เขื่อนฮัตจี กับแม่น้ำสาละวิน
ประเทศไทย ต้องการเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าอีกไหม? นี่คือคำถามที่ผมถามตัวเองเมื่อทราบข่าวการสร้างเขื่อนฮัตจีกั้นแม่น้ำสาละวิน แม่น้ำอิสระสายใหญ่สายสุดท้ายของตะวันออกไกล ผมลองหาข้อมูลดูคร่าวๆ ได้มาดังนี้
1. ณ ปี 2551 ประเทศไทยมีกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งอยู่ที่ 29,892 เมกะวัตต์ (ที่มา: สำนักงานนโยบาย และแผนพลังงาน)
2. ความต้องการไฟฟ้าสูงสุดของประเทศไทยเกิดขึ้น ณ วันที่ 21 เมษายน 2551 ที่ระดับ 22,568 เมกะวัตต์ (75% ของกำลังการผลิตติดตั้ง) (ที่มา: สำนักงานนโยบาย และแผนพลังงาน)
3. เกณฑ์มาตรฐานของปริมาณไฟฟ้าสำรองควรจะอยู่ที่ร้อยละ 15 ประเทศไทยมีอยู่ประมาณร้อยละ 25 ในปัจจุบัน
4. แหล่งพลังงานในการผลิตกระแสไฟฟ้าของไทย มาจากแก๊ซธรรมชาติ ร้อยละ 70 ลิกไนต์/ถ่านหิน ร้อยละ 21 พลังน้ำ ร้อยละ 5 นำเข้า และอื่นๆ ร้อยละ 3 น้ำมัน ร้อยละ 1 (ที่มา: สำนักงานนโยบาย และแผนพลังงาน)
5. อัตราการขยายตัวการใช้ไฟฟ้า ระหว่างปี 50-51 เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 ส่วนปี 51-52 ติดลบร้อยละ 0.5 ปี 52-52 คากว่าจะเพิ่มขึ้น 3.5% และมีการคาดการว่าจากนี้เป็นต้นไปอีก 12 ปี ทุกๆ ปีประเทศไทยจะมีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 5% (ที่มา กฟผ. และ คณะอนุกรรมการการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้า)
6. เขื่อนฮัตจีสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าในกำลังการผลิต 1,360 เมกะวัตต์ (ที่มา กฟผ.) หรือประมาณร้อยละ 4.5 ของกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งของประเทศไทยในปัจจุบัน หรือเทียบเท่ากับการขยายตัวการใช้ไฟฟ้าของประเทศไทย ประมาณ 1 ปี
คำถามคือ
1. คุ้มไหมทางด้านธุรกิจ? คิดว่าคุ้ม มิเช่นนั้นบริษัทจากประเทศจีน ชิโนไฮโดร คอร์ปอเรชั่น คงจะไม่มาร่วมทุนกับ กฟผ. ของไทย และรัฐบาลพม่าในการสร้างเขื่อน
2. คุ้มไหม กับชื่อเสียงของประเทศไทย ที่จะเสียไปในการร่วมมือทำธุรกิจ (ใหม่อีก) กับรัฐบาลทหารพม่า ซึ่งยังไม่ได้รับการยอมรับในระดับสากล?
3. คุ้มไหมกับปัญหาละเมิดสิทธิมนุษย์ชน ที่อาจจะตามมาจากฝั่งประเทศพม่า เนื่องจากปัญหาชนกลุ่มน้อยในพื้นที่ ถ้าไม่นึกถึงเขา ก็นึกถึง เรา ว่าจะมีผู้อพยพข้ามแดนมาอีกกี่คน? เรารองรับได้ไหม กับปัญหาที่จะตามมากับผู้อพยพ?
4. การใช้เงินภาษีของประเทศไทย หรือรายได้ที่เกิดขึ้นจากคนไทย ไปลงทุนสร้างเขื่อนในเขตประเทศพม่า ทำให้ประเทศไทยมีความมั่นคงทางพลังงานเพิ่มขึ้นหรือไม่?
5. กฟผ. อ้างว่าโครงการอยู่ในประเทศพม่า จริงๆ แล้วไม่ต้องทำการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมด้วยซ้ำไป ที่ทำให้อยู่นี่เป็นบุญคุณ แล้วที่น้ำจะเอ่อท่วมขึ้นมาถึงแม่น้ำสาละวินส่วนที่เป็นพรมแดนกั้นระหว่างประเทศไทย และพม่า และน้ำที่จะเอ่อล้นเข้ามาในสาขาของแม่น้ำสาละวิน (เช่นแม่น้ำเมย แม่น้ำเงา) ในเขตประเทศไทย มีคำตอบอย่างไร? ยังไม่นับรวมถึงพรมแดน ที่ใช้แม่น้ำสาละวิน และแม่น้ำเมยกั้น ว่าจะแบ่งจะแยกกันอย่างไร ถ้าพลศาสตร์ของน้ำมีการเปลี่ยนแปลง จะมีการหด/ขยายแนวตลิ่งหรือไม่อย่างไร?
6. คุ้มไหมกับการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพของลุ่มน้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์ที่สุดสายหนึ่งของเอเซีย แหล่งโปรตีนที่หากินได้ตลอดไป กับการสร้างเขื่อนที่มีกำลังการผลิตเพียงพอแค่อัตราการเพิ่มการใช้ไฟฟ้าในประเทศไทยเพียงปีเดียว
สำหรับท่านที่ยังไม่รู้จักเขื่อนฮัตจี:สร้างกั้นแม่น้ำสาละวิน มีกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้า 1,360 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ในเขตรัฐกะเหรี่ยง ประเทศพม่า ห่างชายแดนไทย 47 กิโลเมตร โดยบริษัท กฟผ. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ในเครือ กฟผ. ร่วมทุนกับบริษัท ชิโนไฮโดร คอร์ปอเรชั่น จำกัด ยักษ์ใหญ่ของจีน และกรมไฟฟ้าพลังน้ำ กระทรวงพลังงานไฟฟ้า สหภาพพม่า เพื่อผลิตไฟฟ้าขายให้ไทย มีมูลค่าการลงทุนประมาณ 1,400 ล้านเหรียญสหรัฐ เงินลงทุนจะกู้จากประเทศจีน และคาดว่าสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ในปี 2558-2559นับเป็นเขื่อนแรกที่จะถูกสร้างบนแม่น้ำสาละวิน ซึ่งมีความยาวตั้งแต่ประเทศจีนลงมาถึงประเทศพม่าประมาณ 2,600 กิโลเมตร
...แก้ไขเมื่อ 11 ธ.ค. 2552 15:16:22
นณณ์
[ 11 ธ.ค. 2552 15:11:45 ]