พื้นที่ปลูกป่า 36,000 ไร่ บอกชาวบ้านหรือยังครับ?

โดย: ดร. นณณ์ ผาณิตวงศ์

สิ่งหนึ่งที่ต้องทำความเข้าใจกับเศรษฐศาสตร์ของเขื่อนแม่วงก์คือ ลำพังมูลค่าของการช่วยเรื่องการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร และ การป้องกันน้ำท่วม นั้นไม่เพียงพอที่จะทำให้เงินลงทุนมูลค่า 13,500 ล้านบาทคุ้มค่าได้ ดังนั้นส่วนหนึ่งซึ่งเป็นโครงการพ่วงไปด้วย คือโครงการปลูกป่าเพิ่มอีก 36,000 ไร่ (ตัวเลขที่ใช้ใน EHIA) แล้วก็นำมูลค่าเพิ่มของไม้ ของของป่า และอื่นๆที่ป่าพึ่งจะให้มาคิดคำนวนเป็นผลประโยชน์ของโครงการนี้ด้วย ซึ่งหลังจากนับรายรับรายจ่ายเหล่านี้ไปแล้ว 60 ปีก็ทำให้โครงการนี้รอดพ้นการขาดทุนไปอย่างเฉียดฉิว (เรียกว่าเอาเงินไปฝากธนาคารเฉยๆยังได้มากกว่า)
 
สิ่งหนึ่งที่คนทั่วไปเข้าใจคือ โครงการเขื่อนแม่วงก์นี้อยู่ในป่าทั้งหมด คือน้ำท่วมแต่ป่าอย่างเดียว ไม่มีชาวบ้านต้องเดือดร้อนสูญเสียที่อยู่หรือพื้นที่ทำกินใดๆ แต่จริงๆแล้ว ถ้าหากไม่นับรวมกับพื้นที่คลองส่งน้ำ 15,000 ไร่ที่ต้องไปเวณคืนมาจากชาวบ้านแล้ว พื้นที่ปลูกป่า 36,000 ไร่นั้น ระบุไว้ใน EHIA ว่า “ใช้พื้นที่รกร้างหรือพื้นที่สาธารณะ” มาปลูก ซึ่งจากสไลด์ของกรมชลประทานได้กำหนดพื้นที่ปลูกป่าไว้ในแถบสีเขียวๆ ตามภาพด้านล่าง ซึ่งมีข้อสังเกตสามข้อคือ

1. ในสไลด์บอกว่าประมาณ 30,000 ไร่ ไม่ตรงกับใน EHIA ถ้าใช้ตัวเลข 30,000 ไร่ โครงการนี้น่าจะขาดทุน
2. เมื่อใช้โปรแกรม Google Earth เปิดดูพื้นที่ในเงาสีเขียวที่ระบุว่าจะทำการปลูกป่า จะพบว่าเป็นพื้นที่เกษตรและมีบ้านเรือนกระจัดกระจายอยู่ แม้แต่ภาพที่นำมาแสดงในสไลด์ของกรมชลฯเองก็เป็นภาพแปลงเกษตร ไม่ได้เป็นพื้นที่รกร้างหรือพื้นที่สาธารณะตามที่ระบุไว้ใน EHIA
3. การศึกษายังไม่ได้นำมูลค่าการสูญเสียพืชผลทางการเกษตรจากพื้นที่ตรงนี้ไปรวมเป็นค่าใช้จ่ายของโครงการ



ที่มา: กรมชลประทาน

ผมเข้าใจว่าพื้นที่ในบริเวณนี้ส่วนใหญ่ เป็นพื้นที่ๆเพิ่งมีการบุกเบิกไม่นาน เอกสารในการครอบครองคงยังไม่มีถึงระดับเป็นโฉนดหลายแปลงนัก และจากการค้นหาใน EHIA ก็ไม่พบว่ามีงบประมาณที่จะมาเวณคืนพื้นที่ปลูกป่าสามหมื่นกว่าไร่แต่อย่างใด ทั้งนี้มีการให้ข่าวว่าชาวบ้านในพื้นที่สมัครใจและให้ความยินยอม จึงทำให้คิดได้ว่าจะทำการยึดคืนที่ดินเพื่อนำมาปลูกป่าโดยไม่มีค่าชดเชยใดๆ
 
เมื่อเห็นดังนี้จึงอดที่จะหวงไม่ได้ ว่าชาวบ้านที่จะต้องสูญเสียที่ดินทำกิน 36,000 ไร่ ซึ่งคาดว่าจะมีนับพันครอบครัว เค้าได้รับทราบและยินยอมกันจริงๆหรือไม่?

แน่นอนว่าการมีพื้นที่ป่าในที่ราบเพิ่มเป็นเรื่องดี และถ้าสามารถทำความตกลงกับชาวบ้านที่ต้องสูญเสียที่ดินให้เป็นค่าปลูกหรือ เพาะกล้า ดูแลรักษาป่า ก็จะได้ป่าเพิ่มขึ้นมาและมีคนดูแลป่าให้ด้วย โดยที่ชาวบ้านยังมีรายได้ แต่ได้มีการพูดคุยตกลงกันหรือยัง?
 
นักการเมือง ข้าราชการ ที่อยากจะสร้างเขื่อนได้บอกความจริงทั้งหมดกับชาวบ้านในพื้นที่หรือยังครับ?