กระทู้-08024 : เทวปกรณัมกับตำนานหอย ตอน 2

Home » Board » อื่นๆ

เทวปกรณัมกับตำนานหอย ตอน 2

คราวก่อนมาบอกเล่าเก้าสิบถึงเรื่องของตำนานพระมหาสังข์ มาเที่ยวนี้คนแก่จะมาเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับเจ้าหมึกงวงช้างกระดาษ  ซึ่งชื่อสกุล  (genus)  ของมันมีที่มาเกี่ยวโยงกันกับเทวปกรณัมของกรีกอยู่บ้าง ขอเชิญสดับรับชมขอรับ
หอยทากชรา approve [ 20 ก.ค. 2550 07:50:27 ]
OthersPics_reply_36295.jpg
ความคิดเห็นที่: 1
หมึกงวงช้างกระดาษ (paper nautilus) ซึ่ง ชื่อสกุลคือ อาร์โกนอร์ตา (Argonauta) อันมีที่มาจากชื่อเรือ อาร์โก ที่เจสัน และคณะใช้เป็นพาหนะในการตามหาขนแกะทองคำไงขอรับ ไม่ทราบว่ามีใครเคยได้ยินปกรณัมเรื่องนี้บ้าง  ถ้าไม่เคยได้ยิน อยากทราบไหมขอรับ เอาอย่างนี้แล้วกัน กระผมขอเล่าเกริ่นสักเล็กน้อยแล้วกัน เอาพอหอมปากหอมคอนะขอรับ ตามตำนานกล่าวว่า ครั้งหนึ่งเมื่อนานมาแล้วในแคว้นเธสสะลี (Thessaly) มีกษัตริย์ทรงนามว่าท้าวแอธมัส (Athamas) ทรงมีมเหสีนามว่าเนฟเฟลี (Nephele)  และมีพระโอรส และธิดา ทรงนามว่า ฟริกซัส (Phryxus)  และเฮลลี (Helle) ภายหลังท้าวเธอเกิดเบื่อมเหสีองค์ปัจจุบัน เลยตั้งนางไอโน (Ino) ขึ้นเป็นมเหสีแทน ฝ่ายนางเนฟเฟลี กลัวว่าบุตรธิดาของนางจะได้รับอันตรายจากแม่เลี้ยง จึงพยายามจะหาที่หาทางให้ลูกอยู่ไกลมือนางไอโน ในการนี้เทพเฮอร์เมส (Hermes) หรือชื่อโรมัน คือ เมอร์คิวรี (Mercury) บางตำนานก็ว่าเป็นเทพโพเซดอน โปรดประทานความช่วยเหลือแก่นาง โดยบันดาลให้เกิดแกะตัวหนึ่งที่มีขนเป็นทองคำขึ้นมาพาบุตรธิดาของนางเนฟเฟลีหนีไป แกะขนทองเหาะพาเด็กทั้งสองหนี  แต่ในระหว่างทางซึ่ง ต้องเหาะข้ามน้ำข้ามทะเลนั้น เฮลลีเกิดเสียการทรงตัวพลัดตกลงไปในทะเล ซึ่ง ต่อมาช่องทะเลบริเวณที่เธอตกลงไปจึงได้เรียกขานนาม  ตามชื่อของเฮลลีว่า เฮลเลสปอนต์(Hellespont) แกะขนทองพาได้พาฟริกซัสไปถึงแคว้นกอลคิส (Colchis)ซึ่ง อยู่ภายใต้การปกครองของท้าวอีอีทีส (Aeetes)  และได้รับการรับรองต้อนรับอย่างดี ถึงขนาดท้าวเธอยกลูกสาวให้ แต่งงานด้วย ส่วนแกะขนทองนั้นเมื่อได้ทำหน้าที่สำเร็จเรียบร้อยแล้ว กลับได้รับการตอบแทนจากฟริกซัสด้วยการฆ่าเป็นเครื่องสังเวย แต่มหาเทพซีอุส ซึ่ง พฤติกรรมดังกล่าวมี แต่คนก่นด่าสาปแช่ง  และเขาก็ได้เอาขนแกะทองคำนั้นถวายแด่ท้าวอีอิทิส  และท้าวเธอก็ให้เอาไปแขวนในสวนหลวง อันมีมังกรดุร้ายตัวหนึ่งที่ไม่รู้จักหลับจักนอนเฝ้ารักษา เรื่องราวที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นปฐมบทแห่งเรื่องเจสันกับขนแกะทองคำ  ส่วนแกะทองคำที่ถูกฆ่าบูชายันต์นั้น เหล่าทวยเทพได้ยกร่างของมันขึ้นไปแขวนไว้บนท้องฟ้า กลายเป็นกลุ่มดาวราศีเมษในปัจจุบันยังไงล่ะขอรับ
ส่วนจักรราศีอื่นๆ  ก็มีที่มาที่ไปเช่นเดียวกัน  ถ้าสนใจก็บอกจะเอามาลงต่อให้ขอรับ เหตุที่ไม่ลงให้เลยเพราะกลัวว่าจะไม่เกี่ยวกับเรื่องที่จั่วหัวไว้ เดี๋ยวจะกลายเป็นว่าคนแก่มาเที่ยวอวดอุตริมนุษธรรมเสียงั้น
    ปกติเจ้าหมึกงวงช้างกระดาษ (paper nautilus: Argonauta sp.) จะไม่ไม่มีเปลือก รูปร่างคล้ายกับพวกหมึกยักษ์ (octopus : octa = 8 + podos = เท้า รวมเป็นพวกหมึกที่มีแปดเท้า) ทั่วไป  แต่ในฤดูผสมพันธุ์ตัวเมียจะสร้างเปลือกขึ้นมาเพื่อจะวางไข่จึงเป็นเปลือกไข่ เรียกว่า egg case  และตัวเมียจะอาศัยอยู่ในเปลือกไข่นี้ด้วย ตัวผู้มีขนาดเล็กกว่าตัวเมียมาก  และตัวผู้ไม่สร้างเปลือกบางครั้ง อาจจะเข้ามาอยู่รวมกับตัวเมียในเปลือกนี้ก็ได้ จากรูปการณ์ดังกล่าวคาดว่า นักปลาหมึกวิทยาสมัยก่อน คงจะเห็นไอ้เจ้าหมึกงวงช้างกระดาษตอนที่สร้าง egg case นี้ลอยไปลอยมาในท้องทะเล ชะรอยจะนึกถึงปกรณ์เรื่องเจสันที่ต้องระเหเร่ร่อนในท้องทะเล เพื่อตามหาขนแกะทองคำกระมัง จึงได้เอาชื่อ เรืออาร์โก (Argo) มารวมกับคำว่า Nauta ซึ่ง แปลว่า กะลาสี นักแล่นเรือ ชาวทะเล (sailor, seaman) มาตั้งเป็นชื่อสกุลให้แก่พวกมัน เอาล่ะครับพอหอมปากหอมคอ แค่นี้ก่อนนะขอรับ ไว้ว่างๆ  จะมาเล่าสู่กันฟังใหม่ในเรื่องปกรณ์อื่นๆ  เท่าที่ความรู้อันน้อยนิดของไอ้กระผมจะพึงมีขอรับ
หอยทากชรา approve [ 20 ก.ค. 2550 08:12:56 ]
ความคิดเห็นที่: 2
เยี่ยงนี้ เจ้าหมึกงวงช้าง nautilus ก็เป็นนักเดินเรือจริงๆ  น่ะสิเจ้าคะ  แต่อิฉันว่ามันเป็นเรือดำน้ำมากกว่า หากพอมีเวลา นิมนต์ลุงหอยเล่าต่อเรื่อง nautilus แถมพกอีกสักหน่อยเถิดเจ้าค่ะ อิฉันจะมาปูเสื่อนั่งฟังอยู่แถวหน้าเลย
...แก้ไขเมื่อ 20 ก.ค. 2550 12:18:40
ampelisciphotis approve [ 20 ก.ค. 2550 12:17:40 ]
OthersPics_reply_36344.jpg
ความคิดเห็นที่: 3
รับนิมนต์ตามคำขอของน้อง ampelisciphotis น้องท่าน
•   หมึกงวงช้าง (Nautilus) : ต้นแบบเรือดำน้ำ
       ถ้าพูดถึงชื่อ “นอร์ติลุส (Nautilus)” ขึ้นมานี่ กระผมคิดว่า หลายท่านคงจะเดาออกว่า กระผมจะเล่าเรื่องอะไรให้ฟัง  เรื่องทูน่ากระป๋องเหรอขอรับ  ถูกต้องขอรับ เอ๊ย ไม่ใช่ กระผมจะเล่าเรื่องของเรือดำน้ำให้ฟังขอรับ เกือบหลงประเด็นไปแล้วเชียว อย่าถือสาคนแก่เลย แก่แล้วก็อย่างนี้แหละ มีหลงๆ  ลืมๆ  บ้าง เอาล่ะมาเข้าเรื่องกันดีกว่า ไอ้เจ้านอร์ติลุสนี่ บางคนก็เรียกว่าหอยงวงช้าง บ้างก็เรียกหมึกงวงช้าง จัดว่าเป็นสัตว์ในกลุ่มหมึก  แต่ส่วนตัวชอบเรียก "ปลาหมึก" มากกว่า เพราะว่าคนโบราณนักจะเรียกอะไรก็ได้ที่ว่ายน้ำได้ว่า "ปลา" อย่างเช่น ปลาวาฬ ปลาโลมา  แต่คาดว่าคงมิได้หมายรวมถึง "ปลาท่องโก๋" อันนี้ก็มีที่มา ไว้ค่อยเล่าให้ฟัง หุ หุ
    คำว่า "Nautilus" ตามรากศัพท์คำว่า "nautilos ซึ่ง แปลว่า ปลาหมึก (cephalopod : cephalos = หัว + podos = เท้า รวมความได้ว่า ผู้มีเท้าอยู่ที่หัว) ตรงตัวดีขอรับ  ซึ่ง   ถ้าจะถามกันว่าเจ้าหอยชนิดนี้ได้รับความสนใจตั้ง แต่เมื่อใด อืม.... เท่าที่มีหลักฐานบันทึกนะขอรับ เขาว่ากันว่า อริตโตเติลเป็นคนแรกที่สนใจที่จะศึกษามัน อาจจะเนื่องจากความสวยงาม  และพฤติกรรมบางประการของมันบางประการของมัน ทำให้เขาเก็บตัวอย่างนอร์ติลุสกลับมาจดบันทึกข้อมูล และรายละเอียดเอาไว้ เจ้านอร์ติลุสนี่นับได้ว่า เป็นตัวอย่างหนึ่งของความน่าทึ่งของธรรมชาติที่ได้รังสรรค์สิ่งมหัศจรรย์ออกมาให้เราได้ยลชมกันขอรับ เจ้าหมึกชนิดนี้มีเปลือกที่ภายในแบ่งออกเป็นห้องๆ  มีรูเล็กๆ  ทะลุถึงกันจากห้องด้านนอกจนถึงห้องในสุด บางคนคงสงสัยว่าห้องเหล่านี้มีไว้ทำไม  ห้องเหล่านี้มีไว้เพื่อช่วยในการลอยหรือจมตัวของเจ้านอร์ติลุสขอรับ กล่าวคือ เมื่อมันต้องการทำให้ตัวเองจมลึกตัวเองลงไปในทะเล มันก็จะดูดน้ำทะเลเข้าไปให้เต็มห้องต่างๆ  ในเปลือก ทำให้ตัวมันหนัก มันก็จมลงสู้ท้องทะเลได้  แต่ ถ้ามันอยากจะลอยตัวขึ้นมา ก็จะปล่อยน้ำออกจากช่องในเปลือกของมัน ทำให้ตัวมันเบาก็จะลอยขึ้นได้ ซึ่ง หลักการอันนี้แหละขอรับ ที่คนเราเอามาใช้กับเรือดำน้ำ กล่าวคือ ในเรือดำน้ำจะมีห้องที่เรียกว่า ห้องอับเฉา ใช้สำหรับสูบน้ำเข้า-ออกจากตัวเรือ ทำให้เรือสามารถดำน้ำหรือลอยน้ำได้ตามต้องการ ซึ่ง คำว่าว่า อับเฉานี้หลายคนอาจจะนึกถึง "ตุ๊กตาอับเฉา" ซึ่ง เป็นตุ๊กตาหินแกะสลักเป็นรูปคนบ้าง สัตว์บ้าง เอามาประดับสวนหรือบ้าน เห็นได้บ่อยๆ  ก็ในวัดพระแก้วนั่นแหละขอรับ ที่เรียกตุ๊กตาพวกนี้ว่า ตุ๊กตาอับเฉา ก็เพราะว่า ในอดีตคนไทย แต่งเรือสำเภาไปค้าขายกับคนจีน ขาไปสินค้ามากเรือก็หนัก ทำให้ไปได้ง่าย  แต่พอขากลับขายของหมด เรือก็เบา ก็มีการนำเอาหินมาถ่วงให้เรือหนัก ต่อมาชะรอยจะเห็นว่า เอาก้อนหินมาใส่นั้นก็เหนื่อยเปล่ามิได้อันใด ก็เลยดัดแปลง เปลี่ยนก้อนหินให้กลายเป็นตุ๊กตาหิน บรรทุกมาในห้องอับเฉาเรือ ทำให้เรือหนัก  และสามารถเอามาขายต่อเงินได้อีกด้วย นี่แหละภูมิปัญญาคนโบราณ หุ หุ โอ๊ะนอกเรื่องอีกแล้ว กลับมาเข้าเรื่องดีกว่าขอรับ นอกจากจะเป็นต้นแบบของเรือดำน้ำอย่างที่กล่าวแล้วนะ นักคณิตศาสตร์จังค้นพบอีกว่า ค่าอัตราส่วนระหว่างเส้นผ่านศูนย์กลางของวงเปลือกหอยวงในต่อวงนอกของนอร์ติลุส  มีค่าเท่ากับ 1 : 1.618 เสมอ ซึ่ง หลายท่านอาจจะสงสัยว่ามันคืออะไรใช่ไหมล่ะขอรับ ค่าอัตราส่วนอันนี้เป็น สัดส่วนที่เรียกว่า “สัดส่วนทองคำ” หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า โกลเด้น เรโช (golden ratio) ขอรับ ค่าสัดส่วนทองคำนี้ ไม่น่าเชื่อนะขอรับว่า พบได้มากมายในสิ่งมีชีวิต ไม่ว่าจะพืชหรือสัตว์ ที่มาของอัตราส่วนนี้มาจากลำดับอนุกรมทางคณิตศาสตร์ชุดหนึ่ง ที่เรียกว่า ลำดับฟิโบนักชี (Fibonacci sequence) เลขลำดับชุดนี้มีตัวเลขดังนี้ขอรับ 1, 1, 2, 3, 5, 8, 13, 21, …… เราจะเห็นว่าตัวเลขลำดับถัดมา แต่ละลำดับนั้นมาจากตัวเลข 2 ตัวหน้าบวกกัน เช่น 2 มาจาก 1+1, 3 มาจาก 1+2 อย่างนี้เป็นต้น ขอรับ เมื่อนำเอาตัวเลข แต่ละลำดับมาหาอัตราส่วน จะพบว่า ค่าที่ได้เมื่อจำนวนพจน์มากขึ้น จะมีค่าเข้าใกล้ 1 : 1.618 ซึ่ง เราเรียกค่านี้ว่า ค่าฟี (PHI) หรือสัดส่วนทองคำ  แต่อย่าสับสนกับค่า ไพ (PI) ซึ่ง มีค่า 3.14 นะขอรับ อันว่าค่าสัดส่วนทองคำนี้จัดได้ว่าเป็นความมหัศจรรย์อย่างหนึ่งที่ธรรมชาติรังสรรค์ขึ้นมาให้มนุษย์เราฉงนเล่น เพราะปัจจุบันนี้เราพบว่าสิ่งมีชีวิตมากมายไม่ว่าจะพืชหรือสัตว์ ที่มีสัดส่วนต่างๆ  ของร่างกายเป็นสัดส่วนทองคำ ไม่ว่าจะเป็นอัตราส่วนระหว่างเส้นผ่านศูนย์กลางของ แต่ละวงเทียบกับเกลียวถัดไปของนอร์ติลุส หรือแม้ แต่ตัวเราเองก็เหมือนกันขอรับ ไม่เชื่อท่านลองดูก็ได้ ลองหาเชือกสักเส้นมาวัดความสูงของท่านจากกระหม่อมจนถึงส้นเท้า แล้วแบ่งเชือกออกเป็น 8 ส่วนจากนั้นก็นำปลายเชือกด้านหนึ่งมาวัดความสูงจากระดับสะดือจนถึงส้นเท้า แล้วเทียบกับความยาวเชือกทั้งหมด เชื่อหรือไม่ขอรับว่า ไม่ว่าท่านทั้งหลายจะสูงต่ำแค่ไหนจะได้อัตราส่วนเป็น 8 : 5 เสมอ หรือสัดส่วนระหว่างระยะจากไหล่ถึงปลายนิ้วมือต่อระยะจากข้อศอกถึงปลายนิ้วมือจะเป็น 3: 2  เสมอขอรับ ซึ่ง ตัวเลขเหล่านี้ต่างก็เป็นตัวเลขในลำดับฟิโบนักชีทั้งสิ้น  อื่นๆ  ก็เช่น กราฟอัตราการเต้นของหัวใจคนเราก็เป็นไปตามสัดส่วนทองคำด้วยเช่นกัน ส่วนสิ่งของรอบๆ  ตัวเราก็มีมากมายขอรับที่เป็นสัดส่วนทองคำ ไม่ว่าจะเป็นขนาดของรูปที่เราอัดจากร้านถ่ายรูป  ถ้าขนาดธรรมดา หรือที่เรียกว่า 3R ก็มีขนาด 3x5 นิ้ว ในขณะที่ขนาดจัมโบ้ หรือ 4R ก็มีขนาด 4x6 นิ้ว ซึ่ง เมื่อทำเป็นสัดส่วนอย่างต่ำก็จะได้เป็น 2 : 3 ตัวเลขเหล่านี้คุ้นๆ  ไหมเอ่ย หึ หึ เอาล่ะยกตัวอย่างเพียงเล็กน้อยพอเป็นพิธีขอรับ  ในความเห็นส่วนตัวของคนแก่อย่างกระผมนี่ ไม่ได้สนใจหรอกขอรับว่ามีอะไรบ้างที่เป็นสัดส่วนทองคำ  แต่สนใจในแง่ที่ว่า ทำไมธรรมชาติถึงได้คงสัดส่วนนี้เอาไว้มากกว่าขอรับ
หอยทากชรา approve [ 20 ก.ค. 2550 18:10:36 ]
ความคิดเห็นที่: 4
มานั่งฟังด้วยคนคับ
GreenEyes approve [ 20 ก.ค. 2550 21:50:48 ]
ความคิดเห็นที่: 5
มารับความรู้คร้าบบ
Due_n approve [ 21 ก.ค. 2550 14:13:43 ]
ความคิดเห็นที่: 6
เหอๆ  แปลก แต่จริง ได้ความรู้จริงๆ ครับ
coneman approve [ 22 ก.ค. 2550 01:32:36 ]
ความคิดเห็นที่: 7
นอติลุสมันอยู่ใต้น้ำสมมุติว่ามันเอาน้ำใส่เข้าไปในช่องจนเต็ม แล้วมันก็จมลง ทีนี้พอมันจะลอย มันก็เอาน้ำออกจากช่อง  ถ้าตามที่ผมเข้าใจ ในช่องก็จะกลายเป็นสุญญากาศแล้วเปลือกมันไม่ถูกแรงดันน้ำบดจนพังเหรอครับ?  ใต้น้ำนี่มันเอาน้ำออกแล้วมันเอาอากาศมาจากไหน?  หรือว่ามันเอาน้ำเข้าก็เหลืออากาศไว้ ไม่ได้เอาน้ำเข้าไปหมด?  หรือว่ามันเก็บอากาศตอนไหน?? รบกวนท่านอาจารย์ไขด้วยครับผม
นณณ์ approve [ 22 ก.ค. 2550 23:17:48 ]
ความคิดเห็นที่: 8
มาไขข้อข้องใจของคุณนณณ์สักนิด  แต่อาจจะไม่แจ่มแจ้งแทงทะลุเท่าใดนะขอรับ ด้วยว่าเป็นหอยทาก มิใช่ปลาหมึก ที่ถามมาว่า  ถ้ามันเอาน้ำออกจากช่อง (chamber) แล้วข้างในไม่เป็นสุญญากาศฤา อันนี้ขอบอกว่า โดยทั่วไปเปลือกของเจ้า Nautilus จะขดเป็นวงในแนวแนบรอบวงเดิม ภายในมีผนังกั้นตามขวางแบ่งภายในเปลือกออกเป็นช่องๆ  เรียก camera (พหูพจน์ เรียก camerae)   และเชื่อมต่อถึงกันด้วยท่อ ซึ่ง  ถ้าตัดตามขวางเปลือกก็จะเห็นเป็นรูใน แต่ละห้อง มีแมนเติลเจริญยื่นมาตลอดแนวรูทำให้เกิดเป็นท่อเนื้อเยื่อเรียกว่าsiphuncle เปลือกช่องนอกสุดมีขนาดใหญ่ที่สุดเป็นที่อยู่ของตัวหอยงวงช้าง ภายในช่องมีของเหลวกับก๊าซอยู่เต็ม เมื่อต้องการจมตัวมันก็จะเอาของเหลวเข้าไปในช่อง  แต่ ถ้าจะลอยตัวก็จะเอาของเหลวออก ซึ่ง เมื่อของเหลวออกไปจากช่อง ก๊าซก็จะขยายตัวแทนที่ของเหลวทำให้ตัวมันเบาขึ้นก็สามารถลอยตัวได้ ซึ่ง เจ้า natutilus นี้สามารถปรับปริมาณอากาศให้เข้าออกมากน้อยได้ทางท่ด siphuncle ขอรับ ดังนั้นภายในเปลือกมันจึงไม่เป็นสุญญากาศขอรับ จริงๆ  แล้วเรื่องการลอยหรือจมของเจ้า nautilus นี้มีเรื่องของ ion ในเลือดหรืออะไรสักอย่างนี้แหละเป็นตัวควบคุมกลไก  แต่ต้องขออภัยด้วยจำไม่ได้จริงๆ  ณ ตอนนี้ ด้วยเคยอ่านเจอใน paper  แต่หลายปีอยู่ ตอนนี้ก็ไม่รู้เก็บไว้ที่ไหนในรังทำงาน ไว้หาเจอจะเอามาขยายความให้ฟังต่อขอรับ    ถ้าท่านผู้ใดมีความรู้ใดเสนอแนะเพิ่มเติม ขอความกรุณาด้วยขอรับ ด้วยลำพังกระผม ซึ่ง เป็นหอยทากแก่ๆ  เพียงตัวเดียวคงไม่สามารถรู้แจ้งแทงตลอดได้ทุกเรื่องหรอกขอรับ เข้ามาช่วยๆ  กันต่อเติมเสริม แต่งให้องค์ความรู้มันสมบูรณ์ยิ่งขึ้นกันเถอะขอรับ หอยแก่ๆ  ตัวนี้จะได้รู้อะไรเพิ่มขึ้นด้วย

หอยทากชรา
หอยทากชรา approve [ 23 ก.ค. 2550 08:05:58 ]
ความคิดเห็นที่: 9
เสริมอีกนิดเจ้าค่ะ พอลอยตัวขึ้นมาที่ตื้นขึ้น อากาศก็จะขยายตัวขึ้น เพราะความดันลดลง โดยความดันจะลดลง 1 บรรยากาศทุกๆ  10 เมตร เฉกเช่นนักดำน้ำทั่วไปที่เมื่อจักขึ้นจากน้ำก็จะต้องหายใจออกเพื่อไม่ให้ปริมาตรอากาศที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นทำลายถุงลมหรือปอดของเรา
ampelisciphotis approve [ 23 ก.ค. 2550 08:54:43 ]

- ปิดกระทู้ -

www.siamensis.org - Thailand Fish & Nature Explorer
An independent non-profit group
Established 2001
 All Rights Reserved 2001-2010 ©siamensis.org