นกอินทรี ของดีของโลก


เรื่อง: อุเทน ภุมรินทร์ ภาพ: ณัฐพล เกิดชูชื่น

                ลมหนาวกับสายหมอกยังลอยเอื่อยคลุมพื้นที่ท้องนาบ้านหนองปลาไหล อ. เขาย้อย จ. เพชรบุรี ท้องฟ้าเป็นสีคราม ละเลงไปด้วยปุยเมฆขาวลอยกระจายกัน ในขณะที่แสงแดดเริ่มไล่เลียลานตากข้าวกว้าง ที่ขณะนี้ รับจ๊อบเพิ่มเปลี่ยนมาเป็นสถานที่จัดงาน เทศกาลดูนกอินทรี ของดีเมืองเพชรไกลออกไป กลางท้องทุ่งนาด้านหลังเวทีเปิดงานฯ ฝูงเหยี่ยวดำ บินร่อนวนมองหาเหยื่ออย่างหนูนา หรือนกน้ำในท้องนาหลังฤดูกาลเก็บเกี่ยวเป็นอาหารมื้อเช้า

                ตลอดช่วงเวลา 2 วัน ในวันที่ 15-16 .. 2554 ของเทศกาลดูนกอินทรีฯ ภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลากหลายภาพเป็นที่ประทับใจ ตราจับในความทรงจำ เลยอยากมาเล่าให้คุณได้ฟัง ได้เห็นภาพต่างๆ เหล่านั้นบ้าง

                ภาพของเด็กในท้องถิ่นวัยซน จำนวน 4-5 คน ชี้ที่รูปภาพนกอินทรีขนาดใหญ่ ที่จัดแสดงในเตนท์นิทรรศการ พร้อมใครสักคนในกลุ่ม อ่านข้อความบนภาพด้วยเสียงใสๆ ว่า ถ่ายที่บ้านหนองปลาไหลอย่างตื่นใจ ก็นกในรูปนี้ ถ่ายได้จากท้องนาบ้านเขา ที่เขาวิ่งเล่นยังไงเล่า

                ภาพและเสียงเจื้อยแจ้วของน้องหวาน เด็กหญิงตัวน้อย ตาโต ผมยาวเพียงกลางหลัง อายุราว 8-9 ขวบเห็นจะได้ ที่คอมีกล้องสองตาตัวเล็ก สำหรับส่องดูนก เหมาะกับตัวเธอ คอยวิ่งกระตือรือร้น เอาตาแนบกับกล้องสโคป (กล้องดูนกกำลังขยายสูงชนิดหนึ่ง) ที่ อ. อมร กีรติยุตกุล นายกสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย เป็นผู้นำดูนก ตั้งจับตำแหน่งนกให้ดูกัน พร้อมทั้งบอกรายละเอียดเกี่ยวกับนกที่กำลังดูแต่ละตัว ให้กับทั้งน้องหวาน คนที่สนใจมาเดินดูนกด้วย เด็กนักเรียนในจังหวัดเพชรบุรีที่คุณครูพามางานนี้ รวมไปจนถึงชาวนา ผู้เป็นเจ้าของพื้นที่ ได้เห็นนกบนท้องนาของตัวเอง

                ภาพของคุณป้า ผู้เป็นแม่ค้าขายหอยทอด รวมถึงแม่ค้าพ่อขายคนอื่นๆ ที่ถือโอกาสพักมือจากหน้ากะทะ หรือซุ้มร้านของตัวเอง มายืนอมยิ้ม ส่งสำเนียงเหน่อน่าฟังแบบคนเพชรท้องถิ่น ในชุดเอี๊ยมกันเปื้อน เดินดูรูปภาพและนิทรรศการเรื่องนกตามเตนท์ ของนักดูนกที่นำมาแสดงกัน แน่นอนว่า นกหลายตัวอย่างอินทรีตัวโตๆ ที่มาอาศัย ยังท้องนาบ้านหนองปลาไหล ป้าเคยเห็นมาตั้งแต่ตอนตัวเองเป็นเด็ก ขณะที่นักดูนกในเตนท์บางคน ก็กำลังทานหอยทอดที่พึ่งสั่งมาจากร้านป้าเมื่อสักครู่ ให้ได้ทายทักกัน

                ภาพของนักดูนกจับจ่ายใช้สอยเลือกซื้อสินค้า ไม่ว่าจะเป็นอาหารหวานคาว ทั้งขนมหม้อแกงรวมถึงขนมหวานอื่นๆ ที่เลื่องชื่อของเมืองเพชร เมื่อชาวบ้านในท้องถิ่น ที่นกล่าเหยื่อพวกนี้ อพยพเดินทางมาอาศัยท้องนาของพวกเขาเป็นแหล่งหากิน ได้รับรู้ว่า การคงอยู่ของนกพวกนี้ นำมาซึ่งรายได้สู่ชุมชนของพวกเขา นกทั้งหลายคงได้โบยบินอย่างอิสระอย่างที่ควรเป็นต่อไป

                ภาพของความร่วมมือและใส่ใจขององค์กรท้องถิ่น ไล่ระดับไปตั้งแต่จาก องค์การบริหารส่วนตำบล องค์การบริหารส่วนจังหวัด ที่ร่วมกันจัดงานนี้ขึ้น รวมไปถึงท่านผู้ว่าราชการจังหวัดที่ให้ความสนใจมาเปิดงานนี้ด้วยตนเอง ส่วนงานในครั้งนี้ คงเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากขาดแรงผลักดันหลัก และการประสานงานจากกลุ่ม Discovery Thai ที่นำทีมโดยคุณปาน สมพงษ์ น่วมสวัสดิ์ ด้วยทีมงานนี้ ทำให้การอนุรักษ์นกล่าเหยื่อ เข้าถึงความเข้าใจของชาวบ้านท้องถิ่น ผู้เป็นเจ้าของพื้นที่และทรัพยากรทั้งหมด ก็เพราะนกที่บินอยู่บนท้องฟ้า ไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่งสักหน่อย ไม่ใช่ของนักดูนกเพียงอย่างเดียว เราจึงต้องมองหาหนทางที่จะทำให้ทุกคนคิดว่า มันเป็นสมบัติของตัวเขาเองด้วยเช่นกัน สมบัติที่ไม่ใช่การครอบครองจับมันมาเปลี่ยนเป็นเงิน แต่คือ การให้โอกาสพวกมันโบยบินในท้องถิ่นของเรา

                ภาพหลายภาพทั้งหมด ที่ผมได้กล่าวมายืดยาวนี้ แทนได้ด้วยภาพเพียงภาพเดียว ภาพของนกล่าเหยื่ออย่างเหยี่ยวดำ นกอินทรีขนาดใหญ่ 3 ชนิด อย่างนกอินทรีปีกลาย นกอินทรีทุ่งหญ้าสเตปป์ นกอินทรี-หัวไหล่ขาว แร้งดำหิมาลัย แร้งสีน้ำตาลหิมาลัย ฯลฯ บินร่อนลมเหนือฟ้าเมืองไทย เพื่อความคงอยู่ของธรรมชาติบนโลกใบนี้ ตราบนานเท่านาน
 

 ข้อมูลเพิ่มเติม: เรียบเรียงจาก http://www.oknation.net/blog/charlee

นกอินทรีแท้ขนาดใหญ่ สกุล Aquila นั้น ทั้งหมดเป็นนกล่าเหยื่อที่อพยพเข้ามาอาศัยในประเทศไทยช่วงฤดูหนาว มี 3 ชนิดด้วยกันคือ นกอินทรีปีกลาย, นกอินทรีทุ่งหญ้าเสต็ป และ นกอินทรีหัวไหล่ขาว ล้วนอาศัยทุ่งนาแบบดั้งเดิมที่มีการตากฟางข้างเป็นแหล่งหากิน ซึ่งก็คือ หนูนา และนกยาง

นกอินทรีหัวไหล่ขาว จ้าวเวหา ใหญ่ที่สุดในท้องทุ่ง ดังนั้น หลังฤดูกาลเก็บเกี่ยวจะพบเห็นนกอินทรีบินขึ้นลงคราวละหลายๆ ตัว พร้อมๆ กันเพื่อไล่จับหนูนา น้ำหนักตัวของเจ้านี่ อาจถึงสี่กิโลกรัม จำนวนที่อพยพเข้ามาในไทย มีไม่เกิน 20 ตัว

นกอินทรีทุ่งหญ้าเสต็ป ขนาดกลางๆ ข่มได้เฉพาะนกอินทรีปีกลาย จำนวนที่อพยพเข้ามาในไทย มีไม่เกิน 20 ตัว พอๆ กับนกอินทรีหัวไหล่ขาว
         
         
และนกอินทรีปีกลาย ขนาดเล็กสุด แต่ก็ใหญ่กว่าเหยี่ยวทั่วๆ ไป มีพละกำลังเป็นรองที่สุด มีจำนวนมากที่สุด จำนวนที่อพยพเข้ามาในไทย มีไม่เกิน 100 ตัว

คิดดูนะครับ นกอินทรีทั้ง 3 ชนิดนี้ ไม่สามารถพบง่ายๆได้ที่ไหนอีกแล้ว แต่กลับมารวมตัวในที่เดียวคือ หนองปลาไหล เมืองเพชรบุรี เท่านั้น

ส่วนในด้านของความสำคัญต่อมนุษย์และธรรมชาตินั้น นกอินทรี 1 ตัว สามารถจับหนูนากินเป็นอาหารได้ 2-4 ตัวต่อวัน ซึ่งหนูนาเหล่านี้ เป็นทั้งศัตรูข้าวและพาหะนำโรคฉี่หนู ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิต เช่น หนูพุก, หนูนาใหญ่, หนูนาท้องขาว

นกอินทรีเป็นนกล่าเหยื่อที่สง่างามและน่าเกรงขาม ยามล่าเหยื่อจะบินร่อนลมร้อนบนท้องฟ้าเป็นเวลานานโดยไม่ต้องออก แรงกระพือปีก เพราะปีกกว้างและยาว ปลายปีกแตกเป็นร่องลึกคล้ายนิ้วมือ หางสั้นคล้ายลิ่ม

นกอินทรีสามารถมองเห็นได้นับกิโลเมตร ยามพบเหยื่อจะบินโฉบดิ่งลงจับเหยื่อ ด้วยกรงเล็บแหลมคม ใช้จะงอยปากฉีกเหยื่อเป็นชิ้นๆ อย่างง่ายดาย หรือกลืนหนูนาตัวเล็กทั้งตัวในคำเดียว ยามพักผ่อน นกอินทรี จะเกาะบนต้นไม้กลางทุ่งนา ใช้สายตาระวังภัยที่อาจเข้ามาในระยะใกล้

 

จังหวัดเพชรบุรี สามารถพบนกอินทรีได้ ในระหว่างเดือนตุลาคมถึงเดือนเมษายน หลังจากนั้นนกอินทรีจะอพยพกลับถิ่นผสมพันธุ์หรือ บ้านฤดูร้อน ในประเทศรัสเซียและจีนเพื่อทำรังวางไข่ แล้วอพยพหนีหนาวกลับมาในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้อีกครั้งในทุกๆ ปี เป็นวัฏจักรอยู่อย่างนี้ จนกว่า บ้าน ในเมืองไทยของเขา จะไม่เหลืออยู่ หรือเจ้าของบ้านอย่างคนไทย ไม่ต้อนรับพวกเขาด้วยการทำร้ายเปลี่ยนชีวิตนกเป็นเงินตรา หรือเป้ากระสุนปืนเพื่อความสนุกเท่านั้นเอง

Comments

ความคิดเห็น

ความเห็นที่ 1

ด่างดำขาวสวยมากเลยครับ

ความเห็นที่ 2

ชอบหัวไหล่ขาวอ่าาา..นกในฝันเลย

ความเห็นที่ 3

ภาพเอ็กซ์ชั่นแจ่มดีจังครับ

ความเห็นที่ 4

ภาพสวยมากครับ

ความเห็นที่ 5

ขอบคุณครับ ภาพสวยจริงๆ

ความเห็นที่ 6

นกอินทรีหัวไหล่ขาว กับ นกอินทรีหัวขาวหรือหัวโล้น เป็นนกในดาวใจผมเลยครับ
มีฟาร์มไหนเพาะพันธุ์ขายบ้างมั้ยครับ แล้วจะเลี้ยงเขา เราต้องมีใบอนุญาติหรือป่าวครับ

ความเห็นที่ 7

อินทรีหัวไหล่ขาวห้ามครอบครองเด็ดขาดครับ ติด พรบ.ไทย แม้จะเป็นนกนำเข้าจากเมืองนอกก็ตาม
(พวกนี้ไม่อยู่ในสถานะที่ทางการจะออกใบอนุญาตให้ได้ ไม่เหมือนกลุ่มนกแก้ว นกปรอดหัวจุก)

แต่อินทรีหัวขาว สามารถนำเข้ามาเลี้ยงได้ ไม่ติด พรบ.มีฟาร์มเมืองนอกเพาะขายอยู่ แต่ตัวละไม่ต่ำกว่า 4 แสนครับ พวกนี้ต้องมีใบอนุญาตนำเข้า แต่ไม่ต้องมีใบอนุญาตครอบครอง
http://www.thaihawkmaster.com/index.php/topic,398.0.html