กระทู้-14134 : นำบทความ เรื่อง คน นกเงือก ป่า มาฝากกัน

Home » Board » นก

นำบทความ เรื่อง คน นกเงือก ป่า มาฝากกัน

คน นกเงือก ป่า
อุเทน ภุมรินทร์
   ท้องฟ้าของคืนเดือนหงายไม่สว่างนวลอย่างเคย ด้วยม่านเมฆดำไหลเคลื่อนบัง เผยให้เห็นดวงจันทร์เพียงบางครา ไหลเช่นเดียวกับสายธารป่า ที่ผมนอนแช่ให้สายน้ำอาบร่างอยู่เวลานี้ หนุนหัวกับกองหินที่โผล่พ้นกลางธาร หูแนบฟังเสียงการเดินทางของตะกอนดิน ใบไม้ ที่ไหลมาตามกระแสน้ำ จากเนินชันสูงสู่ที่ราบปลายทาง เสียงกบอ๋องเล็กหลายตัว ร้อง “อ๋องๆ ” บอกชื่อตัวเอง อยู่ในความมืด บนก้อนหินริมห้วย รอคอยแมลงโชคร้ายบินมาเป็นอาหารของมัน หลังอาหารมื้อเย็นกลางไพร ลงอาบน้ำในลำห้วย เหมือนจะล้างความเหน็ดเหนื่อยจากการเดินป่ามาที่แคมป์พักนักวิจัยนกเงือกนี้ ปล่อยไปตามน้ำได้บ้าง สายน้ำชุ่มเย็น นำพาความคิดไหลตาม ผมคิดถึงเสียงร้อง “กก กก กก” ของนกกก นกเงือกชนิดหนึ่งที่อาศัยอยู่ในป่าแห่งนี้ ที่ร้องเมื่อช่วงเย็นชนค่ำที่ผ่านมา

บนโต๊ะแคร่ไม้หมากอเนกประสงค์ ที่พี่กมล กับพี่หมีน้อย ทำขึ้นจากไม้ต้นหมากขนาดเท่าลำแขนสาวรุ่นหลายลำ  มันเป็นได้ทั้งโต๊ะกินข้าว โต๊ะทำงาน หรือโต๊ะรับแขกคุยกันหลังอาหาร ตามแต่คนนั่งจะให้มันเป็น
“มาช่วยกันวัดลูกไม้หน่อย” พี่กมลบอกผม แอม  และพี่ยุทธ ที่มาด้วยกัน พร้อมหยิบลูกไทรในถุงพลาสติกที่เราแวะเก็บกันระหว่างทางที่เดินเข้ามา  ซึ่งมีต้นไทรใหญ่กำลังออกลูกดกสะพรั่ง ฝูงนกป่าบินเข้าบินออกกินอาหาร แล้วหยิบอุปกรณ์อย่าง เวอร์เนียคาลิปเปอร์ เครื่องวัดขนาดที่มีความละเอียดระดับมิลลิเมตร กับเครื่องชั่งน้ำหนักแบบดิจิตอลขนาดเล็ก ที่ชั่งน้ำหนักได้ในหน่วยกรัม ทำการวัดขนาดของลูกไทร พร้อมชั่งน้ำหนักของเนื้อผลไทร เพื่อเก็บเป็นข้อมูลพืชอาหารที่นกเงือกกิน

   เลยเวลาหัวค่ำมามาก ห่างออกจากโต๊ะไม้หมากไม่กี่ก้าว งูเขียวหางไหม้ตัวหนึ่ง พาดตัวกับกิ่งไม้ ห้อยหัวลง รอเหยื่ออย่างปาดหรือหนูสักตัวที่อาจผ่านมาทางนี้ หลังทำความเข้าใจกับแบบบันทึกข้อมูลชีพลักษณ์ของพืชอาหารนกเงือก ที่เราต้องใช้ในวันพรุ่งนี้ กับพี่กมลแล้ว ทว่าแสงเทียนยังส่องสว่างอยู่ บทสนทนายังคงดำเนินต่อไป

“ในช่วงหน้าฝนนี้ ก็มีงานเก็บข้อมูลพืชอาหารแล้วก็มีงานนับนกร่วมฝูง อันหลัง เป็นงานของอีกทีมที่อยู่บนอุทยานฯ พอถึงช่วงพฤศจิกา ก็ต้องซ่อมโพรงรังทั้งที่เขาใหญ่นี่ แล้วก็ไปซ่อมที่ห้วยขาแข้งด้วย” คือคำตอบของพี่กมล เมื่อผมถามถึง “งานที่ทำตอนนี้ มีอะไรบ้าง”

ถึงวันเวลานี้ มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก  ซึ่งเริ่มโดย อาจารย์พิไล พูลสวัสดิ์ มีทีมนักวิจัยประจำ อยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ต่างๆ   ซึ่งมีนกเงือกอาศัยอยู่ เพื่อทำงานอย่างต่อเนื่อง อย่างอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา ที่นี่ เป็นบ้านของนกเงือกถึง 4 ชนิด คือ นกกก นกเงือกกรามช้าง นกเงือกสีน้ำตาลคอขาว  และนกแก๊ก ลงไปยังป่าทางภาคใต้ ที่อุทยานแห่งชาติบูโด สุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส มีทีมนักวิจัยปักหลักทำงานอยู่ในพื้นที่เช่นกัน ที่นั่น เป็นบ้านของนกเงือกถึง 6 ชนิด คือ นกกก นกเงือกหัวหงอก นกกาเขาหรือนกเงือกปากดำ นกชนหิน นกเงือกกรามช้าง  และนกเงือกหัวแรด

“แล้วซ่อมโพรงรัง ทำยังไง” ผมถามต่อ

“พอช่วงเดือนพฤศจิกา เราต้องเริ่มปีนดูว่า โพรงรัง มีขนาดเหมาะสมไหม ชำรุด พื้นรังทรุดหรือเปล่า หากพื้นโพรงทรุด เราก็ขนดินขึ้นไปใส่ เพราะแม่นก และลูกต้องยกก้น ขี้ออกมาข้างนอก เพื่อไม่ให้รังสกปรก หากพื้นโพรงทรุด มันก็จะไม่เข้ารังในปีนี้ เรามีข้อมูลอยู่แล้ว ว่านกชนิดไหน เป็นเจ้าของโพรง จึงรู้ถึงขนาดของรังที่ควรเป็นด้วย” พี่กมลตอบถึงงานที่ต้องทำในเดือนหน้า

   “ถ้าอย่างนั้น ก็ต้องเสร็จก่อนที่นกจะเข้าโพรง” พี่กมลพยักหน้า หมายความตามที่ผมพูด
   ไม่ใช่เรื่องง่าย กับการขนดินขึ้นซ่อมรัง บนต้นไม้ที่เป็นต้นโพรงรัง  ซึ่งอาจสูงถึง 30 เมตร โหนตัวเองไว้กับงานบนเส้นเชือก แล้วอีกคนคอยชักรอกกระสอบดินขึ้นไปให้ แล้วเทดินเข้าโพรงที่ทรุด ด้วยกำลังของตัวเองคนเดียวบนนั้น บางรังต้องขนดินไปถม เกือบร้อยกิโลกรัมก็มี ก่อนเดือนมกราคม  ซึ่งนกเงือกจะเริ่มเข้าโพรงรัง เพื่อวางไข่ เลี้ยงลูก งานซ่อมโพรงรัง ต้องเร่งให้เสร็จทันเวลา เสร็จจากซ่อมรังที่เขาใหญ่ ต้องย้ายไปที่ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานีด้วย ที่นั่น มีนกเงือกอาศัยอยู่เช่นกัน

   ในช่วงที่นกเงือกเข้ารังเลี้ยงลูก ทีมวิจัย ก็ต้องคอยจดบันทึกว่า พ่อนกนำอาหารอะไรมาเลี้ยงลูกบ้างรวมถึงรังนั้น ประสบความสำเร็จ ลูกนกรอด ได้โบยบินไปเป็นสมาชิกของป่าหรือไม่ ข้อมูลที่ได้ จะนำไปช่วยในการจัดการดูแลความคงอยู่ของนกเงือกต่อไป

   แสงเทียนวูบไหวตามสายลมป่า ที่คงหอบฝนมาทักทายเราในอีกไม่ช้า ใจผมพาลคิดไป กับงานภาคสนามที่ต้องใช้กำลังกาย  และกำลังใจอย่างมากขนาดนี้ ฤดูฝนผจญกับฝูงทาก กับฝนในป่าที่พร้อมจะตกได้ทุกเวลา  และเห็บที่ฝากความคันเขย่อไว้ทั่วตัว ฝูงเห็บเหมือนมีอยู่ทุกหนแห่งในป่า เรื่องอาหารการกิน ที่หลับที่นอน จะให้สบายอย่างกินนอนอยู่กับบ้าน คงเป็นไปไม่ได้ อีกทั้ง ทำงานในป่า เวลาเดินยังต้องกวาดสายตา ระวังทางข้างหน้าให้ดีเสียก่อน เพราะอาจมี ‘ปืนผูก’ ที่พรานผูกไว้สำหรับล่าสัตว์ป่าตามด่านทางเดินของสัตว์ ก็เป็นได้ งานที่มีความเสี่ยง  ซึ่งบางครั้ง หมายถึง ‘ชีวิต’ ทำไม ? พวกเขายังเลือกที่จะทำ

   “เดี๋ยวนี้ ปตท.สผ. เข้ามาสนับสนุนด้วย เขาก็พากลุ่มคนของเขา มาให้เราพาดู มารู้จักนกเงือก”
   บริษัทสำรวจ และผลิตปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยเข้ามาสนับสนุนโครงการศึกษานิเวศวิทยานกเงือกของมูลนิธิ ไม่นานมานี้ ได้สนับสนุนวิทยุสำหรับติดตามนกเงือก โดยรับสัญญาณจากดาวเทียม เราสามารถตรวจสอบได้จากคอมพิวเตอร์ ว่านกเงือกที่เราติดวิทยุ ตามศึกษามันว่า ไปยังที่แห่งใด บริเวณหากินของมันครอบคลุมไปถึงไหน

   “นกเงือกบินหากินได้ไกล ข้อมูลที่ได้จากวิทยุที่ติดไว้กับนกเงือกกรามช้างบางตัว แสดงให้เห็นว่า มันบินไปถึงป่าทับลาน ที่ต่อกับป่าเขาใหญ่” พี่ยุทธ  ซึ่งกำลังศึกษาทำวิทยานิพนธ์ในระดับปริญญาโท เกี่ยวกับนกเงือกที่ป่าเขาใหญ่ เอ่ยขึ้นบ้าง ทำให้ภาพที่เราต้องช่วยกัน ไม่ให้ป่าถูกแบ่งแยกเป็นหย่อมเล็กหย่อมน้อย กระจ่างชัด

   “จะให้เราทำยังไงก็ได้ ขอให้มีเงิน ให้เราได้ทำงานช่วยนกเงือกเถอะ เรายอมทำหมด” คำพูดของพี่กมล ดูจะตอบคำถาม ที่เกิดขึ้นในใจผมได้ อย่างหมดสิ้น

   ล่วงเลยเวลาเที่ยงคืนไปแล้ว ฝนพรำกระทบผ้ายางที่เราขึงเหนือเปลนอนเกือบตลอดคืน เสียงน้ำในลำห้วยไหลครืนผสมเสียงร้องของกบ เขียดคะนองฝน ราวกับดนตรีแห่งธรรมชาติที่ขับกล่อมจนทุกคนหลับไป

   ควันไฟลอยสูง พี่หมีน้อยตื่นแต่เช้าก่อนเรา เริ่มก่อไฟหุงข้าว ผมเดินไปวักน้ำในลำธารล้างหน้าล้างตา สายน้ำใสเย็นเรียกความกระปรี้กระเปร่ารับเช้าวันใหม่ ตอลดช่วงสองวันที่อยู่ในป่า เรากินน้ำในลำห้วยสายนี้ เมื่ออยู่ในป่า เรากับสัตว์ป่า ต่างก็ใช้น้ำ อากาศ ร่วมกัน แมงมุมหลายตัวบรรจงทักทอใยเป็นกับดักคอยอาหารของมัน ขึงไว้กับต้นพืชน้ำขวางลำธาร ผีเสื้อเกือบโชคร้ายตัวหนึ่ง บินเข้ามาติดกับดักนั้น ทว่าด้วยแรงกระพือปีกแห่งสัญชาตญาณการเอาชีวิตรอด ใยกับดักนั้นขาด แล้วมันก็รอดไปได้ ก่อนที่แมงมุมจะไต่ตามสายใยมาจับกิน

หลังเก็บข้อมูลชีพลักษณ์ของต้นพืชที่เป็นอาหารของนกเงือก คือ ดูลักษณะภายนอกของต้นพืชที่แสดงออกมา เช่น มีดอก มีผล ในช่วงนี้ไหม ผลสุกหรือยัง แตกใบอ่อนใหม่หรือไม่ ในบริเวณแปลงขนาด 100 100 เมตร จำนวน 10 แปลงตัวอย่าง ป่าบริเวณนี้ เป็นสังคมพืชป่าดิบเขา กับป่าดิบแล้ง  ซึ่งเป็นสังคมป่าไม่ผลัดใบ เรือนยอดชั้นบนอาจสูงถึง 30 เมตร มีไม้ชั้นล่างหนาแน่น พืชอาหารอย่างตาเสือ ไทร มะเดื่อ และอีกหลายชนิด กระจายอยู่ทั่วแปลงสำรวจ นกเงือกกินพืชอาหารหลากชนิด มันจึงเป็นนักปลูกป่ามือดี โดยเฉพาะกับเมล็ดไม้ลูกโตๆ  ที่สัตว์กินพืชชนิดอื่นหรือนกตัวเล็กๆ  กินไม่ได้

เสร็จงาน เราแบกเป้เดินออกมาจากป่าคลองทราย หันหลังกลับไปมอง ในเวลานี้ พื้นที่ป่าเหลือเพียงเฉพาะบนภูเขาเท่านั้น พื้นที่ราบของอำเภอวังน้ำเขียวที่เคยเป็นป่ามาก่อน ถูกแปลงสภาพเป็นไร่ข้าวโพด เขียวสดกว้างไกลสุดสายตา บางพื้นที่รถไถกำลังไถแปลง เตรียมดินรอหว่านเมล็ดพืชเกษตรในอีกไม่ช้า นานวันเข้า เมื่อความอุดมของหน้าดินหมดลง พื้นที่เหล่านี้ ก็จะเปลี่ยนมือเป็นของนายทุน เปลี่ยนหน้าตาจากต้นข้าวโพด เป็นดอกเห็ด ที่หมายถึงรีสอร์ตที่จะผุดขึ้นมา รองรับนักท่องเที่ยว และความเจริญที่พร้อมไหลมาประชิดชายป่า

   นึกในใจ เข้าป่าคลองทราย ครั้งหน้า หากอยากได้ยินเสียงนกกกร้อง ผมอาจต้องเดินเข้าป่าไปไกลกว่าที่เคยเดินในครั้งนี้ เดินเข้าไปไกล โดยที่บางที อาจไม่มีเสียงอะไรให้ได้ยินอีกเลย
forest72 approve [ 25 เม.ย. 2553 12:21:12 ]
wildlifer72_30@hotmail.com
ความคิดเห็นที่: 1
ชอบครับชอบมาก ขอบคุณสำหรับบทความดีดีแบบนี้ นึกภาพตามแล้วอยากไปแบบนี้มั่งจัง
noppadol approve [ 25 เม.ย. 2553 13:45:41 ]
noparnon@yahoo.co.th
ความคิดเห็นที่: 2
อ่านบทความนี้แล้วเศร้าใจ เพราะวันนี้ไปสวนมา(ที่เห็นมี)เอามาขาย 2 ตัว พันธุ์ใหญ่ 1 ตัว พันธุ์เล็ก อีก 1ตัว
เห็นคนขายแล้วหมั่นไส้จัง แต่ก็ทำไรไม่ได้เพราะคนที่สามารถทำอะไรได้เขาไม่ยอมทำปล่อยเลยตามเลย
river [ 25 เม.ย. 2553 18:58:17 ]
ความคิดเห็นที่: 3
อ่านแล้วเศร้าเหมือนกันครับ

เมื่อวันพฤหัสที่แล้วผมเข้าสวนเหมือนพี่ท่านบนเหมือนกัน

ก็เจอนกลูกนกเงือกตัวนึงเหมือนกัน แต่ไม่ได้เข้าไปดูใกล้ๆ เพราะทำใจไม่ได้กับสภาพของนก  และกรงที่อยู่ซึ่ง ใหญ่กว่าตัวมันเพียงนิดเดียว

ส่วนสายพันธุ์นั้นยังไม่ทราบเห็นปากมีสีแดงปนอยู่ข้อนข้างเยอะเลย จึงคิดว่าเป็นนกเงือกหัวแรด

ผมละอยากทราบจริงจริงว่าทำไมถึงอยากเลี้ยงสัตว์พวกนี้กันนักหนา

ทั้งทั้งที่ใกล่สูญพันธุ์ขนาดนี้แล้วน่าจะปล่อยให้เขาขยายพันธุ์ต่อไปเพื่ออนาคตจะได้ไม่ต้องเห็นนกเงือกแค่เพียงในรูปเท่านั้ืน

ขออณุญาตนำสิ่งที่คุณสืบ นาคะเสถียรได้กล่าวไว้มาเตื่อนใจด้วยนะครับ

"เรากำลังพูดกันมากว่าจะอนุรักษ์กันอย่างไร  แต่ต้องเข้าใจก่อนว่า
การรักษาชีวิตสัตว์ให้รอดอยู่ แตกต่างอย่างมากมายกับการอนุรักษ์พันธุ์ของสัตว์ป่าชนิดนั้นๆ  
…พวกที่ชอบล่าสัตว์ป่า และพวกกินเนื้อสัตว์ป่า ผมขอเถอะ
พวกที่ชอบซื้อสัตว์ป่ามาเลี้ยงก็เช่นกัน ธรรมชาติเขาเลี้ยงได้ดีกว่าอยู่แล้ว"

ปล.ความคิดเห็นนี้เป็นความคิดของเด็กอายุ16ปี  ถ้าขัดกับความคิดใครต้องขออภัยไว้ด้วยนะครับ
ฟ่อน approve [ 25 เม.ย. 2553 20:37:54 ]
ความคิดเห็นที่: 4
วันนี้ที่จตุจักรมีลูก กรามช้าง  และ แก๊ก รวมทั้งพวก เหยี่ยว และนกเค้า เยอะมากครับต้องมี 30-40 ตัว
นณณ์ approve [ 25 เม.ย. 2553 23:06:42 ]
ความคิดเห็นที่: 5
คนบางคนยังคงคิดว่า การเอานกพวกนี้มาเลี้ยงเป็นการช่วยอนุรักษ์มันไว้อยู่มั้งครับ มีอยู่ครั้งนึงผมพาเด็กๆ ไปเที่ยวสวนสัตว์ในวัดแห่งหนึ่งแถวบ้าน พระท่านเอาซากของนกแก๊กมาสต๊าฟแล้วใส่กรงไว้ ลูกชายคนเล็กเห็นถามว่าทำไมมันไม่ขยับ ผมก็บอกว่ามันตายแล้ว แต่เค้าเอามาตั้งโชว์ไว้  แต่ก็นึกสะท้อนใจว่าอนาคตข้างหน้าในสวนสัตว์อาจจะไม่มีสัตว์เป็นๆ ให้ดู อาจเป็นซากสัตว์ที่สต๊าฟไว้ และยังต้องจับไว้ในกรงอีกก็เป็นได้เพราะกลัวคนขโมยแม้กระทั่งซากซึ่ง อนาคตอาจไม่มีตัวเป็นๆ  ในธรรมชาติให้เห็นแล้วก็เป็นได้  ถ้าทุกวันนี้ "คน" ยังไม่เข้าใจในธรรมชาติ และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่อยู่รอบๆ ตัวอยู่แบบนี้
ตะขาบยักษ์ approve [ 26 เม.ย. 2553 09:29:45 ]

Name : *
E-mail :
Bold Italicized Underline Strikethrough Horizontal Rule Font Size Font Face Insert Image Insert Hyperlink Insert Email Insert FTP Link Superscript Subscript Insert List
Message :
  Security Code
CAPTCHA image
Verify Security Code.
<-- เฉพาะอักษร A-Z เท่านั้น
   
www.siamensis.org - Thailand Fish & Nature Explorer
An independent non-profit group
Established 2001
 All Rights Reserved 2001-2010 ©siamensis.org