|
ปลาตุม..คืนถิ่น ผลงานประมงฯพัทลุง
ทะเลสาบสงขลา...เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติ ที่มีความมหัศจรรย์ เนื่องจากมีความแตกต่างทางกายภาพ ตั้งแต่น้ำเค็ม กร่อย และน้ำจืด ในแหล่งเดียวกัน เพียงแต่ละพิกัด ทำให้เกิดความหลากหลายของระบบนิเวศน์ ส่งผลให้ทรัพยากรฯ อุดมสมบูรณ์ ด้วยความอุดมสมบูรณ์นี้ชาวประมงในปริมณฑล ทะเลสาบสงขลา จึงตักตวงหาอยู่หากินสืบสานกันมาในคาบเวลาอันยาวนาน ตั้งแต่อดีตอันไกลโพ้นจน ถึงปัจจุบัน
ณ วันนี้ที่อยู่ในสภาพแวดล้อมเสื่อมโทรม และเปลี่ยนแปลงธรรมชาติล่มสลายถูกทำลายด้วยการบุกรุกของมนุษย์ พืชพรรณ และสัตว์น้ำ รวมไปถึงปลาพื้นเมืองหลายชนิดต้องสูญพันธุ์ หรือแม้มีอยู่ แต่กลายเป็นของหายาก เช่น ปลาตุม, ปลาพรม, ปลาลำปำ, ปลากระเบน ฯลฯ
นายจรัลธาดา กรรณสูต อธิบดีกรมประมง จึงมีนโยบาย ศึกษาวิจัยฟื้นฟูพันธุ์ปลา และสัตว์น้ำจืดของไทย ที่หายาก โดยมอบหมายให้ ศูนย์วิจัย และพัฒนาประมงน้ำจืดพัทลุง ดำเนินการเพาะพันธุ์ปลาตุมขึ้น
ปลาตุม...พระเอกของ หลายชีวิต วันนี้ เป็นปลาสองน้ำที่สามารถอาศัยอยู่ได้ทั้งน้ำจืด และน้ำกร่อย มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Puntioplites bulu อยู่ในวงศ์เดียวกันกับปลากระมังแต่ต่างสกุล ลักษณะรูปร่างลำตัวเกือบเป็นรูปขนมเปียกปูน หัว และลำตัวแบนข้าง นัยน์ตาโต และค่อนไปทางด้านบน ครีบหลังสูง ไม่มีหนวด ครีบหางเว้าลึก และ มีเกล็ดสีเงิน
ศูนย์วิจัยฯเริ่มปฏิบัติการมาตั้งแต่ปี 2547 ทำการรวบรวมพ่อ-แม่พันธุ์ปลาตุมมา จาก คลองชะอวด จ.นครศรีธรรมราช จำนวน 25 ตัว แล้วดำเนินการเพาะพันธุ์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 26 ก.พ. 47 ได้ลูกปลาจำนวน 5,000 ตัว และทำการเลี้ยงต่อจนถึงวัยเจริญพันธุ์ มีไข่ และน้ำเชื้อสมบูรณ์พร้อมเป็นพ่อแม่พันธุ์ จากนั้นจึงได้ทำการเพาะพันธุ์โดยใช้ แม่ พันธุ์ 10 ตัวกับพ่อพันธุ์ 20 ตัว และใช้ ฮอร์โมนสังเคราะห์ ร่วมกับ ยาเสริมฤทธิ์ฉีดกระตุ้น ปลา ก่อนวางไข่ 3 วัน ครั้งนี้เพาะฟักได้ลูกปลา 130,000 ตัว จึงนำลงเลี้ยงในบ่ออนุบาล
เมื่อวันที่ 26 พ.ย.ที่ผ่านมา ตรวจสอบพบว่าลูกปลามีชีวิตรอดถึง 30,000 ตัว และโตขนาด 2-3 เซนติเมตร ช่วงนี้อยู่ในระหว่างเลี้ยงให้แข็งแรงดีพร้อมปล่อยคืนสู่ธรรมชาติต่อไป เพื่อแพร่ขยายพันธุ์อยู่คู่กับทะเลสาบสงขลาเฉกเช่นอดีตกาล...!!!
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันอังคาร ที่ 10 เมษายน 2550
...แก้ไขเมื่อ 11 เม.ย. 2550 17:38:05
นกกินเปี้ยว
[ 11 เม.ย. 2550 17:36:16 ]
|
|