กระทู้-14073 : นำบทความเรื่อง นกช่วงฤดูสร้างรังวางไข่มาฝากกัน

Home » Board » นก

นำบทความเรื่อง นกช่วงฤดูสร้างรังวางไข่มาฝากกัน

“สร้างรังวางไข่”
อุเทน ภุมรินทร์

   ใกล้ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ลมร้อนยังโชยอ้าว แม้เวลาจะล่วงเลยเกือบห้าโมงเย็นแล้วก็ตาม ผมนั่งอยู่ใต้ต้นชมพูพันธุ์ทิพย์ ที่เหลือดอกสีชมพูประดับบนต้นไม่มาก เพราะร่วงหล่นลงมาเต็มพื้น และทางเดิน เมล็ดของต้นนี้ มีปีกบางสีขาวทั้งสองด้าน ลอยปลิวคว้างตามลมร้อนสู่ดิน

   ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ราวเดือนกุมภาพันธ์ หากเป็นคน เราคงนึกถึงดอกไม้หอมสด ชอคโกแลตเข้มหวาน ในเดือนวันแห่งความรัก ไม่ใช่เฉพาะคนเท่านั้น ช่วงนี้สัตว์ป่า อย่างเช่น นก ก็อยู่ในช่วง ‘จับคู่’ เช่นกัน

   นกกินปลีอกเหลืองคู่หนึ่ง ที่ตัวเมียขมักเขม่นขนวัสดุ อย่างเศษหญ้า มาสร้างรังรูปบวบแขวนไว้กับสายสลึงยึดเสารับคลื่นวิทยุ ในขณะที่สามีของเธอ เกาะอยู่ใกล้ ร้อง “วี้ด…วี้ด” คล้ายคอยระวังภัยให้คู่ชีวิต

   ดวงอาทิตย์เลิกงานไปแล้ว พระจันทร์เริ่มส่องสว่างรับช่วงต่อ เสียงร้องแหลมดัง “ชีเออ ชีเออ ชีเออ” แว่วมาในยามนี้ เจ้าของเสียง คือ นกเค้าจุด นกนักล่ายามรัตติกาลพวกเดียวกับนกฮูกตาโต ช่วงเดือนนี้ หากเฝ้าดู เรามักได้เห็น ‘ฉากรัก’ ของทั้งคู่ หลังจากผสมพันธุ์ เจ้าตัวผู้ จะบินหายลับไปในความมืดสลัวของแนวพุ่มไม้ เพียงครู่เดียว เขาก็บินกลับมาพร้อมคาบอาหารมาด้วย อาหารที่คาบมา เป็นแมลงจำพวกจักจั่น แล้วเขาก็ป้อนให้เธอกิน

   ช่วงเดือนกุมภานี้ นกหลายชนิด จับคู่ผสมพันธุ์ พฤติกรรมน่ามอง อย่าง การป้อนอาหารให้กัน  ซึ่งเป็นการเกี้ยวพาราสีหรือ ‘จีบ’ กันก็แสดงในช่วงนี้เช่นกัน

   แล้วที่อยากบอก ก็คือ นกทั้งสองตัวที่พูดถึง พบได้ไม่ยาก แม้ในเมือง อย่างกรุงเทพฯ ก็ตาม
   อ้าว! แล้วไหนบอกว่า นกเป็นสัตว์ป่า ใช่ครับ, สัตว์ป่า ถ้าอยากพบเจอไม่ได้หมายความว่า เราต้องพาร่างกายขึ้นเขาลงห้วยไปหาสักหน่อย ก็สัตว์ป่า ไม่ได้จำกัดไว้ว่า ต้องเป็น ช้าง กระทิง หรือเสือ ฯลฯ เท่านั้น สัตว์ป่า ไม่จำเป็นต้องอาศัยอยู่ในป่าเสมอไป สัตว์ที่อยู่อาศัยอยู่ได้เอง ดำรงชีวิตตามวิถีได้ในธรรมชาติ ดังนั้น นกกระจอกบ้าน นกพิราบ รอบๆ  บ้าน ก็ใช่สัตว์ป่าทั้งนั้น

   ยังมีนกอีกหลายชนิด ที่อยากให้คุณรู้จักกัน เช่น นกอีแพรดแถบอกดำ นกกางเขนบ้าน นกขมิ้นน้อยธรรมดา นกตีทอง เป็นต้น นกเหล่านี้ พบได้ไม่ยากเลย ลองมองหารอบบ้านคุณดูสิครับ

   เดือนมีนาคม หนุ่มสาว  (นก)  หลายคู่เริ่มลงมือสร้างเรือนหอ เป็นรวงรังไว้เลี้ยงลูกน้อย นกขมิ้นน้อยธรรมดา สีลำตัวเหลืองเป็นสีหลักสมชื่อ บินเสาะหาใยแมงมุมมาเป็นวัสดุทำรังด้วย โดยสร้างรัง รูปร่างคล้ายถ้วยอยู่บนต้นไม้ ใยแมงมุม ช่วยเสริมความแข็งแรงให้กับรัง

   นกกางเขนบ้าน นกลำตัวสีขาวตัดดำเป็นสีหลัก กระดกหางขึ้นลง มักกระโดดหากินตามพื้นดิน คอยหากินหนอน และแมลง นกกางเขนบ้าน ทำรังไม่ค่อยเลือกหรอก อย่างกล่องรับไปรษณีย์หน้าบ้าน ก็อาจถูกยึดเป็นที่ฟูมฟักลูกน้อยได้ แม้แต่ศาลพระภูมิ เจ้าที่อารักษ์เจ้าของศาลอาจต้องย้ายที่อยู่ชั่วคราว ถ้าถูกเจ้านกกางเขน ยึดทำรัง

นกตีทอง นกลำตัวสีเขียว มีหน้าผากสีแดง  และรอบคอสีเหลือง กินลูกไม้เป็นอาหารหลัก เป็นพวกเดียวกับนกโพระดกที่มีปากขนาดใหญ่ และหนา ใช้ในการเจาะกิ่งไม้ที่แห้งตายคาต้น เป็นโพรงขนาดพอตัว ไว้เป็นรังเลี้ยงลูก

ส่วนนกอีแพรดแถบอกดำ  ซึ่งผมชอบเรียกมันว่า “นกหางพัด” เพราะหางของนกนี้ คลี่บานได้คล้ายกับพัดจีน เขา และเธอ ห่วงรัง และลูกน้อยอย่างมาก หากมีสัตว์หรือคนเผลอเดินผ่านเข้าไปใกล้ จะบินมาโฉบตี พร้อมร้องเสียงดังทันที

สิ่งที่เหมือนกัน สำหรับรังของนกทุกตัว คือ การเลือกพื้นที่ สร้างอย่างกลมกลืนกับสภาพแวดล้อม พูดได้ว่า หากไม่สังเกต ไม่ง่ายหรอกที่จะหารังของเธอเจอ

อย่างรังนกอีแพรดแถบอกดำรังหนึ่ง ที่สวนรถไฟ  (สวนสาธารณะแห่งหนึ่ง ในกรุงเทพฯ)  สร้างรังไว้ปลายกิ่งของต้นมะขามเทศ ที่ยื่นกิ่งล้ำไปในบึงน้ำ เพื่อทำทุกหนทางให้ลูกน้อยมีชีวิตรอด การสร้างรังยื่นห้อยอยู่กลางน้ำ ช่วยป้องกันสัตว์ผู้ล่าที่ไม่สามารถมาทางน้ำได้ทางหนึ่ง ส่วนรังที่สร้างอยู่ปลายกิ่งนั้น หากมีผู้ล่า อย่างเช่น งูเข้ามา กิ่งไม้ย่อมสั่นไหว ส่งผลให้พ่อแม่ รู้ตัวก่อนที่สัตว์ผู้ล่าจะถึงรัง

หลังจากแม่นกวางไข่ ฟูมฟักดูแลราว 2-3 สัปดาห์  (ช่วงเวลาฟักไข่ก่อนลูกออกมาเป็นตัวต่างกันไปในนกแต่ละชนิด)  ไข่เริ่มมีการเคลื่อนไหว เปลือกไข่ด้านรีแหลม เริ่มมีรอยร้าว เศษเปลือกไข่แยกออก ร่วงออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ลูกน้อยใช้ปาก  ซึ่งที่ปลายจงอยปาก มีฟันเจาะไข่ เจาะหาทางออก เมื่อออกจากไข่แล้ว ต้องรออีกหลายชั่วโมงทีเดียว กว่าขนจะแห้ง ลูกอ่อนของนก มีสองประเภท คือ ลูกอ่อนเดินได้ คือออกจากไข่ ไม่นานก็สามารถเดินตามพ่อแม่ได้เลย ตัวอย่าง เช่น นกไก่ฟ้า ไก่ป่า เพราะ นกพวกนี้ วางไข่บนพื้นดิน จึงไม่สามารถนอนอยู่บนพื้นดินได้ เพราะ นั่นหมายถึง โอกาสที่จะรอดจากผู้ล่ามีน้อยเต็มที ส่วนอย่าง นกอีแพรดแถบอกดำ นกกางเขนบ้าน ฯลฯ ลูกอ่อน เป็นลูกอ่อนที่แรกเกิด ยังไม่มีขนคลุมตัว ตายังไม่ลืม จึงยังต้องอยู่ในรังก่อน
ประมาณสองสัปดาห์ หลังจากพ่อแม่คอยหาอาหารมาป้อน ตอนนี้ ลูกนกทั้งสองตัวในรัง โตจนรังที่นอนอยู่ตอนเล็ก ดูแคบเสียแล้ว ใกล้ถึงเวลาที่พ่อแม่ต้องพาลูกออกจากรัง พร้อมสอนบทเรียนต่างๆ  ให้ลูกสามารถใช้ชีวิตในธรรมชาติได้รอด

ต้นเดือนเมษายน นกปรอดสวน 4 ตัว เกาะอยู่บนต้นชมพูพันธุ์ทิพย์ด้วยกัน มีตัวหนึ่งในจำนวนนั้น คาบลูกไม้ของต้นอะไรสักอย่างไว้ในปาก ร้องส่งเสียงพร้อมกับนกอีกตัวข้างๆ  ส่วนนกสองตัวตรงกลาง ตัวเล็กกว่า คงเป็นลูกของทั้งคู่ที่พึ่งออกจากรัง พ่อ และแม่ จะเกาะห่างออกไป แล้วร้องเรียกลูกให้บินมาหา โดยใช้อาหารที่คาบไว้ เป็นสิ่งล่อ เมื่อเจ้าสองตัวน้อย บินมาใกล้ ก็บินออกห่าง เปลี่ยนไปเกาะยังต้นไม้อีกต้น พร้อมร้องเรียกให้ลูกไปหาอีก

ช่วงนี้ พ่อแม่นก สอนให้ลูกหัดบิน การมีชีวิตรอดของลูกสัตว์ ได้เรียนรู้ ถ่ายทอดจากพ่อแม่ เพราะเมื่อถึงเวลา ลูกนกทุกตัวก็ต้องบิน หากิน ทำหน้าที่ในธรรมชาติ ด้วยลมแรงปีกของตัวเอง แต่ไม่ใช่นกทุกตัวหรอก ที่มีโอกาสได้ใช้ปีกของตน

ตัดฉาก หมุนกล้องตามมาที่ตลาดนัดจตุจักร พลาซ่า ตลาดนัดวันเสาร์อาทิตย์ ที่ผู้คนพากันเลือกชมสัตว์เลี้ยง ที่นี่ มีสัตว์ทุกอย่างให้เลือกซื้อหา เริ่มตั้งแต่พื้นๆ  อย่างหมา แมว ไล่ไปจนกิ้งก่าทะเลทรายคนละซีกโลก ก็ยังมีขาย แล้วที่มีวางขายเป็นกลุ่มกรง เรียงรายใกล้ทางเดิน คือ นกในธรรมชาติ ช่วงเดือนนี้ ลูกนกถูกล้วงออกจากรัง เท่าที่ผมเดินดู และนับคร่าวๆ  ยอดจำนวนลูกนกเค้าจุดที่วางขาย ไม่ต่ำกว่ายี่สิบตัว ยังไม่นับรวมลูกนกชนิดอื่นๆ  ที่มักถูกนำมาขาย เป็นลูกป้อน โดยคนขายโน้มน้าวให้ลูกค้าเชื่อว่า “หากซื้อไปเลี้ยงตั้งแต่ตอนเล็กจะฝึกให้เชื่องได้ง่าย”

นี่คือ ภาพส่วนหนึ่งของการลักลอบค้าชีวิตนกในธรรมชาติ นกหลายชนิดถูกจับออกจากป่า ธุรกิจนี้ ยังดำเนินบั่นทอนจำนวนนกในธรรมชาติ ที่บางชนิดอาจมีเหลืออยู่ไม่มาก อย่างไม่มีทีท่าว่าจะเลิกรา ในขณะที่ผู้ซื้อ อาจไม่รู้เลยว่า การซื้อนกที่หน้าตาแปลกๆ  เสียงร้องเพราะๆ  สักตัวหนึ่งไปเลี้ยง นกตัวนั้นอาจเป็นนกตัวสุดท้ายของชนิด ในประเทศไทยก็ได้

ไม่ได้พูดเกินความจริง เมื่อการลักลอบมาขาย ไม่ใช่การควบคุมประชากรกันเอง ระหว่างนกกับสัตว์ผู้ล่า ที่มีสมดุลอยู่แล้วในระบบนิเวศ เมื่อมนุษย์ไปทำให้มันน้อยกว่า ฝันร้ายที่กำลังจะเกิดขึ้นก็คงอยู่ไม่ไกล ลองจำลองฝันร้ายนั่นดูก็ได้ หลับตา แล้วนึกถึงภาพนี้สิครับ

ภาพที่โลกนี้ ไม่มีนกอาศัยอยู่ในธรรมชาติเลย
forest72 approve [ 11 เม.ย. 2553 17:48:07 ]
wildlifer72_30@hotmail.com
bird__reply_158659.gif
ความคิดเห็นที่: 1
Thanks ครับ!
จอม approve [ 12 เม.ย. 2553 01:15:44 ]
ความคิดเห็นที่: 2
ขอบคุณสำหรับบทความดีๆ ครับ
...แก้ไขเมื่อ 12 เม.ย. 2553 14:00:43
noppadol approve [ 12 เม.ย. 2553 10:09:13 ]
noparnon@yahoo.co.th
ความคิดเห็นที่: 3
ขอบคุณครับสำหรับบทความดีๆ  ช่วงนี้ผมก็กำลังสอนให้ลูกๆ  ดูนกอยู่ เพราะสังเกตว่าช่วงนี้ผลไม้รอบๆ  บ้านหลายอย่างสุก และเห็นนกแปลกหน้าหลายๆ  ชนิดมาให้เห็นนอกเหนือจากนกแอ่น นกเขา นกกางเขนบ้าน ตอนนี้ผมเห็นนกกินปลีอกเหลืองอย่างน้อย 1 คู่  และนกกินปลีอกน้ำเงินที่พบ 1 ตัว  และได้ยิน แต่เสียงยังหาตัวไม่เจอคือเค้าจุด อยากทราบว่าลักษณะการหาที่ทำรังของพวกนกกินปลีนี่จะไปทำรังอยู่บริเวณไหรครับ จะได้ไปดักดูได้ถูกที่ครับ เดี๋ยวนี้พอกลับถึงบ้านตอนเย็น ถ้ายังไม่มืดเจ้าลูกชายคนเล็กก็ชอบชวนไปดูนก ตอนนี้มีสมาชิกนกกระจอกบ้านมาทำรังอยู่ใต้ชายคาบ้าน เจ้าลูกชายก็ชอบไปนั่งเฝ้าดู ผมเลยต้องหาข้อมูลไว้เผื่อเค้าถามครับ เพราะเจ้าตัวเล็กนี่ขี้สงสัย ถ้าตอบไม่ได้ก็จะย้อนว่า"ทำไมพ่อไม่รู้" ผมเองก็ชอบครับที่จะให้เด็กรักธรรมชาติ เคยถามเค้าว่า
"หนูจะเอาลูกมันมาเลี้ยงมั้ย ถ้าเจอรังมัน" เค้าตอบว่า "ไม่เอาหรอกพ่อสงสารลูกนกไม่ได้อยู่กับพ่อกับแม่  ถ้าไนท์ไม่ได้อยู่กับพ่อกับแม่ไนท์คงร้องไห้" เด็ก 5 ขวบตอบครับ ทำเอาผมยิ้มเลยที่เค้ามีความคิดได้ขนาดนี้ ส่วนหนึ่งมาจากเว็บสยามเอนซิสนี้ด้วยครับที่ทำให้เด็กๆ  รู้จักธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และรัก
ตะขาบยักษ์ approve [ 12 เม.ย. 2553 11:21:12 ]
ความคิดเห็นที่: 4
ขอบคุณทุกความคิดเห็นครับ
ยินดีมากครับ ที่สอนลูกน้อยให้ดูด้วย คุณตะขาบยักษ์ รังของนกกินปลีอกเหลืองหาไม่ยากหรอกครับ รังของพวกเขา สร้างโดยนำเศษหญ้ากับเศษวัสดุอื่นๆ  ที่หาได้บริเวณนั้น บางทีอาจเป็นเชือกฟาง เศษกระดาษ เป็นต้น มาแขวนไว้กับราวหรือกับต้นไม้ โดยที่เขาเลือกทำรังนั้น ไม่ได้กลัวคนสักเท่าไหร่ เคยพบเขาแขวนรังของเขาไว้กับราวตากผ้า ที่มีคนตากอยู่ทุกวัน เคยเห็นเขาทำรังกับต้นโมกดอกหอม ที่อยู่ในกระถาง ที่ตั้งตรงช่องทางเดิน ที่คนเดินผ่านทั้งวัน เท่าที่สังเกต เขาจะกลับมาทำรังที่เดิม ต้นไม้ต้นเดิม หรือบริเวณเดิม เกือบทุกปี
วิธีการที่จะพบรัง เขาได้ คือ ลองสังเกต หากได้ยินเสียงร้องของเขา  แต่บริเวณนั้น ไม่ใช่ บริเวณที่หาอาหาร ไม่ใช่ที่ดอกไม้กำลังออกดอก ลองหาดูมัก พบตัวผู้เกาะ อยู่ไม่ไกล บริเวณนั้น จะพบรังแขวนคล้ายรูปบวบใกล้ๆ  
ลองหาดูน่ะครับ ขอให้พบ ที่นี้ น้องไนท์จะไม่อยากไปไหนเลยแหละครับ

ปล. ที่คุณตะขาบยักษ์ บอกว่า พบกินปลีอกเหลือง กับกินปลีน้ำเงินนั้น ผมงงครับ
เพราะกินปลีน้ำเงินไม่มีครับ คาดว่า คงเป็นนกกินปลีอกเหลืองเพศผู้นะครับ เพราะสามารถแยกกันได้ คือนกกินปลีอกเหลืองตัวผู้ จะมีขนคล้ายเกล็ดบริเวณคอ และหน้าอก มองดูคล้ายปื้นสีดำ เวลาสะท้อนแสงแดด ออกสีน้ำเงินเหลือบน่ะครับ
forest72 approve [ 12 เม.ย. 2553 14:12:19 ]
ความคิดเห็นที่: 5
เอาภาพ รังนกอีแพรดแถบอกดำ ที่แม่กำลังฟูมฟักลูกน้อยมาฝากครับ ภาพถ่าย โดยคุณอัครวัช สมไกรสีห์
forest72 approve [ 12 เม.ย. 2553 14:27:10 ]
bird__reply_158693.jpg
ความคิดเห็นที่: 6
นี้ครับ
forest72 approve [ 12 เม.ย. 2553 14:28:17 ]
bird__reply_158694.jpg
ความคิดเห็นที่: 7
ต่อเนื่องเลยครับ ลูกน้อยออกจากไข่แล้ว แม่ และพ่อ ต้องทำงานหนัก หาอาหารมาเลี้ยงดู
forest72 approve [ 12 เม.ย. 2553 14:33:19 ]
ความคิดเห็นที่: 8
: forest72
ขอบคุณทุกความคิดเห็นครับ
ยินดีมากครับ ที่สอนลูกน้อยให้ดูด้วย คุณตะขาบยักษ์ รังของนกกินปลีอกเหลืองหาไม่ยากหรอกครับ รังของพวกเขา สร้างโดยนำเศษหญ้ากับเศษวัสดุอื่นๆ   ที่หาได้บริเวณนั้น บางทีอาจเป็นเชือกฟาง เศษกระดาษ เป็นต้น มาแขวนไว้กับราวหรือกับต้นไม้ โดยที่เขาเลือกทำรังนั้น ไม่ได้กลัวคนสักเท่าไหร่ เคยพบเขาแขวนรังของเขาไว้กับราวตากผ้า ที่มีคนตากอยู่ทุกวัน เคยเห็นเขาทำรังกับต้นโมกดอกหอม ที่อยู่ในกระถาง ที่ตั้งตรงช่องทางเดิน ที่คนเดินผ่านทั้งวัน เท่าที่สังเกต เขาจะกลับมาทำรังที่เดิม ต้นไม้ต้นเดิม หรือบริเวณเดิม เกือบทุกปี
วิธีการที่จะพบรัง เขาได้ คือ ลองสังเกต หากได้ยินเสียงร้องของเขา   แต่บริเวณนั้น ไม่ใช่ บริเวณที่หาอาหาร ไม่ใช่ที่ดอกไม้กำลังออกดอก ลองหาดูมัก พบตัวผู้เกาะ อยู่ไม่ไกล บริเวณนั้น จะพบรังแขวนคล้ายรูปบวบใกล้ๆ   
ลองหาดูน่ะครับ ขอให้พบ ที่นี้ น้องไนท์จะไม่อยากไปไหนเลยแหละครับ

ปล. ที่คุณตะขาบยักษ์ บอกว่า พบกินปลีอกเหลือง กับกินปลีน้ำเงินนั้น ผมงงครับ
เพราะกินปลีน้ำเงินไม่มีครับ คาดว่า คงเป็นนกกินปลีอกเหลืองเพศผู้นะครับ เพราะสามารถแยกกันได้ คือนกกินปลีอกเหลืองตัวผู้ จะมีขนคล้ายเกล็ดบริเวณคอ  และหน้าอก มองดูคล้ายปื้นสีดำ เวลาสะท้อนแสงแดด ออกสีน้ำเงินเหลือบน่ะครับ


ขอบคุณครับ ผมผิดเองน่าจะใช่อย่างที่คุณ forest72 บอกครับที่เคยเห็นจนเกือบจับตัวได้(แฟนจะเอามือจับ) ผมเจอเค้าเกาะหลบอยู่ที่กิ่งมะละกอก็เลยจะถ่ายรูป แฟนหวังดีจะจับให้เค้าเลยตกใจบินหนีไปเลย ตอนนั้นยังไม่รู้ว่าเป็นนกกินปลี เห็น แต่ว่าตัวเล็ก และจงอยปากเรียวยาวเหมือนนกที่กินน้ำหวานจากดอกไม้ ก็เลยไปเสิร์ชหาในกูเกิ้ล เจอรูปนกกินปลีอกเหลือง แต่สีอกไม่เหมือนที่เห็นตัวที่ผมจะถ่ายรูป อกเป็นสีเข้มๆ  แล้วไปเจอรูปของนกกินปลีดำม่วง( แต่ผมไปเขียนเป็นกินปลีอกน้ำเงิน...ขออภัย) ก็เลยคิดว่าเป็นตัวเดียวกัน เดี๋ยวจะไปหาดักถ่ายรูปใหม่ครับเอามาดูเทียบครับ
แสดงว่านกกินปลีอกเหลือง ตัวเมียอกจะเป็นสีเหลือง ส่วนตัวผู้อกจะเป็นสีเข้มๆ เหลือบน้ำเงินสิครับ
ตะขาบยักษ์ approve [ 12 เม.ย. 2553 15:46:28 ]
ความคิดเห็นที่: 9
^
^
^
ลองไปเสิร์ชหารูปนกกินปลีอกเหลืองตัวผู้แล้วครับ ขนส่วนอกก็ยังเป็นสีเหลืองอยู่ แต่มีส่วนคอเป็นปื้นสีเข้มๆ  ไม่เหมือนเจ้าตัวที่ผมพยายามถ่ายรูปครับเจ้าตัวนั้นไม่มีขนส่วนสีเหลืองเลย ดูแล้วคล้ายเจ้านกกินปลีดำม่วงมากกว่าครับ เดี๋ยวจะพยายามถ่ายรูปมาให้ดูครับ
ตะขาบยักษ์ approve [ 12 เม.ย. 2553 15:50:49 ]
bird__reply_158697.jpg
ความคิดเห็นที่: 10
หารูปจากในกูเกิ้ลครับ จากซ้ายนกกินปลีอกเหลือง(ตัวผู้), นกกินปลีอกเหลือง(ตัวเมีย), นกกินปลีดำม่วง(Purple Sunbird)ครับ ไม่รู้ผมเข้าใจถูกมั้ย


ข้อมูลรูปภาพจาก
http://www.siamphotography.com/_board/view.php?tid=108
http://www.photographythai.com/ptforum/index.php?showtopic=720&mode=threaded&pid=16629
ตะขาบยักษ์ approve [ 12 เม.ย. 2553 15:59:03 ]
bird__reply_158702.jpg
ความคิดเห็นที่: 11
ตามรูปภาพข้างบน ถูกต้องแล้วครับ  แต่ต้องถามว่า บ้านของคุณตะขาบยักษ์ นั้นอยู่ที่ไหน หากเกิดอยู่ในเมืองหรือกรุงเทพฯ  คงไม่ใช่นกกินปลีดำม่วงนะครับ อาจเป็นนกกินปลี อีกชนิดที่สามารถพบได้ในเมือง คือ นกกินปลีคอสีน้ำตาล ซึ่ง ตัวผู้สีสันเยอะใช่ย่อย ตามภาพครับ

อ้างอิงข้อมูลภาพ จาก www.siamphotography.com/_album/p...lide%3D5
forest72 approve [ 12 เม.ย. 2553 17:58:22 ]
ความคิดเห็นที่: 12
ในเรือนกล้วยไม้ผมมีนกกระติ๊ดอยู่คู่นึง จะออกมาเล่นน้ำทุกครั้งที่รดน้ำกล้วยไม้แบบไม่กลัวคนเลยบางครั้งแทบเกาะหัวเลยที่เดียว
Fisher approve [ 13 เม.ย. 2553 15:17:37 ]
ความคิดเห็นที่: 13
: forest72
ตามรูปภาพข้างบน ถูกต้องแล้วครับ   แต่ต้องถามว่า บ้านของคุณตะขาบยักษ์ นั้นอยู่ที่ไหน หากเกิดอยู่ในเมืองหรือกรุงเทพฯ   คงไม่ใช่นกกินปลีดำม่วงนะครับ อาจเป็นนกกินปลี อีกชนิดที่สามารถพบได้ในเมือง คือ นกกินปลีคอสีน้ำตาล ซึ่ง  ตัวผู้สีสันเยอะใช่ย่อย ตามภาพครับ

อ้างอิงข้อมูลภาพ จาก www.siamphotography.com/_album/p...lide%3D5


บ้านผมอยู่ จ.หนองบัวลำภูครับ
ตะขาบยักษ์ approve [ 13 เม.ย. 2553 20:48:42 ]

Name : *
E-mail :
Bold Italicized Underline Strikethrough Horizontal Rule Font Size Font Face Insert Image Insert Hyperlink Insert Email Insert FTP Link Superscript Subscript Insert List
Message :
  Security Code
CAPTCHA image
Verify Security Code.
<-- เฉพาะอักษร A-Z เท่านั้น
   
www.siamensis.org - Thailand Fish & Nature Explorer
An independent non-profit group
Established 2001
 All Rights Reserved 2001-2010 ©siamensis.org