ความคิดเห็นที่: 84
1. อาจารย์ผมสอนว่าจะดูว่าอะไรพังไม่พังโดยเฉพาะระบบนิเวศให้ดูสองจุดคือที่ โครงสร้าง (structure) และ การทำงานของมัน (function) แล้วเราก็จะแบ่งมันเป็น 4 ระดับ
1. สมบูรณ์ที่สุด ก็คือทั้ง โครงสร้าง และการทำงานของมันสมบูรณ์แบบ
2. ต้องเริ่มระวัง คือ โครงสร้างเริ่มเปลี่ยน แต่การทำงานยังทำไปได้ ถึงตรงนี้ ถ้าเรากลับมาดูแลไม่ทำให้โครงสร้างมันเปลี่ยนไปมากกว่านี้ มันก็อาจจะกลับไปสมบูรณ์ดังเดิมได้
3. เริ่มพังแล้ว คือ โครงสร้างดูภายนอกเหมือนไม่เปลี่ยน แต่การทำงานชักจะเพี้ยน ซึ่ง เราจะต้องให้ความสนใจอย่างมาก เพื่อดูว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่
4. พังแล้ว คือทั้งโครงสร้าง และการทำงานเปลี่ยนไป เมื่อระบบนิเวศเดินมาถึงจุดนี้แล้ว ถ้าไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างตั้งใจจากมนุษย์ ก็จะไม่สามารถกลับไปเป็นเหมือนเดิมได้อีก
ทีนี้จะย้อนกลับมาดูว่าอะไรพัง หรืออะไรเสื่อมโทรมเราก็ต้องย้อนกลับมาดูที่ โครงสร้าง และ การทำงานของมัน โครงสร้างของป่ามีหลายลักษณะ ในหนังสือ “ป่าของประเทศไทย” โดย อ.ธวัชชัย สันติสุข (บริจาคให้ผมโดยสมาชิกถาวร บอกแล้วเห็นไหมว่าจะได้ใช้ประโยชน์) ระบุว่าป่าในประเทศไทยสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือป่าไม่ผลัดใบ ซึ่ง ถูกแบ่งออกเป็น 14 ประเภท เช่น ป่าดิบชื้น ป่าไม้สนเขา และ ป่าชายหาด และอีกประเภทคือป่าผลัดใบ ซึ่ง แบ่งออกเป็น 3 ประเภทย่อย ถ้าเราอยากรู้ว่าโครงสร้างของป่ามันเสื่อมโทรมหรือไม่ ก็ต้องไปเปิดตำราว่านิยามของป่าเหล่านี้เป็นอย่างไร โครงสร้างของพืช ของสังคมสัตว์เป็นอย่างไร เราก็จะทราบได้ว่าโครงสร้างของมันเปลี่ยนไปหรือไม่
ในส่วนของ “การทำงาน” หรือการใช้ประโยชน์คงต้องแบ่งเป็น 2 ส่วน ตามมุมมองของมนุษย์ (เนื่องจากผู้เขียนเป็นมนุษย์) คือ
1. การใช้ทางตรง คือการเข้าไปหาเก็บของป่า หาอาหาร หาสมุนไพร ดื่มน้ำ ล่าสัตว์ ถามว่าระบบนั้นๆ สามารถที่จะให้บริการมนุษย์ในส่วนนั้นได้หรือไม่ ได้ดีแค่ไหนเมื่อเปรียบเทียบกับในอดีต?
2. การใช้ทางอ้อม คือการใช้ป่าโดยปล่อยให้ป่าทำหน้าที่ของป่า เช่นเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ ผลิตออกซิเจน เป็นฟองน้ำซึมซับน้ำฝนในยามฝนตกหนัก
การจะดูว่าป่าเสื่อมโทรมหรือไม่ก็คือการดูใน 2 ส่วนนี้ว่าโครงสร้างมันยังเป็นอย่างที่มันจะควรเป็นหรือไม่ และมันยังทำหน้าที่ของมันได้อย่างเต็มที่หรือไม่
ตอบคำถามว่าอะไรคือป่าเสื่อมโทรม ป่าเสื่อมโทรมเอาให้เต็มที่เลยก็คือเข้าข้อ 3-4 ด้านบน คือมันเสื่อมโทรมเมื่อการทำงานของมันเปลี่ยนไป ถึงจุดๆ ที่มันไม่สามารถที่จะกลับไปเป็นป่าที่สมบูรณ์ได้ ถ้าไม่ได้รับการช่วยเหลือจากมนุษย์
2. ป่าเสื่อมโทรม หรือระบบนิเวศที่เสื่อมโทรม ถ้าให้เข้านิยามด้านบนคือโครงสร้าง และการทำงานเปลี่ยนไป ซึ่ง เกิดได้จาก 2 สาเหตุหลัก คือ 1. ตามธรรมชาติ เช่นภูเขาไฟระเบิด อุกาบาตตก 2. เกิดขึ้นโดยมนุษย์ เช่นการตัดไม้ทำลายป่า สร้างฝาย ถมลำธาร เป็นต้น
การฟื้นฟูก็คือการที่โครงสร้าง และหน้าที่ ที่เคยเปลี่ยนไปกลับไปเป็นโครงสร้าง และหน้าที่อย่างที่มันเคยเป็น อาจจะเกิดตามธรรมชาติ เช่น ป่าที่ฟื้นตัวหลังจากภูเขาไฟกาลากาตั๋วระเบิด หรือ เกิดขึ้นโดยมนุษย์ เช่นการปลูกป่าที่ทำให้สัตว์กลับมาใช้ประโยชน์ได้ อย่างที่เขาแผงม้า
3. การปลูกป่า และ การสร้างฝาย ถือเป็นการฟื้นฟูธรรมชาติได้ ถ้าทำให้ถูกที่ เวลา และ วิธีการ ส่วนการรักษาหรืออนุรักษ์ นิยามของมันค่อนข้างชัดเจนนะครับ แต่การรักษาหรืออนุรักษ์มันก็มีหลายแบบ สำหรับบางคนการอนุรักษ์ระบบนิเวศหรือธรรมชาติ คือการอนุรักษ์เพื่อใช้ประโยชน์ทางอ้อมเท่านั้น แต่สำหรับบางคนการอนุรักษ์คือการเข้าไปใช้ประโยชน์ทางตรงด้วย ตามสมควร เท่าที่จะปล่อยให้ธรรมชาติฟื้นฟูด้วยเองได้ คือยอมให้โครงสร้างเปลี่ยนไปบ้างในการใช้ประโยชน์ แต่ต้องมั่นใจว่าการทำหน้าที่ของมันยังสมบูรณ์ และฟื้นตัวได้ ผมเห็นด้วยกันการอนุรักษ์อย่างหลังมากกว่า ถึงแม้ว่าการจะหาขอบเขตของคำว่า “ใช้ประโยชน์อย่างพอเพียง” จะเป็นเรื่องยากแสนเข็ญก็ตาม
4. มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่เก่งมาก มนุษย์สร้างได้ทุกอย่าง มนุษย์สร้างสิ่งที่ไม่เป็นธรรมชาติเลย อย่างตึก รถ หรือ ปืนได้ และในขณะเดียวกันมนุษย์ก็สามารถสร้างสิ่งที่เป็นธรรมชาติได้ ถึงแม้จะไม่เป็นการ “สร้าง” เสียทีเดียว อย่างเช่น การปลูกป่า หรือแม้ แต่การขุดคลอง ถ้าทำแล้วสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ได้เข้ามาใช้ประโยชน์ ผมก็ถือว่ามันเป็นธรรมชาติ
5. น้ำในป่ามาจาก 3 ทางคือ ฝน น้ำผิวดิน และ น้ำใต้ดิน การสร้างฝายไม่ได้เป็นการทำให้น้ำมีเยอะขึ้น มันไม่ได้ทำให้ฝนตกมากขึ้น หรือมีน้ำผิวดินหรือใต้ดินไหลมามากขึ้น แต่ฝายจะช่วยชะลอให้น้ำไม่ไหลออกไปจากพื้นที่เร็วจนเกินไป ซึ่ง จริงๆ แล้วในสภาพป่าที่สมบูรณ์ ต้นไม้ ระบบราก และพูพอน ซากใบไม้ รูในดินที่เกิดจากสัตว์ขุด จะเป็นเหมือนฝายเหมือนฟองน้ำธรรมชาติที่จะอุ้มน้ำเอาไว้แล้วค่อยๆ ปล่อยให้มันไหลไป แต่ในพื้นที่ๆ ป่าถูกทำลายหรือเสื่อมโทรมลง จะขาดสิ่งเหล่านี้ตามธรรมชาติ ดังนั้นการสร้างฝาย จึงช่วยได้ในระดับหนึ่ง แต่ทั้งนี้ก็ต้องดูสภาพพื้นที่ด้วยว่าโดยธรรมชาติแล้วสภาพของมันสามารถอุ้มน้ำไว้ได้หรือไม่
6. แนะนำให้ไปอ่านเอกสาร “ผลกระทบของฝายต้นน้ำต่อระบบนิเวศลำธาร” ที่หัวกระทู้ครับ
7. ผมได้กล่าวไปแล้วว่าป่าในธรรมชาติก็แบ่งได้หลายประเภท ปัจจัยที่ก่อให้เกิดประเภทของป่าต่างๆ ตามตำราเล่มเดิมระบุว่ามี 4 ปัจจัยคือ 1. ดินฟ้าอากาศ 2. ชนิดของดิน-หิน 3.ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 4. ชีวปัจจัย ทั้ง 4 ปัจจัยนี้จะหล่อรวมกันก่อให้เกิดป่าที่แตกต่างกันออกไป ซึ่ง ป่า แต่ละประเภทก็มีโครงสร้าง และการทำงานแตกต่างกันออกไป การทำให้ระบบนิเวศเปลี่ยนไป เช่น พยายามจะเปลี่ยนพื้นที่ป่าเต็งรังให้เป็นป่าดงดิบ หรือยกตัวอย่างให้โง่ๆ หน่อยก็เปลี่ยนป่าชายหาดเป็นป่าดิบเขาสูงหรือป่าเมฆ จึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำ และเป็นไปไม่ได้ เพราะธรรมชาติได้สร้างป่าที่เหมาะสมกับภูมิประเทศ และสภาวะต่างๆ ในพื้นที่นั้นๆ อยู่แล้ว โดยมีสิ่งมีชีวิตต่างๆ ได้ปรับตัว และใช้ประโยชน์ในสภาพแวดล้อมนั้นๆ อยู่แล้ว
8. ถ้าสังเกตดู ผมจะแยกมนุษย์ออกจากธรรมชาติค่อนข้างชัดเจน ผมมีความรู้สึกว่า มนุษย์วิวัฒนาการจนแปลกแยกออกจากธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตอื่นๆ มากพอที่มนุษย์ส่วนใหญ่เชื่อว่าเราอยู่ได้โดยไม่ต้องเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติแล้ว และผมก็เชื่อว่าธรรมชาติ และสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆ (ยกเว้นพวก host specific กับ Homo sapiens) สามารถอยู่ได้โดยไม่มีมนุษย์ ดังนั้นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นโดยไม่เป็นธรรมชาติก็ไม่ใช่ธรรมชาติ แต่ย้อนดูคำตอบในข้อ 4
9. ผมยังมีความศรัทธาในสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า “คนเรา” และเชื่อว่าเมื่อถึงจุดๆ หนึ่ง “คนเรา” จะเข้าใจว่า “คนเรา” ยังต้องพึ่งพา และต้องการธรรมชาติ และเมื่อนั้นความเห็นแก่ตัว และต้องการเอาตัวรอดของ “คนเรา"”ก็จะทำให้เขาหันกลับมาดูแล และรักษาธรรมชาติเอง
เป็นธรรมชาติของคน (อ้าวตกลงคนก็มีธรรมชาติของคน งั้นคนเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติไหมเนี๊ย?) ที่จะชอบการยกยอปอปันสรรเสริญชมชอบคำเยินยอมากกว่าการติเตียน ธรรมชาติที่ไม่อาจฝืนจริงๆ
...แก้ไขเมื่อ 18 ต.ค. 2551 01:24:13
นณณ์
[ 18 ต.ค. 2551 01:18:22 ]