กระทู้-14103 : นำบทความ เรื่องสัตว์ป่าที่เสียพฤติกรรม มาฝากกัน

Home » Board » ท่องเที่ยว

นำบทความ เรื่องสัตว์ป่าที่เสียพฤติกรรม มาฝากกัน

สัตว์  (ไม่)  ป่า
                           อุเทน ภุมรินทร์

   ถ้าให้คุณนึกถึงสัตว์ป่าในธรรมชาติสักตัว ภาพบรรยากาศมันจะเป็นเช่นไร
คุณอาจนึกถึงฝูงกวางป่า ที่นำฝูงโดยกวางเพศผู้ร่างกายกำยำ เขายาวทั้งคู่โค้งงาม ยืนเชิดหน้า มองไปรอบๆ  คุมฝูงกวางสาว กับลูกน้อย ออกเล็มหญ้าในทุ่งกว้าง หรือเป็นฝูงลิงป่าสักฝูง ที่จ่าฝูงคือลิงตัวผู้แข็งแรง  และเป็นผู้นำทาง พาลิงสาว และบรรดาลูกๆ  ของเธอ และเขา มายังต้นไทรใหญ่กลางป่าดิบแล้ง ที่ยามนี้ ลูกไทร อาหารอันโอชะออกสะพรั่งอยู่เต็มต้น หรือ......... อีกหลายความคิดที่คุณจะนึกไปได้ แต่บางที ในความเป็นจริง ภาพสัตว์ป่าในวันเวลานี้ ก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้น

   ใครที่เคยขึ้นไปเที่ยวอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จ. นครราชสีมา คงเคยเห็นฝูงลิงป่าออกมานั่ง หรือเดินตามถนนกันบ้าง แล้วพอขึ้นไปกางเตนท์นอนบนลานกางเตนท์ที่ทำการอุทยานฯ หรือที่ผากล้วยไม้ คงจำได้ว่า มีกวางป่าตัวโตๆ  มาเดินป่วนเปี้ยนอยู่ใกล้ๆ  อาจมีบางความทรงจำร้ายๆ  ที่โดนสัตว์พวกนี้ ขโมยเอาอาหารที่เตรียมมา ไปกินก่อนคุณ

   ทั้งฝูงลิงกัง  และกวางป่า สัตว์พวกนี้ คือ สัตว์ป่า ที่ครั้งหนึ่งเคยหากินในป่า แน่นอนว่า อาหารของมันต้องแตกต่างจากคนเรา ไม่ใช่ เศษอาหาร อาหารกระป๋อง หรืออะไรก็ตาม ที่มันพร้อมรับทุกอย่างที่นักท่องเที่ยวหยิบยื่นให้  และฉวยเอา ทุกครั้งที่คุณเผลอ

   แล้วเหตุใด พวกมัน จึงเลือกที่จะเดินหาเศษอาหาร เข้าหาผู้คน ไม่ดำรงชีวิตไปอย่างที่สัตว์ป่าอย่างพวกมันควรจะเป็น

   มาดูกันที่ฝูงลิงกังที่เรามักพบมันยกฝูงกันมา อย่างน้อยก็หลักสิบตัวขึ้น กระจายทั่วรายทางขึ้นอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ทั้ง 2 ด้าน ไม่ว่า เราจะขับรถขึ้นทางปราจีนบุรี หรือทางปากช่อง ที่ฝูงลิงมารอกันอย่างนี้ ไม่ใช่รอเพื่อข้ามถนนไปยังป่าฝั่งตรงข้ามอย่างแน่นอน ที่พวกเขารอคือ เศษอาหารจากนักท่องเที่ยว ถึงแม้ว่า ทางอุทยานฯ จะมีป้ายประกาศเตือน “ห้ามนักท่องเที่ยวให้อาหารสัตว์ป่าโดยเด็ดขาด” แล้วก็ตาม

   ครั้งหนึ่ง ผมนั่งอยู่หลังรถกระบะที่ขออาศัยลงมาจากเที่ยวเขาใหญ่ รถตู้ที่บรรจุนักท่องเที่ยวมาเต็มคัน  ซึ่งตามหลังรถที่ผมอาศัยมา ชะลอรถ ข้างๆ  ถนน คือ ฝูงลิงกังฝูงหนึ่ง คนในรถลดกระจกลง เศษผลไม้จำนวนหนึ่ง ถูกโยนออกมา ฝูงลิงกรูกันเข้ามารับเศษอาหาร เสียดาย ที่ผมไม่มีกล้องถ่ายรูปในเวลานั้น เพราะ ภาพที่ปรากฎเบื้องหน้า ฉากหลังมันคือ ป้ายห้ามนักท่องเที่ยวให้อาหารสัตว์ป่า

   ด้วยไม่ต้องใช้พลังงานออกหาอาหารในธรรมชาติ  และได้อาหารกินอย่างแน่นอน ลิงกังก็เรียนรู้ ว่าต้องทำอย่างไร พฤติกรรมสัตว์ป่าก็เปลี่ยนไป พวกมันไม่หาอาหารในธรรมชาติกินเองอีกแล้ว

   “ห้ามลิงทุกตัว รับอาหารจากนักท่องเที่ยว ญาติพี่น้องเสียชีวิตกันมามากแล้ว ประกาศ จากเจ้าพ่อเขาใหญ่” ป้ายเตือนนักท่องเที่ยวทำนองนี้ ก็มีปรากฏให้เห็นด้วย แต่ดูเหมือนว่า นักท่องเที่ยวบางคนอาจขับรถเร็วเกินไป เร็วจนไม่ทันอ่านป้ายห้ามเหล่านี้

   ในบางครั้ง ขับเร็วจนชะลอรถไม่ทัน เมื่อมีสัตว์ป่าอยู่บนถนนข้างหน้า บ่อยครั้ง ที่โศกนาฎกรรมเกิดขึ้น เรามักพบร่างไร้วิญญาณของสัตว์ป่าอยู่บริเวณถนน รวมทั้งซากลิงกังบางตัวที่ก่อนหน้านี้ มันคงมารออาหาร

   เหตุที่ทางอุทยานฯ ต้องห้าม เพราะการให้อาหารสัตว์ป่าเป็นการเปลี่ยนพฤติกรรมของสัตว์ป่า ลองนึกตามนะครับ อย่างฝูงลิงกัง ที่กินพืช ผลไม้ป่าเป็นอาหารหลัก เมื่อกินเสร็จ ลิงเคลื่อนย้ายหากิน แล้วไปถ่ายมูลอีกที่หนึ่ง เมล็ดไม้ที่มันกินเข้าไป ก็จะไปงอกเป็นต้นกล้ายังที่แห่งนั้น ถ้าบริเวณนั้น มีปัจจัยอย่างความชื้น แสงแดด เพียงพอต่อการเติบโตของต้นกล้า

   เมื่อลิงกังทั้งฝูง เปลี่ยนพฤติกรรมดั้งเดิม แล้วใครจะทำหน้าที่กระจายพันธุ์พืชล่ะครับ อ้าว! ก็ไม่เห็นเป็นไร ให้สัตว์กินลูกไม้ ชนิดอื่นทำหน้าที่แทนก็ได้นี่ เราต้องนึกภาพก่อนว่า พืชในป่ามีอยู่หลากหลายสายพันธุ์มาก พืชบางชนิด อาจจะจำกัดเฉพาะลิงเท่านั้นที่กิน นกเงือกอาจไม่กินผลไม้ชนิดนี้ก็ได้ คือ สัตว์ และพืชอาหารในป่ามีความจำเพาะกัน เช่น ต้นเพกา ที่ดอกจะบานตรงกับช่วงเวลาที่ค้างคาวเล็บกุดออกหากินพอดี ดังนั้น จึงจำเพาะว่า ต้องเป็นค้างคาวชนิดนี้เท่านั้น ที่เป็นผู้ผสมเกสรให้

   แล้วเมื่อฝูงลิงกังเข้ากินลูกไทร พวกมันเหมือนจะกินทิ้งกินขว้าง ทั้งขย่มเขย่าลูกไทรหล่นลงพื้นด้วย กรณีนี้ นกหรือสัตว์ที่ไม่สามารถขึ้นมากินลูกไทรบนต้นได้ อย่างเช่น ไก่ป่า ก็ได้กินลูกไทรด้วย นี่คือ ความสัมพันธ์ พึ่งพิงกัน ถ้าไม่มีลิงกัง สัตว์ที่ขึ้นไปกินไม่ได้ จะทำอย่างไร

   ส่วนกวางป่าที่เดินไปมาตามลานกางเตนท์  และเข้าหาคน อาหารของกวางป่าไม่ใช่หญ้าอย่างเดียวเท่านั้น ยังมีพืชจำพวกไม้พุ่ม  และลูกไม้ป่าหลายชนิด เช่น ลูกมะกอกหนัง ลูกกระบก ลูกตะคร้อ เป็นต้น หากใครเคยเดินป่า คงเคยพบกองเมล็ดผลไม้ ที่ถูกกินเนื้อไปแล้ว อยู่ตามโคนไม้ หรือพุ่มไม้ในป่า คือกวางป่าจะกินลูกไม้เหล่านี้จากใต้ต้นที่ออกผล แล้วมาหาที่ปลอดภัย จากสัตว์ผู้ล่า นอนเคี้ยวเอื้องกินเนื้อผล แล้วก็สำรอกเมล็ดออกมา เมื่อมีปัจจัยต่อการงอกที่เหมาะสม เมล็ดไม้เหล่านี้ จะงอกเป็นต้นกล้า แล้วเติบโตเป็นไม้ใหญ่ต่อไป

   เช่นกัน ถ้ากวางป่ามาเดินคุ้ยขยะ รออาหารจากนักท่องเที่ยวกันทุกตัว ใครจะทำหน้าที่กระจายพันธุ์ไม้เหล่านั้น

   ด้วยเมื่อเข้าใกล้คน นอกจากมีอาหารให้กินแล้ว ยังเป็นการหลบหลีกสัตว์ผู้ล่า อย่างหมาใน เพราะหมาในคงไม่เข้ามาในที่มีคนอยู่ เมื่อเป็นเช่นนี้ ห่วงโซ่อาหารในธรรมชาติที่ถ่ายทอดพลังงาน ด้วยการกินต่อกันเป็นทอดๆ  ของระบบนิเวศก็ขาดช่วง การคัดเลือกสายพันธุ์สัตว์ที่เป็นเหยื่อ อย่างกวางป่า  ซึ่งสัตว์ที่อ่อนแอ ต้องถูกหมาในล่า คัดออก จากธรรมชาติ ไม่ให้ยีนด้อยเหล่านี้ส่งต่อไปยังรุ่นลูกของกวางป่าได้ ก็คงไม่ได้ทำ

   ต่อไป เราคงมีแต่กวางป่า อ่อนแอ ขนหลุดร่วง ที่หาอาหารกินเองไม่เป็นแล้ว เต็มอุทยานแห่งชาติไปหมด แล้วป่าจะเป็นป่าต่อไป ได้อย่างไร

   เพียงแค่ความเอ็นดู เมตตาต่อสัตว์ป่า การหยิบยื่นอาหารให้มัน จากบุญที่เราคิดว่าจะได้ บาปเหมือนจะส่งผลมาก่อน บาปที่ตรงหาสัตว์ป่าเป็นอันดับแรก หลายปีที่ผ่านมา เริ่มมีกวางป่าตาย อย่างไร้สาเหตุ เมื่อผ่าซากชันสูตรหาสาเหตุดู จึงพบว่า ข้างในกระเพาะของมันอัดแน่นไปด้วยถุงพลาสติก ยังมีกวางป่าอีกตัวที่กีบตีน ไปเหยียบกระป๋องปลากระป๋อง ที่นักท่องเที่ยวไม่ทิ้งในถังขยะ แล้วมันคงไปคุ้ยเลียกินเศษอาหารข้างใน ใช้ตีนเขี่ยจนเข้าไปติดอยู่ในนั้น นานวันเข้า ขอบปากกระป๋องก็ค่อยๆ  บาดตีนมันจนเป็นแผลลึก หากไม่มีคนเห็น แล้วแจ้งให้สัตวแพทย์สัตว์ป่ารักษา ไม่นาน ข้อตีนของมันคงขาด แล้วขาข้างนั้นก็เป็นแผลเรื้อรัง สุดท้าย ม่านชะตาชีวิตของกวางโชคร้ายคงต้องปิดฉากลง

   ผลกระทบอาจมีมากกว่าที่เราคิด อย่างเช่น กรณีหมีสีน้ำตาล  (Brown Bear)  ในอเมริกา  ซึ่งประชากรหมีส่วนหนึ่งอาศัยอยู่ในอุทยานแห่งชาติเยลโล่ห์สโตน  (Yellow stone National park)  ด้วยอยากให้นักท่องเที่ยวได้ชมสัตว์ป่า ทางอุทยานฯ ถึงกับสร้างอัฒจันทร์สำหรับนักท่องเที่ยวไว้ให้อาหารหมี เพื่อชมหมีที่มากินอาหาร วันเวลาผ่านไป เริ่มมีนักท่องเที่ยวที่ไปพักแรมในป่าถูกหมีรื้อทำลายเตนท์ เพื่อขโมยอาหาร ระหว่างเดินป่า โดนหมีเข้ามาทำร้าย จนในปัจจุปัน ที่นั่น ต้องมีกรงขนาดใหญ่ เพื่อให้นักท่องเที่ยวกางเตนท์แคมปิ้งอยู่ในนั้น เพื่อความปลอดภัยจากหมี เมื่อหมีเรียนรู้ ว่าเมื่อพบคน ย่อมมีอาหารให้กิน มันจึงเลือกที่จะเข้าหาคน  และทำทุกวิถีทางให้ได้อาหารมา

   ไม่ใช่นิทาน เรื่องแบบนี้ เกิดขึ้นที่เมืองไทยแล้วเช่นกัน เคยมีเตนท์นักท่องเที่ยวถูกรื้อกระจัดกระจาย โดยกวางป่าหรือลิงกัง ที่เข้าไปค้นหาอาหารในนั้น บ้านพักเจ้าหน้าที่อุทยานฯ เคยโดนลิงกังบุกครัวในบ้าน ไม่ใช่แต่เฉพาะอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อีกหลายที่ อย่างเช่น อุทยานแห่งชาติภูกระดึง จ. เลย ก็มีสถานการณ์ไม่ต่างกัน

   ที่ใด มีสัตว์ป่า มีนักท่องเที่ยวที่เอ็นดู เมตตาสัตว์ ด้วยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หนทางข้างหน้า ของสัตว์ป่าอื่นๆ  ก็คงไม่ต่างจากกวางป่าหรือลิงกังที่เขาใหญ่

   แล้วสุดท้าย ภาพกวางป่าตัวผู้กำยำ พาเมียสาว และลูกน้อย ออกหากินในทุ่งกว้าง ภาพลิงกังฝูง เข้ากินลูกไทร ขย่มลูกไทรร่วงลงพื้น เผื่อแผ่สัตว์ตัวอื่นที่ขึ้นมากินบนต้นเองไม่ได้ ก็คงเหลืออยู่เพียงในนิทาน หรือในนิยาย

   ที่ต้องขึ้นต้นด้วยคำว่า กาลครั้งหนึ่ง...
forest72 approve [ 19 เม.ย. 2553 01:08:51 ]
wildlifer72_30@hotmail.com
ความคิดเห็นที่: 1
เขียนได้ดีขึ้นเรื่อยๆ เลยนะครับ ภาพชัดเจน.... :-))

.... นิดหนึ่ง..... ในการแปลศัพท์จากภาษาอังกฤษมาไทย ไม่นิยมใส่ ไม้เอก ไม้โท ฯ ลฯ  (คือ วรรณยุกต์) นะครับ...
เช่น อุทยานแห่งชาติเยลโล่ห์สโตน  (Yellow stone National park ของคุณforest72) ก็น่าจะเป็น "เยลโลว์สโตน" มากกว่ารึเปล่าครับ?.... ( และ ชื่อสถานที่อันเป็นชื่อเฉพาะตัว P นำหน้า Park ก็ควรเป็นตัวพิมพ์ใหญ่ทั้งชุด คือ Yellowstone National Park นะครับ.... อนึ่ง... Yellowstone พิมพ์คำเดียวติดกันทั้งชุดนะครับ...)

ถูก - ผิด ควรมิควรอย่างไรก็บอกไว้เท่าที่รู้นะครับ (อย่าเคืองกันเด้อ!)
...แก้ไขเมื่อ 19 เม.ย. 2553 03:59:08
จอม approve [ 19 เม.ย. 2553 03:58:17 ]
ความคิดเห็นที่: 2
บทความนี้เนื้อหาโดยรวมเยี่ยมครับ
ผมก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน ป้ายประกาศก็มีนะ
ทำยังให้อาหารสัตว์ป่าอีก  สุดท้าย เวรกรรมก็มาตกที่คนเราเอง
electron approve [ 19 เม.ย. 2553 05:34:55 ]
ความคิดเห็นที่: 3
ขอบคุณสำหรับบทความดีๆ ครับ
coneman approve [ 19 เม.ย. 2553 09:10:35 ]
ความคิดเห็นที่: 4
ขอบคุณครับสำหรับบทความดีๆ อีกบทความหนึ่ง อ่านแล้วเห็นภาพเลย
ตะขาบยักษ์ approve [ 19 เม.ย. 2553 09:44:49 ]
ความคิดเห็นที่: 5
ขอบคุณเช่นกันครับผม
noocloudy approve [ 19 เม.ย. 2553 10:37:54 ]
ความคิดเห็นที่: 6
ขอบคุณทุกความคิดเห็นครับ
คุณจอม ขอบคุณที่ช่วยท้วงที่ผิดพลาดครับ
เป็นไปได้ ใครสามารถนำไปเผยแพร่ต่ออยากให้ช่วยครับ
เพราะ ผมเชื่อว่า มีคนไม่รู้เยอะ ว่าทำไมต้องห้ามให้อาหารสัตว์ด้วย เพราะ ภาพลิมแสมตามวัดที่รอรับอาหาร มีอาหารขายให้แจกลิง นั้นติดเป็นความคุ้นชิน
เมื่อเข้าป่า แล้วมีสัตว์มารอเศษอาหาร คนก็เห็นเป็นเรื่องที่ต้องเมตตา
แล้วต่อไป โดยเฉพาะ เด็กๆ  ที่อาจไปกับพ่อแม่ จะติดภาพเหล่านี้ คือ เมิ่อเจอสัตว์ในป่า ทุกครั้งที่ไปเที่ยว ก็พร้อมที่จะโยนอาหารให้

ฝากด้วยครับ
forest72 approve [ 19 เม.ย. 2553 10:57:28 ]
ความคิดเห็นที่: 7
เข้าใจในการสื่อถึงจุดมุ่งหมาย และเหตุผลของเจ้าของกระทู้ครับ   แต่การจะเปลี่ยนแปลงจุดนี้มีอุปสรรคที่ คนไทยชอบทำบุญ และทำทาน ไม่สามารถบอกได้ว่าผิดหรือถูกเพราะหยั่งรากฝังลึกในสายเลือด ไม่ว่าสัตว์ป่า สัตว์หลง สัตว์ป่วยหรือสัตว์บาดเจ็บ
อรรถ [ 19 เม.ย. 2553 15:36:04 ]
ความคิดเห็นที่: 8
เขียนได้ดีครับ  

เริ่มต้น   และลงท้าย    ลงตัวดีครับ
บ้านนา(พัทลุง) [ 19 เม.ย. 2553 16:49:50 ]
ความคิดเห็นที่: 9
อย่างนี้ใช่มั้ยครับที่เขาเรียก "เสียสัตว์"
ต้ล [ 19 เม.ย. 2553 18:09:06 ]
ความคิดเห็นที่: 10
: forest72
ขอบคุณทุกความคิดเห็นครับ
คุณจอม ขอบคุณที่ช่วยท้วงที่ผิดพลาดครับ
เป็นไปได้ ใครสามารถนำไปเผยแพร่ต่ออยากให้ช่วยครับ
เพราะ ผมเชื่อว่า มีคนไม่รู้เยอะ ว่าทำไมต้องห้ามให้อาหารสัตว์ด้วย เพราะ ภาพลิมแสมตามวัดที่รอรับอาหาร มีอาหารขายให้แจกลิง นั้นติดเป็นความคุ้นชิน
เมื่อเข้าป่า แล้วมีสัตว์มารอเศษอาหาร คนก็เห็นเป็นเรื่องที่ต้องเมตตา
แล้วต่อไป โดยเฉพาะ เด็กๆ   ที่อาจไปกับพ่อแม่ จะติดภาพเหล่านี้ คือ เมิ่อเจอสัตว์ในป่า ทุกครั้งที่ไปเที่ยว ก็พร้อมที่จะโยนอาหารให้

ฝากด้วยครับ

ขอบคุณครับ ผมจะพยายามเผยแพร่ หรืออย่างน้อยผมก็จะสอนลูกผมให้รู้ถึงผลที่มันจะเกิดขึ้นกับการกระทำแบบนี้ ขอบคุณสำหรับบทความดีๆ  หลายๆ บทความที่คุณนำมาให้สมาชิกได้อ่านกัน
noppadol approve [ 19 เม.ย. 2553 19:37:42 ]
noparnon@yahoo.co.th
ความคิดเห็นที่: 11
บทความเที่ยวนี้เขียนได้เห็นภาพแลเรียงร้อยเนื้อหาได้นุ่มนวลตั้ง แต่ต้นจนจบเจ้าค่ะ ขอบคุณที่เขียนมาให้อ่านนะเจ้าคะ
ampelisciphotis approve [ 21 เม.ย. 2553 08:23:38 ]

Name : *
E-mail :
Bold Italicized Underline Strikethrough Horizontal Rule Font Size Font Face Insert Image Insert Hyperlink Insert Email Insert FTP Link Superscript Subscript Insert List
Message :
  Security Code
CAPTCHA image
Verify Security Code.
<-- เฉพาะอักษร A-Z เท่านั้น
   
www.siamensis.org - Thailand Fish & Nature Explorer
An independent non-profit group
Established 2001
 All Rights Reserved 2001-2010 ©siamensis.org