจจะเป็นแพะ
แนวคิดกลุ่มที่สอง คิดว่าควรเอาออก เหตุผลเพราะจระเข้ดังกล่าวถึงเป็นชนิดพื้นเมืองไทย แต่ไม่เคยมีปรากฏในเขาใหญ่มาก่อน กรณีนี้นับว่าเป็นสิ่งมีชีวิตต่างถิ่นของเขาใหญ่  คือไม่สนใจว่าจระเข้มันจะอยู่ได้หรือไม่ได้  แต่กรณีที่อยู่ย่อมส่งผลต่อระบบนิเวศไม่ว่าทางใดทางหนึ่งซึ่งอาจจะเป็นเชิงบวกหรือเชิงลบต่อสิ่งมีชีวิตต่างๆ กันไป ขึ้นกับว่าเราจะพิจารณาสิ่งมีชีวิตใด แม้ไม่นำไปสู่การสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตใดๆ ก็ตาม แต่มันก็ส่งผลในเชิงไปเปลี่ยนสมดุลเดิมให้เกิดเป็นสมดุลใหม่ ซึ่งหากผู้ที่เห็นว่า เป้าหมายคือ ไม่ทำความเสียหายในที่นี้หมายถึงไม่นำไปสู่การสูญพันธุ์เพียงพอแล้ว คนเหล่านี้ย่อมเห็นว่าไม่ควรเอาออกให้มันอยู่ต่อไป  แต่กรณีคนที่ไม่เห็นด้วย คิดว่าไม่ไม่ควรอยู่ตรงนั้่น  เนื่องจากมันเป็นสัตว์ที่ไม่เคยอยู่ในระบบนิเวศดังกล่าวมาก่อน หรืออาจจะเคยอยู่มาแล้วแต่สูญพันธุ์ไป ตรงนี้ก็คือธรรมชาติคัดเลือกมิใช่หรือ การเอาสิ่งมีชีวิตที่หนึ่งไปปล่อยอีกที่หนึ่งต้องถามถึงวัตถุประสงค์  หากเป็นเขตอุทยานย่อมไม่ใช่สิ่งที่เหมาะสม ยกเว้นเป็นพื้นที่พิเศษที่มีวัตถุประสงค์เพื่อกรณีดังกล่าว  อีกเหตุผลประการหนึ่งของคนที่ไม่เห็นด้วยกับการปล่อยให้จระเข้มันอยู่ต่อไปนอกจากการนำจระเข้มาปล่อยก็คือ  ผลเสียที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งแม้ว่ายังไม่มีหลักฐาน แต่ควรมีกฎหมายในเชิงป้องกัน ยกตัวอย่างเช่นกรณี ยา ในทางการแพทย์  หากมีข้อสงสัยถึงความปลอดภัย หรือไม่มีการรับรองว่าปลอดภัย ย่อมถูกปฏิเสธ แม้ว่ายาตัวนั้นแท้จริงแล้วจะไม่ได้ส่งผลเสียใดๆก็ได้ แต่เราต้องกันไว้ก่อน   จึงควรถูกระงับหรือยกเลิกไว้ก่อน  ซึ่งหลักการเดียวกันกับตรรกะที่ว่า เราปฏิเสธสิ่งที่ถูก ดีกว่าการยอมรับในสิ่งที่ผิดผมคิดว่าอย่างนี้ครับ ใครเห็นต่าง ยินดีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นครับ แต่ขอให้วิจารณ์ในเนื้อหาอย่างสร้างสรรค์แทนการดิสเครดิตตัวบุคคลโดยการอ้างชื่อผู้แสดงความเห็นนะครับ
ด้วยความเครพ

ความเห็นที่ 5.1

โดยส่วนตัวผมมีแนวคิดที่ 1 แต่ก็ไม่ได้ต่อต้านแนวคิดที่ 2 > ถ้าใช้มาตรฐานเดียวกันทุกชนิดครับ
*ไอ้ที่เกลียดคือ การเลือกปฏิบัติแบบ 2 มาตรฐานครับ เช่นไม่อยากให้จระเข้อยู่ กลัวจะคุกคาม เอาออกทีหลังเดี๋ยวจะสายเกินไป ฯลฯ แต่กับปลานิล รถยนต์ รวมทั้งพรรณไม้ต่างถิ่น กลับทำวางเฉยไม่ใส่ใจ หรือเห็นเป็นเรื่องปกติทั้งที่มีหลักฐานชัดเจนว่ามีสัตว์ได้รับผลกระทบ
http://board.trekkingthai.com/board/show.php?forum_id=41&topic_no=80556&topic_id=81231

ความเห็นที่ 6


บ้างก็ว่าเขาใหญ่ไม่มีจระเข้มาก่อน แต่ผมว่า มีชัวร์ อย่างเขาใหญ่เนี่ยนะจะไม่เคยมีจระเข้

และถ้าเคยมีแล้วสูญพันธุ์ไป มันก็ย่อมไม่ใช่การคัดสรรโดยธรรมชาติ เพราะสาเหตุที่สัตว์เกือบทุกชนิดที่สูญพันธุ์ไปก็คือมนุษย์ทั้งนั้น ไม่ว่าจะทางตรง ทางอ้อม ผมว่าไม่ควรนับว่าเป็นการคัดสรรโดยธรรมชาติ

อย่างที่ คห บน กล่าวว่า "การเอาสิ่งมีชีวิตที่ หนึ่งไปปล่อยอีกที่หนึ่งต้องถามถึงวัตถุประสงค์  หากเป็นเขตอุทยานย่อมไม่ใช่สิ่งที่เหมาะสม" นั้นถูกต้อง อย่างฝายเลว ปลาต่างถิ่น พืชต่างถิ่น สร้างความเสียหายมากมายต่อระบบนิเวศม สิ่งเหล่านี้คนที่เอาไปสร้างไปปล่อยมีใครมีความรู้ด้านการอนุรักษ์บ้างไหม ทำกันจัง  ... (ทีเถาวัลย์แก่งกระจานมันอยู่มาก่อนคนซะอีกดันพยายามจะไปเอามันออก)

แต่เห็นเรื่องสองมาตรฐาน ในเรื่อง "ผลเสียที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งแม้ว่ายังไม่มีหลักฐาน แต่ควรมีกฎหมายในเชิงป้องกัน" เพราะไอ้ที่เห็นชัดๆว่ามีผลเสียมหาศาล มีหลักฐานให้เห็นชัดๆ ก็คือ นักท่องเที่ยวขับรถชนสัตว์ตายไม่เว้นวัน แต่กลับไม่ค่อยคิดจะแก้ไขกัน ปล่อยให้เอกชน นักเรียน นักศึกษา ชมรมต่างๆ เข้าไปค่อยช่วยเหลือ รณรงค์กันซะเป็นส่วนมาก ไม่เห็นคนขับรถชนสัตว์พวกนี้จะได้รับโทษใดทางกฏหมายสักคน


ที่เขียนมาเหมือนทุกอย่างเป็นสีเทา อ้างได้ทั้งนั้น จึงขอเสนอในมุมมองของตัวเอง


ประเด็นที่ผมสนใจหลักๆคือ เขาใหญ่  ป่าดงพญาเย็นแห่งนี้ ไม่เคยมีจระเข้อาศัยอยู่เลย งั้นหรือ

ถ้าเขาใหญ่ไม่เคยมีจระเข้ ความเห็นผมในเรือ่งนี้ จะออกกลางๆ แต่ผมก็อยากให้มันมีที่อยู่ในธรรมชาติจริงๆ

ถ้าเขาใหญ่มีจระเข้อยู่แล้ว เพียงแต่โดนล่าไปหมด ความเห็นผมคือ ควรอนุรักษ์ไว้ในป่านั่นแหละ

ความเห็นที่ 7

จริงๆ ก็เห็นด้วยกับคห. บนหลายส่วนนะครับ ด้วยความเครพ แต่ขอแสดงความเห็นส่วนตัวนะครับ ที่กล่าวว่าที่นั่นเคยมีอะไรอยู่ก่อนแล้วมันหายไป แสดงว่ามันเป็นความจริงที่เกิดขึ้นเสร็จสมบูรณ์ตรงนี้ถูกมั้ยครับ แล้วหายไปด้วยสาเหตุใดครับ ถ้าเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ นั่นก็คือธรรมชาติคัดทิ้ง แต่หากเพราะคนล่าก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง ผมมองว่าธรรมชาติสังคมสิ่งมีชีวิตมันผันแปรทั้งในเชิงเวลาและสถานที่ ณ ที่หนึ่ง ๆ เวลาหนึ่งๆ อาจจะไม่มีสิ่งมีชีวิตที่เราคิดว่ามันจะมีก็ได้ต่อให้มี nich ที่เหมาะสมก็ตาม ดังนั้นต้องทราบสาเหตุก่อนครับ ธรรมชาติอาจจะเป็นเช่นนั้นหรือเปล่า แต่ถ้าเป็นเพราะถูกล่านั่นก็อีกเรื่อง แต่ข้อสงสัยมีอยู่ว่าถ้าสมมติที่ใดที่หนึ่งเคยมีสิ่งมีชีวิตใดเคยอยู่ ถ้าเป็นเช่นนั้น เราคงมีโครงการปล่อยสัตว์หายากใกล้สูญพันธุ์คืนสู่ป่ากันมากมาย แต่ตรงนี้เรามองในระดับชนิดนะครับ อย่าลืมถึงเป็นชนิดเดียวกันแต่เอามาจากคนละที่มาขยายพันธุ์ได้จำนวนมาก แล้วเราได้อะไรครับ แค่การคงอยู่ เพื่ออะไรกันครับ ถ้ามีวัตถุประสงค์แน่ชัดก็ทำไปครับ ;แต่ที่สำคัญสิ่งนั้นเรียกธรรมชาติได้หรือเปล่า อย่าเอาไปเปรียบเทียบกับกรณีที่มันแย่กว่า แล้วบอกว่าทำไมไม่แก้ไขหรือไปเรียกร้องตรงนั้น ผมว่ามันคนละประเด็นนะ ตรงนั้นก็สำคัญต้องแก้เหมือนกัน แต่ไม่ใช่เอาสิ่งหนึ่งที่ผิดมากกว่าลดทอนอีกสิ่งหนึ่ง แม้ว่ากรณีที่ปล่อยให้อยู่ต่อไปไม่ได้เกิดผลเสียอะไรมาก แต่ก็ต้องพยากรณ์เหตุการณ์ในอนาคตด้วย แต่ข้อสำคัญคือทำเพื่อวัตถุประสงค์ใด ตอบได้ก็คงไม่มีปัญหาใด แต่น่าประหลาดใจที่เราบอกว่ามันมีมาตั้งนานแล้ว สงสัยว่าตอนเอามาปล่อยทำไมไม่เป็นประเด็นใดๆ ทั้งที่มันไม่ควรเป็นความลับ และก็ต้องทราบแน่ชัดหรือมีความชัดเจนมาตั้งแต่ต้น ส่วนหนึ่งก็ต้องพิสูจน์ให้ทราบก่อนว่าที่นั่นเคยมีจระเข้ตามธรรมชาติอยู่จริงหรือไม่ ถ้าไม่มีหลักฐานมันก็เป็นแค่ความเชื่อส่วนตัว ไม่ได้อิงวิชาการเช่นเดียวกัน ซึ่งต่อให้แหล่งอาศัยมีลักษณะคล้ายกันก็ไม่จำเป็นว่ามันจะต้องมีองค์ประกอบสิ่งมีชีวิตที่เหมือนกัน องค์ประกอบสังคมสิ่งมีชีวิตตามธรรมชาติ มันเป็นผลลัพธ์ที่มาจากเรื่อง nich และมันมีเรื่อง Neutral process เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยครับ

ความเห็นที่ 8

ไม่ได้คัดค้านขนาดหัวชนฝาว่า ยังไงก็ไม่ให้จับออก แต่ข้อหาที่ยัดเยียดให้นั่นดู ร้ายแรงเกินไป มีอีกตั้งหลายวิธีที่จะพิสูจน์ว่า ถ้าจระเข้อาศัยอยู่ในนั้นแล้วเป็นผลเสียแก่ระบบนิเวศน์ (แล้วผลการศึกษาตั้งแต่ปี 52 ว่าไงนี่ ตกลงจระเข้กินนาก กินสารพัดสัตว์ จริง?) ฝ่ายที่ไม่อยากให้จระเข้อยู่ก็ยัดเยียดข้อหาให้เป็นโจรไปเลย (ตั้งธงไว้แล้วเหมือนกันว่า ไงๆ ข้าก็จะไม่ให้เองอยู่ ไม่งั้นนาก กับกวางเกลี้ยงอุทยานแน่ๆ ) สาเหตุที่อ้างว่ารบกวนนักท่องเที่ยว หรืออะไรที่อ้างๆ มา มีวิธีแก้ทั้งนั้น
อีกอย่างปัญหาเร่งด่วนในอุทยานเขาใหญ่มีตั้งมากมาย ทางกรมฯ และอุทยาน ควรจะเรียงลำดับความสำคัญของปัญหาที่ควรจะแก้ปัญหาก่อนการจับจระเข้อีก ตั้งแต่เรื่องการขับรถเร็วเกินกำหนดในเขตอุทยาน ชนสัตว์ป่าตายก็บ่อย ปัญหาเรื่องมลพิษทางเสียงของมอเตอร์ไซค์ ที่รบกวนทั้งนักท่องเที่ยวทั่วไปและสัตว์ป่า  อีกอย่างการให้ข้อมูล ให้สัมภาษณ์ หรือแสดงความเห็นอะไรผ่านสื่อสาธารณะ ต้องคิดเยอะๆ  หลังพูดแล้วความพูดเป็นนายเราค่ะ  ยิ่งเป็นคนมีชื่อเสียง หรือเกี่ยวข้องโดยตรง ยิ่งต้องระวังให้มาก

ความเห็นที่ 8.1

ผู้ต้องสงสัย > เอาเข้าคุกไว้ก่อน ก่อนที่มันจะไปก่อเื่รื่องซ้ำ???
ผู้ต้องหาตัวจริง > เดี๋ยวค่อยจัดการทีหลัง มันผิดเหมือนกันล่ะน่า แต่รอเดี๋ยวก่อน จัดการผู้ต้องสงสัยก่อน?
*ทำไมผมจะเอามาเปรียบเทียบกันไม่ได้ ในเมื่อมันไม่แฟร์...แน่นอนผู้ที่มีแนวคิดที่ 2 หลายคนก็ไม่ได้สองมาตรฐาน คือไม่อยากเห็นรถขึ้นไปซิ่งบนเขาใหญ่ รวมทั้งไม่อยากเห็นปลาต่างถิ่นถูกเอาไปปล่อยเช่นกัน > แต่กับผู้มีอำนาจในการจัดการ ผมไม่ค่อยเชื่อใจครับ! อ่านจากสัมภาษณ์ในข่าวก็รับรู้ได้ว่าพยายามจับแพะชนแกะสร้างกระแส เดี๋ยวอ้างห่วงสัตว์ในอุทยานจะถูกกิน เดี๋ยวก็อ้างสงสารจระเข้จะอยู่ไม่ได้? ตกลงมันห่วงอะไรกันแน่?

ความเห็นที่ 9

http://www.thaiwhic.go.th/heritage_nature2.aspx เอาข้อมูลของศูนย์ข้อมูลมรดกโลกมาให้ดูว่า เขาใหญ่ในอดีตมีจระเข้ และอยู่มาก่อนได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกซะอีก