มารู้จักแมงโหย่ง (Harvestmen) กันเถอะ

เรื่อง/ภาพ: coneman
  
        สัตว์กลุ่มหนึ่งที่มักทำให้เราสับสนและเข้าใจผิดว่าเป็นแมงมุมเสมอ คือสัตว์ในกลุ่ม"แมงโหย่ง" หรือ Harvestmen ในอันดับ (Order) Opiliones เนื่องด้วยหากมองผิวเผิน แมงโหย่งมีรูปร่่างลักษณะและมีขาเดิน 8 ขาคล้ายสัตว์กลุ่มแมงมุม(spiders) ในอันดับ(Order) Araneae จึงไม่น่าแปลกที่สัตว์กลุ่มนี้จะถูกเข้าใจว่าเป็นแมงมุม ชื่อ "แมงโหย่ง" หรือ "แมงย่องแย่ง" หรือ "แมงมุมขายาว" จึงดูไม่ค่อยคุ้นหูหรือเป็นที่รู้จักสักเท่าไหร่นัก ประกอบกับเป็นกลุ่มสัตว์ที่ส่วนใหญ่หลบซ่อนตัว และไม่ได้พบตามบ้านเรือนทั่วไปจึงยิ่งไม่เป็นที่รู้จัก ดังนั้นเรามาทำความรู้จักแมงโหย่งกันเถอะ

   แมงโหย่ง คืออะไร?

          แมงโหย่งเป็นสัตว์ในอันดับ Opiliones มีชื่อเรียกทั่วไปภาษาอังกฤษว่า Harvestmen ซึ่งมีความหลากหลายทางชนิดมากเป็นอันดับที่สามในกลุ่มแมง (Class Arachnida) ปัจจุบันทั่วโลกพบประมาณ 6,000 ชนิด รองจากกลุ่มไร ในอันดับ Acari (48,000 ชนิด) และแมงมุม ในอันดับ Araneae (39,000 ชนิด) ชื่ออันดับ Opiliones ถูกตั้งขึ้นโดยนักสัตววิทยาชาวสวีเดนชื่อ Karl J. Sundevall ในปี ค.ศ. 1833 ซึ่งมีรากศัพท์มาจากคำภาษาละตินว่า "opilio" ซึ่งหมายถึง "คนเลี้ยงแกะ" เนื่องจากแมงโหย่งส่วนใหญ่มีลำตัวเล็กและมีขายาว คนสมัยนั้นจึงมองว่ามีลักษณะคล้ายกับคนเลี้ยงแกะชาวยุโรปสมัยก่อนที่มักใช้ไม้ต่อเป็นอุปกรณ์เรียกว่า Stilts ใช้เดินเพื่อต่อให้ตัวสูงขึ้นเพื่อความสะดวกในการนับแกะในฝูงขณะนำออกเลี้ยงในทุ่งกว้าง นอกจากนี้บางท้องที่ในยุโรป เช่น ประเทศอังกฤษ ยังเรียกแมงโหย่งว่า "shepherd spiders" ซึ่งเชื่อว่าทุ่งหญ้าใดที่พบแมงโหย่งถือเป็นทุ่งหญ้าที่ดีสำหรับการเลี้ยงแกะด้วย ส่วนคำว่า Harvestmen ซึ่งหมายถึงชาวไร่ชาวนานั้น มีที่มาจากแมงโหย่งมักพบเป็นจำนวนมากในฤดูเก็บเกี่ยว ข้อเท็จจริงก็คือในฤดูเก็บเกี่ยวมีการรื้อ ไถ เพื่อเก็บผลผลิตทางการเกษตรจึงไปรบกวนและทำลายแหล่งหลบซ่อนของแมงโหย่งทำให้พบเจอเป็นจำนวนมากนั่นเอง ส่วนอีกข้อสันนิษฐานหนึ่งเชื่อว่า ชื่อ Harvestmen นั้นมาจากพฤติกรรมของแมงโหย่งที่มักชูขาเดินคู่หน้าสุดขึ้นลงขณะเคลื่อนที่ ซึ่งปลายขานี้จะงอโค้ง จึงดูเหมือนชาวนาที่ถือเคียวโบกสะบัดไปมาขณะเก็บเกี่ยวพืชนั่นเอง พอมาถึงชื่อไทยคำว่า" แมงโหย่ง" ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าใครเป็นผู้บัญญัติ และเกิดขึ้นเมื่อใด แต่คำนี้น่าจะมีที่มาจากพฤติกรรมการโหย่งตัวขึ้นลงอย่างรวดเร็ว (bobbing) เมื่อถูกรบกวน เพื่อให้ผู้ล่าสับสนถึงตำแหน่งที่แท้จริงของลำตัว

         แมงโหย่งในวงศ์ Sclerosomatidae วงศ์ย่อย Gagrellinae ส่วนใหญ่มีขายาว พบได้บ่อยในประเทศไทย




ไม้ต่อขาที่เรียกว่า Stilts ของคนเลี้ยงแกะชาวยุโรป
ที่มา: http://www.tallpuppet.com/history.htm

 
  แมงโหย่ง ต่างจากแมงมุมตรงไหน?

            หากมองเพียงผิวเผินแมงโหย่งอาจมองดูคล้ายกับแมงมุม แต่หากพิจารณาอย่างละเอียดแล้วจะพบว่าแมงโหย่งนั้นมีลักษณะที่แตกต่างจากแมงมุมในหลายประการ ประการที่ 1 ที่เห็นได้ชัดเจนคือลำตัวของแมงโหย่งซึ่งแบ่งออกเป็นสองส่วน คือส่วนหัวรวมอก (cephalothorax หรือ prosoma) และส่วนท้อง (abdomen หรือ opisthosoma) จะเชื่อมติดกันเหมือนเป็นส่วนเดียวกัน ซึ่งต่างจากแมงมุมที่สองส่วนดังกล่าวนี้จะถูกเชื่อมด้วยส่วนคอดแคบๆที่เรียกว่า pedicel พูดง่ายๆคือแมงโหย่งไม่มีเอวเหมือนแมงมุมนั่นเอง ประการที่ 2 ตาของแมงโหย่งมีเพียงคู่เดียว (2 ตา) ซึ่งบางกลุ่มอาจมีจุดตารับแสงเล็กๆอยู่แต่มองเห็นไม่ชัดเจน ส่วนกลุ่มแมงมุมจะมีตาจำนวน 6 - 8 ตา (อาจไม่มีเลยในบางกลุ่ม) เรียงเป็นกลุ่มหรือเป็นแถว ประการที่ 3 แมงโหย่งไม่มีอวัยวะที่ใช้สำหรับสร้างใย (silk gland) เหมือนในแมงมุม จึงสร้างใยไม่ได้ ประการที่ 4 แมงโหย่งมีอวัยวะที่สร้างสารเคมีที่มีกลิ่นเหม็นเรียก ozopores ใช้ในการป้องกันตัวและติดต่อสื่อสาร ซึ่งไม่พบในแมงมุม และประการสุดท้ายคือแมงโหย่งไม่มีต่อมพิษ (venom gland) และเขี้ยว (Cheliceral) ไม่แหลมกลวงเหมือนแมงมุม แต่เปลี่ยนแปลงเป็นลักษณะคล้ายก้ามหนีบเพื่อใช้ฉีกอาหารเข้าปาก ซึ่งอวัยวะนี้มีขนาดเล็ก ทู่ ปลายตัน แมงโหย่งจึงไม่สามารถกัดทะลุผิวหนังคนได้ และไม่มีพิษ กล่าวได้ว่าแมงโหย่งไม่มีพิษมีภัยต่อมนุษย์เลยก็ว่าได้ครับ มาถึงตรงเรื่องพิษนี้ก็มีเกร็ดความเชื่อผิดๆเป็นเรื่องเล่าความเชื่อในประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเชื่อว่าแมงโหย่งนั้นมีพิษรุนแรง ที่มาของเรื่องเล่านี้ก็คือ แมงโหย่งนั้นในบางท้องที่ถูกเรียกว่า "daddy longlegs" ซึ่งเป็นชื่อที่ถูกใช้เรียกแมงมุมขายาวในวงศ์ Pholcidae เช่นกัน โดยเฉพาะแมงมุมสกุล Pholcus ซึ่งมีขายาวและชอบโหย่งตัวขึ้น-ลงเวลาถูกรบกวนคล้ายแมงโหย่ง ทำให้มีความสับสนและเข้าใจว่าแมงโหย่งเป็นกลุ่มเดียวกับแมงมุมขายาววงศ์นี้ ซึ่งในธรรมชาติกลุ่มแมงมุมขายาววงศ์ Phlocidae เป็นผู้ล่าของแมงมุมแม่ม่ายซึ่งถือว่ามีพิษรูนแรง จึงอนุมานกันว่าแมงมุมขายาวจึงน่าจะมีพิษรุนแรงกว่าแมงมุมแม่ม่าย แมงโหย่งซึ่งลักษณะคล้ายแมงมุมขายาวจึงถูกเข้าใจว่ามีพิษรุนแรงไปด้วย ซึ่งข้อเท็จจริงแมงมุมขายาวและแมงโหย่งไม่สามารถกัดมนุษย์ได้ รวมถึงไม่มีพิษที่เป็นอันตราย นิทานความเชื่อเรื่องพิษก็เป็นด้วยประการนี้

 


เขี้ยวของแมงโหย่งปรับเปลี่ยนมีลักษณะคล้ายก้ามหนีบปลายตัน และไม่มีต่อมพิษเชื่อมต่อเหมือนในแมงมุม
ที่มา:http://invertebrates.livejournal.com/223749.html




มงมุมสกุล Pholcus วงศ์ Pholcidae มีขายาวคล้ายกลุ่มแมงโหย่ง จึงมักถูกเข้าใจผิดว่าเป็นกลุ่มเดียวกัน
 

แมงโหย่งกินอะไรเป็นอาหาร?

          แมงโหย่งส่วนใหญ่กินทั้งพืชและสัตว์เป็นอาหาร (omnivorous) บางกลุ่มกินซากเป็นหลัก ในขณะที่บางกลุ่มล่าสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังขนาดเล็กเป็นอาหาร ปลายขาคู่ที่สอง หรือคู่ที่หนึ่งในบางกลุ่ม จะมีลักษณะยืดยาวมากกว่าขาคู่อื่นและมีอวัยวะรับสัมผัสอยู่ที่ส่วนปลาย เมื่อแมงโหย่งเคลื่อนที่จะใช้ขาคู่นี้ยื่นชี้ออกไปด้านหน้าเพื่อตรวจสอบลักษณะภูมิประเทศที่จะเคลื่นที่ไป ใช้ในการรวมกลุ่ม ค้นหาเหยื่อ หรืออาหาร ในกลุ่มแมงโหย่งที่ล่าสัตว์อื่นเป็นอาหารเช่นแมงโหย่งในวงศ์ Epedanidae จะมีส่วน pedipalp หรือขาแปลงซึ่งเป็นส่วนระยางค์ข้างปากขนาดใหญ่และมีหนามแหลมจำนวนมากใช้ในการจับเหยื่อ แมงโหย่งจึงทำหน้าที่คล้ายแมงมุมในฐานะผู้ควบคุมแมลงขนาดเล็กและฐานะผู้กินซากคล้าสัตว์กินซากที่ช่วยย่อยสลายหมุนเวียนวัฏจักรอาหารในธรรมชาติ และไม่มีโทษต่อมนุษย์


 แมงโหย่งในประเทศไทย

         ปัจจุบัน แมงโหย่งถูกแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม (Suborders) ซึ่งทั้งหมดมีรายงานการพบในประเทศไทย ได้แก่ 1. Suborder Cyphophthalmi ซึ่งส่วนใหญ่มีขนาดเล็กกว่า 1 เซนติเมตร วงศ์ที่พบบ่อยในบ้านเราคือวงศ์ Stylocellidae ตัวอย่างได้แก่สกุล Fangensis ซึ่งเป็นสกุลใหม่ที่พบครั้งแรกที่อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ แมงโหย่งสกุลนี้พบอาศัยเฉพาะในถ้ำหรือบริเวณใกล้เคียง  2. Suborder Eupnoi ซึ่งเป็นกลุ่มเด่นในบ้านเราพบในป่าทั่วไปและบ้านเรือนใกล้ชายป่า วงศ์ที่พบบ่อยคือวงศ์ Sclerosomatidae แมงโหย่งวงศ์นี้ส่วนใหญ่มีขายาว ตัวอย่างเช่น สกุล Gagrella และ Pseudogagrella 3. Suborder Dyspnoi แมงโหย่งกลุ่มนี้มีขนาดตัวเล็กอาศัยอยู่ใต้เศษใบไม้ในป่าที่มีความชื้นสูง ได้แก่วงศ์ Nemastomatidae ตัวอย่างไก้แก่สกุล Dendrolasma ซึ่งมีขนาดตัวเล็ก บนลำตัวเต็มไปด้วยหนามขรุขระ และ 4. Suborder Laniatores เป็นกลุ่มแมงโหย่งที่ส่วนใหญ่มีขาสั้น เป็นกลุ่มที่มีความหลากหลายมากที่สุดในประเทศไทย ที่พบบ่อยได้แก่วงศ์ Assamiidae, Epedanidae, Oncopodidae, Podoctidae เป็นต้น
 
 

แมงโหย่งวงศ์ Assamiidae ตัวเต็มวัยและวัยอ่อน

 

แมงโหย่งในวงศ์ Epedanidae มี pedipalps ขนาดใหญ่ใช้ในการล่าเหยื่อ



แมงโหย่งวงศ์ Sclerosomatidae พบได้บ่อยในประเทศไทย
 

  การรวมกลุ่มของแมงโหย่ง (Aggregations)

    ภาพที่มักเห็นจนชินตาหรือบ่อยครั้งก็ปรากฎในสื่อต่างๆคือภาพที่แมงโหย่งนับร้อยนับพันตัวมารวมกลุ่มอยู่ด้วยกัน ซึ่งหลายคนเข้าใจว่าเป็นเรื่องผิดปกติและเป็นภาพที่แปลกตา แต่แท้จริงการรวมกลุ่มของแมงโหย่งจำนวนมากเป็นพฤติกรรมปกติของแมงโหย่งที่สามารถพบได้ในธรรมชาติ หลายท่านคงสงสัยว่าทำไมพวกเค้าต้องมาอยู่รวมกลุ่มกัน ซึ่งสามารถอธิบายสาเหตุการรวมกลุ่มของแมงโหย่งได้ 3 แนวทางคือ

1. Defensive hypothesis การรวมกลุ่มในแนวทางนี้เพื่อการป้องกันตัวจากผู้ล่า เมื่อแมงโหย่งตัวใดตัวหนึ่งถูกรบกวนจากผู้ล่า จะปล่อยสารเคมีซึ่งเป็น Alarm signal ออกจากอวัยวะ ozopores สารเคมีนี้มีกลิ่นเหม็นฉุน นอกจากจะทำหน้าที่ขับไล่ผู้ล่าในเบื้องต้นแล้ว ยังเป็นสัญญาณให้เกิดการรวมกลุ่มขึ้น ซึ่งการรวมกลุ่มจะทำให้ผู้ล่าเกิดความสับสน ลดโอกาสในการถูกล่าของสมาชิกแต่ละตัวภายในกลุ่ม (dilution effect) นอกจากนี้การรวมกลุ่มยังทำให้สารเคมีที่ปล่อยออกมาในการป้องกันตัวมีกลิ่นแรงและมีความเข้มข้นมากขึ้นด้วย

2. Mating - success- improvement hypothesis การรวมกลุ่มเพื่อเพิ่มโอกาสในการสืบพันธุ์ เนื่องจากแมงโหย่งมีเพศแยก เพศผู้และเพศเมียออกหากินเป็นอิสระ จึงมีโอกาสพบกันได้ยาก แต่เมื่อถึงวัยพร้อมผสมพันธุ์แมงโหย่งจะใช้สารเคมีกลุ่มฟีโรโมนเพื่อดึงดูดเพศตรงข้าม ซึ่งสามารถสร้างได้ทั้งในเพศผู้และเพศเมีย สารเคมีนี้ทำให้แมงโหย่งที่พร้อมจะผสมพันธุ์มารวมกลุ่มอยู่ด้วยกันเพื่อจับคู่ผสมพันธุ์

3. Physiological hypothesis เป็นการรวมกลุ่มเพื่อปรับตัวในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม แนวทางนี้เป็นแนวทางที่เป็นสาเหตุในการรวมกลุ่มของแมงโหย่งบ่อยครั้งที่สุด เนื่องด้วยแมงโหย่งเป็นกลุ่มสัตว์ที่มีพื้นที่ผิวต่อปริมาตรลำตัวสูง และมีขายาวจำนวนมากจึงมีพื้นที่ผิวที่สูญเสียน้ำออกจากตัวสู่สิ่งแวดล้อมมาก ทำให้สูญเสียน้ำออกจากตัวได้ง่าย แมงโหย่งจึงจำเป็นต้องอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีอุณหภูมิต่ำ (อากาศที่มีอุณหภูมิต่ำอุ้มน้ำได้น้อยกว่าอากาศที่มีอุณหภูมิสูง) หรือพื้นที่ที่มีความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศสูง เช่นในถ้ำ ใต้ขอนไม้ รู โพรง บริเวณใกล้ลำธารหรือน้ำตก เพื่อหลีกเลี่ยงการสูญเสียน้ำออกจากตัว แต่ในฤดูแล้งหรือเมื่ออยู่ในที่ที่ไม่เหมาะสมดังกล่าว แมงโหย่งจะรวมกลุ่มกันอย่างหนาแน่นการรวมกลุ่มจะทำให้พื้นที่ผิวสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมลดลง เพราะถูกล้อมรอบด้วยแมงโหย่งตัวอื่นๆ ความชื้นที่ออกจากตัวของแมงโหย่งแต่ละตัวจะทำให้ความชื้นสัมพัทธ์ในกลุ่มเพิ่มสูงขึ้น และเกิดปรากฎการณ์ที่เรียกว่า diffusion shell คืออากาศรอบตัวจะนิ่ง ไม่มีการเคลื่อนที่ ทำให้อัตราการสูญเสียน้ำออกจากตัวแมงโหย่งลดน้อยลง นอกจากนี้เมื่อการรวมกลุ่มอย่างหนาแน่นทำให้อัตราการสูญเสียน้ำลดลง แมงโหย่งจึงมีอัตราเมทาบอลึซึมลดลงเนื่องจากไม่ต้องใช้พลังงานในการรักษาสมดุลเกลือแร่ที่จะสูงขึ้นเมื่อขาดน้ำ รวมทั้งไม่ต้องออกเดินเสาะหาสถานที่หลบอาศัยที่เหมาะสม ส่งผลให้สามารถอดน้ำและอาหารได้เป็นระยะเวลานานในสภาวะที่ไม่เหมาะสม ดังนั้นการรวมกลุ่มของแมงโหย่งจึงเป็นเรื่องธรรมชาติที่เกิดขึ้นเป็นปกติ ซึ่งเป็นการปรับตัวให้อยู่รอดในสภาวะแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมนั่นเอง
        
    

 

Comments

ความคิดเห็น

ความเห็นที่ 1

ขอบคุณสำหรับความรู้ค่ะyes

ความเห็นที่ 2

yes

ความเห็นที่ 3

แชร์โลด

ความเห็นที่ 4

ภาพในข่าว คือแมงโหย่งในวงศ์ Sclerosomatidae ครับ 

ความเห็นที่ 5

ภาพในข่าว คือแมงโหย่งในวงศ์ Sclerosomatidae ครับ