ปล่อยสัตว์ให้รอดและไม่กระทบต่อระบบนิเวศ

โดย ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์

บทความนี้ขอพูดแต่เรื่องระบบนิเวศและตัวสัตว์เป็นหลักนะครับ

การปล่อยนกปล่อยปลาดูเหมือนจะเป็นหนึ่งในสิ่งที่ชาวพุทธทำกันเป็นประเพณีมาตั้งแต่สมัยโบราณ จนถึงปัจจุบันก็พบว่าตามวัดและท่าน้ำต่างๆก็ยังมีปลาและสัตว์น้ำต่างๆให้ปล่อยกันอยู่เสมอ ซึ่งบางครั้งปล่อยแล้วจะรอดหรือไม่ ปล่อยแล้วมีผลกระทบอย่างไร เราไม่ควรมองข้ามเรื่องพวกนี้ไป บทความนี้จึงขอเสนอข้อมูลทางวิชาการให้ได้รับทราบโดยทั่วกันครับ
โดยที่จะกล่าวถึงนั้นจะขอเริ่มการพิจารณาง่ายๆ

1.       เป็นสัตว์ท้องถิ่นของไทยหรือไม่? ทั้งนี้ถ้าเป็นสัตว์ต่างถิ่นหรือลูกผสมก็ไม่ควรปล่อยลงแหล่งน้ำไทยนะครับ ตัวอย่างกลุ่มนี้เช่น ปลาซัคเกอร์ ปลาดุกบิ๊กอุย และ ตะพาบไต้หวัน
2.       มันเป็นสัตว์ที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายหรือไม่? เช่นนกกระติ๊ดขี้หมู หรือ เต่าน้ำของไทยทุกชนิด เป็นสัตว์คุ้มครอง เริ่มจับมาให้เราปล่อยก็ผิดกฎหมายแล้วครับ
3.       ปล่อยไปแล้วจะรอดหรือไม่? อันนี้คือสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิด ก็มีแหล่งอาศัยที่ชอบแตกต่างกันไป เช่น ปลาไหลก็ชอบอยู่ในแหล่งน้ำตื้นๆที่มีพืชขึ้นรกๆ เต่านาอยู่ในพื้นที่ชุ่มน้ำตื้นๆที่มีหอยฝาเดียวให้กิน เอามาปล่อยผิดที่ผิดทางก็รอดยากครับ หรือที่เคยเห็นคือเอาปลาบู่น้ำกร่อย มาขายให้ปล่อยในคลองน้ำจืด เป็นต้นครับ
4.       สัตว์ถูกจับมาให้เราปล่อยหรือไม่? อันนี้เป็นข้อที่ควรพิจารณาเชื่อมโยงกับข้อ 3 เพราะถ้าสัตว์อยู่ในถิ่นอาศัยเดิมตามธรรมชาติที่เหมาะสม ถูกคนไปจับมาให้เราปล่อยลงไปในถิ่นอาศัยที่ไม่เหมาะสม ก็เป็นการทรมานสัตว์และอาจจะถึงตายได้ครับ 

ทีนี้ก็จะไล่ไปเรื่อยๆนะครับ 

1.      นก
ที่พบตามธรรมชาติในประเทศไทยเกือบทุกชนิดเป็นสัตว์คุ้มครอง นกที่ถูกจับมาให้ปล่อยเยอะที่สุดคือกลุ่มนกกระติ๊ดซึ่งเป็นสัตว์คุ้มครอง ผิดกฎหมายทั้งคนจับ คนขาย และ คนซื้อครับ ข้อสำคัญมันทรมานนก ไปจับนกจากบ้านมันมาขังกรง ใส่ถุงพลาสติกให้ปล่อยในเมือง ตามวัด ที่ไม่ใช่ถิ่นอาศัยของนก พวกนกเลี้ยงอย่างนกหงหยก เลิฟเบิร์ด นกแก้ว นกฟินช์ ต่างๆ ส่วนใหญ่เป็นนกต่างถิ่นก็ห้ามปล่อยเช่นกัน ไม่รวมว่าปล่อยแล้วโอกาสไม่รอด ถูกจับใหม่หรือไปอดตายก็สูงมากด้วย

2.      เต่า
เต่า ที่เป็นเต่าน้ำจืดของไทย ทุกชนิดเป็นสัตว์คุ้มครอง การจับมาขายให้เราปล่อย “ผิดกฎหมาย” นะครับ ไม่ควรส่งเสริม และที่ต้องพิจารณาต่อไปสมมุติมองข้ามเรื่องกฎหมายไป คือ เต่าในที่ราบลุ่มของบ้านเรา คือ เต่านา เต่าหับ เต่าบัว เต่าดำ และ เต่าหวาย ล้วนต้องอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำที่มีทั้งน้ำตื้นและน้ำลึก มีชายตลิ่งให้ขึ้นมาเกาะพัก มีไม้ชายน้ำรกๆ ในขณะที่ตามท่าน้ำวัด มักจะอยู่ริมคลองขนาดใหญ่หรือริมแม่น้ำซึ่งมีท่าชันหรือเป็นท่าคอนกรีต ปล่อยเต่าลงไปในน้ำแบบนั้น รอดยากมากครับ ที่ต้องพิจารณาอีกอย่างคือเต่าต่างถิ่น โดยเฉพาะเต่าญี่ปุ่นหรือเต่าแก้มแดง มักจะมีตัวโตๆมาขายอยู่เหมือนกัน  เจอเต่าแก้มแดงอย่าซื้อไปปล่อยลงแหล่งน้ำไทยเด็ดขาด  พูดถึงเต่าแล้วอยากจะเขียนถึงอีกสองเรื่องคือ เจอเต่าอย่าเอาไปปล่อยวัดครับ บ่อน้ำตามวัดส่วนใหญ่ไม่ได้เหมาะสมเป็นที่ให้เต่าอยู่เลย อยากช่วยมันหาพื้นที่ชุ่มน้ำใหญ่ๆให้มันอยู่ครับเอาไปปล่อยตรงนั้น อีกเรื่องคือเต่าไทยที่มักจะเจอกันบ่อยมากชนิดหนึ่งคือเต่านา เต่านาไม่กินผักบุ้งแต่เป็นเต่าที่กินหอยฝาเดียวเป็นอาหารนะครับ 
 
3.      ตะพาบ
ตะพาบที่มีการเพาะพันธุ์ตัวเล็กๆเยอะที่สุดคือตะพาบไต้หวัน ตัวเขียวๆเล็กๆ พวกนี้เป็นสัตว์ต่างถิ่นงดปล่อยเด็ดขาดนะครับ ส่วนตะพาบสายพันธุ์ไทย เป็นสัตว์คุ้มครองทุกชนิดไม่ค่อยพบเห็นมีขายเป็นตะพาบปล่อยเนื่องจากหายากแล้วทุกชนิด ถ้าจะมีก็เป็นลูกตะพาบไทย ซึ่งตามลำตัวและคอจะมีจุดสีเหลืองๆครับ  สรุปถ้าเจอขายตะพาบตัวเล็กๆเขียวๆ ให้สงสัยไว้ก่อนว่าเป็นสัตว์ต่างถิ่น งดปล่อยเด็ดขาดครับ

4.      กบ
ที่เอามาขายให้ปล่อยส่วนใหญ่ เป็นกบนา ชื่อบอกชัดเจนว่าอยู่ตามนา ตามพื้นที่ชื้นแฉะ น้ำท่วมขัง มีป่าหญ้ารกๆ พื้นที่ชุ่มน้ำดีๆ หาที่แบบนี้ได้ปล่อยได้แบบกระจายๆกันไปกว้างๆ อย่าปล่อยรวมกันที่เดียวเยอะๆ เพราะกบเป็นสัตว์ผู้ล่าปล่อยลงไปที่เดียวเยอะๆสัตว์เล็กสัตว์น้อยแถวนั้นจะเดือดร้อนหนัก ที่เห็นขายให้ปล่อยลงไปในคลอง ในแม่น้ำ ไม่มีทางรอดครับ ถ้าแย่ๆไปเจอกบต่างถิ่นให้ปล่อยยิ่งแล้วใหญ่ ถ้าเกิดมันรอดขึ้นมา 

5.      ปลา เป็นสัตว์กลุ่มใหญ่ที่มีขายเยอะมากขอไล่ไปเรื่อยๆนะครับ

กลุ่มปลาที่ไม่ควรปล่อยเด็ดขาดคือพวกปลาต่างถิ่นต่างๆ
5.1     ปลาซัคเกอร์ หรือที่แปลงร่างเป็นปลาราหู งดปล่อยเด็ดขาด เป็นปลาต่างถิ่นตัวร้าย กินไข่ปลาท้องถิ่น แย่ง ถิ่นอาศัย แย่งอาหาร 
5.2     ปลาจาระเม็ดน้ำจืด เป็นญาติปลาปิรันย่าที่ไม่ดุนัก จากแม่น้ำอเมซอน อย่าปล่อยครับ
5.3     ปลานิล ปลาทับทิม เป็นสัตว์ต่างถิ่นจากแอฟริกา อย่าปล่อยลงแหล่งน้ำไทยครับ
5.4     ปลาไน คาร์พ ปลาต่างถิ่นจากจีน งดปล่อยครับ
5.5     ปลาเลี้ยงสวยงามอื่นๆ เช่นปลาทอง ปลากดขนาดใหญ่จากต่างประเทศ อโรวาน่า กลุ่มปลาการ์ หรือแม้แต่ปลาเล็กปลาน้อยอย่างพวกเต็ทตร้า งดปล่อยเด็ดขาด
5.6     ปลาดุก นอกจากกรณีพิเศษจริงๆ หรือตามตลาดต่างจังหวัด ปลาดุกที่ขายในตลาดหรือตามฟาร์ม ล้วนแล้วแต่เป็นปลาดุกบิ๊กอุย ซึ่งเกิดจากการผสมข้ามพันธุ์ระหว่างปลาดุกยักษ์จากทวีปแอฟริกาและปลาดุกอุยของไทยทั้งสิ้น ดังนั้น งดซื้อปลาดุกจากตลาดมาปล่อย ถ้าหากไม่มั่นใจจริงๆว่าเป็นปลาดุกท้องถิ่นของบ้านเรานะครับ ปลาดุกเป็นปลาที่กินเนื้อสัตว์เป็นหลัก การปล่อยปลาดุกผู้ล่าลูกครึ่งลงไปเยอะๆส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศบ้านเราแน่นอน

กลุ่มปลาที่เลือกปล่อยได้ตามความเหมาะสม
5.7     ปลาช่อน เป็นปลาท้องถิ่นของบ้านเรา ชอบอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำที่มีพืชน้ำขึ้นรกๆ หรือตามชายตลิ่งชายคลองที่มีพืชน้ำขึ้น ปลาช่อนเป็นปลาล่าเหยื่อที่กินสัตว์ขนาดเล็กชนิดอื่นๆเป็นอาหาร มีหลายๆคนที่มักจะไปซื้อปลาช่อนจากตลาดมาปล่อย อันนี้ถ้าซื้อมาตัวสองตัว เลือกหาสถานที่ตามที่บรรยายไว้ปล่อยก็จะดีครับ แต่ถ้าซื้อมาเยอะๆ กระจายๆปล่อย อย่าปล่อยลงไปที่เดียวเยอะๆ เพราะปลาเล็กปลาน้อยในท้องที่จะแย่ครับ
5.8     ปลาไหล ชอบอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำตื้นที่มีพืชขึ้นรกๆ ป่าหญ้าลอยน้ำ มีที่ปล่อยตามนี้ ซื้อจากตลาดมาปล่อยก็ดีครับ แต่ถ้าเอาไปปล่อยลงคลอง ลงแม่น้ำใหญ่ๆ โอกาสรอดก็น้อยลงไปเยอะหล่ะ 
5.9     ปลาหมอไทย ตัวนี้ก็ชอบอยู่น้ำนิ่ง มีพืชน้ำขึ้นเหมือนกัน หาแหล่งน้ำแบบนี้ได้ก็ปล่อยกระจายๆไป ปล่อยคลองลงแม่น้ำอาจจะรอดครับเพราะปรับตัวเก่ง อาวุทธป้องกันตัวเยอะ คงดิ้นรนไปหาที่อยู่ที่เหมาะสมได้ในที่สุด แต่เรื่องของเรื่องคือ ปลาหมอเค้าถูกจับมาจากที่ๆเค้าชอบอยู่มาให้เราปล่อยลงในที่ๆเค้าไม่ชอบอยู่ มันก็แปลกๆอยู่ถ้าเราคิดว่าปล่อยแล้วจะเป็นเรื่องดี
5.10   ปลาสวาย ลูกปลาสวายที่มีขายร้อยทั้งร้อยเป็นปลาเพาะ เป็นปลาไทย โตแล้วอาศัยอยู่ในแม่น้ำลำคลองทั่วไป แนะนำว่าถ้าจะปล่อย ควรจะปล่อยตัวที่มีขนาด 3-4 นิ้วขึ้นไป โอกาสรอดจะสูงขึ้น ปล่อยลงคลองโอกาสรอดเยอะกว่าปล่อยลงแม่น้ำใหญ่ ปล่อยตรงจุดที่มีปลาอื่นน้อยหน่อย โอกาสรอดเยอะกว่าตรงจุดที่มีปลาอื่นๆอยู่เยอะๆ
5.11    ปลาบู่ ส่วนใหญ่ที่เห็นเป็นปลาบู่ทราย ตัวเล็กๆหาจุดปล่อยบริเวณที่เป็นกองหิน มีขอนไม้ใต้น้ำ มีไม้ชายน้ำ ตัวโตหน่อย โอกาสรอดสูงกว่า ระวังแยกปลาบู่ทรายออกจากปลาบู่ชนิดอื่นให้ออก เคยเจอ ปลาบู่น้ำกร่อยมาขายให้ปล่อยในคลอง
5.12    ปลากราย เป็นปลาท้องถิ่น ปล่อยได้ ขนาดควรจะยาว 4-5 นิ้วขึ้นไป โอกาสรอดจะสูงขึ้น ปล่อยลงคลองหรือแม่น้ำได้ แต่ควรหาจุดที่ตลิ่งมีพืชน้ำหรือวัสดุใต้น้ำเยอะๆ พึงระลึกไว้ว่าปลากรายเป็นปลาล่าเหยื่อ มีเยอะเกินไปก็ไม่ดีครับ
5.13    ปลาตะเพียนต่างๆ ส่วนใหญ่จะขายเป็นลูกปลาเล็กๆ ปล่อยลงคลองลงแม่น้ำไปไม่ค่อยรอด ตามธรรมชาติพวกนี้โตจากทุ่งน้ำท่วมซึ่งแทบไม่เหลือแล้วในบ้านเรา ถ้าจะปล่อยปลาควรจะมีขนาดอย่างน้อยๆ 1 นิ้วขึ้นไป อย่าไปปล่อยลงตรงจุดที่มีปลาชนิดอื่นขึ้นน้ำเยอะๆ ตามหน้าวัดหน้าท่า ไม่เช่นนั้นจะถูกกินหมด (แม้แต่ปลาตะเพียนตัวใหญ่ก็กินปลาตะเพียนตัวเล็ก) หาจุดที่ตลิ่งมีพืชน้ำขึ้นเยอะๆ ค่อยๆปล่อย พอมีโอกาสรอดบ้าง

6.   ปูทะเล พวกที่ซื้อจากตามร้านอาหาร ปูทะเลในโลกมี 4 ชนิด พบในประเทศไทยทั้ง 4 ชนิด ความเสี่ยงเรื่องชนิดต่างถิ่นไม่มี มีความเสี่ยงเรื่องความบริสุทธิ์ของ gene จริงๆ ถ้าไม่มั่นใจว่าเป็นปูที่จับจากไทยหรือประเทศเพื่อนบ้านแน่ๆก็ไม่อยากให้ปล่อย แต่ถ้าอยากปล่อย หาป่าชายเลนดีๆสมบูรณ์ๆ ก็ปล่อยได้ครับ 

7. กุ้งก้ามกราม เป็นกุ้งไทย ปล่อยตามแม่น้ำใหญ่ อย่าปล่อยเยอะนะ มันเป็นสัตว์ผู้ล่า 

8. หอมโข่ง หอยขม ต้องการน้ำที่มีคุณภาพค่อนข้างดีและไม่ลึกจนเกินไปนัก ปล่อยตามคลองในกทม.หรือชานเมืองโอกาสรอดน้อย ลองดูตามคลอง/แม่น้ำที่เข้ามีขายถ้าหอยปีนขึ้นมาเกาะอยู่ตามผนังที่ผิวน้ำแสดงว่าอยู่ตรงนั้นไม่ไหว อาจจะเป็นเพราะคุณภาพน้ำเสื่อมโทรม หาปล่อยตามคลองย่อย ตามหนองน้ำเอาที่น้ำคุณภาพดีๆพอได้ครับ 


หวังว่าบทความนี้พอจะเป็นแนวทางให้กับหลายๆคนได้บ้างนะครับ  ทั้งนี้สำหรับตัวผู้เขียนเองคิดว่าการปล่อยที่ดีที่สุด คือการปล่อยให้สัตว์อยู่ตามธรรมชาติ คิดว่าถ้าท่านอยากช่วยจริงๆ เอาเงินนั้นๆไปบริจาคให้กับองค์กรการกุศลต่างๆที่ดูแลสัตว์และถิ่นอาศัยของสัตว์เหล่านั้น เช่น สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย มูลนิธิสืบฯ หรือ มูลนิธิโลกสีเขียว ผมคิดว่าส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าเอาเงินให้พ่อค้าแม่ค้าขายสัตว์ปล่อยมากมายนักครับ 

ปล. รูปสัตว์ต่างๆหาดูได้ในส่วนของ ดัชนีสิ่งมีชีวิต ของเว็บเราครับ