จดหมายเหตุ: ตะพาบหัวกบ ก่อนจะเหลือเพียงความทรงจำ

เรื่อง: ดร. นณณ์ ผาณิตวงศ์

ท่ามกลางกระแสการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงตอนล่างที่กำลังดำเนินอยู่ หลายคนพูดถึงปลาอพยพ ปลาจะว่ายผ่านเขื่อนได้อย่างไร? บันไดปลาโจน หรือ ระบบพาปลาข้ามเขื่อนจะได้ผลหรือไม่ แต่สิ่งมีชีวิตหนึ่งถึงแม้ว่าจะไม่ต้องอพยพผ่านเขื่อน และใช้ชีวิตเกือบทั้งชีวิตของมันหมกตัวเงียบๆอยู่ใต้ผืนทราย ก็กำลังจะได้รับผลกระทบจากเขื่อนเช่นเดียวกัน
 
คงจะมีน้อยคนที่รู้จักสัตว์ชนิดนี้ ตะพาบหัวกบ หรือ ที่คนริมน้ำโขงเรียกกันว่า ปลาฝาออง จริงๆแล้วเป็นสัตว์ที่มีการกระจายพันธุ์กว้างมาก ทั้งในลุ่มน้ำโขง พม่า บังคลาเทศ อินเดีย สิงคโปร์ ไปจนถึงเกาะอย่างฟิลิปปินส์ กระจายกว้างอย่างนี้ สำหรับสัตว์ที่ไม่ค่อยเคลื่อนไหวเท่าไหร่ จึงมั่นใจได้เลยว่ามันเป็นชนิดโบราณที่เกิดมานานมากแล้ว ตั้งแต่สมัยที่แหล่งน้ำของโลกในแถบนี้ยังรวมกันอยู่เป็นหนึ่งเดียวเมื่อหลายล้านปีก่อน (นึกดูว่าตั้งแต่สมัยฟิลิปปินส์ยังมีแหล่งน้ำจืดเชื่อมติดอยู่กับแผ่นดินใหญ่)

แต่ในปัจจุบันมันกำลังจะสูญพันธุ์…

ในประเทศไทย เคยมีรายงานตะพาบหัวกบจากทั้ง แม่น้ำแม่กลอง และ แม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งจะเรียกตะพาบชนิดนี้ว่ากริวดาว เนื่องจากลายจุดๆบนหลังของมัน แต่ปัจจุบัน มันสูญพันธุ์ ไม่มีใครพบเห็นในสองแม่น้ำนี้มานานแล้ว อาจจะเรียกได้ว่า แม่โขงเป็นแหล่งสุดท้ายแล้วที่ตะพาบหัวกบพอจะมีที่ให้เอาหัวซุกทรายอยู่บ้าง

ชีวิตของตะพาบหัวกบนั้นเรียบง่าย มันจะซุกตัวอยู่ใต้ทราย โผล่ออกมาเฉพาะหัว คอของมันค่อนข้างยาวและยืดหยุ่นเวลาจะหายใจ มันจะยืดคอออกมาที่ผิวน้ำแล้วหายใจเข้าปอดอันใหญ่โตของมันลึกๆ ตะพาบหัวกบไม่ต้องหายใจบ่อย อาจจะแค่วันละ 2-5 ครั้งเท่านั้น แต่ถึงกระนั้น มันก็ไม่ชอบออกมาจากทรายอยู่ดี ถ้าเป็นไปได้ มันชอบอยู่บริเวณหาดทรายที่น้ำตื้นพอที่มันจะยืดคอขึ้นมาหายใจได้ โดยไม่ต้องว่ายออกมาจากทราย

ตะพาบหัวกบกินปลาเป็นอาหาร มันจะซุกตัวอยู่ใต้ทรายโผล่ออกมาแต่หัว ตาเล็กๆของมันกรอกไปมา รอจังหวะให้มีปลาว่ายเข้ามาใกล้ ก่อนที่จะฉกกินอย่างรวดเร็ว มันกินเยอะมาก ด้วยขนาดตัวที่ยาวกว่า 1 เมตรและหนักเป็น 100 กิโลกรัม มันต้องการแม่น้ำที่อุดมสมบูรณ์ มีปลาว่ายผ่านหน้าไปมาให้มันได้กินอย่างต่อเนื่อง ตะพาบหัวกบใช้ชีวิตอยู่ใต้น้ำ ใต้ทราย ตลอดชีวิตของมัน จะขึ้นมาบนบกก็เพียงเพื่อขึ้นมาวางไข่เท่านั้น แต่ละแม่อาจจะต้องมีอายุเป็น 10 ปีหนักหลายสิบกิโลกรัมกว่าจะถึงวัยเจริญพันธุ์

เขื่อนกำลังจะทำให้น้ำโขงเปลี่ยนไป หาดทรายริมตลิ่งบ้านของมันที่อยู่เหนือเขื่อนกำลังจะถูกน้ำท่วม มันไม่สามารถอาศัยอยู่ในน้ำลึกๆหลังเขื่อนได้ ส่วนด้านท้ายเขื่อน น้ำที่ถูกกักบ้างปล่อยบ้าง ขึ้นลงไม่เป็นเวลาเอาเสียเลย ตะพาบที่อาศัยอยู่ใต้หาดทรายริมน้ำจะต้องเคลื่อนตัวบ่อยครั้งเพื่อตามน้ำขึ้นลงให้ทัน เปิดโอกาสให้มันถูกล่าได้ง่ายขึ้น เขื่อนจะทำให้ปลาที่เป็นอาหารของมันมีน้อยลง ทำให้ทางน้ำเปลี่ยนรูปแบบไป หาดทรายของมันอาจจะถูกพัดไปหมด หรือ บางจุดอาจจะเกิดสะสมจนตื้นเขินไปเลยก็ได้

เหมือนกับญาติของมันที่เคยอาศัยอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่กลองที่สูญพันธุ์ไปแล้วจากการสร้างเขื่อน การทำลายแหล่งอาศัย/วางไข่ และ การถูกล่า ตะพาบหัวกบแห่งแม่โขง แหล่งที่มั่นสุดท้ายของสัตว์โบราณกำลังจะตายตกตามญาติของมันไป    

ขอขอบคุณ: คุณกิตติพงศ์ จารุธานินทร์ สำหรับข้อมูลประกอบบทความ

ข้อมูลเพิ่มเติมจากดัชนีสิ่งมีชีวิต:
http://siamensis.org/species_index#4876--Species: Pelochelys cantorii

Comments

ความคิดเห็น

ความเห็นที่ 1

yes

ความเห็นที่ 2

ขอบคุณเรื่องราวดีๆคะ >>slotxo

ความเห็นที่ 3

ขอบคุณเรื่องราวดีๆคะ >>slotxo