ดูนก (นำบทความมาฝากกัน)
ดูนก
เป็นเวลา 4 ปีแล้ว ที่ผมทำความ รู้จัก กับอีกชีวิตหนึ่ง โดยการ ดูนก เป็นเวลา 4 ปีที่ผมได้รับอะไรหลายสิ่ง นอกจากรู้จักชื่อนก
เช่นกัน 3 ปีที่ผ่านมา หลังจากเริ่มต้นดูนก มีกิจกรรมหนึ่งที่ทำควบคู่กัน คือ นำดูนก ไม่ได้เก่งกาจอะไร แต่เมื่อรู้มากขึ้น รู้ว่า นกไม่ใช่แค่ชีวิตที่มีปีกบินไปบินมาเท่านั้น ชีวิตของนกเกี่ยวข้องกับเรื่องรอบตัว นกทุกตัวมีหน้าที่นกกินลูกไม้พาลูกไม้ไปปลูกไกลจากต้นแม่ นกกินแมลง และหนอน คอยควบคุมปริมาณศัตรูพืชให้มีไม่มากจนเกินไป ฯลฯ เมื่อรู้อย่างนี้ ผมก็อยากให้คนอื่นรู้บ้าง
เริ่มต้น จากสีสันสดใส บนตัวนก และพฤติกรรมต่างๆ ใช้สิ่งนี้ ดึงให้คนอื่นเข้ามารู้จักนกด้วย
ขณะนั่งเขียน ภาพนำดูนกที่ผ่านมา ผุดขึ้นในหัว ตาเห็นภาพแจ่มชัด แต่ละภาพเลื่อนราวกับฉายสไลด์
ยังจำได้แม่น ครั้งแรกที่นำดูนก เช้าวันอาทิตย์ ที่สวนหลวง ร.9 ผมมีนัดกับกิจกรรม Birdwalk ของสมาคมอนุรักษ์นก และธรรมชาติแห่งประเทศไทย ที่จัดกิจกรรมพาเดินชมนกในสวนสาธารณะของกรุงเทพฯ ในทุกวันเสาร์-อาทิตย์แรกของแต่ละเดือน
หวังมาให้เขาพาดูนก พี่เจ้าหน้าที่สมาคมฯ คนหนึ่ง ยื่นกล้องเทเลสโคป (กล้องใช้ดูนกอย่างหนึ่ง) พร้อมพูดว่า ทอม นำดูนกที
ทันทีท่ามกลางความสับสน ผมไม่เคยนำนะพี่ ผมพูดออกไปอย่างนั้น
เฮ้ย ถ้าไม่ลอง แล้วมันจะมีครั้งแรกได้ไงว่ะ ผมไม่พูดอะไรต่อ แบกกล้องเทเลสโคปพร้อมขาตั้งขึ้นบ่า นำคนกลุ่มหนึ่งออกเดินไปตามเส้นทางของสวน
ภาพแห่งความน่าจำ ค่อยฉายไปเรื่อย อย่างไม่มีทีท่าว่าจะหยุด ไล่ทบทวน การนำดูนก เปิดโอกาสให้ผมได้บอกเรื่องชีวิตนก กับคนเกือบทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่เด็กน้อย วัย 7-8 ขวบ ยันคุณลุงเลยวัยเกษียณมานาน
ใช่ , สำหรับคุณลุง ผมจำได้แม่น (แต่ไม่แม่นมาก เพราะดันลืมชื่อของคุณลุงอีกแล้ว) คุณลุงมาดูนกกับเราที่สวนหลวง ร.9 ในเช้านั้น เป็นการดูนกผ่านกล้องสองตาเป็นครั้งแรก คำพูดของลุงหลังลดกล้องลงจาก นกอีเสือหลังดำ ว่า นกสวย ขนาดนี้เลยเหรอ ยังก้องหูทุกครั้งที่นึกถึง
คุณลุงขับรถมาจากจังหวัดชลบุรี ลองนึกดูครับ ผมเริ่มนำดูนกเวลา 07.00 น. จากชลบุรี คุณลุงต้องตื่นนอนตั้งแต่กี่โมง
ผ่านมาอีก 3 ปี เมื่อเดือนก่อน ผมกลับไปนำ Birdwalk ที่สวนหลวง ร.9 อีก ผมยังเจอคุณลุงพร้อมอุปกรณ์ดูนกครบมือ ได้ความจากพี่เจ้าหน้าที่สมาคมว่า ลุงแกมาทุกเดือนแหล่ะ
ลุงยังสนใจนกไม่เปลี่ยนแปลง แต่เช้านั้น ไม่รู้มีอะไรผิดแปลก คุณลุงดูนิ่ง เหมือนไม่ได้ฟังที่ผมพูด ความมาถึงบางอ้อ ก็เมื่อตอนคุณลุงเดินมาเข้ามาใกล้ แล้วพูดกับผมว่า อะไรนะ ? แกไม่ได้ไม่สนใจ เพียงแต่หูแกเริ่มตึง เท่านั้นเอง
ปัจจุบัน กิจกรรมดูนก ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นบ้าง พ่อแม่หลายครอบครัวพาเจ้าหนูจอมซนมารู้จักนกด้วย
จนหลายครอบครัวติดดูนกงอมแงม ต้องพากันออกไปดูแทบทุกเสาร์ อย่างครอบครัวน้องมายด์ ที่ดูนกกันทั้งพ่อแม่ลูก จนน้องมายด์หญิงน้อยตากลมวัยแปดขวบ จากเจ้าหญิงน้อยตัวขาว เริ่มคล้ำขึ้นทุกที
นอกจากได้พบผ่านผู้คนหลากหลายเพศ วัย อาชีพ การถ่ายทอดยังไงให้คนแต่ละวัยรับรู้ได้ ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ผมได้รับ
การพูดให้เด็กแปดขวบเข้าใจ และชวนให้เขาอยากดู แน่นอนว่า ต้องต่างจากบอกคนโตๆ บ้าง
เรื่องราวของนก กับการ์ตูนที่เขาเคยดูต้องนำมาพูดให้เขาฟัง
หนูเห็นนกยางสีขาวๆ นั่นไหม มันเดินบนใบบัว ได้เหมือนนินจาที่มีวิชาตัวเบาเลย
พร้อมดึงเขาให้สนใจ ด้วยสีสันที่น่ามอง อย่างเจ้านกตีทองนกจำพวกนกโพระดก ซึ่งกินลูกไม้เป็นอาหารหลัก ปากหนาๆ ของมันมีไว้เพื่อเจาะโพรงไม้ที่แห้งคาต้น ขนาดพอตัวสำหรับเลี้ยงลูกน้อยในนั้น
หนูดูผ่านกล้องนี่เร็ว เห็นไหม กำลังโก่งคอร้องอยู่ หน้าผากสีแดง รอบคอสีเหลือง
แต่ไม่ว่า จะวัยไหนสิ่งที่ผมบอกกับทุกคนคือ นกทุกตัวมีหน้าที่ของมัน
หน้าที่ที่แตกต่างกันออกไป ตามแต่ธรรมชาติจะจัดวาง และมอบตำแหน่งให้
นกยางกินสัตว์น้ำ อย่าง ปลา กบ เขียด กุ้ง หน้าที่ของมัน คือ ควบคุมปริมาณสัตว์น้ำให้สมดุลอยู่ตลอด
เหยี่ยว นกนักล่าบินร่อนวนอยู่กลางท้องฟ้ามองหาเหยื่อย่างนกยางสักตัว หน้าที่ควบคุมปริมาณของนกที่เป็นเหยื่อให้มีไม่มากจนเกินไป รวมถึงงานคัดเลือกสายพันธุ์ สัตว์ที่แข็งแรงเท่านั้นที่มีโอกาสอยู่รอดในธรรมชาติ นี่คืองานของนักล่า
เรารู้กันมาตั้งแต่ชั้นเรียนประถมแล้วว่า สายใยอาหารของระบบนิเวศสำคัญต่อโลกนี้
หากสิ่งมีชีวิตใด หายไปจากห่วงโซ่อาหารสักชนิด ก็เปรียบเสมือนโซ่จักรยานที่ขาดไป แม้เพียงข้อเดียว จักรยานนั้นก็ใช้การไม่ได้
แน่นอนว่า มันย่อมส่งผลต่อกัน ตามลำดับความสัมพันธ์ จนสะเทือนไปทั้งระบบ
ระบบ ที่เราหลงลืมไปว่า มีมนุษย์อยู่ในนั้นด้วย
ด้วยความเป็นชีวิตที่อาศัยอยู่ในโลกใบนี้ การดูนก สอนผมอย่างหนึ่งว่า การเรียนรู้ชีวิตอื่นเป็นเรื่องจำเป็น
forest72
[ 06 เม.ย. 2553 10:07:33 ]