เวลาและวารี ไม่มีรอ - ว่าด้วยเรื่องปลาอพยพ

“ปลาอพยพ มันจะอพยพไปไหนกันนักหนา?  ตรงนี้ก็มีน้ำ ตรงนั้นก็มีน้ำเหมือนกันนั่นแหล่ะ”  เสียงบ่นของประชาชนผู้สนับสนุนการสร้างเขื่อน โดยเข้าใจว่ามันเป็นพลังงานที่สะอาดและไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แว่วมาให้ผมได้ยิน ในการสัมมนาวันหนึ่ง และเป็นที่มาของบทความสั้นๆนี้
 
ปลา เหมือนนก เหมือนสัตว์หลายชนิด ยกเว้นคน ที่มีความสามารถในการเคลื่อนที่ เพื่อความอยู่รอดและความพอเพียงของทรัพยากรในการอยู่อาศัยเท่านั้น นกมีปีก ไม่ได้บินเที่ยวไปทั่วอย่างสุขใจเหมือนดั่งจินตนา แต่มันมีถิ่นอาศัย มีเส้นทางการบินที่ชัดเจน มีจุดประสงค์ในการเคลื่อนที่อย่างชัดเจน ปลาก็เช่นกัน
 
ปลาอพยพทำไม? (ในที่นี้จะกล่าวถึงแต่ปลาน้ำจืด เนื่องจากกระผมไม่ค่อยประสากับปลาทะเลเท่าไหร่) การอพยพของปลาน้ำจืดหลักเลย เกิดขึ้นเพื่อการขยายพันธุ์ การอพยพเพื่อผสมพันธุ์ของปลาน้ำจืด พอจะแบ่งออกได้เป็น 3 ลักษณะ คือ
1.       อพยพขึ้นไปต้นน้ำเพื่อผสมพันธุ์ ปลาในกลุ่มนี้ว่ายทวนน้ำขึ้นไปตามลำน้ำเพื่อวางไข่ ส่วนใหญ่จะมีไข่กึ่งจมกึ่งลอย เช่น กลุ่มปลาแปบ ปลาสวาย ปลาสร้อย พ่อแม่ปลาจะใช้สัญชาติญาณตามธรรมชาติของมันในการอพยพและเลือกที่วางไข่ที่เหมาะสม ไข่กึ่งจมกึ่งลอยพวกนี้จะถูกน้ำพัดลงมา ระหว่างนี้ก็จะฟักและค่อยๆพัฒนา พอน้ำพามาถึงวังใหญ่ที่น้ำนิ่งพอที่จะเกิดแพลงตอนต่างๆเป็นอาหารของลูกปลาหรือถึงที่ราบน้ำท่วม ซึ่งเป็นแหล่งอนุบาลลูกปลาชั้นดี ลูกปลาวัยอ่อนก็จะอาศัยอยู่ตรงนั้นเติบโต พอถึงหน้าแล้งก็โตพอที่จะกลับมาหาเลี้ยงดูแลตัวเองในสายน้ำหลักได้
2.       อพยพเข้าไปผสมพันธุ์ในทุ่งน้ำท่วม กลุ่มนี้ไม่ต้องออกแรงว่ายทวนน้ำไปไกล แต่รอให้น้ำหลากท่วมทุ่ง ท่วมป่าบุ่งป่าทามริมตลิ่งก็อพยพเข้าไปผสมพันธุ์วางไข่กัน ลูกปลาฟักออกมาก็อยู่ตรงนั้น พวกนี้ส่วนใหญ่เป็นไข่แบบติดกับวัสดุ หรือพ่อแม่อาจจะสร้างรังให้ลูกอยู่ หรือเป็นปลาขนาดเล็กที่อพยพไปได้ไม่ไกล หรือว่ายน้ำไม่เก่งนัก เช่น กลุ่มปลาหมอตะกรับ ปลาซิว ปลาเสือข้างลาย ปลาแรด เป็นต้น
3.       กลุ่มที่ไม่ต้องอพยพไปไหน เช่น กลุ่มปลาที่ปกติอาศัยอยู่ในหนองน้ำอยู่แล้ว ถึงเวลาน้ำหลากมาก็ผสมกันตรงนั้น เช่น ปลากัด ปลาช่อน ปลากระดี่ เป็นต้น
จะเห็นว่าการผสมพันธุ์ของปลาต้องการ
1.       เส้นทางอพยพที่ไม่ถูกกีดขวาง เพราะถ้าขึ้นไปวางไข่ในจุดที่เหมาะสมไม่ได้ ไข่ที่ฟักออกมาก็จะไม่ลอยไปยังจุดที่ต้องการ อาจจะลอยหลุดออกทะเล หลุดพื้นที่ราบลุ่มน้ำท่วมไปเลย ลูกปลาก็ไม่รอด ดังนั้นถ้ามีเขื่อนขวางการอพยพ ปลาขึ้นไปถึงจุดที่เหมาะสมไม่ได้ หรือ ถ้าข้ามบันไดปลาโจนไปได้ แต่ขากลับ ไข่หรือลูกปลาก็อาจจะตกจมอยู่ในอ่างท้ายเขื่อนไม่ไหลกลับลงไปอาศัยอยู่ในจุดที่เหมาะสมได้ ก็เป็นอันจบกัน หรืออีกทางหนึ่ง floodway อาจจะพาไข่ปลาและลูกปลาน้อย ลอยละล่องลงทะเลไปเลยก็เป็นได้ 
2.       ทุ่งน้ำท่วม และ ปริมาณน้ำมากพอที่จะหลากไปท่วมทุ่ง ซึ่ง ทุ่งน้ำท่วมยังพอมีเหลือบ้างในที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา แต่เขื่อนได้ทำให้น้ำไม่หลากเข้าทุ่งตามธรรมชาติ ไม่ได้หลากอย่างสม่ำเสมอเพียงพอให้เรามีที่ให้ปลาสามารถขยายพันธุ์ได้เพียงพออีกแล้ว
ปัญหาที่ตามมาคือ เราไม่มีปลากิน ทำอย่างไร?  เราก็ไปเลี้ยงปลา เลี้ยงปลาก็ต้องไปจับลูกปลาจากทะเลมาทำเป็นอาหาร ปัญหาเรื่อง เรืออวนรุน อวนลาก จับสัตว์น้ำวัยอ่อนก็ตามมา ทีนี้ แม่น้ำก็ปลาหมด ทะเลก็ปลาหมด แล้วเราก็ต้องไปนำเข้าปลามากิน ดั่งเช่นกรณีปลาดอลี่ ที่ถูกหลอกกันทั้งประเทศ
สมน้ำหน้าใครดี?  

Comments

ความคิดเห็น

ความเห็นที่ 1

ตามภาษานิเวศประมงจัดปลา3กลุ่มนี้ เป็น
1.       อพยพทวนน้ำขึ้นไปตามลำน้ำเพื่อวางไข่ = White fishes (longitudinal migration)
2.       อพยพเข้าไปผสมพันธุ์ในทุ่งน้ำท่วม = Grey fishes (latitudinal migration)
3.       กลุ่มที่ไม่ต้องอพยพไปไหน เช่น กลุ่มปลาที่ปกติอาศัยอยู่ในหนองน้ำอยู่แล้ว  = Black fishes (marshland movement)