|
พบ 'ฟอสซิลหมูดึกดำบรรพ์' ในลุ่มน้ำมูล ชี้นำระบบนิเวศ
พบสัตว์ใหม่ของโลก นักวิจัย ม.ราชภัฏนครราชสีมา แถลงเป็น"ฟอสซิลหมูดึกดำบรรพ์ อายุประมาณ 6-8 ล้านปี ค้นพบจากแอ่งตะกอนยุคเทอเชียรี-ควอเทอ นารี ของลุ่มแม่น้ำมูล จ.นครราชสีมา เป็นตัวบ่งชี้ถึงระบบนิเวศในลุ่มแม่น้ำมูล เมื่อยุคไมโอซีนตอนปลาย ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าผสมทุ่งหญ้า และแหล่งน้ำ ซึ่งประกอบกับฟอสซิล สัตว์อื่นๆ 26 ชนิด และยังพบ ปลากระเบนบัว หรือ กระเบนหางยาว อาศัยอยู่ในทะเลสาบสงขลา ในปี 2530-2538 เคยจับได้ 200-300 ตัว แต่ในปัจจุบันเชื่อว่าสูญพันธุ์ไปแล้ว ที่ห้องประชุมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ (FCCT) อาคารมณียาเซ็นเตอร์ ถนนเพลินจิต กท. เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 8 ต.ค. นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ นายกสภามหาวิทยา ลัยราชภัฏนครราชสีมา ผศ.ดร.เศาวนิต เศาณานนท์ อธิการบดี ม.ราชภัฏนครราชสีมา ดร.ชวลิต วิทยานนท์ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหิน และทรัพยากรธรณี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ม.ราชภัฏนครราชสีมา ดร.รัตนาภรณ์ หันตา นักวิจัยสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหิน และทรัพยากรธรณีฯ ได้ร่วมกันแถลงข่าว การค้นพบสัตว์ใหม่ของโลก 2 ชนิด ได้แก่ ฟอสซิลหมูดึกดำบรรพ์ และปลากระเบนบัว ซึ่งมีผู้ที่สนใจเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก ดร.รัตนาภรณ์ ผู้ค้นพบฟอสซิลหมูดึกดำบรรพ์ ได้กล่าวว่า ฟอสซิลสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ประเภทหมูดึกดำบรรพ์ สกุล Merycopotamus 1 ชนิดใหม่ของโลก อายุประมาณ 6-8 ล้านปี ค้นพบจากแอ่งตะกอนยุคเทอเชียรี-ควอเทอนารี ลุ่มแม่น้ำมูล จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นผลจากงานวิจัยด้านบรรพชีวิน ที่ได้นำเสนอตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ Journal of Vertebrate Paleontology เมื่อต้นปีนี้ ซึ่งได้ทำการวิจัยร่วมกับ มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และหน่วยงานต่างๆ รวมถึงส่วนท้องถิ่นใน จ.นครราชสีมา สำหรับ ฟอสซิลหมูดึกดำบรรพ์ Merycopotamus thachangensis นี้ถูก ตั้งชื่อชนิดให้มีความหมายว่า แห่งท่าช้าง มีลักษณะหัวกะโหลกเรียว และแบน มีรูจมูกอยู่ในระดับเดียวกับตา ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ถึง ลักษณะ และนิสัยการเป็นอยู่คล้ายฮิปโปโปเตมัส ขนาดเล็ก สูงประมาณ 0.8 ม. ลักษณะของลายบนหน้าฟัน แสดงได้อย่างชัดเจนว่ามีลักษณะ รูปร่างที่แบนกว่า สันนิษฐานว่า น่าจะกินพืชเป็นอาหาร ตามลักษณะรูปร่างของฟัน ซึ่งเป็นชนิดที่ต่างจากที่เคยมีรายงานพบในพม่า อินเดีย และปากีสถาน และเป็นชนิดแรกของประเทศไทย ที่พบจากแหล่งขุดทรายใน ต.ท่าช้าง อ.เฉลิมพระเกียรติ ซึ่งเป็นแอ่งตะกอนยุค เทอเชียรี-ควอเทอนารี ของลุ่มแม่น้ำมูล จ.นครราชสีมา เป็นตัวบ่งชี้ถึงระบบนิเวศในลุ่มแม่น้ำมูล เมื่อยุคไมโอซีนตอนปลาย ประมาณ 6-8 ล้านปีก่อน ว่าพื้นที่นี้เป็นพื้นที่ป่าผสมทุ่งหญ้า และแหล่งน้ำ ซึ่งประกอบกับฟอสซิลสัตว์อื่นๆ 26 ชนิด ที่พบร่วมยุคเดียวกันด้วย เช่น ช้างดึกดำบรรพ์กว่า 10 ชนิด ยีราฟ แอนทีโลปต่างๆ แรดต่างๆ และเสือเขี้ยวดาบ รวมถึงไม้กลายเป็นหินหลายชนิด
ด้าน ดร.ชวลิต ผู้ค้นพบปลากระเบน บัว ได้เผยเกี่ยวกับลักษณะของปลาชนิดนี้ว่า ปลากระเบนบัว หรือกระเบนหางยาว เป็น ชื่อเรียกพื้นบ้านของ จ.สงขลา และพัทลุง อยู่ในสกุล Himantura จะถูกตั้งชื่อชนิดให้ มีความหมายว่า แห่งทะเลสาบสงขลา : singoraense มีลักษณะรูปร่างกลมคล้ายใบบัว ปลายจะงอยปากแหลม มีแถวฟันบนขากรรไกรน้อยกว่าชนิดอื่นๆ ในกลุ่มชนิดที่เคยพบมา คือ มี 18 แถวที่ขากรรไกรบน และ 24-29 แถวที่ขากรรไกรล่าง มีขนาดใหญ่สุด กว้าง 1.3 ม. มีน้ำหนักถึง 50 กก. แต่ขนาดทั่วไปที่จับได้กว้าง 0.7 ม. มีน้ำหนัก 20-35 กก. อาศัยอยู่ในทะเลสาบสงขลา ตอนในช่วงเขต อ.เกาะใหญ่, อ.กระแสสินธุ์ จ.สงขลา การค้นพบปลากระดูกอ่อนขนาดใหญ่ นี้ นับเป็นดัชนีบ่งชี้ถึงคุณภาพสิ่งแวดล้อม ของทะเลสาบสงขลา ที่ยังอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ แต่ก็เป็นข้อที่ต้องสนับสนุนในการอนุรักษ์คุณภาพของน้ำในทะเลสาบสงขลาอย่างเร่งด่วน เพราะปลากระเบนนี้ได้ลดจำนวนลงอย่างมาก จากที่เคยจับได้ปีละ 200-300 ตัว (3,000-5,000 กก.) ต่อปี เมื่อประมาณปี 2530-2538 เหลือเพียงรายงานจับได้ประมาณ 10 ตัวต่อปี ในปัจจุบัน ซึ่งทำให้เกรงว่าปลาชนิดนี้จะสูญพันธุ์ไปจากพื้นที่
ที่มา http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=38&contentId=25031&hilight=%E0%B8%9F%E0%B8%AD%E0%B8%AA%E0%B8%8B%E0%B8%B4%E0%B8%A5%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B9
ลำพะเนียง
[ 14 ต.ค. 2552 03:34:19 ]
|
|