จดหมายเปิดผนึก : เรียนกรมอุทยานแห่งชาติฯ และ อช.เขาใหญ่ กรณีจับจระเข้

15 พฤศจิกายน 2556

เรียน       อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และ พันธุ์พืช และ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
เรื่อง        การจับจระเข้ ที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

ข้าพเจ้าได้ทราบข่าวว่าจะมีการจับจระเข้น้ำจืดสายพันธุ์ไทยที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ บริเวณทางเดินศึกษาธรรมชาติผากล้วยไม้ เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวได้ไปรบกวนจระเข้ เช่นนำไม้ไปแหย่ หรือ ขว้างปาด้วยก้อนหิน และ ทางอุทยานเกรงว่าจระเข้จะทำร้ายนักท่องเที่ยวซึ่งในการนี้ข้าพเจ้าขอเรียนเสนอความเห็นเพื่อให้ท่านกรุณานำไปใช้เพื่อการตัดสินใจเพิ่มเติม ดังนี้

1. ข้าพเจ้าได้นำภาพจระเข้ดังกล่าวให้กับผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับจระเข้ได้ตรวจสอบแล้ว ซึ่งได้รับการยืนยันว่าเป็นจระเข้น้ำจืดสายพันธุ์ไทย (Crocodylus siamensis) โดยจระเข้ชนิดนี้ถึงแม้ว่าจะมีอยู่มากในที่เลี้ยงแต่เป็นชนิดที่มีประชากรตามธรรมชาติน้อยมาก ในปัจจุบันพบอยู่เฉพาะในเขตอนุรักษ์บางแห่งเพียงไม่กี่ตัวในประเทศไทยและกัมพูชาเท่านั้น

2. โดยความเข้าใจเป็นอย่างดีว่าจระเข้ทั้งสองน่าจะเป็นจระเข้ปล่อยมิได้อยู่ดั้งเดิมตามธรรมชาติ แต่จระเข้ทั้งสองเป็นเพียงสองตัวในโลกที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติในจุดที่บุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ง่ายที่สุด ข้าพเจ้าคิดว่าเป็นโอกาสอันดีที่จะให้บุคคลทั่วไปรวมทั้งนักท่องเที่ยวต่างชาติได้เห็นสัตว์ที่หายากชนิดนี้ในธรรมชาติ เพื่อสร้างความตระหนักในการอนุรักษ์และเป็นโอกาสที่จะศึกษาพฤติกรรมของจระเข้ชนิดนี้ตามธรรมชาติ  นอกเหนือจากที่จะมีโอกาสได้เห็นเพียงในฟาร์มและสวนสัตว์

3. โดยธรรมชาติแล้วจระเข้สายพันธุ์นี้เป็นสายพันธุ์ที่ไม่ดุร้าย มีขนาดไม่ใหญ่นัก และสองตัวก็คุ้นเคยกับคนเป็นอย่างดี ข้าพเจ้าคิดว่าถ้ามีการดูแลและกวดขันไม่ให้นักท่องเที่ยวเข้าใกล้หรือทำร้ายจระเข้ โอกาสที่นักท่องเที่ยวจะโดนจระเข้ทั้งสองทำร้ายมีน้อยมาก อนึ่ง อช.เขาใหญ่ มีสัตว์ขนาดใหญ่และสัตว์ผู้ล่าอื่นๆ เช่น ช้าง หมาใน หมีควาย งูเหลือม และ งูพิษชนิดต่างๆ รวมไปถึงเสือโคร่งและเสือดาวที่อาศัยอยู่ในอุทยานแห่งชาติอื่นๆที่มีนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก เช่น อช.แม่วงก์ และ อช.แก่งกระจาน ซึ่งสัตว์เหล่านี้สามารถทำร้ายนักท่องเที่ยวได้เช่นกัน ข้าพเจ้าไม่คิดว่าจระเข้ทั้งสองจะเป็นภัยต่อนักท่องเที่ยวมากไปกว่าสัตว์กลุ่มที่ได้กล่าวไปแล้วนี้ โดยเฉพาะถ้าหากมีการกวดขันและให้ความรู้นักท่องเที่ยวอย่างจริงจัง อนึ่ง มีเขตอนุรักษ์หลายแห่งในโลกที่มีจระเข้เป็นตัวชูโรงในการท่องเที่ยว เช่น เพนทานอล ในประเทศบราซิล และ มาไซมาร่า ในเคนย่า 

4. ในส่วนของระบบนิเวศนั้น ข้าพเจ้าคิดว่าระบบนิเวศของอช.เขาใหญ่มีขนาดใหญ่และความอุดมสมบูรณ์เพียงพอที่จะลองรับจระเข้ทั้งสองได้ รวมทั้งนากที่อาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าวก็ยังสามารถพบเห็นได้ไม่ยากนัก ทั้งนี้ถ้าหากมีการศึกษาทางวิชาการอย่างดีแล้วว่าจระเข้ทั้งสองส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจริง เช่นทำให้จำนวนประชากรของสัตว์หายากบางชนิดลดลง จึงค่อยพิจารณาอีกทีหนึ่ง

จากเหตุผลที่ได้กล่าวไปแล้วนี่ ข้าพเจ้าถึงขอเสนอให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และ พันธุ์พืช และ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ พิจารณาเลื่อนการจับจระเข้ออกไป ทำการศึกษาผลกระทบของจระเข้ต่อนักท่องเที่ยวและระบบนิเวศ อย่างดี รวมทั้งพิจารณาจระเข้ทั้งสองให้เป็น “โอกาส” มากกว่าที่จะเป็น “อุปสรรค” ทั้งในด้านการอนุรักษ์ วิจัย และ การท่องเที่ยว

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา

ขอแสดงความนับถือ

ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์
ประชาชน

Comments

ความคิดเห็น

ความเห็นที่ 1

โลกนี้ไม่ใช่ของคนเพียงอย่างเดียวครับ