"WWF"สำรวจลุ่มน้ำโขง ตะลึงพบ163สิ่งมีชีวิตพันธุ์ใหม่
กองทุนสัตว์ป่าโลก หรือ "WWF" กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแถวหน้า เปิดเผยรายงาน และภาพถ่าย "สัตว์ และพืชสายพันธุ์ใหม่" 163 ชนิดที่ค้นพบในประเทศกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งอนาคตอันใกล้เสี่ยง "สูญพันธุ์" ล้มหายตายจากไปจากพื้นที่ เพราะผลกระทบจากวิกฤตการณ์ "โลกร้อน!"
การค้นพบสัตว์ และพืชพันธุ์ใหม่ 163 ชนิดเกิดขึ้นหลังจากคณะนักวิทยา ศาสตร์ของ WWF ลงพื้นที่ศึกษาระบบนิเวศวิทยาของประเทศในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เมื่อปีพ.ศ.2551 อันประกอบไปด้วยไทย กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม และพื้นที่มณฑลยูนนาน ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน
โดย "สิ่งมีชีวิต" ที่พบใหม่ทั้งหมดนั้น แยกเป็น
พืช 100 ชนิด
ปลา 28 ชนิด
สัตว์เลื้อยคลาน 18 ชนิด
สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ หรือสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก 14 ชนิด
สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 2 ชนิด
และนกอีก 1 ชนิด
กองทุนสัตว์ป่าโลกสาขาประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า
รายละเอียด พร้อมกับรูปภาพสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ที่หายาก และมีความโดดเด่น เฉพาะตัวดังกล่าวปรากฏอยู่ในรายงานเรื่อง "Close Encounters" ซึ่งเขียน และเผย แพร่หลังจากคณะทำงาน WWF บุกเข้าไปค้นพบพวกมันภายในพื้นที่ป่า และแม่น้ำสายต่างๆ ของประเทศภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง
เช่น กบในตระกูลมีเขี้ยวที่กินนกเป็นอาหาร (bird eating fanged frog) สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในกลุ่มหนูผี 1 ชนิด (musk shrew) จากทั้งหมด 4 ชนิดที่กำลังได้รับ การจำแนกเป็นชนิดพันธุ์ใหม่ และตุ๊กแกลายเสือดาว (leopard gecko) ด้วยดวงตาสีส้ม ขายาวชะลูด และลำตัวที่เต็มไปด้วยสีสัน
"การค้นพบครั้งนี้แสดงให้เห็นถึง ความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศในภูมิภาค เรากำลังจดจ่ออยู่กับการพยายามจะจับตุ๊กแกชนิดใหม่ตัวหนึ่ง ทันใดนั้นเจ้าลูกชายของผมก็ร้องบอกว่า มีหัวของงูตัวหนึ่งอยู่ห่างจากมือผมที่วางอยู่บนหินเพียงไม่กี่นิ้ว เราเลยจับมาทั้งตุ๊กแก และงู และทั้ง 2 ตัวเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ของโลก" ดร.ลี กริสเมอร์ แห่งมหาวิทยาลัยลาเซียร่า แคลิฟอร์เนีย หนึ่งในทีมงาน WWF กล่าว
ด้าน สจ๊วร์ต แชปแมน ผู้อำนวยการฝ่ายอนุรักษ์ WWF แห่งลุ่มน้ำโขง แถลงที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ อาคารมณียา กรุงเทพฯ ว่า
สำหรับนกพันธุ์ใหม่ที่พบ มีนกกลุ่มกินแมลงป่าฝนชนิดใหม่รวมอยู่ด้วย มีชื่อสามัญว่า "Nongbang Babbler" (นกน่งกั่ง) แตกต่างจากนกอื่นๆ ตรงที่ชอบเดินหากินบนพื้นดินมากกว่าที่จะบิน และ จะบินก็ต่อเมื่อตกใจเท่านั้น พบในแถบป่าดงดิบเขตอุทยานธรรมชาติน่งกั่ง บริเวณจีนตอนใต้ ใกล้พรมแดนเวียดนาม
ส่วนสัตว์พันธุ์ใหม่ดาวเด่นอื่นๆ ได้แก่ "กบโคราชปากใหญ่" (Korat Big-Mouthed Frog) พบที่โคราชของไทย อาศัยอยู่ตามทางน้ำ ในปากมีเขี้ยวเอาไว้คอยกัดกินแมลง และนก
นอกจากนั้น ในเวียดนามยังเจอ "ค้างคาวจมูกท่อ" รวมถึง "ตุ๊กแกลายเสือดาว" ซึ่งมีตาสีน้ำตาลอมส้มคล้ายตาแมว และมีลายบนตัวเหมือนเสือดาว พบบนเกาะแคตบา ทางภาคเหนือของเวียดนาม
"หลังจากซุกซ่อนตัวมาเป็นเวลานับพันปี ในที่สุดเราก็ค้นพบพวกเขา ทั้งหมดนี้ยืนยันได้ว่า ยังมีสิ่งมีชีวิตอีกมากมายที่รอการค้นพบ หรือก็เป็นไปได้เช่นกันว่ามีสัตว์อีกหลายชนิดสูญพันธุ์ไปจากโลกก่อนที่เราจะได้รู้จัก" แชปแมนกล่าว
ขณะนี้สิ่งที่ WWF แสดงความกังวลก็คือ ทั้งๆ ที่มนุษย์เพิ่งค้นพบสัตว์พันธุ์ใหม่
แต่อีกไม่นานมันอาจสูญพันธุ์หมดไปทั้งพื้นที่ เพราะผลกระทบ จากภาวะสภาพอากาศโลกเปลี่ยนแปลง หรือภัยโลกร้อน!
"ภัยที่กำลังเกิดขึ้นอันเนื่องจากการเปลี่ยน แปลงสภาพภูมิอากาศกำลังคุกคามสถานภาพของสิ่งมีชีวิตเหล่านี้
"การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศภายในประเทศลุ่มแม่น้ำโขงได้เกิดขึ้นแล้ว ภายหลังจากแบบจำลองภาวะโลกร้อนแสดง ให้เห็นว่า อุณหภูมิมีการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีความแปรปรวนของสภาพอากาศสูงมากขึ้น และแนวโน้มที่จะเกิดภัยทางธรรมชาติมีความถี่ และทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น
"สอดคล้องกับข้อมูลที่รายงานจากการประชุมคณะกรรมการนานาชาติว่าด้วยภาวะการเปลี่ยน แปลงสภาพภูมิอากาศ (ไอพีซีซี) ชี้ว่า การเพิ่มระดับของน้ำทะเล และภาวะน้ำทะเลหนุนเพราะปัญหาโลกร้อน จะทำให้เกิดผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อพื้นที่ชายฝั่ง โดยเฉพาะที่ราบลุ่มปากแม่น้ำโขง ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ของพื้นที่ปากแม่น้ำที่มีความเสี่ยงสูงมากที่สุดในโลก" WWF ระบุ
แชปแมนเสริมว่า สิ่งมีชีวิตบางชนิดอาจสามารถ "ปรับตัว" ให้อยู่รอดได้ในช่วงเวลาหนึ่ง
แต่บางชนิดก็ไม่สามารถปรับตัวได้ และต้องล้มหายตายจากไป
ดังนั้น เราอาจจะได้เห็นการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตจำนวนมหาศาลเกิดขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่ถูกค้นพบใหม่ในลุ่มน้ำโขงมีความเสี่ยงสูงมากเป็นพิเศษ เนื่องจากพื้นที่ "ถิ่นที่อยู่อาศัย" จะลดลงอย่างมากเพราะผลจากโลกร้อน ภัยแล้ง และน้ำท่วมผิดธรรมชาติ
โดยทั่วไปสิ่งมีชีวิตเหล่านี้จะพึ่งพาอาศัยกันไม่มากก็น้อย ฉะนั้น หากการปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กำลังเกิดขึ้นเป็นไปในทิศทางที่ไม่สอดคล้องกัน วิวัฒนาการดังกล่าวอาจทำให้พวกมันมีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์มาก ยิ่งขึ้นไปอีก
ผู้อำนวยการ WWF ลุ่มน้ำโขง กล่าวด้วยว่า อยากให้แต่ละประเทศที่ใช้ประโยชน์ จากแม่น้ำโขงหันมาจับมือกันให้ความสำคัญกับการวางแผนรับมือปัญหาโลกร้อน และออกข้อตกลงที่เป็นรูปธรรม
เพราะนอกจากจะช่วยรักษาดูแลสิ่งมีชีวิตทั้งหลายในภูมิภาคแล้ว ยังช่วยปกป้องคุ้มครอง "ความหลากหลายทางชีวภาพ" ในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขงเอาไว้สืบไปจนถึงคนรุ่นหลัง
...แก้ไขเมื่อ 14 ต.ค. 2552 03:00:30
ลำพะเนียง
[ 14 ต.ค. 2552 02:56:21 ]