จดหมายเหตุ: ถึงชาวบางกะเจ้าจากผู้มาเยือน
ผมรู้จักกับบางกะเจ้าและได้ไปเยือนสถานที่แห่งนี้ ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2551 ตอนนั้นผมศึกษาปลากัดในพื้นที่แถวนั้นพอได้ยินว่าที่บางกะเจ้ามีสภาพธรรมชาติสวยงามก็รีบตามไปดูเลย ตอนนั้นบางกะเจ้ายังไม่ได้เป็นที่รู้จักอะไรมากมายนัก จำได้ว่าตื่นเต้นกับสภาพพื้นที่ ร่องสวน และทางน้ำใหญ่น้อย ทั้งนิ่งทั้งไหล อารมณ์ย้อนยุคเหมือนที่เคยวาดภาพว่ากรุงเทพฯสมัยก่อนคงเป็นประมาณนี้แน่ๆ วันนั้นผมหาปลากัดไม่เจอแต่ได้ปลาที่น่าสนใจและตื่นเต้นมากหนึ่งชนิดคือ ปลาบู่รำไพ ปลาบู่ขนาดเล็กที่มีความสวยงามมากชนิดหนึ่งของไทย ซึ่งได้รับพระราชทานนามเพื่อตั้งเป็นชื่อวิทยาศาสตร์จาก พันเอก (หญิง) สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ปลาบู่ชนิดนี้เจอครั้งแรกในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณปากแม่น้ำแต่ ด้วยความเจริญที่ถาโถมเข้ามาในบริเวณนี้มากมายทำให้ปลาชนิดนี้หายไปจากสารบบของลุ่มน้ำนานมากจนกระทั่งเรามาพบอีกครั้งที่บางกะเจ้าในวันนั้น จำได้ดีว่าเรายังได้ปลาที่น่าสนใจอีกหลายชนิด โดยเฉพาะพวกกลุ่มปลาปากแม่น้ำที่อาศัยอยู่ในบริเวณน้ำกร่อยๆจืดๆตามแต่สถานการณ์ ปลาบู่ในบางกะเจ้ามีมากและน่าสนใจจนอีก 2 ปีต่อมา นิสิตป.โท คณะประมง ม.เกษตรฯ ต้องตามมาทำวิทยานิพนธ์ที่นี่
ตัดภาพมาในปี พ.ศ.2557 ที่มูลนิธิโลกสีเขียว จัดงานตะลุมบอนชีวภาพ Biobliz ขึ้นมาครั้งแรกในประเทศไทย ผมก็ได้ไปร่วมสำรวจสัตว์น้ำกับเค้าด้วย แน่นอนว่าตอนนั้นบางกะเจ้าดังแล้ว คนมาเที่ยวเยอะแยะ มีรีสอร์ทให้นอน มีตลาดน้ำด้วย สิ่งที่พบเห็นในช่วง 24 ชั่วโมงนั้นคือ บางกะเจ้าเปลี่ยนไปมาก แหล่งน้ำสภาพแย่ลงมาก จุดที่เคยได้ปลาบู่รำไพและปลาอื่นๆน่าสนใจครั้งแรกไม่เหลือปลาแล้ว จุดที่เจ้าไผ่ นิสิตป.โทคนที่เคยมาศึกษาปลาบู่ที่นี่ สำรวจพบปลาบู่ตรงนู้นตรงนี้ปรากฏว่าน้ำเน่าเสีย ปลาหายไปหมด แม้แต่ในคลองใหญ่ๆก็ยังมีตะไคร่สีเขียวแกมน้ำเงินขึ้น ซึ่งเป็นตัวชี้วัดว่าน้ำมีคุณภาพแย่แล้ว เราใช้เวลาทั้งวันกับอีกค่อนคืนกว่าจะตามหาปลาบู่รำไพได้ตัวหนึ่ง ถ้าใช้ปลาบู่รำไพเป็นดัชนีชี้วัดบางกะเจ้าสอบตกในวันนั้น
พ.ศ.2559 วันนี้ได้ข่าวว่าจะมีการสร้างประตูน้ำ สร้างทางเดิน สร้างคันกันน้ำอะไรก็ไม่รู้ ผมก็ยังไม่เห็นแบบ (เหมือนจะไม่มีใครได้เห็นเลยด้วยซ้ำ) ได้แต่ฟังมาจากนักวิชาการท่านอื่นที่ทำงานอยู่ในพื้นที่ ฟังดูแล้วได้ความว่า ประตูน้ำที่มีอยู่เดิมนั้นเปิด/ปิดไม่มีหลักการใดๆ ทำให้เกิดน้ำท่วมเน่าขัง ที่ผ่านมาพอชำรุดไปบ้างน้ำถึงเริ่มไหลผ่านได้ ตรงไหนประตูชำรุดคุณภาพน้ำก็ดี คราวนี้เห็นว่าจะทำคันกั้นทำทางทำประตูใหม่อะไรวุ่นวาย ก็พอจะเดาได้ว่าน้ำคงไหลได้แย่กว่าเก่า และคงเน่าเสียกว่าเดิม เพราะขยะและน้ำเสียจากบ้านเรือน ตลาดน้ำ สถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ก็ยังไม่มีการจัดการที่ดี พอน้ำเน่า กลิ่นก็มา ปลาก็อยู่ไม่ได้แล้วลูกน้ำลูกยุงก็จะตามมาเหมือนที่เห็นและเป็นอยู่
สภาพพื้นที่ของบางกะเจ้าเป็นคุ้งน้ำ บริเวณปากแม่น้ำ ซึ่งเป็นพื้นที่ต่ำ ตามธรรมชาติจะมีทางน้ำมากไหลทะลุผ่านไปมา มีน้ำท่วมบ้างตรงนู้นตรงนี้ ตามช่วงของปี ของน้ำขึ้นน้ำลง การปล่อยให้น้ำไหลสะดวกตามธรรมชาติทำให้น้ำมีคุณภาพดี ซึ่งที่ผ่านมาบรรพบุรุษก็ปรับตัวอาศัยอยู่กันได้ รักษาอนุรักษ์พื้นที่ได้อย่างดีมาจนถึงวันนี้ และกลายมาเป็นปอดสีเขียวใกล้กรุงเทพฯ มีความหลากหลายทางชีวภาพที่เท่ห์มากๆ เป็นเสน่ห์ที่ทำให้บางกะเจ้าดังไปทั่วโลก ผมฝันเห็นบางกะเจ้าค่อยๆพัฒนาไปอย่างมั่นคง รักษาความดีเดิมไว้ เสริมจุดดีให้เด่นขึ้น สิ่งอำนวยความสะดวกมีตามความจำเป็น พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้คนให้ดีขึ้นอย่างที่ควรจะเป็นในยุคนี้ ผมอยากเห็นงบนำมาใช้กับการจัดการขยะและน้ำเสีย การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เชิงเกษตร เชิงกีฬา เชิงอะไรก็ได้ที่ไม่ใช่เชิงทำลายล้างลุยกันจนเละ รวยกันแป๊บเดียว พอพังแล้วก็ย้ายไปที่อื่นต่อ เหลือไว้แต่อะไรเละเทะเหมือนหลายๆพื้นที่ท่องเที่ยวในไทย
เสน่ห์ของบางกะเจ้าคือความเรียบง่าย ความเป็นธรรมชาติ ที่คนในเมืองโหยหา ที่คนต่างชาติไม่เคยเห็น คนไปเที่ยว ทำให้บางกะเจ้ามีรายได้เพราะสิ่งเหล่านี้ ไม่ใช่การพัฒนาแบบแดกด่วน กั้นนู้นบังนี้ ติดไฟ ทำถนนวุ่นวายและรบกวนธรรมชาติไปหมด
ผมเป็นคนนอกที่เข้าไปสัมผัสบางกะเจ้าเพียงผิวเผิน ยังสัมผัสได้ถึงคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่แย่ลง ผมเชื่อว่าคนบางกะเจ้าเองก็เห็นเหมือนผม ตอนนี้ระบบตรวจสอบ แนะนำ ให้ความเห็นต่างๆทางสิ่งแวดล้อมถูกทำให้ง่อยเปลี้ยไปหมดแล้ว และโครงการที่ว่านี่ก็ดูเหมือนว่าแค่ต้องการความเห็นชอบจากคนในพื้นที่เท่านั้นก็คงดำเนินการสร้างไปได้ แน่นอนว่าการตัดสินใจว่าบางกะเจ้าและพื้นที่ใกล้เคียงจะพัฒนาไปทางใด เป็นเรื่องของคนในพื้นที่ที่จะตัดสิน วันนี้ผมแค่อยากให้ท่านลองถามตัวเองดูว่าการพัฒนาสิ่งปลูกสร้างเพื่อความสะดวกแต่จะทำให้สิ่งแวดล้อมแย่ลง คือการพัฒนาที่ท่านต้องการจริงหรือ?
ผมเขียนจดหมายฉบับนี้ขึ้นมา หวังใจอยากให้คนในพื้นที่ได้อ่าน สักคนก็ยังดี อยากให้รู้ว่าผู้มาเยือนรู้สึกเป็นห่วงบางกะเจ้าเหลือเกิน
ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์
27 กรกฎาคม 2559
Comments
ความคิดเห็น
ความเห็นที่ 1