ข่าวจากเดลินิวส์..เป็นห่วงแทนเจ้าของพื้นที่ครับ.ว่าต่อไปจะไม่ใช่ 1 เดียวในโลก
พลับพลึงธาร พืชพรรณไม้น้ำไทย
แห่งเดียวในโลก
วันพฤหัสบดี ที่ 13 สิงหาคม 2552
ถ้าหากเอ่ยถึงพืชพรรณไม้น้ำ คนทั่วไปอาจจะนึกไม่ออกว่ามีพืชอะไรบ้าง แทบจะยกตัวอย่างกันไม่ถูก เพราะคนที่รู้จักหรือศึกษาเกี่ยวกับเรื่องพรรณไม้น้ำจะอยู่ในวงจำกัด ซึ่งสวนทางกับความต้องการของตลาดส่งออกพรรณไม้น้ำไทยที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
และด้วยเหตุนี้เอง พรรณไม้น้ำส่วนใหญ่ที่ขายอยู่ตามตลาดปลาสวยงามหรือที่มีการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศก็ดี จึงมาจากการเก็บจากธรรมชาติแทบทั้งสิ้น และมีการเก็บมากจนเกินสมดุลที่ธรรมชาติจะผลิต ประกอบกับ การพัฒนาแหล่งน้ำโดยการขุดลอกคลอง การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์จากที่ดินทำให้เกิดการชะล้าง และพังทลาย จึงเป็นเหตุให้มีพืชหลายชนิดพรรณอยู่ในขั้นวิกฤติใกล้สูญพันธุ์
หอมน้ำ ก็เป็นพรรณไม้น้ำอีกชนิดหนึ่งที่ใกล้สูญพันธุ์จากโลกเต็มที เนื่องจากหอมน้ำ ถือเป็นพืชถิ่นเดียว คือ พบที่ประเทศไทยเพียงแห่งเดียว อีกทั้งยังพบเพียงที่ภาคใต้ตอนบนในเขตอำเภอสุขสำราญ ของจังหวัดระนอง และในเขตอำเภอคุระบุรี อำเภอตะกั่วป่า และอำเภอกะปง ของจังหวัดพังงา เท่านั้น จึงเป็นเรื่องที่น่าหวั่นวิตกอย่างยิ่งว่า ในอนาคตอาจจะไม่มีใครได้พบเห็นหอมน้ำอีกก็เป็นได้
ข้อมูลจากสถาบันวิจัยสัตว์น้ำสวยงาม และพรรณไม้น้ำ กรมประมง ด้าน ชีววิทยาของพรรณไม้น้ำชนิดนี้ ได้อธิบาย ไว้ว่า หอมน้ำ หรือ พลับพลึง ธาร จัดเป็นพืชมีดอกในวงศ์พลับพลึง เป็นพรรณไม้น้ำประเภทครึ่งบกครึ่งน้ำ เจริญเติบโตในลำธาร และคลองสายสั้นๆ ที่มีสภาพน้ำใส และเป็นแหล่งน้ำไหล มีการระบายน้ำดี
ลักษณะเด่นของหอมน้ำคือ รากเป็นระบบรากฝอย ลำต้นอยู่ใต้ดินมีใบเกล็ดทำหน้าที่ห่อหุ้มป้องกันตา และใบอ่อนซ้อนกันจนมีลักษณะเป็นหัว ใบเดี่ยวของต้นหอมน้ำมีลักษณะเป็นแถบยาว ช่อดอกมีลักษณะเป็นซี่ร่ม มีจำนวนดอกย่อย 4-14 ดอก ดอกเป็นชนิดดอกสมบูรณ์เพศ ที่มีกลีบเลี้ยง กลีบดอก เกสรตัวผู้ และเกสรตัวเมียครบทุกส่วนในดอกเดียวกัน เกิดดอกจำนวนมากใน ระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงพฤษภาคม โดยความพิเศษของดอกหอมน้ำ คือ จะมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ส่วนผลมีสีแดง จัดเป็นประเภทที่มีหลายเมล็ด เมล็ดมีสีเขียว ผิวไม่เรียบ ลักษณะบิดเบี้ยว และเป็นเหลี่ยม
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันประสบความสำเร็จในการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อหอมน้ำ โดยวิธีการผ่าแบ่งหัว ซึ่งเป็นวิธีที่เหมาะสมเพื่อผลิตหัวย่อยหอมน้ำ ทั้งนี้ หากเกษตรกรรายใดสนใจที่จะเพาะเลี้ยงหอมน้ำ เพื่อใช้ประโยชน์ในการปลูกในแหล่งน้ำ ของตนเอง หรือเพื่อการจำหน่ายสามารถติด ต่อสอบถามได้ที่สถาบันวิจัยสัตว์น้ำสวยงาม และพรรณ ไม้น้ำ กรมประมง โทร. 0-2558-0180 ในวันเวลาราชการ.
ที่มา
http://www.siamensis.org/webboard/webboard_postform.php
ปลิวลม
[ 14 ส.ค. 2552 21:29:21 ]