จดหมายเหตุ ว่าด้วยแก่งในแม่น้ำโขง
ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์
แก่ง เกิดจากการผุกร่อนและกัดเซาะของชั้นหิน/ดินใต้แม่น้ำและริมตลิ่งไม่เท่ากัน หินส่วนที่แข็งน้อยกว่าเมื่อเจอน้ำและตะกอนกัดเซาะทุกวันก็จะผุกร่อนไป ส่วนหินที่แข็งกว่าก็จะคงรูปและค้างอยู่ในท้องน้ำ ยื่นโด่เด่กีดขวางการไหลของน้ำ เมื่อเกิดปรากฏการณ์แบบนี้เวลาน้ำไหลผ่านแก่ง น้ำจะเหลือพื้นที่น้อยลง เมื่อน้ำปริมาณเท่าเดิม พยายามที่จะแทรกตัวผ่านไปในพื้นที่ๆแคบลง น้ำจึงไหลเร็วขึ้นเกิดเป็นบริเวณที่น้ำไหลแรง การไหลชนหินทั้งใต้น้ำและที่โผล่พ้นน้ำขึ้นมา ทำให้น้ำแตกกระเซ็นกระสาย ที่เราเรียกว่า “แก่ง”
ปรากฏการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นกับน้ำในบริเวณแก่งคือ การที่น้ำมีการหมุนเวียนและแตกกระเซ็น ทำให้น้ำได้สัมผัสกับอากาศมากขึ้นเกิดการแลกเปลี่ยนเอาก๊าซที่ไม่ดีออกจากน้ำและรับเอาออกซิเจนเข้ามาแทน นอกจากนั้นน้ำยังระเหยทำให้อุณหภูมิของน้ำเย็นลงซึ่งก็เพิ่มศักยภาพของน้ำในการรับออกซิเจนเข้ามาเพิ่ม ด้วยเหตุนี้น้ำที่ไหลผ่านแก่งจะมีคุณภาพน้ำดีขึ้นเนื่องจากมีออกซิเจนให้สิ่งมีชีวิตต่างๆได้ใช้ประโยชน์มากขึ้น
อีกปรากฏการณ์ที่สำคัญของแก่งคือน้ำจะตื้นขึ้นจากการที่มีหินส่วนที่ผุกร่อนยากยังค้างอยู่ในพื้นท้องน้ำ หินเหล่านี้เมื่ออยู่ในบริเวณน้ำตื้นมีแสงส่องถึงก็จะเกิดตะไคร่น้ำและมีสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กอื่นๆเข้ามาเกาะอาศัยอยู่กลายเป็น “เมือกมีชีวิต”ระบบนิเวศที่สำคัญที่มีสัตว์น้ำหลายชนิดพึ่งพา ซอกหลืบๆต่างที่เกิดจากหินเหล่านี้ยังเป็นที่หลบซ่อน ทำรังวางไข่ และซุ่มโจมตีของสัตว์น้ำอีกมากมาย
ปรากฏการณ์ที่สำคัญ ไม่ได้เกิดเฉพาะที่บริเวณแก่งเท่านั้น แก่งยังส่งผลต่อพื้นท้องน้ำทั้งก่อนและหลัง ทางด้านเหนือน้ำ การที่แก่งทำให้น้ำไหลลำบากขึ้น ทำให้น้ำเอ่อและยกตัวสูงขึ้น เกิดเป็นบริเวณที่น้ำไหลไม่แรงนักและมีความลึกปานกลาง มีตะกอนและกรวดขนาดกลางตกทับถม ในขณะที่บริเวณท้ายแก่ง น้ำที่ไหลเร็วและแรงถ้าสภาพทางธรนีวิทยาเอื้ออำนวยจะกัดเซาะพื้นท้องน้ำบริเวณท้ายแก่งออกไปจนกลายเป็นเวิ้งน้ำใหญ่และลึกที่มักจะเรียกกันว่า “วัง” ทั้งสองบริเวณเป็นที่อาศัยของปลาหลากหลายชนิด โดยเฉพาะวังนั้นเป็นที่รู้กันดีว่าเป็นที่อยู่ของปลาพ่อแม่พันธุ์ขนาดใหญ่
การที่เกิดวังหลังแก่งนี้ น้ำจะไหลช้าลงอย่างมากหลังจากผ่านบริเวณวังไป ก่อให้เกิดการตกตะกอนเป็นเกาะขนาดเล็กหรือบริเวณที่น้ำตื้นขึ้น ซึ่งก็จะเป็นระบบนิเวศที่สำคัญอีกระบบหนึ่ง ให้กับกลุ่มปลาที่กินตะกอนเป็นอาหาร เป็นที่อาศัยของปลาที่อยู่กับหาดทราย และยังเป็นแหล่งทำรังวางไข่ที่สำคัญของนกหลายชนิด การตกตะกอนนี้ยังทำให้อานุภาพในการกัดเซาะชายตลิ่งของแม่น้ำน้อยลงเนื่องจากไม่มีตะกอนมาช่วยวิ่งชนด้วย ซึ่งอันนี้เรากำลังพูดถึงเรื่องการเสียดินแดนนะครับ
มีปลาหลายสกุลหลายชนิดที่ปรับตัวอาศัยอยู่ในแก่งเท่านั้น ปลากลุ่มแรกที่นึกถึงคือกลุ่มที่กินตะไคร่น้ำและสิ่งมีชีวิตต่างๆที่เกาะอยู่กับหินในบริเวณแก่ง อาจจะมองดูเล็กๆแต่เมือกมีชีวิตที่เกาะอยู่ตามหินนี้มีความสำคัญมากกับระบบนิเวศและมีความหลากหลายสูงมาก ปลาในกลุ่มนี้มักจะมีปากขนาดใหญ่ที่งุ้มลงด้านล่าง มีขากรรไกรที่วิวัฒนาการมาเพื่อการ “ขูด” เอาสิ่งที่ติดอยู่กับหินตามแก่งมากิน ปลาพวกนี้ได้แก่พวกปลาในกลุ่มปลาเลียหิน ในสกุล Garra ปลาหว้า ในสกุล Labeo และ มีสกุลหนึ่งที่พบเฉพาะในแม่น้ำโขงเท่านั้น ไม่พบในแม่น้ำสายอื่นใดในโลกคือ ปลาสะอี ในสกุล Mekongina (โปรดสังเกตว่าชื่อสกุลใช้คำว่า Mekong เลยทีเดียว) ปลาในกลุ่มนี้มีความสำคัญต่อระบบนิเวศในฐานะที่เป็นสัตว์กินพืชขนาดใหญ่ในแหล่งน้ำ ทำหน้าที่คล้ายๆกับ ม้าลาย วิลเดอร์บีส หรือ กระทิงในทุ่งหญ้าที่คอยเล็มให้พืชไม่ขึ้นรกรุงรังจนเกินไป นอกจากนั้นปลาขนาดใหญ่เหล่านี้ยังเป็นแหล่งโปรตีนชั้นดีให้กับผู้คนริมแม่น้ำ แถมนะ อาหารที่ค้างอยู่ในลำไส้ของปลากินพืชพวกนี้ยังมีมูลค่าสูงกว่าเนื้อปลาและถูกแยกออกมาขายพิเศษในนาม “ขี้ขม” ด้วย
ปลาอีกชนิดที่ต้องนึกถึงคือปลาแค้หรือปลาเข้ เจ้านี้เป็นปลาล่าเหยื่อขนาดใหญ่มาก ปลาแค้เป็นกลุ่มปลาหนังที่มีผิวขรุขระและมีสีกระดำกระด่างคล้ายหินใต้น้ำ มันมีวิวัฒนาการเพื่ออาศัยอยู่ตามแก่งโดยการมีหนวดที่แข็งแบนและโค้งคล้ายสมอเรือ ปลาแค้มีฟันขนาดเล็กๆที่ปากเต็มไปหมด มันเป็นปลาผู้ล่าน้ำจืดขนาดใหญ่มากที่สุดของโลกชนิดหนึ่ง (ใหญ่ขนาดมีรายงานว่าไล่งับเด็กที่ลงเล่นน้ำในประเทศอินเดีย) และถิ่นอาศัยของปลาแค้ก็คือตามแก่งต่างๆเท่านั้น โดยมันจะนอนนิ่งๆ หันหน้าทวนน้ำ อ้าปากพองามให้น้ำไหลผ่านเข้าปากไปออกทางเหงือกโดยไม่ต้องขยับเหงือกหายใจแล้วมองบนเล็กน้อย คอยว่ามีปลาน้อยหรือกุ้งผ่านมาก็พุ่งวาบไปคว้ามากลืนหายไปทั้งตัว ก่อนจะกลับมานอนกบดานอ้าปากมองบนอยู่ที่เดิม ปัญหาของปลาแค้ถ้าไม่มีแก่งจะหนักหนามาก เพราะมันเป็นปลาที่หายใจไม่เป็น คอยนอนให้น้ำไหลผ่านเหงือกอย่างเดียว ดังนั้นถ้าไม่มีแก่ง ปลาแค้จะอาการหนักถึงขนาดจมน้ำตาย ซึ่งเกิดขึ้นมาแล้วในแม่น้ำโขงตอนที่จีนระเบิดแก่งกั้นเขื่อนในแม่น้ำโขงตอนบน
นอกจากพวกปลาใหญ่ๆแล้ว ปลาเล็กๆหลายชนิดก็อาศัยแก่งเป็นบ้านด้วยเหมือนกัน โดยเฉพาะพวกกลุ่มปลาค้อ ปลาติดหิน และ ปลาหมู พวกนี้เป็นปลาตัวเล็กๆที่อาศัยความแรงของกระแสน้ำป้องกันตัวเองจากปลาผู้ล่าขนาดใหญ่หลายชนิด (ไม่รวมปลาแค้ ถ้าเจอปลาแค้ก็ซวยไป) ตัวเล็กพวกนี้ยังมีวิวัฒนาการพิเศษ แบบมีตัวยาวเพรียว มีครีบใหญ่อย่างกับผีเสื้อไว้แปะติดกับหิน พวกนี้หายใจเหมือนปลาแค้คืออ้าปากให้น้ำไหลผ่านไม่ต้องขยับเหงือกดังนั้น ไม่มีแก่งก็ไม่มีความหลากหลายทางชีวภาพเหล่านี้แน่ๆ
สรุป ถ้าไม่มีแก่งในแม่น้ำโขง
1. น้ำจะไหลแบบต่อเนื่อง ไม่มีแก่ง ก็ไม่มีวัง และไม่มีเกาะ พื้นท้องน้ำจะค่อยๆปรับตัวจนเรียบเหมือนกันหมด เหมือนท่อส่งน้ำ
2. คุณภาพน้ำในแม่โขงจะแย่ลง
3. เมื่อความหลากหลายของแหล่งอาศัยหากินหายไป ความหลากหลายทางชีวภาพก็จะหายไปด้วย
4. ความหลากหลายทางชีวภาพหายไป ความมั่นคงทางอาหาร แหล่งโปรตีนสำคัญของภูมิภาคก็หายไปด้วย
5. รอแดกของจีนที่จะทำล่องมาขายแล้วกันนะจ๊ะ