NGO มีไว้ทำอะไรวะครับ?

เพจ เฮ้ย จริง ดิ ถามว่า...



ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์ ขอตอบในฐานะตัวแทนของ NGO 

พอดีมีคนแชร์ภาพนี้จาก เฟซบุ๊ค เฮ้ย จริง ดิ มาให้ อ่านแล้วก็คิดว่าเป็นโอกาสอันเหมาะสมที่จะตอบคำถามเหล่านี้เสียที ไม่รู้คนที่แชร์กันไปเป็นพันจะมาอ่านกันไหมนะ แต่ก็ขอตอบให้สบายใจตรงนี้แล้วกัน 

นิยาม NGO กันให้ชัดเจนก่อน Non Governmental Organization คือองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร และไม่ขึ้นตรงกับหน่วยงานรัฐบาลใดๆทั้งสิ้นนะครับ แต่คำว่าไม่แสวงหาผลกำไร หรือที่ฝรั่งเรียกว่า non-profit organization นี่ไม่ได้ความว่าทำอะไรก็ต้องขาดทุนต้องฟรีต้องไม่มีกำไรนะ ทำแล้วมีกำไรได้ แต่กำไรและรายได้ต้องถูกนำไปใช้ในกิจการที่เป็นวัตถุประสงค์ขององค์กรเช่น รักษาป่า ช่วยผู้ยากไร้ ไม่ใช่เจ้าของเก็บเข้ากระเป๋าไปเที่ยวต่างประเทศนะ NGO ที่ทำงานในไทยก็มีหลายรูปแบบ ทั้งเป็นแบบที่มาจากต่างประเทศก็มี ตั้งในไทยก็มี อยู่ทั้งในรูป มูลนิธิ สมาคม สมัชชา ชมรม กลุ่ม หรือ อะไรแล้วแต่จะเรียกกัน แต่ข้อสำคัญที่สุดเลย คือต้องไม่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาล ออกตัวไว้ก่อนว่า NGO ก็เหมือนคนทุกหมู่เหล่าในประเทศนี้ มีทั้งพวกที่ดีและพวกที่ไม่ดี ดังนั้นจะเขียนจะพูดถึงคนกลุ่มใดก็ตาม เปิดใจให้กว้างอย่าเหมารวมนะจ๊ะ  (เค้าบอกว่าเวลาใส่นะจ๊ะหรือ อิ อิ ต่อท้ายประโยคแล้วจะทำให้มันฟังดู soft เหมือนเวลาใช้สีพาสเทล) อ้อ! แล้วก็คนที่ทำงานอยู่กับ NGO นี่ก็ต้องกินต้องใช้นะ ดังนั้นมีเงินเดือนนะครับ ซึ่งอันนี้ก็ไม่นับรวมพวกที่เข้ามาช่วยเหลือฟรี ก็อีกเรื่องหนึ่ง 
 
1.       แหล่งเงินทุนของ NGO มีสองแหล่งด้วยกัน แหล่งแรก ก็คือทำมาหากินเหมือนคนอื่นเค้านะครับ ขายของ ขายบริการต่างๆ ได้กำไรมาก็เอามาใช้ในกิจการตามวัตถุประสงค์ขององค์กรอีกส่วนคือเงินบริจาค ซึ่งก็แล้วแต่ว่าใครจะให้มาในรูปแบบไหน NGO ในไทยรับเงินบริจาคทั้งจากในไทยและต่างประเทศ ทั้งจากรัฐบาลและเอกชน เงินบริจาคจะมีสองประเภทคือบริจาคแบบให้มาเฉยๆ อันนี้คือจะเอาไปทำอะไรก็ทำได้ จ่ายเงินเดือน นั่งรถเมล์ไปประชุม ซื้อข้าวกินเวลาออกไปทำงาน กับเงินบริจาคแบบมีเงื่อนไข อันนี้ส่วนใหญ่คือต้องเขียนโครงการไปขอเค้ามา เช่นอาจจะมีองกรณ์หนึ่งในญี่ปุ่นบอกว่ามีทุน ให้เอาไปอนุรักษ์นกน้ำ 20 ล้านบาทให้ 10 ทุน NGOไทยก็เขียนโครงการไปว่าจะอนุรักษ์อะไรที่ไหนอย่างไร ถ้าได้ทุนมาก็ต้องเอาไปทำโครงการนั้นๆ เอาไปทำอย่างอื่นไม่ได้
 
ถามว่ารับประเทศไหนมา ก็ต้องบอกว่าส่วนใหญ่ก็รับมาจากประเทศที่เจริญกว่าเราและเห็นคุณค่าในสิ่งที่ประเทศเราอาจจะยังเห็นไม่ชัดเท่าเค้า ยกตัวอย่าง NGO สายอนุรักษ์สัตว์ป่าก็รับเงินมาช่วยเหลืองานอนุรักษ์ต่างๆ มีผู้เชี่ยวชาญมาอบรมเจ้าหน้าที่ของรัฐ ช่วยหาจัดซื้อสิ่งของจำเป็นที่ภาครัฐไม่ให้ความสำคัญ ช่วยศึกษาให้ข้อมูลแก่ภาครัฐในสิ่งที่รัฐอาจจะไม่มีผู้เชี่ยวชาญ ช่วยตรวจสอบงานของภาครัฐ รวมไปถึงช่วยชาวบ้านและประชาชนในกรณีทีต้องการความช่วยเหลือ ถามว่าเก่งมาจากไหนถึงจะไปช่วยภาครัฐได้ ก็ลองดูกรณีสื่อของภาครัฐที่สอนเด็กเรื่องสัตว์สงวนเป็นตัวอย่างนะครับ...
 
อีกส่วนที่อยากพูดถึงคือบางครั้งการบริจาคก็ไม่ได้ต้องเป็นตัวเงินเสมอไป บริจาคด้วยแรงกายและความรู้ก็ได้ มาเป็นอาสาสมัครช่วยงาน NGO ได้เยอะแยะเลย
 
2.       อันนี้คือเป็นคำถามตั้งธงไปในทางลบที่น่าหมั่นไส้ม๊าก อิ อิ ก็อย่างที่บอกไปตอนแรก คนทุกกลุ่มเหล่ามีทั้งคนดีคนไม่ดีนะ จะยกตัวอย่างพ่อค้าขายผลไม้ดีๆก็มี แย่ๆก็มี ถามว่ากรณีอะไรยังไงที่เรียกว่าการทำให้ชุมชนแตกแยก ที่นึกออกก็ยกตัวอย่างเช่น มีโครงการๆหนึ่งจะเข้ามาในพื้นที่ของชุมชนๆหนึ่ง เจ้าหน้าที่ของรัฐบอกชาวบ้านว่าดีอย่างนู้นอย่างนี้ เจ้าของโครงการก็บอกชาวบ้านว่าดีอย่างนู้นอย่างนี้ NGO กลุ่มหนึ่งเห็น เข้าไปช่วยตรวจสอบข้อมูลต่างๆ ก็พบว่ามีการหมกเม็ดข้อมูล บอกชาวบ้านไม่หมด หรืออาจจะมีการบิดเบือนตัวเลขต่างๆ ก็เอาความจริงเข้าไปบอกชาวบ้าน ทีนี้ก็จะเกิดชาวบ้านถูกแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่อาจจะได้รับผลประโยชน์โดยตรงจากโครงการเช่น เป็นผู้รับเหมา หรือ ขายวัสดุก่อสร้าง หรือเชื่อภาครัฐ ก็ต้องอยากได้โครงการ กับกลุ่มชาวบ้านที่จะเดือดร้อนจากโครงการและไม่ได้อะไรสักเท่าไหร่ ก็จะไม่อยากได้ แบบนี้ไหมอะ ที่เรียกว่าการสร้างความแตกแยกในสังคม?  ถ้าการเอาความจริงไปบอกกับชาวบ้าน การทำหน้าที่ตรวจสอบภาครัฐ คือการสร้างความแตกแยก แล้วการปล่อยให้เกิดโครงการห่วยๆให้ชาวบ้านเดือดร้อนกันถ่วนหน้าคือการสร้างความปรองดองเหรอวะครับ?  เวลา NGO ค้านอะไร อ่านดูข้อมูลว่าเค้าค้านทำไม เพราะอะไร มีเหตุผลอะไร เหตุผลเค้าดีไหม น่าเชื่อถือไหม NGO ที่ดีจะไม่ไปค้านมั่วซั่วแต่จะไปพร้อมกับข้อมูลที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ เอาอคติไปวางไว้หลังครัวข้างถังแก๊ซก่อน แล้วค่อยออกมาบอกว่าอันไหนดีไม่ดี นะจ๊ะ 

3.       NGO มีงานหลักๆอยู่ไม่กี่อย่าง ไม่ช่วยเหลือก็คัดค้าน และคนที่ทำอะไรต่อมิอะไรไปทั่วมากที่สุดก็คือภาครัฐ ดังนั้นงานหลักของ NGO ก็คือไม่ช่วยก็คัดค้านภาครัฐนั้นแหล่ะ เวลาช่วยเหลือมันก็ไม่ได้เป็นข่าวดังอะไรหรอกเพราะก็ทำกันไปตามหน้าที่และสติปัญญา ส่วนใหญ่ก็จะรู้กันในแวดวงเท่านั้น NGO จะดังก็ตอนค้านนี่แหล่ะ โดยเฉพาะพวกโครงการใหญ่ๆเพราะมันจะกลายเป็นประเด็นที่น่าสนใจทันที ดังนั้นบุคคลทั่วไปก็จะรับรู้แต่ตอนค้าน ไม่รู้ตอนที่ช่วยเหลือ อันนี้เรื่องหนึ่ง อีกเรื่องที่ว่าทำไมต้องค้านภาครัฐ อันนี้เขียนด้วยความเคารพบุคคลผู้ทำงานภาครัฐทุกท่านนะครับ ว่าบางโครงการที่ออกมาของภาครัฐมันก็รับไม่ได้จริงๆหว่ะ ยกตัวอย่างเขื่อนแม่วงก์ ที่ทางภาครัฐอยากสร้างม๊ากกกกก แต่ถ้าใครมีเวลามานั่งอ่านผลการศึกษาของเขื่อนนี้จะรู้ว่ามีอะไรถูกหมกเม็ดไว้เยอะมาก ตั้งแต่การคำนวณผลประโยชน์ที่จะได้รับจากเขื่อนก็ผิดหลักวิชาการ ผลประโยชน์ที่ชาวบ้านจะได้รับก็ไม่ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยอะไรอย่างที่โฆษณา กลุ่มชาวบ้านที่จะได้รับผลกระทบก็ไม่ได้รับการชี้แจง แถมยังทำลายป่าอีก คือไม่มีอะไรดีสักอย่าง ดูว่าดีอย่างเดียวคือคนสร้างได้เงินแล้วจะไม่ให้ค้านจริงๆเหรอ? ภาษีคุณภาษีผมภาษีเรา จะให้เค้าเอาไปทำอะไรก็ได้ โดยไม่ต้องมีการตรวจสอบจากใครใดๆทั้งสิ้น ในประเทศที่มีอันดับการคอรับชั่นต่ำๆเตี้ยๆอย่างประเทศไทยอย่างนั้นหรือ? แล้วถ้าไม่ใช่ NGO คอยตรวจสอบคัดค้านให้แล้วใครจะเป็นคนทำ? 
 
แล้วถามว่า NGO ไปไล่ค้านมันทุกโครงการหรือเปล่า? ก็เปล่า ไม่ได้มีเวลา เงินทุน เรี่ยวแรงมากมายจะไปค้านได้ทุกโครงการหรอก มันก็ต้องเลือกเอาเฉพาะอันที่ทนไม่ไหว รับไม่ได้จริงๆ ถ้าค้านทุกโครงการแล้วมันจะมีไฟฟ้า เขื่อน ถนน ใช้กันไหมวะครับ? 
 
4.       ข้อนี้คือเอาค.ว.ย.ไปก่อนเลยนะครับ คิด วิเคราะห์ และ แยกแยะ นะจ๊ะ ใช้ภาษาเอามันแบบเหมารวมว่าทุกอย่างคือการ “บิดเบือน” ไม่ดีหรอก หน้าที่ของ NGO ที่ดีเวลาค้านโครงการไหนก็คือต้องเอาข้อมูลอีกฝั่งมาให้พิจารณา แน่นอนว่าฝั่งคนอยากสร้างก็ต้องนำเสนอแต่ด้านที่ดี คนที่ค้านคนที่เห็นฝั่งไม่ดีของโครงการก็เอาข้อมูลอีกฝั่งไปสู้ ประชาชนคนไทยก็มีหน้าที่ตัดสินกันเองว่าเชื่อฝั่งไหน อย่าเหมารวมด้วยคำถามแบบนี้ เรื่องบางเรื่อง มองโลกในแง่ดีเกินไปก็ไม่ดีนะ ในที่สุดแล้วถามว่า NGO มีอำนาจจะไปสั่งหยุดโครงการอะไรของภาครัฐไหม?  ไม่มี ไม่มี และ ไม่มี มันก็อยู่ที่หน่วยงานของภาครัฐที่มีหน้าที่ตรวจสอบกันเอง หรือชาวบ้านนั่นแหล่ะว่าจะเชื่อข้อมูลฝั่งไหนและพร้อมจะรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นหรือไม่? หวาดกลัวและวิตก อย่างน้อยก็คือการเตรียมพร้อม แต่ถ้ารับรู้แต่ด้านดีและไม่มีการเตรียมพร้อมอะไรเลย จะเป็นอย่างไร ถ้ามันเกิดเหตุการณ์ไปในทางที่เลวร้าย?  
 
5.       เหตุไรคุณมรึงถึงคิดว่ากระผมไม่อยากให้ประเทศชาติเจริญก้าวหน้า ในเมื่อกระผมก็อยู่ในประเทศนี้ พ่อแม่พี่น้อง ลูกหลานก็ต้องอาศัยอยูในประเทศนี้?  แต่การพัฒนาใดๆ มันมาพร้อมกับการทำลายอะไรสักอย่างไปทั้งนั้น หน้าที่ของมนุษย์ ไม่ใช่เฉพาะ NGO ไม่ใช่เฉพาะภาครัฐ แต่เป็นหน้าที่ของมนุษย์ ก็คือการหายใจ เพราะเรายังเป็นสิ่งมีชีวิตอยู่ไง ดังนั้นจะพัฒนาไฟฟ้า ถนน เขื่อน อะไรก็ตามถ้าเสร็จแล้วมันทำให้การหายใจ ของเรามีความยากลำบากขึ้น ทีละนิด ทีละนิด กั้นแม่น้ำนี้ก็ไม่เป็นไร ถางป่าตรงนี้ก็ไม่เป็นไร นกสูญพันธุ์ก็ไม่เป็นไร แล้วการพัฒนามันจะไปหยุดที่ตรงไหน? เราเป็นสิ่งมีชีวิตนะ สิ่งมีชีวิตจะอยู่ได้ก็ต่อเมื่อเราอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี การพัฒนาที่ทำลายสิ่งแวดล้อมมันเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนและดีกับสิ่งมีชีวิตเหรอ?  เราเลือกที่จะพัฒนาดีๆก็ได้ ไม่ใช่ต้องพัฒนาให้มันไปในทางแย่อย่างเดียวนะ เราอยู่ในโลกวันที่เรารู้แล้วว่าผลเสียของการทำลายสิ่งแวดล้อมคืออะไร เรามีเทคโนโลยีให้เราได้เลือกใช้ตั้งเยอะแยะ แล้วทำไมถึงจะเลือกสิ่งไม่ดี? ทำไม? 
 
หายใจเข้าไว้พี่น้อง หายยยยยใจ แล้วรับรู้ไว้ด้วยว่าสิ่งที่ท่านทำเมื่อกี้คือประวัติศาสตร์ของมวลมนุษยชาติ ไม่เคยมีมนุษย์ในยุคไหนหายใจอากาศที่มี CO2 มากเท่ากับอากาศที่คุณกำลังหายใจอยู่ เสร็จแล้วไปบริจาคเงินช่วยเหลือ NGO ไทยกันหน่อยนะจ๊ะ จะตายห่ะกันหมดแล้ว ตังค์ไม่ค่อยมีใช้ รับเงินต่างชาติก็ว่าขายชาติ รับเงินรัฐก็เดี๋ยวจะค้านเค้าไม่ได้เต็มปากเต็มคำ รับเงินบริษัทใหญ่เดี๋ยวก็หาว่าโดนซื้อ จะรอเงินจากคนเล็กคนน้อยก็ไม่ค่อยให้กันมัวแต่จ้องจะด่ากันด้วยอคติอยู่นี่ ถามจริงๆว่าไว้ใจให้ภาครัฐฯตรวจสอบกันเองจริงๆดิ?  หรือคิดว่ามีกลุ่มคนอีกกลุ่มไว้ช่วยดูแลสอดส่อง ช่วยเหลือและให้ข้อมูลแย้งบ้างจะดีกว่า?  
 
ย้ำอีกครั้ง NGOไม่ได้มีอำนาจจะไปห้ามหรือหยุดยั้งโครงการไหนของรัฐอยู่แล้วถ้าเค้าอยากจะสร้าง ในที่สุดแล้วพลังอยู่ที่ประชาชน และประชาชนจะมีพลังเต็มที่ก็ต่อเมื่อมีข้อมูลที่รอบด้านและถูกต้องอย่างแท้จริง และนั่นคือหน้าที่ของ NGO ที่ดี นะจ๊ะ อิ อิ