ความคิดเห็นที่: 3
เป็นไม้หัวสกุลเดียวกับพลับพลึงครับ ชื่อ "กระเทียมช้าง" Crinum amoenum
วงศ์ AMARYLLIDACEAE ผลิใบออกดอกจากหัวใต้ดินในช่วงฤดูฝน พอเข้าหน้าแล้งก็ทิ้งใบพักตัว
เมื่อก่อนชาวบ้านขุดหัวมาขาย เรียกเป็นว่านกวักเงิน ว่านน้ำเต้าเงินน้ำเต้าทอง ฯ ลฯ
และอีกหลายชื่อที่ชวนซื้อ แต่พอยุคว่านเสื่อมความนิยมไป ก็มีพ่อค้าแม่ค้าหัวใส แต่ใจขุ่นเอามาสวมรอย
ขายเป็นไม้ดอกหัวต่างประเทศ เช่นบอกว่าเป็นว่านสี่ทิศบ้าง หรือไม่ก็เป็นหัวของต้น "ไฮยาซิน"
ปลูกแช่น้ำได้ดอกสวย ! ฯ ลฯ และอีกสารพัดจะอวดอ้าง ใครหลงซื้อไปก็จะได้ต้นไม้หน้าตาคล้ายพลับพลึง
งอกออกมาแทน ส่วนดอกจะมีให้ชมหรือไม่ก็สุดแล้ว แต่วิธีการปลูกเลี้ยง และโชคหล่ะมังครับ
ส่วนอันนี้เป็นข้อมูลหาได้จากหนังสือ อนุกรมวิธานพืช อักษร ก ฉบับราชบัณฑิตยสถานครับ
กระเทียมช้าง
Crinum amoenum Roxb., AMARYLLIDACEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ล้มลุกมีหัว พักในฤดูแล้ง หัวกลม กว้างยาว 7-8 ซม. มีเยื่อสีขาวหุ้ม ใบออกจากหัวโดยรอบ รูปแถบ กว้างประมาณ 2 ซม. ยาว 10-12 ซม. ปลายแหลม โคนกว้าง และเรียวไปหาปลายใบ ขอบสากเล็กน้อย ไม่มีก้านใบ ช่อดอกแบบช่อซี่ร่ม ก้านช่อดอกกลมแบน ออกจากกลางหัวหรือส่วนข้างก็ได้ กว้างประมาณ 1 ซม. ยาวประมาณ 21 ซม. มีใบประดับ 2 ใบ กว้างประมาณ 1.3 ซม. ยาวประมาณ 4 ซม. หุ้มช่อดอก มีดอก 8 ดอก ดอกรูปกรวย สีขาว โคนกลีบติดกันเป็นหลอดสีเขียว หลอดดอกยาว และตรง ยาวประมาณ 4.5 ซม. ก้านดอกสั้นมาก วงกลีบรวมมี 6 กลีบ ลักษณะแคบๆ หัวท้ายแหลม กว้างประมาณ 1 ซม. ยาวประมาณ 5 ซม. เกสรเพศผู้ 6 อัน ก้านชูอับเรณูสีแดง ยาวประมาณ 3.5 ซม. อับเรณูยาวประมาณ 7 มม. รังไข่มี 3 ช่อง มีออวุลจำนวนมาก แต่เจริญเป็นเมล็ดเพียง 1-3 เมล็ด เมล็ดขนาดไม่เท่ากัน กว้าง 0.5-1 ซม. ยาว 1-2 ซม.
การกระจายพันธุ์ : อินเดีย
การกระจายพันธุ์ในประเทศไทย : ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงใต้
สภาพนิเวศน์ : ขึ้นบริเวณที่โล่งแจ้งตามชายป่า และทุ่งหญ้า
อ้างอิง : 1) ราชบัณฑิตยสถาน. 2538. อนุกรมวิธานพืช อักษร ก. กรุงเทพมหานคร: เพื่อนพิมพ์.
...แก้ไขเมื่อ 04 พ.ค. 2553 15:04:38
Dyckia
[ 04 พ.ค. 2553 14:00:13 ]