เขื่อน ในมุมมองความมั่นคงทางอาหาร
โดย ดร. นณณ์ ผาณิตวงศ์
การสร้างเขื่อน เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า และการชลประทานคือการพัฒนาหรือไม่? คำถามนี้อาจจะไม่ต้องถามรัฐบาลในระแวกลุ่มแม่น้ำโขง เมื่อทุกประเทศต่างเงื้อเตรียมที่จะสร้างเขื่อนทั้งสิ้น โดยเฉพาะโครงการเขื่อนกั้นแม่โขงสายหลักถึง 12 เขื่อน (ลาว 8 เขื่อน, ไทย 2 เขื่อน และ กัมพูชา 2 เขื่อน) ซึ่งจะเปลี่ยนให้สายน้ำที่ไหลหล่อเลี้ยงผู้คนประมาณ 60 ล้านคนกลายเป็นบ่อน้ำไปประมาณ 55% (1) ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพโดยเฉพาะปลาแม่น้ำโขงซึ่งมีมากกว่า 600 ชนิดซึ่งมีปลาขนาดใหญ่หนักกว่า 300 กิโลกรัมอย่างปลาบึกไปจนถึงกลุ่มปลาซิวปลาสร้อยตัวเล็กๆมากมาย
(ต่อไปนี้ผมจะยกตัวอย่างประเทศลาวเพียงประเทศเดียว เนื่องจากเป็นประเทศที่จะมีการสร้างเขื่อนมากที่สุด หน่วยที่อ้างถึงทั้งหมดเป็น US$)
การพัฒนาคืออะไร? มองให้ง่ายที่สุด เราอาจจะมองที่อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจซึ่งถือว่าลาวทำได้ดีมากเพราะในระหว่างปี คศ. 2001-2010 นั้นลาวมีอัตราการเจริญเติบโตเฉลี่ยสูงถึง 7.6% (2) ผลผลิตมวลรวมต่อหัวยังเพิ่มอย่างต่อเนื่องจากปี 2008 ที่ US$887 ขึ้นไปถึง US$1,399 ในปี 2012 (3) แต่ถ้าหากมาดูว่าเงินที่เพิ่มขึ้นในประเทศนั้นไปไหน เราจะพบว่า คนที่มีรายได้มากที่สุด 20% ในประเทศลาวมีส่วนแบ่งมากขึ้นเรื่อยๆ จาก 40.06% ในปี 1992 เพิ่มเป็น 44.84% ในปี 2008 ในขณะที่กลุ่มคนที่มีรายได้น้อยที่สุด 20% ท้าย ลดลงจาก 9.27% เหลือ 7.64% ในปีเดียวกัน และถ้าหากดูแค่ 10% บนกับล่างจะพบว่ามีรายได้ต่างกันประมาณ 10 เท่า (4) จะเห็นว่าเงินที่เพิ่มขึ้นนั้นมิได้เพิ่มเฉลี่ยอย่างทั่วถึง คนที่รวย รวยขึ้น และคนที่จนแม้นว่าจะมีเงินในกระเป๋ามากขึ้นแต่ ตามสัดส่วนแล้วก็จนลง
ถามว่าความจน ความรวยวัดจากอะไร? ผมคิดว่าสิ่งหนึ่งที่สำคัญที่สุดของชีวิตมนุษย์คืออาหาร ในเรื่องนี้รายงานของธนาคารโลก (2) ระบุว่าลาวเป็นประเทศที่มีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบขาดสารอาหารมากถึง 40% ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาทั้งด้านสุขภาพและจิตใจ ติดตัวไปจนโต โดย UNICEF ประมาณการว่าปัญหาดังกล่าวจะทำให้ลาวสูญเสียโอกาสการเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมไปปีละประมาณ 3% หรือปีละ $197 ล้าน (5) ซึ่งถ้าลองเปรียบเทียบดูจะพบว่าเขื่อนน้ำเทิน 2 มีรายได้ในปี 2009 เพียง $10 ล้าน (7) หรือ รายได้ เฉลี่ย 29 ปีที่จะได้จากเขื่อนไซยะบุรีนั้นอยู่ที่ $135 ล้าน (8) เท่านั้น
แน่นอนว่าการให้ความรู้กับแม่ในการดูแลลูก การลดใช้แรงงานของแม่ในช่วงที่ต้องมีการให้นมลูกช่วยได้ แต่ส่วนหนึ่งที่สำคัญคือ แหล่งอาหาร ว่ามีอยู่อุดมสมบูรณ์มากน้อยเพียงใด สิ่งแรกที่พบคือ ชาวลาวกลุ่มที่อาศัยอยู่ติดแม่น้ำโขง มีความมั่นคงทางด้านอาหารมากกว่ากลุ่มที่อาศัยอยู่บนพื้นที่สูง(6) ซึ่งเมื่อเรามาดูกันต่อว่าคนลาวกินอะไรเป็นอาหารกันบ้าง โดยเฉพาะแหล่งโปรตีนจะพบว่าคนลาวพึ่งพาแหล่งโปรตีนจากปลาและสัตว์น้ำอื่นๆมากถึง 56% จึงไม่แปลกเลยที่กลุ่มคนที่อาศัยอยู่ติดกับแม่น้ำโขงจะเข้าถึงแหล่งอาหารดังกล่าวได้มากกว่า นอกจากนั้นเรายังพบว่ากลุ่มคนที่ต้องถูกโยกย้ายถิ่นฐาน (จากการสร้างเขื่อน) มีความมั่นคงทางอาหารน้อยกว่ากลุ่มคนปกติเกือบ 2 เท่า (6) (ถ้าหากมีการสร้างเขื่อนทั้ง 13 เขื่อนจะมีชาวบ้านต้องถูกย้ายบ้านประมาณ 107,000 คน (1))
จากข้อมูลนี้ทำให้เราเห็นถึงความสำคัญของสัตว์น้ำจากลุ่มแม่น้ำโขงต่อความเป็นอยู่ของกลุ่มคนที่มีรายได้น้อยในประเทศลาว ซึ่งการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงสายหลักจะเป็นการทำลายระบบนิเวศในแม่น้ำโขงลง ดังเช่นตัวอย่างจากแม่น้ำแยงซีในประเทศจีนซึ่งน้ำเสียและการสร้างเขื่อนทำให้ระบบนิเวศล่มสลาย จำนวนปลาหลัก 4 ชนิดลดลง 300 เท่า ในขณะที่ชนิดปลาในแม่น้ำสาขาลดลงจาก 143 ชนิดเหลือเพียง 17 ชนิด (9) รวมทั้งทำให้ปลาขนาดใหญ่คือปลาฉลามปากเป็ดจีน(10) และปลาโลมาน้ำจืด ตกอยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง(11) ในขณะที่การเพาะพันธุ์ปลาเพื่อปล่อยลงในเขื่อน ซึ่งเป็นวิธีที่มักใช้เป็นข้ออ้างในการแก้ปัญหาหรือเพิ่มจำนวนปลา ไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาในระยะยาวได้เนื่องจากระบบนิเวศในเขื่อนไม่มีความเหมาะสมต่อการดำรงชีพของปลาดั่งเช่นกรณีปลาชะโดล้นเขื่อนในเขตจังหวัดโคราชของประเทศไทยในปี 2555 (12, 13) นอกจากนั้นเชื่อนทั้ง 13 ยังจะทำให้พื้นที่เพาะปลูกพืชริมลำน้ำโขงจมอยู่ใต้น้ำอย่างถาวรอีกประมาณ 360,000 ไร่ อีกด้วย(1)
รัฐบาลที่ต้องการสร้างเขื่อน โดยอ้างการพัฒนาเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน จึงอาจจะต้องย้อนกลับมามองให้รอบด้านอีกครั้งว่าตัวเลขเศรษฐกิจที่สวยหรูนั้นจริงๆแล้ว กินได้หรือไม่?
อ้างอิง
(1) Strategic Environmental Assessment of Hydropower on the Mekong Mainstream (2010)
http://www.mrcmekong.org/assets/Publications/Consultations/SEA-Hydropowe...
(2) Lao PDR Overview
http://www.worldbank.org/en/country/lao/overview
(3) GDP per capita
http://data.worldbank.org/indicator/NY.GDP.PCAP.CD
(4) Lao PDR - Income Distribution
http://www.indexmundi.com/facts/lao-pdr/income-distribution
(5) Analysis: As Laos prosper, child malnutrition persists
http://www.irinnews.org/report/98659/analysis-as-laos-prospers-child-mal...
(6) Composition of the Lao Food Basket
http://foodsecurityatlas.org/lao/country/utilization/food-consumption
(7) Nam Theun 2 Dam
http://en.wikipedia.org/wiki/Nam_Theun_2_Dam
(8) Xayaburi dam to provide huge benefits for Laos
http://www.ulfasso.com/?p=6492
(9) Yangtze ecology collapses
http://www.china.org.cn/environment/2013-10/23/content_30377118.htm
(10) Chinese Paddlefish
http://environment.nationalgeographic.com/environment/freshwater/chinese...
(11) “Extinct” River dolphin spotted in China
http://news.nationalgeographic.com/news/2007/08/070831-baiji-dolphin.html
(12) ชะโดอาละวาดโคราช มาเป็นฝูง 2-3ร้อยตัว กินเกลี้ยงเพื่อนปลา-พืช เตือนเล่นน้ำระวังโดนรุมกินโต๊ะ
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1350017845_decode_entit...
(13) จดหมายเหตุ กรณีปลาชะโดล้นเขื่อน 2555
http://www.siamensis.org/article/36472
Comments
ความคิดเห็น
ความเห็นที่ 1
ขอแชร์นะครับพี่นณต์