เขื่อนในมุมมองทางด้านสิ่งแวดล้อม

ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์
 
การเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมใดๆก็ตาม มีผลดีก็ต้องมีผลเสีย ถึงแม้ว่าการสร้างเขื่อนจะช่วยมนุษย์ในหลายๆด้าน แต่ในอีกทางหนึ่งเขื่อนก็ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งย้อนกลับมาส่งผลกระทบต่อมนุษย์ในทางอ้อม ทั้งนี้ผลกระทบของเขื่อนต่อสิ่งแวดล้อมนั้นพอจะแบ่งได้เป็น 3 ส่วนหลักๆ คือทางบก ทางน้ำ และ ทางอากาศ

ในทางบกนั้น การสร้างเขื่อนโดยเฉพาะการสร้างเขื่อนในป่าเป็นการทำลายระบบนิเวศป่าไม้ ในปัจจุบันประเทศไทยเหลือป่าไม้ปกคลุมประเทศอยู่เพียงประมาณ 30% ซึ่งนับว่าน้อยเกินไปที่จะรักษาสมดุลไว้ได้อยู่แล้วตามหลักวิชาการ โดยป่าไม้ในประเทศไทยนั้นเป็นเขตที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง จึงต้องการสิ่งแวดล้อมที่หลากหลายในการดำรงชีพ การสร้างเขื่อนมักจะเป็นการทำลายพื้นที่ราบริมลำน้ำ ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในระบบนิเวศ ทั้งนี้การมีป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ หมายถึงการมีแหล่งฟอกอากาศที่ดี แหล่งกักเก็บคาร์บอน พื้นที่ชะลอน้ำ สร้างปุ๋ย คลังยาสมุนไพร เนื้อไม้ ของป่าต่างๆที่สามารถหยิบหาได้ตามฤดูกาล นับเป็นนิเวศบริการที่ธรรมชาติให้แก่มนุษย์ และ สถานที่ท่องเที่ยวอันนำรายได้เข้าสู่ท้องถิ่นและประเทศชาติ นอกจากนั้นป่าไม้ที่สมบูรณ์ยังหมายถึงแหล่งผลิตไอความชื้นจากการกักเก็บและคายน้ำจากใบไม้ซึ่งส่งผลให้มีฝนตกมากขึ้น ช่วยชะลอไม่ให้น้ำไหลบ่าลงสู่พื้นที่ด้านล่างอีกด้วย จะเห็นว่าทุกคนใช้ประโยชน์จากป่าไม้ทั้งทางตรงและทางอ้อม การทำลายป่าจึงเป็นการเพิ่มต้นทุนให้กับทุกคนในสังคม 

นอกจากทำลายป่าไม้ในบริเวณที่ถูกน้ำท่วมแล้ว ป่าในบริเวณรอบๆอ่างเก็บน้ำ ถึงแม้ว่าจะได้รับความชื้นจากเขื่อนแต่ก็ไม่สามารถทดแทนกับผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ โดยสาเหตุหลักมาจากการที่ป่าชายขอบถูกเปิดพื้นที่ให้รับ ลม ฝน ความร้อน และ แสง โดยตรงซึ่งมีศัพท์ที่ใช้ว่า Edge effect จากการศึกษาทั่วโลกพบว่ามีผลกระทบในทางลบต่อ ชนิด ประมาณ และ การกระจายของทั้งพืชและสัตว์ในบริเวณดังกล่าว ขอบของป่าที่ถูกเปิดออกยังทำให้สิ่งมีชีวิตต่างถิ่นรุกล้ำเข้าไปในป่าชั้นในได้ง่ายขึ้น นอกจากนั้นปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า การลักลอบล่าสัตว์ก็จะสามารถทำได้ง่ายขึ้นจากการเดินทางทางเรือที่สะดวกขึ้น กรณีการตั้งหน่วยพิทักษ์ป่าศร.9 (ไกรเกรียง) ที่เขื่อนศรีนครินทร์เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ต้องมีการตั้งหน่วยย่อยของอุทยานแห่งชาติเพิ่มเติมเพื่อเฝ้าระวังการลักลอบเข้าไปล่าสัตว์ในเขตอนุรักษ์ เรื่องสัตว์จะมีน้ำกินน้ำใช้นั้นก็เป็นอีกข้อหนึ่งที่ถูกยกขึ้นมาว่าเป็นผลดีของเขื่อน แต่ในความเป็นจริงแล้ว เขื่อนต่างๆในฤดูแล้งจะต้องทำการปล่อยน้ำลดระดับลง ทำให้เกิดพื้นที่โล่งเป็นระยะทางมากบ้างน้อยบ้างระหว่างแนวป่ากับแอ่งน้ำที่เหลืออยู่ของเขื่อน ซึ่งทำให้สัตว์ป่าส่วนใหญ่ไม่กล้าออกมากินน้ำ เทียบกับกรณีแหล่งน้ำธรรมชาติที่ไหลอยู่ติดป่า นอกจากนั้นเขื่อนที่ถูกสร้างขึ้นในบริเวณพื้นที่ๆมีความเทือกเขาสลับซับซ้อน เช่นกรณีเขื่อนรัชประภา ก่อให้เกิดเกาะจำนวนมากซึ่งป่าขนาดเล็ก (fragmented habitat) บนเกาะเหล่านี้ไม่สามารถที่จะลองรับประชากรสัตว์ขนาดใหญ่ใดๆได้เลย

ในทางบกนี้ยังรวมไปถึงการที่ตะกอนที่ถูกพัดพามากับแม่น้ำตามธรรมชาติต้องไหลลงสู่ที่ราบ ถูกดักให้ตกอยู่ในอ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อน ส่งผลให้ตะกอนซึ่งเป็นปุ๋ยตามธรรมชาติเหล่านี้ไหลไม่ถึงพื้นที่เกษตรในที่ราบ นอกจากนั้นแม่น้ำที่พัดพาเอาตะกอนจากภูเขาไหลออกสู่ทะเลยังทำหน้าที่เหมือนสายพานลำเลียงธาตุอาหารจากบกสู่ทะเล จะเห็นว่าทะเลในอ่าวไทยตอนในมีความอุดมสมบูรณ์มากในอดีตเนื่องจากการที่มีตะกอนจากแม่น้ำสายใหญ่ๆถึงสามสายคือ เจ้าพระยา ท่าจีน และ แม่กลองไหลพัดพาเอาแร่ธาตุต่างๆมาให้ ตะกอนดังกล่าว ยังตกทับถมลงที่ปากแม่น้ำทำให้แผ่นดินงอกออกไปเรื่อยๆ และป้องกันแผ่นดินเดิมถูกกัดเซาะ พื้นที่ส่วนใหญ่ของที่ราบลุ่มภาคกลางตอนล่างรวมทั้งกรุงเทพฯก็เกิดขึ้นจากกระบวนการนี้ หนึ่งในเหตุผลหลักที่พื้นที่ชายฝั่งอ่าวไทยตอนในถูกกัดเซาะนอกจากการทำลายป่าชายเลนแล้วก็คือการลดลงของตะกอนที่ในปัจจุบันตกทับถมอย่างไร้ค่าอยู่ใต้เขื่อนต่างๆ ตะกอนเหล่านี้ยังส่งผลเสียต่อตัวเขื่อนทำให้เขื่อนตื้นเขิน และอายุการใช้งานสั้นลงอีกด้วย ทั้งนี้อยากจะถือโอกาสทำความเข้าใจด้วยว่า อายุของเขื่อน มิได้วัดจากอายุของคอนกรีตหรือวัสดุที่นำมาสร้างเพียงอย่างเดียว ถ้าหากตะกอนตกทับถมจนถึงระดับที่เขื่อนใช้งานไม่ได้ก็ทำให้เขื่อนหมดสภาพไปเช่นกัน เช่น กรณีเขื่อนฮูเวอร์ในประเทศอเมริกานั้นมีการประมาณการกันว่ามีตะกอนไหลมาตามแม่น้ำโคโลราโด้มากถึงปีละ 44 ล้านตัน จนต้องมีการสร้างเขื่อนรองอีกหลายเขื่อนเพื่อดักตะกอนมิให้ตกไปทับถมเขื่อนหลัก ซึ่งเป็นการประวิงเวลาไว้ มิเช่นนั้นเขื่อนคงหมดอายุการใช้งานก่อนอายุคอนกรีตเป็นแน่ 

ในส่วนของทางน้ำ พบว่าเขื่อนเมื่อสร้างขวางแม่น้ำ จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากระบบนิเวศน้ำไหลเป็นน้ำนิ่ง ทำให้คุณภาพของน้ำแย่ลง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อชนิด ปริมาณ และ การกระจายพันธุ์ของปลาในบริเวณดังกล่าว โดยเปลี่ยนแปลงจากปลาน้ำไหล เป็นปลาที่ปรับตัวอาศัยและสืบพันธุ์ในแหล่งน้ำนิ่งได้ดีกว่าซึ่งเป็นกลุ่มปลาที่พบได้ทั่วไป การขึ้นและลงตามฤดูกาลของแหล่งน้ำ ซึ่งเป็นวัฏจักรสำคัญที่กระตุ้นให้ปลาวางไข่ก็จะไม่เกิดขึ้นในบริเวณเหนือเขื่อน มักจะมีการกล่าวอ้างว่า สามารถใช้เขื่อนเป็นแหล่งเพาะเลี้ยงปลาและทำการประมงได้ โดยเฉพาะการเพาะพันธุ์ปลาต่างๆมาปล่อย ซึ่งตามวัฏจักรของเขื่อนนั้นในช่วงแรกคุณภาพน้ำจะไม่ดี จากการเน่าเสียของซากพืชและสัตว์ที่ถูกน้ำท่วมทำให้ปลามีจำนวนน้อยมาก แต่เมื่อย่อยสลายถึงระดับหนึ่ง (ประมาณ 2-3 ปี) คุณภาพน้ำจะดีขึ้นและเขื่อนที่ยังมีซากพืชหลงเหลืออยู่จะมีความอุดมสมบูรณ์มาก แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไปซากพืชย่อยสลายหมดลง (ประมาณ 10-15 ปี) ก็จะพบว่าเขื่อนกลายเป็นแหล่งน้ำที่ลึกและเวิ้งว้าง ขาดพืชซึ่งเป็นผู้ผลิตตั้งต้นในห่วงโซ่อาหาร จะเห็นว่าแหล่งน้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์สูง เช่น บึงบอระเพ็ด กุดทิง หรือ ทะเลน้อย ล้วนเป็นแหล่งน้ำตื้นที่มีพืชน้ำขึ้นเป็นจำนวนมากทั้งสิ้น เราสามารถเห็นได้จากกรณีปลาชะโดล้นเขื่อนในจังหวัดโคราชเมื่อปีพ.ศ.2555 ซึ่งถึงแม้กรมประมงจะมีความพยายามปล่อยปลากินพืชลงไปมากมายก็ไม่สามารถสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้นได้ เนื่องจากในเขื่อนขาดพืชน้ำมาเป็นอาหารและแหล่งอาศัยของปลากินพืช ในขณะที่ปลาชะโดเป็นปลาที่สามารถอาศัยและสืบพันธุ์อยู่ในแหล่งน้ำนิ่งที่เปิดโล่งได้ดี เมื่อมีการเพาะพันธุ์ปลากินพืชมาปล่อย เขื่อนจึงกลายเป็นบ่อเลี้ยงปลาชะโด ขาดความสมดุลทางระบบนิเวศ 

นอกจากในบริเวณเหนือเขื่อนแล้ว แม่น้ำในบริเวณใต้เขื่อนก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน โดยเฉพาะจากการที่ปลาไม่สามารถอพยพขึ้นไปวางไข่ในแหล่งต้นน้ำได้เนื่องจากไม่สามารถอพยพพ้นแนวเขื่อนได้ การสร้างอุปกรณ์ช่วยปลาอพยพต่างๆไม่สามารถทดแทนหรือช่วยเหลือปลาได้มากนักโดยเฉพาะแหล่งน้ำในบ้านเรา เช่นแม่น้ำโขง ที่มีความหลากหลายของชนิดปลาสูงกว่าประเทศในเขตหนาวมาก เช่น ปลาบึกซึ่งมีน้ำหนักกว่า 300 กิโลกรัม หรือถึงแม้พ่อแม่ปลาจะอพยพข้ามไปได้ แต่ลูกปลาก็มักจะไม่สามารถอาศัยอยู่รอดและหาทางอพยพผ่านอ่างเก็บน้ำในเขื่อนลงสู่แม่น้ำด้านล่างได้ หรือพ่อแม่ปลาที่อพยพขึ้นได้ก็อาจจะไม่สามารถกลับผ่านช่องทางที่ต้องผ่านกังหันผลิตไฟฟ้าของเขื่อนไปได้ นอกจากน้ำอุณหภูมิของน้ำที่ปล่อยออกจากเขื่อนก็มักจะแตกต่างจากอุณหภูมิของน้ำตามธรรมชาติ ซึ่งปลาหลายชนิดมีความอ่อนไหวต่อเรื่องนี้มากในฤดูวางไข่ การขึ้นลงของน้ำที่ไม่เป็นไปตามฤดูกาลก็ส่งผลต่อระบบนิเวศท้ายน้ำเช่นกัน 

ในทางอากาศ เรามักจะได้ยินอยู่เสมอว่าไฟฟ้าที่ผลิตได้จากเขื่อนเป็นแหล่งพลังงานที่สะอาด ช่วยลดโลกร้อนได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว มีการศึกษาที่พบว่า การหมักหมมของซากพืชและสัตว์ในอ่างเก็บน้ำหลังการสร้างเขื่อน ซึ่งเป็นการหมักใต้น้ำลึกโดยไม่มีออกซิเจนนั้น ก่อให้เกิดก๊าซมีเทน ซึ่งมีผลทำให้เกิดปรากฏการณ์โลกร้อน เช่นเดียวกับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และมีความสามารถในการทำลายชั้นโอโซนมากกว่าถึง 20 เท่า การศึกษาอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของเขื่อนในต่างประเทศพบว่าเขื่อนหลายๆเขื่อน โดยเฉพาะในเขตร้อนเช่นบ้านเรา ปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมามากพอๆกับโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ด้วยเหตุนี้เราจึงไม่สามารถเรียกไฟฟ้าที่ได้จากเขื่อนว่าเป็นพลังงาน “สะอาด” ได้เต็มปากนัก  

เขื่อนเป็นอุปกรณ์หนึ่งที่ถูกสร้างขึ้นโดยมนุษย์ และก็เหมือนอุปกรณ์ทุกชิ้น มีข้อดีและข้อเสียอยู่ในตัว โดยขึ้นอยู่กับปัจจัยพื้นฐานต่างๆมากมาย การเลือกใช้เขื่อนซึ่งต้องมีการลงทุนสูงและส่งผลกระทบเป็นวงกวางและยาวนาน จึงต้องชั่งน้ำหนักผลดีและผลเสียให้ดี ฟังเสียงและศึกษาให้รอบด้าน ก่อนตัดสินใจ