เรียนจากภาพ: ตัวอย่างฝายที่เข้าใจธรรมชาติจากประเทศญี่ปุ่น
เรื่อง/ภาพ: ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์
ไปเที่ยวญี่ปุ่นมาเมื่อต้นปีครับ ได้ไปเที่ยวเมืองๆนี้ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากนาโงย่ามากนัก(จำชื่อเมืองไม่ได้เนื่องจากทำตัวเป็นลูกทัวร์และคนขับรถให้ภรรยานำครับ) เดินเล่นในเมืองที่มีลำธารสายค่อนข้างใหญ่สายหนึ่งไหลผ่าน เห็นเค้าสร้างฝายไว้หลายฝายเหมือนกัน ยืนดูแล้วก็เห็นว่าสามารถเรียนรู้จากฝายที่เค้าสร้างได้หลายอย่างจึงนำมาขยายความให้ลองอ่านกันดูครับผม
1. ตัวฝาย
1.1 เริ่มจากความสูง มองไปด้านหลังไกลๆจะเห็นว่ามีฝายอยู่อีก 3-4 ฝาย จะเห็นว่าเค้าทำฝายเตี้ยๆ หลายๆอัน เรียนแบบการเกิดแก่งตามธรรมชาติ ลำธารยังมีความเป็นลำธารน้ำใสไหลเย็น ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าสร้างอันสูงๆทีเดียวอันเดียวที่ขังให้น้ำนิ่งเปลี่ยนจากลำธารกลายเป็นคลองน้ำนิ่ง/เน่าไป
1.2 วัสดุที่นำมาใช้เป็นหินก้อนใหญ่ๆที่นำเอามาเรียงอย่างไม่เป็นระเบียบ เลียนแบบแก่งตามธรรมชาติ มีความสวยงาม คงทนฐาวร ดูดีกว่าการใช้กระสอบพลาสติกหรือการสร้างกำแพงคอนกรีตขึ้นมาทื้อๆไร้ความสวยงาม การเรียงหินไม่เป็นระเบียบทำให้น้ำที่ไหลผ่านเกิดการแตกตัวกระจายเกิดการหมุนเวียนถ่ายเทแก๊ซต่างๆในน้ำ เป็นเหมือนปอดของลำธารทำให้น้ำมีคุณภาพดี นอกจากนั้นตามซอกหินยังเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำต่างๆ และเป็นที่ให้สัตว์อื่นๆเช่น นกกินปลามาใช้ประโยชน์ได้ด้วย (ดูรูปด้านล่าง)
2. บันไดปลาโจน
แม้นว่าฝายจะไม่ได้สูงจนเกินไปนัก แต่เค้าก็ยังทำบันไดไว้ให้สัตว์น้ำผ่านได้อย่างสะดวก จะเห็นว่าใช้วัสดุจากธรรมชาติ ทำให้ดูดี และด้วยความที่ไม่ได้สร้างฝายให้สูงจนเกินไปนัก บันไดปลาโจนก็ไม่ได้ชันอะไร ดูว่าปลาคงผ่านไปได้ไม่ยากนัก
3. ส่วนเหนือฝาย
ถ้าเป็นฝายแบบบ้านเราเมืองเราที่ถูกสร้างเป็นกำแพงตั้งเด่ขึ้นมา ตะกอนพัดมากับน้ำชนฝายก็ตกทับถมอยู่หลังฝายน้ำเน่าเสีย แต่ฝายอันนี้สร้างให้เหมือนแก่งตามธรรมชาติ คือมีการยกตัวและมีแนวราบลาด ซึ่งสร้างด้วยหินก้อนใหญ่ๆแบนๆหน่อย ทำให้ตะกอนเบาไม่ตกค้างอยู่หลังฝายแต่ไหลผ่านไปได้ไม่เกิดการหมักหมมน้ำเน่าเสีย
4. กำแพงใต้น้ำสร้างวังลึก
อันนี้ตอนเห็นตื่นเต้นมากว่าเค้าใส่ใจรายละเอียดกันขนาดนี้ คือเพิ่งเคยเห็นเป็นครั้งแรก ตามธรรมชาติของน้ำตกหรือแก่งน้ำจะไหลแรงและเร็วขึ้น (ท้ายฝายก็เช่นกัน) ทำให้น้ำมีแรงพัดเอาหิน/กรวด/ทรายในพื้นที่ออกไป พอแรงน้ำที่ตกลงมาหมดพวกวัสดุเหล่านี้ก็จะไปหยุดกองกันเป็นแนวคล้ายกำแพง จนเกิดเป็นแอ่งน้ำใต้น้ำตกหรือเป็นวังซึ่งน้ำซึ่งลึกกว่าส่วนอื่นๆ ลองนึกภาพวังใหญ่ใต้น้ำตกเหวสุวัต น้ำตกคลองลาน หรือ น้ำตกพลิ้ว พื้นที่ตรงนี้มักเป็นที่อาศัยของปลาอีกกลุ่มหนึ่งหรือพวกปลาขนาดใหญ่ ฝายนี้เค้าสร้างกำแพงที่ว่าได้อย่างพอเหมาะทั้งระยะห่างและความสูงทำให้เกิดวังน้ำลึกใต้ฝาย (เลข 5) ได้อย่างสวยงาม ต่อจากตรงนั้นเค้ายังวางหินสร้างเป็นแก่งแบบน้ำลึกให้อีก
5. ส่วนของวังลึกที่เกิดจากการสร้างกำแพง
ตรงนี้นอกจากให้ปลาใหญ่อยู่แล้ว ยังเป็นการใช้น้ำลึกในการลดความเร็ว/แรงของน้ำให้ช้าลงเพื่อให้ไม่มีปัญหาการกัดเซาะชายตลิ่งในพื้นที่ถัดไปจากฝายครับ
6. แนวขอบ
ใช้หินใหญ่มาเรียงๆกัน ดูดีกว่าสร้างกำแพงตรงๆท่อๆขึ้นมา ช่วยชะลอความแรงของน้ำได้นิดหน่อย และเป็นที่อยู่ของสัตว์น้ำได้ด้วย
7. พื้นที่ริมน้ำ
มีการสร้างกำแพงสองขั้นเพื่อเว้นพื้นที่ไว้ให้น้ำท่วมในฤดูน้ำหลาก ในฤดูแล้งก็ใช้เป็นที่เดินเล่นจัดกิจกรรมต่างๆได้
หวังว่าคงได้รับความรู้และความบันเทิงไปไม่มากก็น้อยนะครับ สร้างฝายคราวหน้า คิดดีไม่พอ ต้องคิดรอบ คิดให้ถูกต้องตามหลักวิชาการด้วยนะครับ
Comments
ความคิดเห็น
ความเห็นที่ 1
ความเห็นที่ 2
driving directions