สร้างทางเลียบแม่น้ำ แล้วทำไมน้ำจะเน่า?

เขียน: ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์

คำถามที่ได้ยินแว่วมาตามสายลม
“สร้างทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาแค่ติดฝั่งนิดเดียว จะทำให้แม่น้ำเน่าเสียได้อย่างไร ในเมื่อเหลือแม่น้ำอีกตั้งกว้าง?”

ขอเริ่มด้วยการอธิบายหลักการ

1. เรื่องความเร็วของน้ำ
ความเร็วในการไหลของน้ำในแม่น้ำในแต่ละส่วนไม่เท่ากัน โดยหลักการกลศาสตร์ของไหลแล้ว ยิ่งไหลโดยไม่อยู่ใกล้อะไรเลยก็ยิ่งไหลได้คล่องขึ้นเท่านั้น การไหลของน้ำที่เร็วและคล่องที่สุดจึงเป็นบริเวณกลางแม่น้ำที่ผิวน้ำ และเมื่อลึกลงไปหรือเข้าใกล้แนวชายตลิ่งมากยิ่งขึ้นเท่าไหร่ น้ำก็ยิ่งไหลช้าลงเรื่อยๆเนื่องจากเกิดแรงเสียดทานกับตลิ่งและพื้นท้องน้ำรวมถึงวัสดุต่างๆที่อยู่ใต้น้ำ ด้วยหลักการนี้จะเห็นว่าน้ำที่อยู่ริมตลิ่งจะมีการไหลช้ากว่าน้ำในบริเวณอื่นๆที่สุดเนื่องจากได้รับแรงเสียดทานทั้งจากตลิ่งและพื้นท้องน้ำ การสร้างตอหม้อลงไปในบริเวณดังกล่าวอีกจึงเป็นการเพิ่มแรงเสียดทานให้กับแม่น้ำริมตลิ่งซึ่งตามหลักแล้วก็น่าจะทำให้น้ำไหลช้าลงไปอีก

2. การย่อยสลายของเสีย
น้ำที่ไหลเร็วจะมีออกซิเจนละลายอยู่มากเนื่องจาก 2 สาเหตุหลัก คือจากการที่มีการหมุนเวียนแลกเปลี่ยนสัมผัสกับอากาศอย่างสม่ำเสมอและมีการระเหยออกทำให้น้ำเย็นและสามารถเก็บออกซิเจนได้มากขึ้น ในขณะที่น้ำที่ไหลช้าจะมีออกซิเจนอยู่น้อยด้วยสองสาเหตุบนไม่เกิดขึ้น แถมด้วย บริเวณที่น้ำไหลช้าจะเกิดการตกตะกอนหมักหมมของขยะต่างๆมากกว่า ออกซิเจนที่มีอยู่ไม่มากจะถูกแบคทีเรียกลุ่มหนึ่งใช้หมดไปอย่างรวดเร็วในการกินขยะ จากนั้นขยะที่เหลือก็จะเกิดการหมักหม่มโดยไม่มีออกซิเจนเลยก่อให้เกิดก๊าซไข่เน่าและตะกอนเหม็นดำเป็นน้ำเสียในคลองที่น้ำไม่ค่อยไหลอย่างที่เราเห็นกัน

3. แสงแดด
ในพื้นๆที่เป็นแหล่งน้ำนิ่ง มีสิ่งหนึ่งที่ทำให้น้ำมีการเคลื่อนที่บ้างจากการระเหยของน้ำ เวลาโดนแดดน้ำที่ผิวน้ำจะระเหยไป น้ำส่วนที่เหลือที่ผิวน้ำก็จะเย็นลง น้ำที่เย็นจะหนักกว่าน้ำด้านล่างก็จะจมลงดันเอาน้ำด้านล่างขึ้นมาผลัดกันหมุนเวียนถ่ายเท เป็นอีกกระบวนการหนึ่งที่ช่วยให้น้ำในแหล่งน้ำนิ่งมีการถ่ายเทบ้าง ทีนี้ลองเอาทางเรียบแม่น้ำมาบังแดดดูนะ กระบวนการนี้ก็จะไม่เกิดขึ้น

คำตอบ สำหรับคำถามด้านบนจึงเป็นว่า น้ำไม่ได้เน่าไปเสียทั้งแม่น้ำหรอก แต่บริเวณริมตลิ่งใต้ทางเรียบแม่น้ำนั่นแหล่ะแย่ลงแน่ๆเลย จะหนักจะเบาแค่ไหนก็ไปลุ้นกันต่อ ส่วนกลิ่นจะโชยขึ้นมาไหมก็อีกเรื่องหนึ่งนะ