กระทู้-07536 : ข่าว : ประมงหาดไคร้ฉุนฉีกสัญญาเลิกล่าปลาบึก

Home » Board » ปลา

ข่าว : ประมงหาดไคร้ฉุนฉีกสัญญาเลิกล่าปลาบึก

ชาวประมงหาดไคร้เชียงของฉีกสัญญาเลิกล่าปลาบึก อ้างถูกเบี้ยวสัญญาที่จะให้การช่วยเหลือ รอมาเกือบปีแล้วยังไม่เป็นผล ทนไม่ไหวต้องล่ากันใหม่อีกครั้งเพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง




ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มพรานนักล่าปลาบึก และชาวประมงบ้านหาดไคร้ อ.เชียงของ จ.เชียงราย ได้เริ่มออกตามล่าหาปลาบึกในแม่น้ำโขงกั้นพรมแดนไทย-ลาว ด้าน อ.เชียงของ จ.เชียงราย อีกครั้ง หลังจากก่อนหน้านี้นางเตือนใจ ดีเทศน์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา  (ส.ว.)  จ.เชียงราย  และประธานคณะอนุกรรมการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ วุฒิสภา ได้เข้ามาทำข้อตกลงกับกลุ่มชาวประมงหาดไคร้ เมื่อปี 2549 ภายใต้เงื่อนไขการเข้ามาส่งเสริมอาชีพให้กับพรานปลาบึก  และจะมีการซื้ออวน หรืออุปกรณ์ล่าปลาบึกของชาวบ้าน โดยจะซื้อโค กระบือ มาให้ชาวบ้านเลี้ยงแทนการล่าปลาบึก ซึ่งใกล้สูญพันธุ์ จนเป็นข่าวโด่งดังไปทั่วโลก แต่จนถึงขณะนี้กลับยังไม่สามารถดำเนินการได้ตามข้อตกลง

นายพุ่ม บุญหนัก ประธานชมรมปลาบึกบ้านหาดไคร้ อ.เชียงของ จ.เชียงราย เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้มีกลุ่มชาวประมงหาดไคร้ และกลุ่มนักล่าปลาบึกในพื้นที่ อ.เชียงของ มาสอบถามความชัดเจนกับตน เกี่ยวกับข้อตกลงเลิกล่าปลาบึกที่เคยทำไว้เมื่อปี 2549  ซึ่งปัจจุบันยังไม่สามารถดำเนินการได้ ทำให้ชาวประมงบางส่วนเริ่มล่าปลาบึกกันอีกครั้ง ทั้งนี้หากชาวบ้านเริ่มล่าปลาบึกกันใหม่ ก็จะทำให้ข้อตกลงต่างๆ  ที่ทำกันไว้กับนางเตือนใจ  และกับทางจังหวัด-ประมงจังหวัด ถูกยกเลิกโดยปริยาย

ประธานชมรมปลาบึกบ้านหาดไคร้ เผยอีกว่า ที่ผ่านมาได้มีการมอบเงินในการซื้ออวนจากชาวบ้านไปแล้ว 63 ปาก จาก 68 ปาก เป็นเงิน 1,260,000 บาท ยังค้างค่าอวนอีก 5 ปาก เป็นเงิน 1 แสนบาท ส่วนอวนมีการเก็บรักษาไว้ที่ตน และบางส่วนนำไปแสดงที่ กทม. บางส่วนมีหน่วยงานขอไปศึกษา ขณะที่การสร้างอาชีพใหม่ให้กับชาวประมงยังไม่เกิด เนื่องจากตกลงกันไม่ได้ เพราะชาวประมงส่วนหนึ่งอยากจะเลี้ยงโค  ซึ่งทางนางเตือนใจได้ประสานไปยังกรมปศุสัตว์ให้รับโคจากธนาคารโคกระบือ แต่มีเงื่อนไขว่าต้องเป็นเกษตรกรยากจน และมีรายละเอียดมาก ทำให้จนถึงวันนี้ยังไม่ได้โคสักตัว

ด้านเจ้าหน้าที่มูลนิธิพัฒนาชุมชน และเขตภูเขา  ซึ่งเป็นเลขาส่วนตัว นางเตือนใจกล่าวว่า เรื่องนี้นางเตือนใจทราบเมื่อหลายวันก่อนแล้วว่า มีชาวบ้านส่วนหนึ่งไปสอบถามกับทางรองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย จึงเร่งรัดติดต่อไปยังเพื่อนสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ถึงแนวทางการร่วมกันทำบุญไถ่ชีวิตโค กระบือ เพื่อจะได้นำสัตว์เลี้ยงเหล่านั้น มามอบให้กับชาวประมงหาดไคร้เพื่อแก้ปัญหาให้ก่อน จึงอยากให้ชาวบ้านใจเย็นๆ  

สำหรับประเพณีการล่าปลาบึกที่บ้านหาดไคร้ เป็นแห่งเดียวในโลก ที่มีการจับปลาบึกได้  และจับกันมานานแล้ว อดีตเมื่อหลายสิบปีก่อน มักจับได้ในช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค.  ซึ่งเป็นช่วงน้ำโขงแห้ง และปลาบึก ที่เป็นปลาหนังน้ำจืดขนาดใหญ่จะว่ายทวนน้ำขึ้นเหนือ ผ่านบ้านหาดไคร้ไปวางไข่   และผสมพันธุ์กันทางตอนเหนือ ที่มีแก่งหิน และร่องน้ำตื้นจนติดอวนหรือ "มอง"  ของชาวประมงที่เชี่ยวชาญ  บางปีชาวประมงหาดไคร้จับปลาบึกหนัก 100-250 ก.ก.ได้กว่า 60-70  ตัว ราคาจำหน่าย ก.ก.ละ 300-500 บาท แต่ต่อมาก็จับได้ลดลงทุกปี บางปีจับได้แค่ 1-5 ตัวเท่านั้น.


หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ 24 เมษายน 2550
นกกินเปี้ยว approve [ 26 เม.ย. 2550 17:47:45 ]
ความคิดเห็นที่: 1
ย้อนหลังนิดหน่อย เห็นว่าไม่มีใครโพสต์ เลยขอโพสต์เก็บไว้อ่าน
นกกินเปี้ยว approve [ 26 เม.ย. 2550 17:48:19 ]
ความคิดเห็นที่: 2
นักวิชาการชี้ล่าปลาบึกผิดกฎหมาย

เมื่อวันที่ 23 เม.ย. นายชวลิต วิทยานนท์ ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสด้านชีววิทยาน้ำจืด องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลก เปิดเผยถึงกรณีชาวบ้าน อ.เชียงของ จ.เชียงราย พยายามนำเรือออกจับปลาบึก ซึ่ง เป็นปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สุดในโลกที่แม่น้ำโขง โดยอ้างว่ายังไม่ได้รับเงินชดเชยว่า ทางกองทุนสัตว์ป่าโลกเป็นหนึ่งในองค์กรเอกชนที่เสนอทุนลงขัน  และจ่ายเงินไปเรียบร้อยแล้ว ในการทำงานเพื่ออนุรักษ์ปลาบึก เป็นความร่วมมือกันหลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นองค์กรเอกชนส่วนกลาง หรือกลุ่มอนุรักษ์ในท้องถิ่น ที่พยายามจะให้งดจับปลาบึก โดยตกลงร่วมกันว่าจะไม่ให้จับปลาบึกในบริเวณนี้อีก นอกจากการล่าเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ยังจะสามารถทำได้  และในปัจจุบันกรมประมงยกเลิกให้ใบอนุญาตจับปลาบึกแล้ว ดังนั้นหากจับปลาบึกอีกถือว่าผิดกฎหมาย

นายชวลิตกล่าวต่อว่า สำหรับการดำเนินการขององค์กรสัตว์ป่าโลกเกี่ยวกับเรื่องนี้นั้น ได้ความร่วมมือกับประเทศเดนมาร์ก เพื่อเข้ามาศึกษาเรื่องระบบนิเวศน์แม่น้ำโขงอย่างละเอียด โดยจัดทำเป็นโครงการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เพื่อเก็บข้อมูลทั้งหมดของระบบนิเวศน์ในแถบนี้ ไม่จำกัดเฉพาะปลาบึกเท่านั้น เพื่อนำมาวางแผนร่วมกันเสริมสร้างศักยภาพของชุมชน ว่าจะทำอย่างไรต่อไปหากไม่สามารถจับปลาบึกได้ หรือ ถ้าจับก็จะจับได้กี่ครั้ง รวมทั้งจะช่วยกันอย่างไร

หนังสือพิมพ์ข่าวสด วันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2550 ปีที่ 17 ฉบับที่ 5990
นกกินเปี้ยว approve [ 26 เม.ย. 2550 18:14:18 ]
ความคิดเห็นที่: 3
พูดกันจริงๆ   ไม่เห็นอร่อยเลยครับ ทำไมตลาดต้องการกันจัง เพราะความที่เป็นปลาบึกหรือเปล่า
จอน [ 26 เม.ย. 2550 19:19:34 ]
ความคิดเห็นที่: 4
ปลาบึกจากที่อื่นนอกจากหาดไคร้ รวมทั้งฟาร์มต่างๆ  ภาคเอกชน ที่เป็นแหล่งที่มาของปลาบึกที่บริโภคในประเทศ รวมทั้งปลาบึกที่ถูกจับจากธรรมชาติ จากที่อื่นๆ  ทั้งในแหล่งกำเนิด และนอกแหล่งกำเนิด เจ้าของ ผู้ครอบครอง ชาวบ้านต้องมีใบอนุญาติจากหน่วยงานใดหรือไม่ครับ
Plateen approve [ 27 เม.ย. 2550 09:10:47 ]
ความคิดเห็นที่: 5
กิเลสของคนไงครับ...
คนริมรั้ว๒๕๓๔ [ 27 เม.ย. 2550 09:16:40 ]
ความคิดเห็นที่: 6
Pla Buk possesses, farming, or eating are not need permission, due to not a protected sp., but fishing MGC at Chiangkong Mekong need license prior to fish (according to Fisheries Act what Article I can not remember???).
...แก้ไขเมื่อ 27 เม.ย. 2550 09:54:45
waterpanda approve [ 27 เม.ย. 2550 09:53:44 ]
ความคิดเห็นที่: 7
แล้วพื้นที่อื่นๆ  นอกจากหาดไคร้ หากชาวประมงทำการประมงปลาบึกต้องขออณุญาติหรือไม่
Plateen approve [ 27 เม.ย. 2550 23:08:26 ]
ความคิดเห็นที่: 8
Yes, but practically almost no more direct MGC fishing elsewhere, unless bycatch or 2nd target from gill net.
waterpanda approve [ 28 เม.ย. 2550 10:39:09 ]
ความคิดเห็นที่: 9
จะล่าปลาบึกต่อครับ ยืนยันนอนยัน และนั่งยันด้วยจิงๆ คับ
เด่ง [ 29 ต.ค. 2550 17:47:16 ]
hazaba@hotmail.com

- ปิดกระทู้ -

www.siamensis.org - Thailand Fish & Nature Explorer
An independent non-profit group
Established 2001
 All Rights Reserved 2001-2010 ©siamensis.org