ขอความเห็นจากผู้รู้เรื่องปาดบ้านกับปาดเหนือ
ขอแสดงความคิดเห็นในเรื่องปาดเหนือ (Polypedates mutus) นะครับ เนื่องจากเข้ามาดู Siamese.org. แล้วมีหลายท่านระบุรูปปาดที่จับได้จากพื้นที่หลายแห่งของประเทศไทยที่โพส์ทไว้ใน Siamese.org. ว่าเป็น P. mutus โดยให้เหตุผลว่า บนหัวไหล่มีลวดลายสีเข้มเป็นรูปตัวอักษรเอ็คซ์ภาษาอังกฤษ และมีช่วงหัวสั้น และตาโตกว่า P. leucomystax รวมทั้งลักษณะของนิ้วตีน ทำให้ต้องกลับมาดูรูปที่ถ่ายไว้จากสะแกราช สระบุรี จันทบุรี กาญจนบุรี พิษณุโลก เชียงใหม่ อุบลราชธานี รวมทั้งในกรุงเทพมหานคร (ที่บ้านตัวเอง) ปรากฎว่าบนหลังมีลวดลายสีเข้มเป็นรูปตัวอักษรเอ็คซ์ภาษาอังกฤษเกือบทั้งหมด ซึ่งชัดเจนมากในหลายตัว และไม่ชัดเจนในบางตัว ทำให้เป็นข้อสงสัยว่าเพราะเหตุใด P. mutus ที่เพิ่งมีรายงานการแพร่กระจายเข้ามาในประเทศไทยจึงพบได้บ่อยกว่า P. leucomystax และแพร่กระจายกว้างมากในประเทศไทย จึงได้ตรวจสอบการแพร่กระจายของ P. mutus เท่าที่จะหาได้ ปรากฎว่า ข้อมูลจากหลายแหล่งระบุว่า P. mutus แพร่กระจายอยู่ในจีน พม่า เวียตนาม และไทย แต่การแพร่กระจายอยู่ในประเทศไทยไม่ได้เป็นพื้นที่ต่อเนื่องลงมาจากจีน และพม่าเพราะมีพื้นที่เป็นช่องว่าง (isolated) ตลอดจนแพร่กระจายเฉพาะทางเหนือสุดของประเทศไทย นอกจากนั้นเมื่อตรวจสอบลักษณะของ P. mutus ที่ Ziegler et al. (2002 Review of the amphibian and reptile diversity of Phong Nha-Ke Bang National Park and adjacent areas, central Truong Son, Vietnam) ได้อธิบายไว้ โดยเปรียบเทียบกับ P. leucomystax และ P. megacephalus มีข้อแตกต่างกันคือ
1. P. mutus มีขนาดตัวใหญ่กว่า P. leucomystax และ P. megacephalus
2. P. mutus มีกระดูกแข้ง (tibia) ยาวกว่า P. leucomystax และ P. megacephalus
3. P. mutus มีลวดลายบนหลังเป็นแถบสีเข้มตามยาวลำตัวหลายแถบ ขณะที่ P. leucomystax และ P. megacephalus มีลวดลายบนหลังเป็นทั้งแถบตามยาวลำตัว และรูปนาฬิกาทราย (hourglass pattern) หรือรูปตัวอักษรเอ็คซ์ภาษาอังกฤษ
4. P. mutus มีทางด้านท้ายของต้นขาหลังหรือตะโพกสีน้ำตาลดำ และมีจุดกลมใหญ่สีขาวหรือสีครีม แต่ของ P. leucomystax และ P. megacephalus เป็นจุดกลมเล็กสีขาวในพื้นสีน้ำตาลดำ และมีลวดลายคล้ายเป็นโครงข่ายร่างแห
5. P. mutus เพศผู้ไม่มีถุงเสียง แต่ส่งเสียงร้องได้ และเสียงร้องแตกต่างจากของ P. leucomystax และ P. megacephalus (แต่ Ziegler et al., 2002 ไม่ได้ระบุว่าแตกต่างอย่างไร) ซึ่ง mutus ในภาษาลาตินมีความหมายว่า mute หรือ silent ในภาษาอังกฤษ
6. P. mutus อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่า (forest species)
จากข้อแตกต่างดังกล่าว เมื่อกลับไปดูรูปปาดที่ถ่ายไว้ และลักษณะที่ตรวจสอบได้จากรูปถ่ายมีเฉพาะ จุดสีขาวทางด้านท้ายของต้นขาหลัง ปรากฎว่า เป็นจุดกลมเล็กทั้งหมด ดังนั้นเมื่อผนวกกับข้อมูลการแพร่กระจายของ P. mutus จากแหล่งข้อมูลที่ได้ และจากปาดที่ถ่ายรูปไว้นั้นก็จับได้บริเวณบ้านเรือน และในพื้นที่เกษตรกรรม นอกจากนั้นเมื่อตรวจสอบจาก Taylor (1962 The Amphibian Fauna of Thailand) ก็พบว่า Taylor (1962) ระบุว่าปาดบ้านมี 2 ชนิดย่อย (แต่ Taylor ใช้ชื่อสกุล Rhacophorus) ได้แก่ Rhacophorus leucomystax leucomystax ที่ลำตัวมีสีน้ำตาลหลายระดับ และบนหลังมีแต้มสีเข้มเป็นลวดลายแตกต่างกันหลากหลาย รวมทั้งรูปนาฬิกาทรายหรือรูปตัวอักษรเอ็คซ์ภาษาอังกฤษ ชนิดย่อยนี้แพร่กระจายกว้างทั่วประเทศไทย ส่วนอีกชนิดย่อยคือ Rhacophorus leucomystax sexvirgatus ที่มีลำตัวสีน้ำตาล และบนหลังมีทางสีเข้มพาดตามยาวลำตัว 4 ทาง และด้านข้างลำตัวอีกข้างละ 1 ทาง ชนิดย่อยนี้แพร่กระจายอยู่เฉพาะภาคใต้ จึงใคร่ขอความเห็นว่า ปาดที่แพร่กระจายอยู่ในภาคกลาง ภาคอีสาน และภาคตะวันออก และมีลวดลายบนหลังเป็นรูปตัวอักษรเอ็คซ์ หรือมีจุดสีเข้มกระจายอยู่ที่สีข้างมากบ้างน้อยบ้างนั้นเป็น P. mutus หรือไม่
คนกินกบ
[ 17 ก.ย. 2552 09:54:46 ]