กระทู้-07880 : ข่าว: เร่งศึกษาผีเสื้อ"จูเลีย"จากทวีปอเมริกาแพร่พันธุ์ในไทยหวั่นเนิเวศน์เสีย

Home » Board » แมลง&สัตว์ขาข้ออื่นๆ

ข่าว: เร่งศึกษาผีเสื้อ"จูเลีย"จากทวีปอเมริกาแพร่พันธุ์ในไทยหวั่นเนิเวศน์เสีย

ทีมนักสำรวจ อพวช. พบผีเสื้อ"จูเลีย" สัตว์ต่างถิ่นจากทวีปอเมริกา แพร่ขยายครั้งแรกในไทยบริเวณพื้นที่เกษตรใกล้เทือกเขาหลวง จ.นครศรีธรรมราช คาดหลุดจากกรงสวนผีเสื้อในภูเก็ต เร่งศึกษาผลกระทบต่อระบบนิเวศ และพืชผล

จากกรณีการพบสัตว์ต่างถิ่นประเภทผีเสื้อในธรรมชาติเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ดร.สุรชิต แสงโสธรณ์ นักวิจัยฝ่ายสิ่งแวดล้อมนิเวศวิทยา และพลังงาน สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย  (วว.)  กล่าวว่า จากการจัดทำจุลสารหมายเหตุนิเวศวิทยา บันทึกธรรมชาติหลากเผ่าพันธุ์ ระหว่างเดือนมกราคม-มีนาคม 2550 นักวิจัยจากพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ  (อพวช.)  นายวียะวัฒน์ ใจตรง  และนายทัศนัย จีนทอง รายงานการค้นพบผีเสื้อต่างถิ่นระบาดในธรรมชาติเป็นครั้งแรก หลังจากนักวิจัยได้เดินทางไปสำรวจแมลงทางภาคใต้ ในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช พบผีเสื้อชนิดหนึ่ง ซึ่งมีสีสันสวยงามแปลกตา อาศัยอยู่ในบริเวณที่โล่ง และพื้นที่เกษตรกรรมใกล้ป่าธรรมชาติของเทือกเขาหลวงตอนบน จากการนำตัวอย่างมาตรวจสอบทำให้ทราบว่า เป็นผีเสื้อต่างถิ่น ชื่อ จูเลีย ทั้งนี้จากการศึกษาเขตการแพร่กระจายพบว่า ไม่เคยมีรายงานถึงถิ่นการกระจายในประเทศไทย  และภูมิภาคเอเชีย

 “การพบครั้งนี้ถือเป็นการรายงานทางวิชาการครั้งแรกที่ค้นพบผีเสื้อต่างถิ่นชนิดใหม่ในประเทศไทย คาดว่าน่าจะหลุดออกมาจากสวนผีเสื้อแห่งหนึ่งใน จ.ภูเก็ต แล้วแพร่กระจายอยู่ในธรรมชาติ  ซึ่งจากการสำรวจผีเสื้อจูเลีย ดูดกินน้ำหวานของดอกไม้ที่ขึ้นอยู่ข้างทาง และบริเวณที่เปิดโล่ง ได้แก่ สาบเสือ  และผกากรอง ส่วนพืชอาหารของตัวหนอนนั้น จากข้อมูลในเวบไซต์ wikipedia  (2007)  รายงานว่า พืชอาหารของตัวหนอน ได้แก่ พืชในกลุ่มเสาวรส  และกะทกรก  ซึ่งเป็นพืชที่ขึ้นกระจายทั่วไปตามพื้นที่โล่ง และพื้นที่เกษตรกรรมในบริเวณเขาหลวง แสดงให้เห็นว่า ผีเสื้อชนิดนี้สามารถปรับตัวให้อาศัยอยู่ในพื้นที่ต่างถิ่นได้ดี แต่ควรมีการติดตามศึกษาอย่างใกล้ชิดว่า ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ และพืชผลทางเกษตรของไทยหรือไม่” ดร.สุรชิต กล่าว

 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากรายงานการค้นพบครั้งนี้ ระบุว่าผีเสื้อจูเลียเป็นผีเสื้อกลางวันชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Dryas julia  (Fabricius,1775)  อยู่ในวงศ์ผีเสื้อขาหน้าพู่  (Family Nymphalidae)  ขนาดไม่ใหญ่มาก ความกว้างของปีกประมาณ 8-9 เซนติเมตร พื้นปีกด้านบนสีส้ม มีลายแถบสีดำที่ขอบปีกด้านข้างของปีกคู่หลังจนถึงบริเวณมุมปลายคู่หน้า เพศเมียมีสีเข้มกว่า และมีแถบดำพาดขวางจากขอบปีกด้านหน้าไปยังขอบปีกด้านข้าง ส่วนบริเวณใต้ปีกสีเหลือง มีแถบสีขาวพาดทับบริเวณเส้นปีกเส้นที่ 8 ของปีกคู่หลัง มีจุดสีน้ำตาลแดง 2 จุดเล็กๆ  ต่อกันที่โคนปีกใกล้กับแถบสีขาว  และมีขีดสีน้ำตาลแดงสั้นๆ  ที่บริเวณโคนปีกคู่หน้า

 นอกจากนี้ รายงานถิ่นการกระจายของผีเสื้อจูเลีย โดยเวบไซต์ของ Butterflies and Moths of North America  (2007)  ของมหาวิทยาลัยมอนทานา พบว่า อาศัยอยู่เฉพาะตอนกลางของทวีปอเมริกา ตั้งแต่ตอนใต้ของรัฐเทกซัส  และฟลอริดา ของประเทศสหรัฐอเมริกาไปจนถึงประเทศบราซิล ส่วนในประเทศไทยนั้น ยังไม่เคยมีรายงานการพบอาศัยในธรรมชาติ ทั้งนี้จากการตรวจสอบได้เคยมีการนำเข้าผีเสื้อชนิดนี้มาเลี้ยงในสวนผีเสื้อตามจังหวัดทางภาคใต้ของประเทศไทย

 ด้าน ดร.สิริกุล บรรพพงศ์ ผอ.สำนักความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานนโยบาย และแผนทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม  (สผ.)  กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ถึงแม้จะพบว่าผีเสื้อจูเลียหลุดมาจากสวนผีเสื้อจริง แต่ยอมรับว่า ในแง่ของการเอาผิด  และหาผู้รับผิดชอบกรณีที่ผีเสื้อต่างถิ่น หรือแม้แต่สัตว์ชนิดอื่นๆ  พืชต่างถิ่นที่เข้ามาระบาดในธรรมชาติ และส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ และสิ่งแวดล้อม ก็ยังไม่มีข้อกฎหมายที่จะเอาผิดได้  ซึ่งจะประสานให้กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืชออกไปสำรวจเพื่อติดตาม และดูแนวโน้มการแพร่ระบาดต่อไป

 อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทางสำนักความหลากหลายทางชีวภาพ กำลังจัดทำบัญชีชนิดพันธุ์ต่างถิ่น  (Alien Species)  แยกเป็นรายชื่อพืช และสัตว์ต่างถิ่นออกเป็น 4 บัญชี เสนอออกเป็นมติคณะรัฐมนตรี  (ครม.)  เพื่อควบคุมการนำเข้าสัตว์ต่างถิ่นเข้ามาในประเทศไทย โดยจะแบ่งเป็นประเภทที่เข้ามาแล้วระบาดในสิ่งแวดล้อม ประเภทที่มีแนวโน้มระบาดรวมทั้งมีการระบาดในต่างประเทศแต่ยังไม่ระบาดในไทย โดยทั้งหมดอยู่ระหว่างการพิจารณาจากคณะทำงานด้านชนิดพันธุ์ต่างถิ่น ให้ทันภายในรัฐบาลชุดนี้ เนื่องจากพบว่ามีการนำเข้าสัตว์ต่างถิ่นเข้ามามาก  และพบแพร่ระบาดในธรรมชาติอย่างชัดเจน เช่น ปลาดุกรัสเซีย เต่าแก้มแดง ปลาซักเกอร์ นกกระจอกใหญ่ กบบลูฟรอก หอยเชอรี่ รวมทั้งสัตว์เลี้ยงแปลกๆ  เป็นต้น

*ที่มา
http://www.komchadluek.com/2007/06/18/a001_123175_report.php

*ภาพ จากกระทู้ " ผีเสื้อต่างแดน" ของ คุณ sun-flower ครับ
กวิวัฏ approve [ 25 มิ.ย. 2550 16:28:06 ]
ความคิดเห็นที่: 1
เอ.... ถ้าชนิดนี้เป็นชนิดแรก แล้วเจ้าผีเสื้อหนอนกระทกรกที่คุยกันวันก่อนมันเป็นชนิดที่เท่าไหร่อ่ะครับ?

เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญนะครับ การระบาดของ Alien species ประเทศไทยยังไม่มีกฏหมายคุ้มครอง และบังคับใช้เลย
นณณ์ approve [ 25 มิ.ย. 2550 16:36:39 ]
ความคิดเห็นที่: 2
ชนิดนี้ผมก็เจอที่ลานจอดรถปากทางเข้า เขานอจู้จี้ครับ เอกลักษณ์อยู่ที่ทรงปีกมีรูปทรงไม่เหมือนผีเสื้อกลุ่มไหนในบ้านเราเลย  ถ้ามองผ่านๆ อาจนึกว่าเป็นผีเสื้อหนอนใบกุ่มเนโรครับ  แต่ ถ้าดูดีดีแล้วไม่เหมือนกันเลย ท่าทางจะปรับตัวอยู่อาศัยได้เก่งคงกระจายกว้างออกไปเรื่อยๆ แน่นอนครับ
cobia approve [ 25 มิ.ย. 2550 18:19:34 ]
InsectsPics_reply_33025.jpg
ความคิดเห็นที่: 3
หุบปีกแล้วหน้าตาเป็นแบบนี้ นี่กำลังจะเกาะนอน
cobia approve [ 25 มิ.ย. 2550 18:47:53 ]
InsectsPics_reply_33026.jpg
ความคิดเห็นที่: 4
ส่วนนี่ก็กระพือปีกทรงตัวก่อนนอน ภาพนี้นอนถ่ายครับ
ผีเสื้อที่เป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นคงมีอีกหลายชนิดครับ เพราะผีเสื้อที่หลุดออกมาคงไม่ได้มีชนิดเดียว
 และ ถ้าสบโอกาศหาอาหารกินได้ง่ายก้จะมารุกรานผีเสื้อบ้านเรารึเปล่าก็ต้องรอดูผลวิจัยล่ะครับ
cobia approve [ 25 มิ.ย. 2550 18:50:53 ]
ความคิดเห็นที่: 5
กะจะถามว่า  ถ้าไม่ต้องรอผล  และ ถ้าเจอในธรรมชาติ ควรไหมที่จะต้องจำกัดหรือจัดการเองตามพิจารณา เหมือนในชาติอื่นที่พบเอเลี่ยนก็จัดการเลย

แต่ไม่เอาดีกว่า ถามๆ  ไปเหมือนตีหัวฝรั่งคนต่างชาติที่กว้านซื้อที่ดินยังไงๆ  ไม่รู้ เดี๋ยวจะเป็นเรื่อง
ไอ้ลูกทุ่ง approve [ 26 มิ.ย. 2550 09:33:55 ]
ความคิดเห็นที่: 6
555 พูดยากครับ
เพราะนอกจากเอเลี่ยนแล้วยังมีรายงานการพบเจอรายงานใหม่ที่คาดไม่ถึงอีกหลายชนิด
ที่เป็น เขตการกระจายพันธุ์ใหม่
เช่นจากผีเสื้อทางเหนือที่มีคนมาทำหลุดทางใต้อะไรอย่างนั้นน่ะครับ อันนี้ได้คุยกับผู้รู้อีกทีหนึ่ง
บางครั้งก็ทำให้คนที่รู้จักผิวเผินเข้าใจผิดได้  และยิ่ง ถ้าเป็นรายงานใหม่ๆ จากที่ๆ มีแหล่งเพาะพันธุ์ผีเสื้อไม่ว่าจะเป็นของใคร ทั้งสวนผีเสื้อของฝรั่ง ทั้งเอกชน ทั้งราชการ ก็มีโอกาสสูงที่ทำหลุดมาปะปนกับผีเสื้อในธรรมชาติได้
cobia approve [ 26 มิ.ย. 2550 10:14:52 ]
ความคิดเห็นที่: 7
อา....เง็งงงง
นณณ์ approve [ 26 มิ.ย. 2550 10:16:13 ]
ความคิดเห็นที่: 8
ระยะเวลาที่แพร่กระจายจนถึงตอนนี้นานหรือยังครับ.... ถ้ามันกินพืชอาหารที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจก็แย่เลยนะซิ...
kunl_bur approve [ 26 มิ.ย. 2550 11:13:31 ]
ความคิดเห็นที่: 9
พืชอาหารก็เป็นเอเลี่ยนนี่ครับ
knotsnake approve [ 26 มิ.ย. 2550 12:05:29 ]
ความคิดเห็นที่: 10
สรุปก็เอเลี่ยนกันเกือบทั้งนั้น
หรือเราก็เป็นด้วย o_O
ยายอ้วน approve [ 26 มิ.ย. 2550 13:11:47 ]
ความคิดเห็นที่: 11
เอเลี่ยน ย้ายถิ่นมาจากอาฟริกาเมื่อสัก ๑๐๐๐๐๐ ปีก่อน เหอ เหอ
นณณ์ approve [ 26 มิ.ย. 2550 13:33:50 ]
ความคิดเห็นที่: 12
จับsetขายให้หมดสิ
waterpanda approve [ 27 มิ.ย. 2550 00:18:57 ]
ความคิดเห็นที่: 13
 ถ้าทอดกินอร่อยก็ดีอ่ะดิ
knotsnake approve [ 27 มิ.ย. 2550 10:34:55 ]
ความคิดเห็นที่: 14
ระวัง Bycatch impact spp. อื่นๆ
waterpanda approve [ 27 มิ.ย. 2550 12:24:31 ]
ความคิดเห็นที่: 15
ได้ข่าวว่าตัวละ 1 บาทเองครับชนิดนี้....
นณณ์ approve [ 27 มิ.ย. 2550 17:50:58 ]
ความคิดเห็นที่: 16
ถูกอย่างนี้ใครจะจับละเนี้ยะ???
aqueous_andaman approve [ 28 มิ.ย. 2550 12:31:15 ]
ความคิดเห็นที่: 17
ผมเห็นผีเสื้อชนิดนี้ตามป่าที่ภูเก็ตมานานราวเกือบสิบปีแล้วครับ
น่าจะมีพวกมอร์โฟ หลุดออกมามั้งน๊ะครับ
Zantha [ 28 มิ.ย. 2550 20:38:46 ]
ความคิดเห็นที่: 18
ทำไมถูกจัง ๐_๐
น้ำฝน [ 27 ส.ค. 2550 10:15:01 ]
-
ความคิดเห็นที่: 19
ผีเสื้อสวยจังค่ะ:)
ปรายฟ้า [ 27 ส.ค. 2550 10:17:52 ]
-
ความคิดเห็นที่: 20
ผีเสื้อกินได้มั๊ย ..................................................................
ปรายฟ้า [ 27 ส.ค. 2550 10:19:51 ]
-

- ปิดกระทู้ -

www.siamensis.org - Thailand Fish & Nature Explorer
An independent non-profit group
Established 2001
 All Rights Reserved 2001-2010 ©siamensis.org