จดหมายเหตุ โครงการผันน้ำยวมลงเขื่อนภูมิพล 2559

ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์ 

สืบเนื่องจากภาวะแล้งที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทย ทำให้ข้าราชการประจำในกรมชลฯ ได้งัดเอาโครงการโบราณขึ้นมาเสนอรัฐบาลปัจจุบันอีกครั้ง หนึ่งในโครงการที่ว่าคือโครงการผันน้ำยวมมาลงที่เขื่อนภูมิพล โครงการนี้ผมยังไม่เคยเห็น EIA และรูปแบบของโครงการว่าจะออกมารูปร่างหน้าตาอย่างไร แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ แม่น้ำยวมนั้นไหลลงแม่น้ำสาละวินจึงถือเป็นส่วนหนึ่งของลุ่มแม่น้ำสาละวิน  ในขณะที่เขื่อนภูมิพลสร้างกั้นแม่น้ำปิง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา จากการศึกษาสัตว์น้ำในสองลุ่มน้ำมาอย่างยาวนาน เราเรียนรู้กันนานแล้วว่าสาละวินและเจ้าพระยานั้นอยู่คนละสัตวภูมิศาสตร์ (biogeography) กัน ในบทความสั้นๆนี้จึงขอนำเสนอผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อความหลากหลายทางชีวภาพจากโครงการดังกล่าว
 
แม่น้ำสาละวิน
สาละวินนั้นมีต้นกำเนิดอยู่ในที่ราบสูงทิเบต ไหลผ่านประเทศจีน พม่า และ เป็นพรมแดนแบ่งระหว่างประเทศไทยและประเทศพม่าช่วงหนึ่ง ก่อนจะไหลออกทะเลอันดามันในเขตประเทศพม่า ในปัจจุบันแม่น้ำสาละวินสายหลักถือเป็นแม่น้ำสายใหญ่สายสุดท้ายของตะวันออกไกลที่ยังไหลอย่างอิสระไม่มีเขื่อนใดๆมากั้น ในประเทศไทยมีแม่น้ำสายย่อยที่ไหลลงแม่น้ำสาละวินหลายสาย เช่น แม่น้ำเมย (จ.ตาก) แม่น้ำกะสะ แม่น้ำสุยยะ (จ.กาญจนบุรี) และ แม่น้ำยวม ที่มีต้นน้ำอยู่ในจ.แม่ฮ่องสอน
 
อะไรคือสัตวภูมิศาสตร์? 
ที่บอกว่าสาละวินกันเจ้าพระยาอยู่คนละสัตวภูมิศาสตร์นั้นหมายความว่าอย่างไร?
สัตวภูมิศาสตร์ถูกแบ่งด้วยการกระจายพันธุ์ของสัตว์ อย่างปลาน้ำจืดนั้นจะถูกแบ่งด้วยการไหลของน้ำ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน แม่น้ำสาละวินกับเจ้าพระยานั้นแยกกันไหลมานานมากๆแล้ว (ไม่รู้นานแค่ไหน) นานจนปลาที่อาศัยอยู่ ต่างก็วิวัฒนาการแยกย้ายกันออกมาเป็นชนิดที่แตกต่างกัน ยกตัวอย่างว่าปลากดคังของสองแม่น้ำนี้ก็เป็นคนละชนิดกัน ปลาสวาย ปลาแขยง ปลาสังกะวาส ปลาแปบ ปลาซิว ส่วนใหญ่แล้วก็คนละชนิดกัน สาละวินมีปลาแปลกๆอย่างปลากดหมูที่ตัวโตหลายสิบโล มีปลาสังกะวาดยักษ์ฟันเต็มปาก รูปทรงเหมือนฉลาม ตัวยาวกว่าท้ายรถกระบะที่ว่ายไล่ล่ากินปลาเล็ก ในขณะที่เจ้าพระยาก็เคยมีปลาเทพา ที่เป็นสายโหดและตัวโตไม่แพ้กัน ไม่ใช่ว่าถึงกับไม่มีชนิดซ้ำกันเลยนะครับ มีบ้าง แต่ส่วนใหญ่แล้วคือคนละชนิดกันเลย
 
ผันน้ำสาละวินมาลงเจ้าพระยาแล้วจะเป็นยังไง?
ผมยังไม่เห็นนะว่าทางเทคนิคแล้วเค้าจะผันน้ำมาอย่างไร แต่แน่นอนว่าคงไม่ได้กรองมาสะอาดจนไม่มีอะไรติดมาเลย ผมเดาเอาว่าต้องมีปลาเล็กๆมีไข่ปลาต่างๆจากลุ่มแม่น้ำสาละวินติดมากับน้ำด้วยแน่ๆ ปลาพวกนี้อย่างที่เรียนไปว่ามันเป็นปลาจากคนละลุ่มน้ำกัน ตอนนี้จึงเหมือนว่าเรากำลังชักศึกเข้าบ้าน เอาสัตว์ต่างถิ่นมาลงลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาสายเลือดใหญ่ของเรา 

ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นรุกรานอย่างไร? 
โดยหลักการทั่วไปแล้ว ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่เข้ามาในระบบนิเวศสร้างปัญหาให้ผู้อยู่เดิมดังนี้
1.       การไล่กินหรือทำลายโดยตรง
2.       การแย่งปัจจัยในการดำรงชีวิตต่างๆ เช่น อาหาร ที่อยู่ แสงแดด แหล่งทำรังวางไข่
3.       การผสมข้ามสายพันธุ์จนทำให้เสียลักษณะอันเป็นเอกลักษณ์ของถิ่นไป
4.       การนำโรคหรือปรสิตเข้ามาติด

ส่วนทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ทุกวันนี้ประเทศไทยก็มีตัวอย่างของชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่เราต้องต่อสู้กันอยู่มากมาย เช่น หนูท่อ ปลาซัคเกอร์ ผักตบชวา หอยเชอรี่ มัยราพยักษ์ นกพิราบ และ แมลงสาบ ความเสียหายต่อทรัพย์สิน และเงินที่ต้องลงทุนไปกับการจัดการสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ทุกวันนี้นับว่าสาหัส และยังมีผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมตามมา เช่น การใช้สารเคมีในการกำจัดหอยเชอรี่ก็มีผลต่อสัตว์น้ำในท้องถิ่น ผมยังไม่เคยเห็นการศึกษาพวกนี้ในประเทศไทย แต่อย่างในประเทศอังกฤษ มีการประมาณการกันว่าความเสียหายเหล่านี้อาจจะมากถึงปีละ 60,000,000,000 ล้านบาทครับ (cabi.org)
 
แล้วถ้าปลาจากลุ่มสาละวินข้ามมาอยู่ฝั่งเจ้าพระยา จะเป็นอย่างไร? 
ตอบยากมากครับ อาจจะอยู่ร่วมกันได้ อาจจะมีการแพ้ชนะ สูญพันธุ์เกิดขึ้น ถ้าฝั่งเจ้าพระยาสูญพันธุ์ เราก็จะสูญเสียพันธุกรรมของสัตว์ที่วิวัฒนาการปรับตัว ทนและสู้กับปัจจัยและสิ่งแวดล้อมเฉพาะในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างยาวนานไปตลอดการ คือวันนี้ผู้มาเยือนอาจจะชนะ แต่วันหน้าเมื่อสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป ไม่มีอะไรยืนยันเลยว่าจะอยู่ได้ ปรับตัวได้เหมือนเจ้าของถิ่นเดิมหรือไม่ ผลกระทบของการนำชนิดพันธุ์ต่างถิ่นมากมายมาปล่อยลงลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา คาดเดาได้ยากมากจนไม่รู้ว่าจะเริ่มตรงไหน
 
รู้อย่างเดียวว่ากรณีแบบนี้ถ้าพังขึ้นมา แก้ไขไม่ได้