งูคา สางห่า กิ้งก่าหญ้า
จากแรงบันดาลใจของหนังสือภาพสัตว์เลื้อยคลาน A Photographic Guide to Snakes and other Reptiles of Thailand and South-East Asia (Merel J. Cox) ทำให้ผมพยายามอย่างยิ่งที่อยากจะเห็นสัตว์เลื้อยคลานทั้งหมดที่อยู่ใน หนังสือเล่มนั้นซึ่งเป็นสัตว์เลื้อยคลานที่มีอยู่ในประเทศไทยและ ประเทศใกล้เคียง มีสัตว์เลื้อยคลานอยู่ชนิดหนึ่งเมื่อหลายปีมาแล้วผมพบเข้าโดยบังเอิญขณะที่ เดินเล่นอยู่หลังบ้านเพื่อนที่จังหวัดตรังยามบ่าย สายตากวาดไปเจอกับสัตว์เลื้อยคลานชนิดที่ว่าเกาะอยู่บนยอดใบหญ้าคา เจ้าตัวนี้จะว่าเป็นกิ้งก่าก็ไม่ใช่ จะว่าเป็นจิ้งเหลนก็ไม่เชิงดันผิดวิสัยของจิ้งเหลนในการเกาะอาศัยแบบนี้ จึงรีบวิ่งกลับเข้าไปในบ้านเพื่อเอากล้องมาถ่าย แต่พอกลับมาถึงเจ้าสัตว์รูปร่างประหลาดนั่นก็อันตรธานหายไปเสียแล้ว
สางห่า, งูคาหรือ งูขา(อีสาน), กิ้งก่าน้อยหางยาว, จิ้งเหลนน้อยหางยาว, แม่งู(ชลบุรี), กระห่าง, จิ้งก้อง(ใต้)
เจ้าสัตว์เลื้อยคลานลูกเสี้ยวระหว่างกิ้งก่ากับจิ้งเหลนที่มีหางยาวเฟื้อยคล้ายงูชนิดนี้มีชื่อวิทย์ว่า Takydromus sexlineatus ocellatus Daudin, 1802 ชื่อทั่วไปคือ Long-tailed lizard แต่ชื่อไทยๆ นี่สิมีเยอะเสียจริงทั้ง สางห่า, งูคาหรือ งูขา(อีสาน), กิ้งก่าน้อยหางยาว, จิ้งเหลนน้อยหางยาว, แม่งู(ชลบุรี), กระห่าง, จิ้งก้อง(ใต้) แต่ใจจริงผมนั้นอยากจะเรียกกิ้งก่าหญ้ามากๆ เพราะอุปนิสัยของมันที่ชอบหมกตัวอาศัยอยู่ตามกอหญ้า และนอนนิ่งอยู่บนยอดหญ้านี่แหล่ะครับ แต่ในที่นี้ขอเรียกว่า “งูคา” ไปแล้วกัน
ห่างมาก็หลายปีผมเห็นเจ้างูคาเป็นข่าวในหนังสือพิมพ์ ข่าวทีวี และตามเวบบอร์ดอินเตอร์เนท ที่นำภาพมาถามกันเรื่อยๆ ทำเหมือนเป็นสัตว์ประหลาดหรือชนิดใหม่อะไรก็ว่าไป บางคนคิดว่าเป็นงูก็ถูกตีตายไปนักต่อนัก จนเมื่อเดือนเมษายน 2556 ขณะผมจอดรถหลังออฟฟิศที่ทำงาน(ระยอง)หางตาก็เฉลียวไปเห็นการเคลื่อนไหวดุ๊ก ดิ๊กในกอหญ้าแห้งริมฟุตบาทคอนกรีต พอหันไปมองได้เต็มตาก็ดีใจเป็นอย่างมากนับว่านี่เป็นครั้งที่ 2 ของชีวิตที่ได้เห็น “งูคา” ตัวเป็นๆ จึงรีบถ่ายรูปไว้เท่าที่จะทำได้
งูคาในตัวเต็มวัยขนาดของลำตัววัดจากปลายปากถึงรูทวาร เฉลี่ยอยูที่ 6.5 – 7 ซม. ส่วนหางจะมีความยาวมากเมื่อเทียบกับลำตัวเฉลี่ยแล้วประมาณ 1 ฟุตหรือ 4 เท่าของลำตัว ทรงหัวเรียวแหลมมีเกล็ดบนหัวเป็นแผ่นใหญ่คล้ายกับจิ้งเหลนออกแบบมาให้เหมาะ กับการมุดชอนไช ลำตัวเล็กเรียวและเพรียว ขายาว ปลายนิ้วมีเล็บแหลมคล้ายกิ้งก่า ออกแบบมาให้เกาะกับใบไม้เรียวๆ ได้อย่างดีและสามารถพาดตัวไปตามใบหญ้าต่างๆ ได้ เกล็ดลำตัวเป็นเกล็กเล็กๆ จนถึงปานกลาง ด้านบนส่วนหลังไล่ไปจึงถึงหางเกล็ดจะตั้งเป็นสัน
สีพื้นของลำตัวงูคาจะเป็นสีเหลืองส้ม, เทา และเขียวมะกอก (ตัวผู้จะมีสีสันสวยงามกว่าตัวเมีย) และมีแถบสีน้ำตาลพาดตั้งแต่ปลายปากยาวไล่ไปจรดโคนหางและค่อยๆ จางไป (คล้ายจิ้งเหลนตามบ้าน)
ออกหากินยามกลางวัน อาหารคือแมลงเล็กๆ ทั่วไปที่สามารถจับกินใส่ปากได้ สามารถพบทั่วได้ทุกภาคของไทยแม้แต่ในเมืองหลวงและอีกหลายประเทศในเอเชียใต้ ยามนอนจะขดตัวตามใต้กอหญ้า หรือไม่ก็เกาะนอนอยู่บนปลายยอดหญ้า งูคาไม่ได้เป็นสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์อะไรแต่ว่าเป็นสัตว์ที่หาตัวหรือพบเห็น ยากเท่านั้นเอง(บางแห่งมีรายงานว่าพบเจอบ่อย) มีผู้รู้เคยบอกว่าช่วงแล้งๆ เมื่อมีฝนตกหนักสักครา และพอฝนหยุดให้ไปลองเดินสังเกตุดูตาม ชายป่า ป่าโล่ง หรือกอหญ้าข้างทางถนน(อย่างเจ้าตัวที่ผมพบเห็นล่าสุด) ก็อาจจะเจอก็เป็นได้
หลายที่ยังเข้าใจผิดๆ ว่างูคานี้มีพิษร้ายหากถูกกัดจะ ตายสถานเดียว เจ้างูคาจึงถูกสังเวยชิวิตด้วยการเข้าใจผิดๆ นี้ไปหลายตัว แต่ในความเป็นจริงแล้ว “งูคา” ไม่มีพิษ และไม่มีภัยอะไรต่อมนุษย์เลย หากผู้อ่านไปพบเจอหลงวิ่งเข้ามาในบ้าน ในห้องน้ำ ให้จับออกไปปล่อยจะดีที่สุดครับ
เรื่อง/ภาพ: บัลลังค์ ศิริพิพัฒน์ที่มา: http://www.mirrorwild.com/archives/6841
Comments
ความคิดเห็น
ความเห็นที่ 1
ภาพอย่างแหร่มเช่นเคยนะครับพี่ ^^
ความเห็นที่ 2
สางห่า ชื่อเหมือนในเรื่องเพรช พระอุมาแต่คนละเวอชั่นกับตัวจิงๆเลย =__=
ความเห็นที่ 3
ตาหวาน สวยงามน่ารักมากครับ
ความเห็นที่ 4
*ไอ้ตัวสางห่าในเพชรพระอุมาน่าจะคล้ายๆซาลาแมนเดอร์ไฟในเทพนิยายของพวกฝรั่งนะครับ
ความเห็นที่ 5